พลังแห่งจินตนาการ : ก้าวกระโดดของงานคุณภาพ


                             

       ในวันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคมนี้ ผมได้รับเชิญให้ไปพูดเปิดงานมหกรรมคุณภาพที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวข้อที่จะพูดทางผู้จัดงานกำหนดมาให้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ หัวข้อเรื่อง “พลังแห่งจินตนาการ : ก้าวกระโดดของงานคุณภาพ” โดยให้เวลาพูดเกือบสองชั่วโมง ผมเองตั้งแต่ได้รับเชิญก็เตรียมการมาหลายวันแล้วนับถึงวันนี้เวลาที่ใช้เตรียมเนื้อหาน่าจะมากกว่า 20 ชั่วโมงแล้วครับ

      เนื้อหาที่เตรียมไว้มีทั้งที่ได้มาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองและที่ต้องไปค้นคว้าหาเพิ่มเติมมาจากอีดหลายแหล่ง เอามาร้อยเรียงแต่งเติมสีสันผูกเรื่องราวให้น่าสนใจ คนฟังจะได้ไม่เบื่อ และที่สำคัญต้องสามารถนำกลับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ถึงวันนี้เตรียมได้ประมาณสี่สิบสไลด์ แต่ในวันจริงผมคงต้องมาดูอีกทีว่าจะใช้กี่สไลด์ วันนี้ได้หยิบสไลด์ที่ถือว่าเป็น “หัวใจ” ของการพูดมาให้แฟนทางเฟสได้ดูกันหนึ่งสไลด์ ส่วนท่านใดที่อยู่หาดใหญ่และสนใจไปฟังก็ลองติดต่อทางคณะแพทย์ฯ ดูนะครับ

       สไลด์ที่นำมาให้ดูนี้เป็นการอธิบายคำว่าจินตนาการ หรือ Imagination ว่ามันมีที่มาจากหลายทางด้วยกัน ที่ผมนำมาพูดให้ฟังนั้นเป็นช่องทางใหญ่ๆ สี่ช่องทางด้วยกัน ช่องทางแรกเป็นช่องทางพื้นๆ ที่เราคุ้นกันดี เป็นจินตนาการที่ผ่านมาทางสมองผ่านมาทางความคิด แต่ต้องเป็นความคิดที่ไม่ติดกรอบ (ออกนอกกรอบ) นะครับถึงจะเข้าข่ายว่าเป็นการใช้จินตนาการ ช่องทางที่สองผ่านมาทาง “การมอง” แต่ไม่ใช่การมองจากสองตาที่เรามี ไม่รู้จะเรียกว่าเป็น “ตาที่สาม” หรือ “ตาจากภายใน” จะได้ไหม ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Visualization ซึ่งผมจะอธิบายผ่านข้อความวิสัยทัศน์ของบางบริษัทให้ฟังเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม

       สำหรับช่องทางที่สามและสี่จะเป็นเรื่องที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ช่องทางที่สามสื่อให้เห็นว่าจินตนาการที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องที่มาจากใจ ซึ่งผมจะใช้คำสองคำอธิบายช่องทางที่สามนี้ คำแรกก็คือคำว่า Passion จะเรียกว่าเป็นความหลงใหลคลั่งใคล้ในสิ่งที่ทำอันนำไปสู่จินตนาการอันโลดแล่น หรือจะใช้คำอีกคำหนึ่งซึ่งก็คือคำว่า Compassion มาอธิบายก็ได้เช่นกันว่ามันเป็นต้นทางของจินตนาการที่แท้จริงได้อย่างไร สรุปได้สั้นๆ ว่าถ้าเราไม่มี Passion ในงาน หรือใจของเราไม่มี Compassion สิ่งเหล่านี้ก็จะปิดกั้นจินตนาการของเราไปโดยปริยาย

       สำหรับช่องทางสุดท้ายช่องทางที่สี่ เป็นช่องทางที่ร่วมปีที่ผ่านมานี้ผมเองก็ได้ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ หากดูในรูปจะเห็นได้ว่ามันมาจากบริเวณท้อง (บริเวณใต้ลิ้นปี) ในภาษาอังกฤษเรามักได้ยินคำพูดที่ว่าให้เราเชื่อหรือทำตาม “gut feeling” หรือความรู้สึกลึกๆ ที่มาจากข้างในของเรา บางคนอาจจะเรียกมันว่า “ลางสังหรณ์” หรืออะไรก็ตามแต่ จะเห็นได้ว่ามันเป็นการรู้ที่ไม่ได้มาจากสมองหรือการคิดแบบติดตรรกะ ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์บางท่านใช้คำว่ามันเป็นการรู้ที่อยู่ “นอกเหตุเหนือผล” เป็นการรู้แบบปิ๊งแวบ หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Intuition” ซึ่งก็คือชื่อหนังสือของ Osho ที่ผมนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้คำว่า “ปัญญาญาณ”

       แค่สไลด์นี้สไลด์เดียวถ้าจะอธิบายให้ถี่ถ้วนพร้อมยกตัวอย่างในชีวิตจริงประกอบก็คงจะใช้เวลานานพอสมควรเลยทีเดียว เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจฟังก็ไปเจอกันที่ห้องประชุม ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ ในวันพฤหัสที่จะถึงนี้ก็แล้วกัน อย่าลืมติดต่อขออนุญาตจากคณะแพทย์ฯ เจ้าของงานก่อนนะครับ

หมายเลขบันทึก: 579393เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2014 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2014 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจมากๆ ค่ะอาจารย์ และจินตนาการก็น่าจะมีประโยชน์ต่อ KM ด้วยนะคะ

สนใจมากคะอาจารย์ ยังสงสัยว่าระหว่างการมองในตาที่สาม คือการทำให้จิตว่าง มีสมาธิที่จดจ่อ ในส่ิงนั้นหรือ การมีจิตตั้งมั่นสนใจในสิ่งนั้นๆ เราควรฝึกแบบไหนดีกว่า หรือ สงสัยผิดทางไปคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท