บันทึกอนุทินครั้งที่ 6 เรื่อง การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา(Learning Organization) โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)


บันทึกอนุทินครั้งที่ 6

เรื่อง การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา(Learning Organization)

ชื่อ นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ รหัสนักศึกษา 57D0103105

สาขาวิชา หลักสูตรและการสอน (Curriculum and Instruction) ปริญญาโท ภาคพิเศษ

วัน/เวลา วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2557 เวลา 8.40 น. – 11.00 น.

ที่ โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ (102611) อาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

*การเตรียมตัวล่วงหน้าในการเรียนแต่ละครั้ง

ก่อนการมาศึกษาดูงานที่โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) ข้าพเจ้าได้ทบทวนเกี่ยวกับขั้นตอนของการจัดการความรู้ที่เคยได้เรียนจากชั่วโมงก่อนหน้า เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำมาจับประเด็นที่เป็นข้อปฏิบัติที่เด่นชัดของทางโรงเรียนในด้านการจัดการความรู้ในสถานศึกษาแห่งนี้

*ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เริ่มต้นและพัฒนาบนพื้นฐานแนวความคิดที่ว่า "โลกในปัจจุบันเป็นโลกแห่งการแข่งขัน มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และการแข่งขันระหว่างองค์กรที่รุนแรง หากองค์กรใดมีพัฒนาการที่ล่าช้าไม่ทันสมัยก็จะต้องถูกยุบไม่สามารถอยู่ร่วมในสนามแข่งขันได้ วิธีการที่จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือ การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้" ซึ่งมีรูปแบบด้วยกันหลายอย่าง เช่น องค์กรแห่งการเรียนรู้ตาม Model ของ Senge คือ

1. Shared Vision บุคลากรในองค์กรมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน เป็นกรอบความคิดที่กำหนดแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจน

2. Team Learning การเรียนรู้จากกันและกันผ่านการทำงานเป็นทีม บุคคลแต่ละคนย่อมมีความถนัด ความเชี่ยวชาญและความรู้ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เกิดการเรียนภายในองค์กร

3. Personal Mastery การใฝ่รู้มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ก่อนการพัฒนาองค์กรบุคคลจะต้องมีความสนใจใฝ่รู้ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เนื่องจากความรู้ต่างๆมีพัฒนาการก้าวหน้า เช่นทางด้านการแพทย์ก็มีวิธีการรักษาพยาบาลแบบใหม่ ดังนั้นบุคคลจึงต้องมีการพัฒนาตนเอง

4. Mental Model การฝึกฝนสร้างแผนที่ความคิด คือ การฝึกการคิดให้เป็นระบบ มองเห็นภาพรวมและระบุรายละเอียดของการปฏิบัติงานได้โดยใช้แผนที่ความคิด คิดเพิ่มต่อยอด แตกประเด็นในการทำงาน

5. System Thinking ไม่ยึดติดกับวิธีการปฏิบัติเก่าๆที่ล้าสมัยแต่หันมาปฏิบัติงานอย่างเชื่อมโยงกับองค์ความรู้รอบด้าน

ในการจัดการความรู้เราควรที่จะจัดการกับความรู้ทั้ง Tacit Knowledge และ Explicit Knowledge อาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครูมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)ได้จัดกิจกรรมสำหรับครูให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้หลากหลายกิจกรรม ได้แก่

1. กิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง ให้ครูได้เรียนรู้จากการฟัง ฟังถึงวิธีการคิด/แนวทางปฏิบัติ/วิธีการแก้ปัญหา เรียกว่าการฟังแบบ Deep Listening

2. การนำเสนอแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่ม ครูที่นำเสนอเรื่องราวได้นั้นจะต้องมีวิธีการที่สามารถเป็นแบบอย่างให้ครูท่านอื่นได้ ส่วนครูที่ฟังการนำเสนอก็จะได้ฝึกการสกัดความรู้จากเรื่องที่ฟัง

3. การเขียน Blog เป็นการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก เป็นการจัดการและบริหารด้านข้อจำกัดของเวลาที่แต่ละบุคคลในองค์กรมีไม่ตรงกัน ครูสามารถเลือกอ่านBlogที่ตนเองสนใจเมื่อไรก็ได้ จะอ่านซ้ำกี่ครั้งก็ได้

4. บันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้าเดียว จัดกิจกรรมให้ครูไปศึกษาเรียนรู้เรื่องที่ตนเองสนใจแล้วจัดทำเป็นบันทึกหน้าเดียวเพื่อสรุปองค์ความรู้

5. งานวิจัยจากการทำบันทึกหน้าเดียว เป็นการผนวกงานวิจัยที่ครูจะต้องทำในชั้นเรียนเข้ากับการจัดการความรู้ ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนของครูลง

6. การจัดนิทรรศการทั้งในภายในและภายนอกสถานศึกษา เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายในด้านKM ด้วยกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นและเป็นการจัดเวทีให้ครูได้นำเสนอผลงานของตนเองและองค์กร

*ความคิดเห็นต่อประเด็นที่เรียน

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ช่วยให้มองเห็นภาพขั้นตอนของการจัดการความรู้ได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากท่านผอ.ศักดิ์เดช กองสูงเนิน วิทยากรผู้ให้ความรู้สามารถเติมเต็มข้อสงสัยและฉายภาพการทำงานของคณะครูในโรงเรียนได้อย่างชัดเจน ซึ่งท่านได้แนะถึงข้อปฏิบัติ ปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ปัญหาที่ทางโรงเรียนเทศบาล 4 ได้ดำเนินการมาแล้ว

*การนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเองและการปฏิบัติงาน

เนื่องจากข้าพเจ้าได้ศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์แต่ได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนการสอนในวิชาที่ไม่ใช่วิชาเอกของข้าพเจ้าหลายวิชา ซึ่งแต่ละปีการศึกษามักจะได้วิชาที่ต่างกันออกไป ข้าพเจ้าจึงสามารถนำแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ไปใช้กับการเรียนการสอนของตนเองได้คือ การจดบันทึกปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาของตนเองเมื่อได้เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันข้าพเจ้าก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ และจากแนวความคิดนี้ข้าพเจ้าจึงสนใจนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกับคณะครูที่ทำการสอนในรายวิชาอื่นๆ จากเดิมที่มักจะสนทนาถึงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนของตนเองว่า นักเรียนคนนั้นเป็นเช่นนี้ นักเรียนคนนี้เป็นเช่นนั้น ก็จะปรับเปลี่ยนมาเป็นการพูดคุยถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ปฏิบัติแล้วสามารถแก้ปัญหาได้

*บรรยากาศการเรียน

บรรยากาศในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านวิทยากรมีความพร้อมในการให้ความรู้และรู้สึกว่าท่านภาคภูมิใจในผลงานที่ท่านทำแล้วประสบความสำเร็จชิ้นนี้มาก จะเห็นได้จากการนำเสนอในประเด็นต่างๆท่านสามารถแยกย่อยข้อความรู้ให้กับคณะดูงานได้รับชมอย่างชัดเจน มีการนำภาพการจัดการความรู้ของคณะครูในโรงเรียนมานำเสนอเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงขั้นตอนการจัดการความรู้ในสถานศึกษา

ความรู้สึกที่มีต่อการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นการศึกษาดูงานที่เราใช้ต้นทุนต่ำคือไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่เรากลับได้ผลกำไรที่ค่อนข้างสูง คือ ได้สัมผัสถึงผู้ที่นำเรื่องของการจัดการความรู้ไปใช้จริง มีข้อสงสัยอะไรก็สามารถซักถามได้ นอกจากนี้ยังช่วยเปิดมุมมองและทัศนคติในการทำงานอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 580515เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 06:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท