CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๔ : เป้าหมายชีวิตของนิสิต เป็นจริงได้กี่เปอร์เซ็นต์


สืบเนื่องจาก สัปดาห์ที่ ๑

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ สำรวมกายใจ ภายในสงบ มีสมาธิ ผ่อนคลาย อยู่ใหน"โหมดเรียนรู้"แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล (หรือที่นิสิตเรียกอย่างเคารพว่า "อาจารย์แม่") ทบทวนถึงการบ้านที่ให้นิสิตแต่ละคนไปกำหนดเป้าหมายชีวิต และพิจารณาสะท้อนต้นทุนของตนเอง วิเคราะห์โอกาส และกำหนดเส้นทางสู่เป้าหมายนั้น แล้วสรุปด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การวางแผนที่ดีเท่ากับทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง"

ท่านเริ่มให้แต่ละคนที่มาร่วมกิจกรรมได้ "ส่งการบ้าน" (ในที่นี้ หมายถึง การสนทนาแบบสดๆ โต้ตอบกันแบบเปิดอก เกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละคน) ซึ่งได้ไปสะท้อนทบทวน วิเคราะห์ และวางแผน ตามที่ "อาจารย์แม่" ได้มอบหมายไว้

คำถามที่ ๑ เป้าหมายชีวิตของเธอคืออะไร 

ท่านบอกว่า ในช่วงชีวิตของนิสิตตอนนี้ ควรต้องมีเป้าหมายเกี่ยวกับ "อาชีพการงาน" อีกหน่อยพอแก่ตัวไป (ท่านยกตัวอย่างตนเอง) ค่อยไปว่ากันด้วยเรื่องสุขภาพกาย ใจ

นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เป้าหมายชีวิตหนึ่งเดียวของเขาคือครู

...เป้าหมายเดียวของหนูคือสอบเป็นครูค่ะ...หนูกำลังเรียนระดับปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน เนื่องจากตอนเรียนปริญญาตรีไม่ได้เรียนครูค่ะ ...แต่การจะเป็นครูนั้นต้องมีประสบการสอนหนึ่งปี สอบผ่าน ๙ มาตรฐาน (เกณฑ์ที่กำหนดโดยคุรุสภา อ่านที่นี่หรือที่นี่) ถึงจะทำเรื่องขอใบประกอบวิชาชีพ ...

คำถามที่ ๒ กรอบระยะเวลา จะเรียนจบ ทำสำเร็จเมื่อไหร?

ระหว่างการสนทนากับนิสิต ท่านพยายามจะเน้นให้ทุกคนฟังและคิดตาม เพราะคำถามของท่านจะเน้นกระบวนการให้คิดตาม ...ครูพูดให้เธอไปคิดนะ เราไม่ได้มาโต้เถียงกัน เธอต้องนำไปคิดเอง...หมายถึง ถามคนเดียวแต่คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย บทสนาของท่านกับนิสิตจึงน่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องนำบันทึกสนทนามาเสนอทุกคน ...ดังนั้นบทสนทนากับตัวอย่างนิสิตที่มานี้จึงน่าสนใจยิ่ง

อาจารย์แม่ : กรอบระยะเวลาที่เธอคิดว่าจะทำสำเร็จ ภายในปีไหน
นิสิต :   ภายในปี ๕๙ ค่ะ อีกสองปี

อาจารย์แม่ : เธอจะเรียนจบเมื่อไหร่?.
นิสิต : ปี ๒๕๕๘ ค่ะ ปีหน้า... 

อาจารย์แม่ : ทำวิทยานิพนธ์ถึงบทที่เท่าไหร่แล้ว...
นิสิต : บทที่ ๓ ค่ะ 

อาจารย์แม่ : ป.โท ทั่วไปรุ่นพี่ๆ เธอเขาทำกี่เทอม?
นิสิต : ประมาณ ๓ เทอมค่ะ ... นั่นคือประมาณ ๑ ปี ครึ่งค่ะ ตอนนี้กำลังฝึกสอนไปด้วยค่ะ.. อีกหนึ่งปีจะจบ ป.โท ค่ะ

อาจารย์แม่ :แน่นะ... มั่นใจเหรอ... 
นิสิต : มั่นใจค่ะ 

อาจารย์แม่ : แล้วปี ๕๘ จบ แล้วเธอได้ใบประกอบวิชาชีพหรือยัง? ....
นิสิต : ยังค่ะ.. เขาต้องให้ทำเรื่องไปที่คุรุสภาก่อนค่ะ 
อาจารย์แม่ : เขาไม่ให้เธอทันทีหรอก... เธอยังบอกเลยว่ามันต้องอบรม...
นิสิต : หนูคิดว่าหนูจะอบรมไปพร้อมๆ กับเรียนเลยค่ะ ...

อาจารย์แม่ : สมมติว่า เธอได้ใบประกอบวิชาชีพครูตามแผนในปี ๕๙ แล้วตอนสอบบรรจุล่ะ เธอไปศึกษาโอกาสมาไหม โอกาสที่จะได้เป็นยังไง...
นิสิต : สอบบรรจุ เราต้องเริ่มตรงที่ ต้องรู้ก่อนว่า.. หนูจะต้องรู้ว่าเขาจะสอบอะไรบ้าง...

...เบ็ดเสร็จ....ท่านพูดตัดบท เพื่อให้นิสิตทุกคนเห็นกระบวนการของการคิดพิจารณาแนวทางการวิเคราะห์เป้าหมาย...เธอคิดว่า เธอจะไปสู่เป้าหมายนั้นภายในปีอะไร...แต่นิสิตคนนั้นก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า ... ๕๙ ค่ะ...

อาจารย์แม่ : เมื่อวาน เจ๊นุช(นามสมมติ ของนิสิตที่จบไปแล้ว)โทรมา เรียนเอก Math  ๓ ปีแล้ว ยังสอบบรรจุไม่ได้เลย...
นิสิตแสดงความมั่นใจทันที : หนูไม่รู้ค่ะอาจารย์ แต่ที่หนูรู้คือ คนรอบข้างที่อยู่ใกล้หนูเขาสอบได้ และมันเป็นเหมือนแรงกระตุ้นด้วย..

อาจารย์แม่ : เธอคิดว่าเธอจะดูหนังสือวันละกี่ชั่วโมงต่อวัน...
นิสิต : ยังไม่ได้วางแผนค่ะ... อาจารย์ค่ะ ถ้าเราคิดว่าเราจะบรรจุไม่ได้ เราจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามั่นใจเราจะทำได้....
อาจารย์แม่ : .... มโนมั๊ย...มโนมั๊ย......ฉันฝากเธอให้ไปคิดดู...ฉันไม่รู้ศักยภาพของเธอ...เธอต้องไปคิดเอง ...

คำถามที่ ๓ ตำแหน่งอะไร ต้องทำหน้าที่อะไร เขาสอบอะไรบ้าง 

นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบคือ การเป็นทหาร  ทหารยศสัญญาบัตร ยศเรือตรี ตอนแรกคิดจะสมัครทหารบก แต่เขาไม่รับคนจบนิติศาสตร์ แต่ทหารเรือเขารับตำแหน่งที่เกี่ยวกับกฎหมาย เข้าไปช่วยทำงานด้านกฎหมายในโรงเรียน ท่านถามทันทีว่า ตำแหน่งอะไร...ใช่นักวิชาการศึกษาหรือเปล่า ...ต้องรู้อะไรถึงจะเป็นได้ ...สิ่งที่เธออยากเป็นน่ะ เธอต้องรู้ละเอียด ต้องรู้ด้วยว่าเขาจะสอบอะไร เธอต้องอ่านหนังสือวันละกี่ชั่วโมง...
ถ้าตอบไม่ได้.... อย่ามโน...ถ้าเธอคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ปีหนึ่ง  เธอจะมีเวลาเตรียมตัวมากมายมหาศาล แต่ถ้ามาเริ่มคิดตอนปี ๔ เราจะทันมั๊ย...

คำถามที่ ๔ อย่า"มโน" สิ่งที่ว่าน่ะ...มะโนมั๊ย?...

นิสิตคนหนึ่งบอกว่าอยากจะเป็น "อัยการ" สิ่งที่ต้องมีคือ ๑) ต้องจบ ป.ตรี นิสิตศาสตร์ ๒) จบเนติบัณฑิต ๓) อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป และ ๔) ต้องมีประสบการณ์ด้านกฎหมายอย่างน้อย ๒ ปี หรือไม่ก็จบปริญญาโท ผมคิดว่าถ้าเราจบโท เราจะมีสิทธิ์สอบ "สนามเล็ก" เราจะมีโอกาสได้เป็นมากกว่าเพราะมีคนสอบแข่งขันน้อยกว่า  ....  แต่พอผมมาพิจารณาปรากฎว่า อเมริกาค่าเทอมล้านกว่า...โอ้โฮ้...ฝรั่งเศสก็ล้านกว่า อังกฤษล้านกว่า ..ไปเจอนิวซีแลน์ นอเวย์ เยอรมันเรียนฟรี ค่าใช้จ่ายประมาณ ๕๐๐ ปอนด์ (ประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท) แต่ต้องเตรียมภาษาเยอรมันให้ผ่านระดับ B1 (ฺได้แกรมม่า อ่าน พูด เขียนได้เบื้องต้น สื่อสารได้บ้าง)...

...เดี๋ยวก่อนๆ... เธอเรียนภาษาอังกฤษมากี่ปีแล้ว ... How many year you have learn English? Speak it in English?

เริ่มจริงจังตั้งแต่ตอนอยู่ ม.๖ ครับ แต่ยังพูดไม่ได้ รู้แกรมม่า ... ๘  ปีครับ ...

...You still cannot speak, if you going to study German Languge, You think you can study in the field of law?....ที่ถามน่ะคือพูดให้คิดนะว่า เราเรียนภาษาอังกฤษมามากกว่า ๑๐ ปี เรายังพูดไม่ได้เลย แต่ต้องไปเรียนภาษาเยอรมัน เราจะทำได้จริงเหรอ แม้ว่าจะไปเข้าคอร์ส ๓ เดือน ๖ เดือน ... Do you think you can do that?....

นิสิตประทับใจคำตอบของนิสิตอีกคนหนึ่งที่มาจากคณะบัญชีฯ มาก ผมตีความว่า เธอกับศรัทธาและกำลังอยู่บนถนนของการสร้าง "คุณค่าของชีวิต" ในระดับที่ไม่ใช่ "มูลค่าเพื่อตนเอง" แต่เป็น "มูลค่าตนเพื่อคนอื่น" เป็นการให้คุณค่าของชีวิตคนอื่นผ่านการดำเนินชีวิตตนเอง และเมื่อถูกถามว่า "มโนมั๊ย" เธอยังตอบอย่างมั่นใจว่า "หนูจะทำได้" บอกว่า...ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่เป็นอาชีพอย่างชัดเจน เพราะไม่ชอบงานประจำ... เธอต้องการจะทำอะไรที่เธอทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ...อยากทำธุรกิจบ้านเลี้ยงเด็ก เป็นความฝันอย่างหนึ่ง เพราะจะได้ช่วยเหลือคนอื่น....ที่มาเรียนการตลาดเพราะว่า ชอบทำกิจกรรม ทุกคนในวงการตลาดคิดแต่เรื่องธุรกิจ เรื่องเงิน มันจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะใช้การตลาดไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นการย้อนทวนกระแส....

คำถามที่ ๕ มีแผนสำรองมั้ย?

เป็นอีกครั้งที่มีข้อมูลยืนยันเชิงประจักษ์ว่า มีนิสิตจำนวนมาก ที่อยากเป็นครูแต่สอบไม่ติด เลยต้องมาเรียนคณะวิทย์ ผมตีความว่า นี่คือ "แผนสำรอง" ที่นิสิตคิดกันเองว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ง่าย แต่ความจริง นี่เป็นทางอ้อม และจะยิ่งเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหามากมายในยุคของการแข่งขันอย่างรุนแรงต่อไป

อาจารย์แม่ยังไม่ได้เน้นย้ำกับคำตอบของคำถามว่า "มีแผนสำรองหรือไม่"  แต่ฝากไว้ให้มาคุยในสัปดาห์ต่อไป...

ช่วงหลังการสนทนา ผม AAR ว่า ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งจะหาอ่านจากตำราใดๆ คงต้องใช้เวลามาก  โดยเฉพาะทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางตะวันตกตะวันออก ที่ท่านบอกบรรยายในช่วงท้ายของกิจกรรม  .... (ขอแยกไปเขียนในบันทึกหน้านะครับ)

หมายเลขบันทึก: 579866เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 07:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท