CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๓ : เป้าหมายของชีวิตของคุณคืออะไร


วันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ กลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" จัดกิจกรรมประจำสัปดาห์ เวลา ๑๘:๐๐ น. ถึง ๒๐:oo น. ณ ห้อง GE Learning ชั้น ๑ อาคารราชนครินทร์ (ตึก RN)

ก่อนอื่นขอชี้แจงเรื่องพระประธานที่มีการเปลี่ยนแปลง หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ( พระพุทธสิริสัตตราช) ได้รับอัญเชิญให้ไปประดิษฐานตรงโถงทางเดินเข้าตึก HUSOC เรียนเชิญผู้ศรัทธายังสามารถไปกราบสักการะได้ ไม่ไกลจากเดิมนักครับ ... พระประธานองค์ที่เราใช้เคารพบูชาในระยะเวลานี้ ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ภิรมย์ ผลิโก เจ้าอาวาสวัดป่ากู่แก้ว ท่านอนุญาตให้อัญเชิญมาชั่วคราว ระหว่างที่สำนักศึกษาทั่วไปดำเนินการจัดหาพระประธานประจำตึก RN ต่อไป

สัปดาห์นี้มีผู้มาร่วมกิจกรรม ๒๔ คน เป็นนิสิตชั้นปี ๑ ในโครงการเด็กดีมีที่เรียนเพียง ๕ คน ที่เหลือเป็นนิสิตชั้นปี ๒ ๓ ๔ และ ป.โท อุปสรรคสำคัญคือ กิจกรรม "พี่-น้อง" ของแต่ละคณะ ดังผลสำรวจ ที่นี่

สิ่งที่ต้องเรียกว่า "โชคดีจริงๆ" สำหรับผู้ที่มาร่วมวันนี้คือ การได้ร่วมพิจารณากำหนดเป้าหมายชีวิตกับกระบวนการของ รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสน์ ซึ่งท่านเสียสละเวลาอันมีค่ามาเป็น "กระบวนกร" เป็นวิทยาทาน ช่วยให้ทุกคนเริ่ม "คิดและกำหนดเป้าหมายของชีวิต" อย่างจริงจัง

กิจกรรมที่ ๑ ให้ "มโน"

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ รวบรวมสมาธิ เจริญสติ ตามสมควรแล้ว ท่านเริ่มกิจกรรมด้วยการสำรวจผู้เข้าร่วมฟังก่อน โดยย้ายที่นั่งกันให้เป็นหมดหมู่ เรียงเวียนขวา เริ่มตั้งแต่ ปี ๑ ๒ ... ไปจน ป.โท แล้วเชิญชวนให้พวกเราทุกคน นั่งสมาธิ หลับตา ในท่าที่สบาย แล้วให้ทุกคน "มโน" หรือ "จิตนาการ" ตามเสียงภาษาที่ท่านจะว่าไป...

...เรามาจากครอบครัวแบบใด คุณพ่อคุณแม่เราประกอบอาชีพอะไร เรามา มมส. เนี่ย... ลองจิตนาการซิว่า ... อีก ๔ ที่เราจะจบ หรือ ปี ๒ ปี ๓ ในอีก ๒-๓ ปี ข้างหน้าน่ะ เราจะทำอะไร เรียนจบแล้วจะไปตรงไหน จบแล้วจะทำอะไร ... วาดภาพจุดสูงสุดที่จะเป็นไปได้ เมื่อเราจบการศึกษา....คนที่เรียน ป.โท อยู่ก็ให้จิตนาการว่า อีก ๒ ปีเราจะไปอยู่ที่ไหน ...ภาพอนาคตที่เราต้องการ ที่เราอยากจะเป็นคืออะไร... แล้วปล่อยให้ทุกคนได้ใช้ "จิตนาการ" อยู่กับตนเองประมาณ ๓ นาที

กิจกรรมที่ ๒ "นะโม"

หลังจาก "มโน" ท่านให้แต่ละคนได้ แนะนำตนเองและเล่าถึงสิ่งที่ตนเองได้ "นะโม" (ตั้งไว้ในใจ) โดยใช้ ๓ คำถามเป็นเบื้องต้นก่อน ได้แก่ ชื่ออะไร เรียนสาขาอะไร พ่อแม่ทำอาชีพอะไร เป้าหมายในอนาคตหลังเรียนจบเป็นอย่างไร ...

ขอละรายละเอียดซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว เกี่ยวกับ ชื่อ สาขาที่เรียน และอาชีพพื้นฐานครอบครัว แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็น ลูก"เกษตรกร" ลูกชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ มีบ้างที่พ่อแม่ค้าขาย ที่น่า "ตระหนักใจ" คือ ไม่มีใครอยากจะเรียนไปเป็น "เกษตรกร" เลย... ต่อไปนี้คือภาพอนาคตอันใกล้ ที่แต่ละคนได้ตั้งไว้

จะไปสอบครู...จะไปเป็นปลัดอำเภอ...จะเป็นครูและสอนพิเศษ...อยากเป็นนักสิ่งแวดล้อม...เป็นอะไรก็ได้ขอให้ได้ทำงาน...อยากเป็นทนายความ...อยากเป็นทนายความหรือนิติกรและเป็นอัยการในอนาคตต่อไป...อยากทำธุรกิจ...อยากเรียนต่อเนติฯ ทนายความ... อยากเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ... อยากจะไปเรียนต่อปริญญาโท อยากไปประเทศญี่ปุ่น... อยากเป็นผู้พิพากษา... อยากเป็นทนายความหรือนิติกร...อยากเป็นอัยการ...อยากเป็นข้าราชการครู... อยากเป็นนิติกร...อยากมีสตูดิโอทำงานศิลปะเป็นของตนเอง ...รับราชการอัยการ...อยากเป็นทหาร..

กิจกรรมที่ ๓ คำถาม "มั่นใจว่าสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์"

คำตอบของเราแต่ละคน คือ...

๘๐, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๘๐, ๗๕, ๕๐, ๗๐, ๖๐, ๕๐, ๕๐, ๕๐, ๖๐, ๗๕, ๗๐, ๘๕, ๑๐๐, ๕๐, ๙๐

เฉลี่ยรวมกันจะได้ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อท่านถามย้ำว่า ถ้าให้คิดให้ดี และเลือกเป้าหมายเพียงอย่างเดียว "เป้าหมายเดียว" ให้เลือกแค่หนึ่ง จะเอาอะไร แล้วให้แต่ละคนบอกใหม่ ว่ามั่นใจกี่เปอร์เซนต์ คำตอบเป็นดังนี้ครับ

๘๐, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๘๐, ๗๕, ๕๐, ๗๐, ๖๐, ๙๐, ๕๐, ๗๐, ๗๕, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๑๐๐, ๕๐, ๙๐

เฉลี่ยรวมกันจะได้ ๖๙ เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) ... แสดงว่า ทุกคนค่อนข้างมั่นใจว่า ในคำตอบของตนเองพอสมควร

ท่านอาจารย์ บอกว่า ... ถ้าเธอบอกว่า ๕๐ หรือ ๖๐ เนี่ย.. เธอไม่สำเร็จหรอก เธอต้องตั้งใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องตั้งเป้าหมายเดียว ทางเลือกอื่นๆ ต้องรองลงมา และต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ... ให้ทุกคนไป Reflect ตนเองว่า โอกาสน่ะแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเรากี่เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น

...เธอจะเป็นครูภาษาไทย ตัวเธอเป็นต้นทุนในเรื่องนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนภายนอกอะไรบ้าง ... เธออยากเป็นครูภาษาไทย แต่เธอมาเรียนนิติศาสตร์ ... ดังนั้น สิ่งที่เธอพูดขึ้นมาน่ะ อยากให้ไปวิเคราะห์ต่อ ... ว่า ถ้าเธออยากจะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องทำอย่างไร...

...เธอที่อยากเป็นปลัดอำเภอน่ะ ถามว่าปีหนึ่งเขารับปลัดอำเภอกี่คน เด็กที่เรียนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ปีหนึ่งมีกี่คน .. มีกี่มอ (มหาวิทยาลัย) แต่ละมอเรียนกี่คน.. เธอคูณเข้าไป...

...สิ่งที่ครูพูดวันนี้ คือ ต้องการให้เธอชัดในเป้าหมาย ...ต้องมีเป้าหมายหนึ่งเดียว... ชีวิตเธอตอนนี้ไม่มีเวลาเลื่อนลอย...เป้าหมายของเธอขึ้นอยู่กับตัวเธอ (เรา) กี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม (เขา) กี่เปอร์เซ็นต์...




กิจกรรมที่ ๔ มี "การบ้าน"

สุดท้าย... ท่านได้มอบหมาย "การบ้าน" ให้ทุกคนนำกลับมาคุยกันต่อวันพุธหน้า ผมคุยกับน้องอุ้มว่า ให้ฝาก "การบ้าน" ไปยังน้องๆ เพื่อนๆ และพี่ ป.โท ที่ไม่ได้มาร่วมวันนี้และจะมาในวันพุธหน้า ให้ได้ทำการบ้านมาทุกคน

การบ้านคือ ให้ทุกคนที่จะมาร่วมกิจกรรมในวันพุธหน้า ไป "สะท้อนตนเอง" หรือ "Reflection" ตนเอง ในประเด็นคำถามต่อไปนี้

  • เป้าหมายชีวิตของข้าพเจ้าคืออะไร ต้องเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียวที่มั่นใจว่าจะสำเร็จ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ... อย่า "มโน" เกินจริง อย่าเพ้อเจ้อ ...
  • เขียนบอกด้วยว่า ปีไหน เวลาใด คือให้บอก Timing ของเป้าหมายนั้นๆ จะต้องทำอะไรเมื่อไหร่ ปีไหน ถึงจะได้เป็นสิ่งที่เป็นตามเป้าหมาย
  • ให้วิเคราะห์ "โอกาส" ที่จะบรรลุเป้าหมาย ต้นทุนมีอะไร ต้องรู้อะไรบ้าง ต้องมีทรัพยากร (รวมทั้งทุนทรัพย์) เท่าไหร่
  • ให้วิเคราะห์เส้นทางสู่เป้าหมาย ต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ปีไหน ถึงจะไปถึงเป้าหมาย

ท้ายสุด... ท่านย้ำว่า "การวางแผนที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง"

เราทำ AAR กัน ๕ นาทีหลังเลิกกิจกรรม ผมเสนอว่า กิจกรรมในวันนี้ ทำให้ผมมีพลังเพิ่มขึ้นแบบ "เท่าทวี" ผมสัมผัสได้ถึงความเมตตา และกำลังใจ อีกทั้งการสนับสนุนจากท่านในกิจกรรมที่จะทำต่อๆ ไปในโครงการนี้

อยากให้ "คนดี" ในมหาวิทยาลัยมารวมกันให้มากขึ้นครับ ... โดยเฉพาะนิสิตในโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" ความยากลำบากและอุปสรรค ที่ขวางกั้นไว้ไม่ให้เรามารวมกัน ต้องต่อสู้กับมันด้วย "ความเพียร" หรือ "วิริยะ" ซึ่งจะเป็นที่ต้องให้ "จิตตะ" จดจ่อหรือให้ความสำคัญ มาสร้าง "ฉันทะ" รัก สามัคคี ขับเคลื่อนความดีในมหาวิทยาลัยของเราร่วมกันครับ...

หมายเลขบันทึก: 579494เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2014 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2015 06:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 กิจกรรมนี้ น่าจะกระตุกเด็กได้มากทีเดียวค่ะ

สร้างสรรค์จิตวิญญาณคนรุ่นใหม่ที่ประเทศต้องอาศัยพวกเขาครับ ขอชื่นชมจริงๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท