CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๕ : การแบ่งเวลา ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้


สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ ๑

สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ ๒

การขับเคลื่อนฯ นิสิตแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่มาร่วมในวั้นนั้นแล้ว ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุลท่านสอนในวันนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตที่ไม่ได้ได้มาด้วย จึงขอนำมาแบ่งปันไว้ในบันทึกนี้

หลังจากที่ทุกคนได้กำหนดเป้าหมายในชีวิต(ด้านอาชีพ)ของตนเอง คำถามที่สำคัญคือ "มโนมั้ย" ...สิ่งที่เธออยากเป็นจริงๆ น่ะ ที่เธอพูดน่ะ มันใช่ตัวตนจริงๆ ของคุณหรือเปล่า... ท่านบอกว่า ในทางจิตวิทยา จะแบ่ง "ตัวตน" ของการมองตนเองของคนออกเป็น ๒ แบบคือ ตัวตนที่เป็นจริง (Real Self) คือตัวตนตามข้อเท็จจริงๆ ที่เป็น และตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) คือความอยากมีอยากเป็น ..หากเราเขียนระยะห่างระหว่าง Ideal Self และ Real Self สมมติเป็น A กับ B นะ ... ถ้ามันห่างกันมาก คนๆ นั้น มีแนวโน้มจะเป็นโรคจิต แต่ถ้าใกล้มากๆ แสดงว่าคนนั้นสุขภาพจิตดี ... ดังนั้นต้องกลับไปดูตัวเองนะ... ตนในอุดมคติเป็นสิ่งที่มีใครเขากำหนดให้เราหรือเปล่า... (ผู้สนใจสืบค้นเรื่องจิตวิทยาของ คาร์ล โรเจอร์ส Carl Rogers)


ท่านเล่าประสบการณ์ตนเองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ...

" ...วันที่ครูขอเตี่ยครูว่าจะไปเรียนเมืองนอก ... ท่านบอกว่า ไม่เอา อายุป่านนี้แล้ว ใครมาขอก็จะแต่งหมดล่ะ... ฉันไม่ทำอะไรเลย...ฉันนั่งร้องไห้อย่างเดียว วันรุ่งขึ้นเตี่ยฉันก็มาบอกฉันว่า เอ้อๆ อยากไปก็ไป แต่กลัวว่าจะไม่มีเงินส่ง... ครูบอกว่าครูจะหางานทำ ครูวางแผน...ว่า ตนในอุดมคติของครูเนี่ย ต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น และการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย.. ต้องเรียนโทและเอก แต่ถ้าโทเมืองไทย ฉันสอบสู้เขาไม่ได้ ฉันรู้ เพราะฉันเอกประถม จะไปสอบสาขาอะไรก็สู้เขาไม่ได้ แต่ฉันรู้ว่า ฉันเก่งภาษาอังกฤษ ไปเรียนเมืองนอกได้ ฉันก็มาดูว่า จะไปอินเดียหรืออเมริกา ในที่สุดไปอเมริกา ... แล้วมีปัจจัยอะไรจะไปอเมริกา... ตั้งแต่เล็กจนโต...คนจีนเขาให้อั้งเปาไว้...ฉันฝากมีเงินอยู่ ๔๔,๐๐๐ บาท ...ฉันสามารถอยู่อเมริกาได้ ๑ เทอมโดยไม่ต้องทำงาน ...เรียนจบแล้ว (ป.ตรี ก่อนไปเอริกา) ฉันมาทำงานกับเตี่ย ประมาณ ๙ เดือน ได้เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ... เป็น ๒๗,๐๐๐ บาท นี่พอค่าเครื่องบิน เนี่ยคือการวางแผน... เข้าใจมั้ยค่ะ..."


การบ้าน

สรุปว่าทุกคนต้องวิเคราะห์ตนที่แท้จริงว่า เรามีปัจจัยอะไรบ้าง พ่อแม่สนับสนุนหรือไม่ มีเงินพอไหม ตนเองเก่งอะไร ถนัดอะไร จะสามารถพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดอะไรได้บ้าง ข้อดีของตนเอง ขยัน อดทนสูง ข้อด้อยทั้งทางนิสัยและทักษะความสามารถ ฯลฯ และให้ทุกคนไปวางแผนสำรองในกรณีที่เป้าหมายแรกไม่อาจสำเร็จได้



ผมตีความว่านี่คือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้นั่นเอง

ท้ายสุดของวันนั้น ท่านถ้าสมมติว่าทุกคนพร้อมเรื่องปัจจัยภายนอกครบทุกประการ ท่านถามว่า "ปัจจัยส่วนตัว" อะไรที่จะทำให้สามารถไปถึงความสำเร็จได้ นิสิตช่วยกันตอบได้ดังภาพ

ผมตีความว่า นี่คือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการวางแผนชีวิตของตนเอง ท่านกำลังพานิสิตวิเคราะห์ด้วย ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข การวิเคราะห์ตนเองที่ผ่านมาสอดคล้องกับ "ความพอประมาณ" พอประมาณกับศักยภาพของตนเอง กับทุนทรัพย์ของตนเอง(ครอบครัว) กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมเป็นไปได้ ซึ่งต้องตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริงหรือ (Real Self) ซึ่งการวางแผนที่ละเอียดรอบคอบนี้เองคือ "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในตัวของนิสิตเอง

ตอนท้ายๆ ท่านให้ทุกคนสมมติว่า ถ้าทุกคนพร้อมด้านปัจจัยภายนอก อีกทั้งยังมีคุณสมบัติความสามารถเหมาะสมด้วย (มีเงื่อนไขความรู้แล้ว) ถามว่า มีปัจจัยอะไรอีก ที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้ ผมตีความว่า ท่านกำลังกระตุ้นให้นิสิตคิดถึงเงื่อนไขด้านคุณธรรม ท่านเฉลยว่า...

"...เธอต้องขยัน อดทน ค้นคว้า สืบค้น ฝึกฝน เรียนรู้ พบผู้รู้ ประเมินตนเอง ..จริงๆ ที่ครูจะฝากวันนี้คือ ให้เธอบริหารเวลา เพราะว่า ถ้าเธอไม่บริหารเวลา เธอก็จะไม่ค้นคว้า..."

กฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้

ท่านเติมความรู้เรื่องการบริหารเวลา โดยใช้ "กฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้" ผมสืบค้นเจอเว็บไซต์ที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นที่นี่

"...มันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเลยนะ ... เธอโชคดีมากนะ ภายใน ๑๐ นาทีนี้ เธอจะได้ฟังหนังสือทั้งเล่ม ...ฉันสอนมา ๓๐ ปี ... "

"..กฎ ๘๐/๒๐ ในการดำเนินชีวิตคือว่า... เธอตื่นขึ้นมา เธอมีงาน ๑๐ ชิ้น เธอจะต้องทำงาน ๒ ชิ้น (๒๐ เปอร์เซ็นต์) งาน ๒ ชิ้นนี้ จะให้ผลประโยชน์กับชีวิตเธอถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนงานอีก ๘ ชิ้นจะให้ประโยชน์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์... ตื่นขึ้นมางาน ๒ ชิ้นไหนต้องเสร็จ กำหนดเลย... "

หลายครั้งที่เจอและได้สนทนากับผู้ใหญ่แล้วผมรู้สึกว่าถูก "เปิดกระโหลก" เหมือนได้อ่านหนังสือเป็นเล่ม ครั้งนี้ก็เช่นกัน ... จึงอยากเขียนแบ่งปันไปยังนิสิตและผู้อ่านทุกครับ ...

หมายเลขบันทึก: 580510เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 04:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 04:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท