เก็บตกวิทยากร (17) : ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า (เรียนรู้ชุมชนผ่านภาพวาด)


กระบวนการที่ว่านี้ ไม่เพียงทำให้แต่ละคนรู้จักมักคุ้น เปิดใจเข้าหากันได้มากขึ้นและเร็วขึ้น หากแต่ยังพาแต่ละคนได้รับรู้ว่าในชุมชน “บ้านเกิด” ของแต่ละคนมีสถานที่สำคัญๆ อะไรบ้าง และสถานที่ดังกล่าวนั้นทำ “หน้าที่” อะไรบ้าง ทั้งต่อผู้เล่าเรื่องและต่อชาวบ้านในชุมชน

ในเวทีสัมมนาเสริมทักษะนิสิตนักศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 ณ อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับโครงการรากแก้ว (มูลนิธิรากแก้ว) ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผมในฐานะแกนหลักของทีมกระบวนกร ต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไว้หลายลักษณะ เพราะไม่ใช่แค่จัดกระบวนการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น หากแต่ต้องสอนกระบวนการ หรือฝึกกระบวนการให้กับนิสิตนักศึกษา และอาจารย์ไปพร้อมๆ กัน





ประเมินสถานการณ์ความสัมพันธ์ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”


วันที่ 24 ตุลาคม 2557 ทีมวิทยากรเปิดเวทีด้วยกิจรรมกลุ่มสัมพันธ์เหมือนเคยมา จากนั้นก็เข้าสู่ประเด็นเรื่องของการถ่ายภาพ ซึ่งวิทยากรมาจากโครงการรากแก้ว (อาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ) โดยกระบวนการดังกล่าวเน้นการให้ความรู้ หยิบยกตัวอย่างภาพถ่าย รวมถึงการทดลองปฏิบัติการถ่ายภาพ แล้วนำภาพมาร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อเสนอแนะร่วมกัน



กรณีดังกล่าว ก็ถือว่าผ่านไปด้วยดี นิสิตนักศึกษาและอาจารย์ พอจะเข้าใจได้บ้างว่าความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพมีอะไรบ้าง ทั้งกระบวนทัศน์ จินตนาการ หรือกระทั่งเทคนิคของการถ่ายภาพ ซึ่งมีทั้งที่จำต้องจัดตั้ง และภาพที่ถ่ายเนียนไปตามสถานการณ์จริง-

แต่เมื่อหันกลับมาวิเคราะห์-ประเมินถึงสภาวะความสัมพันธ์ที่ผู้เข้าร่วมการสัมมนานั้นกลับพบว่าดูจะมีช่องว่างอยู่มาก ถึงแม้จะมีมีกระบวนการหนุนเสริมหลายอย่าง ทว่าก็ยังดูเหมือนแต่ละคนแต่ละกลุ่มยังไม่ทะลุกำแพงตัวตนออกมาหากันได้อย่างสนิทใจ ทั้งอาจารย์นักศึกษาและอาจารย์ ส่วนใหญ่ยังคงจับกลุ่มอยู่ในพื้นที่ของตนเอง –

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ผมต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ในวันถัดมา ซึ่งโปรแกรมของวันใหม่ เป็นภารกิจของผมล้วนๆ






ปรับกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” สู่ “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า”

ผมตัดสินใจปรับกระบวนการแบบ “ด่วนดิบ” แทนที่จะเข้าสู่การบรรยายปูพรมความคิดในเรื่องการเรียนรู้ความเป็นชุมชนผ่านสถานที่สำคัญๆ ในชุมชนโดยตรง ผมกลับเลือกที่จะแปลงกิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ที่มักให้ผู้คนวาดรูปความทรงจำดีๆ หรือร้ายๆ เป็นการวาดภาพ “สถานที่สำคัญๆ ในชุมชน” หรือสถานศึกษาของตนเองแทน


ภายใต้เวลาอันจำกัดนั้น ผมรวบรัดยึดโยงกิจกรรมการบรรยายเข้าสู่ปฏิบัติการผ่านภาพวาดและซ่อนเร้นการละลายพฤติกรรมของผู้คนเข้าหากันไปแบบเนียนๆ


ประเด็นสำคัญคือการนำเข้าสู่กระบวนการด้วยการ “เข้าเงียบ” ด้วยเสียงเพลง ชมวีดีทัศน์สั้นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและการปรับแต่งสมาธิของแต่ละคน ถัดจากนั้นจึงให้แต่ละคนวาดภาพตามประเด็นที่กำหนดให้ ซึ่งการวาดภาพครั้งนี้ ผมให้เขียนชื่อสถานที่ และเขียนคำบรรยายเป็นเรื่องราวกำกับไว้ด้วย เพียงแต่ไม่ได้บอกกระบวนการครบถ้วน หรือ “ลากยาว-เลื้อยไหล"  หากแต่ค่อยๆ แจ้งประเด็นการทำงานทีละเล็กทีละน้อย เสมือนการซ่อนนัยสำคัญ เพื่อให้แต่ละคนซื่อสัตย์ต่อเรื่องที่กำลังทำ ไม่ใช่ปรุงแต่งขึ้นมา เพื่อกลบเกลื่อน




เมื่อเสร็จสิ้นการวาดภาพ ผมก็ให้สมาชิกในกลุ่มเล่าสู่กันฟัง กำหนดเวลาพอประมาณโดยให้แต่ละกลุ่มบริหารจัดการเวลา หรือกระบวนการเล่าเรื่องร่วมกัน ขณะที่ผมก็สังเกตกระบวนการว่าแต่ละกลุ่มมีวิธีการขับเคลื่อนภายในกลุ่มอย่างไร – รวมถึงการหนุนเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ด้วยการเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ คลอเคล้าไปอย่างสุภาพ

กระบวนการดังกล่าวนี้ ผมขออนุญาตให้ทีมผู้ช่วยกระบวนการได้นั่งสังเกตการณ์อยู่ในแต่ละกลุ่ม เพื่อเรียนรู้เรื่องราวไปด้วย รวมถึงจดบันทึกแบบเนียนๆ ในเรื่องประเด็นเนื้อหา กระบวนการ รวมถึงการจับประเด็นวาทกรรมสำคัญๆ


เห็นได้ชัดว่าแต่ละคนสงบนิ่ง มีสมาธิมากเป็นพิเศษ สนุกและมีความสุขกับการถ่ายทอดเรื่องราว สนุกและมีความสุขกับการสดับฟังและคิดตามกับเรื่องราวที่เพื่อนๆ ได้แบ่งปัน ถึงขั้นมีบางคนร้องไห้ออกมา




เวลาเลื้อยไหล : เรื่องเล่าเดินทางไม่รู้จบ

ด้วยความสุขแห่งการแบ่งปันของแต่ละคน แต่ละเล่าเรื่องอย่างมีมิติ สนุกและมีความสุขกับการแบ่งปัน เผลอพลั้งถามทักกันเป็นครั้งคราไป ซึ่งผมก็มิได้พิพากษาว่านั่นคือการละเมิดเข้าไปสู่พรมแดนอันเป็นส่วนตัวของแต่ละคน เพราะเท่าที่สังเกตคือแต่ละคนเริ่มทะลายกำแพงตัวตนลงอย่างเห็นได้ชัด เริ่มสบตา ยิ้มแย้ม จับมือ –คุ้นชินกันมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ


เพราะมันคือความสุข ผมถึงปล่อยเวลาไหลลื่น หรือลากไหลไปตามสภาวะตรงนั้น ไม่ถือวิสาสะดิบด่วนไประงับ เพราะเกรงว่าอารมณ์ความรู้สึกในเวทีดังกล่าวจะหยุดชะงัก เสมือนการถูกฉุดกระชาก หรือถูกทุบหัวแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว...

ก็ด้วยความสุขนั่นแหละที่ทำให้เวลาเลื่อนไหลออกไป ผมจึงมอบหมายภารกิจเพิ่มเติมให้แต่ละคนได้กลับไปเขียนเรื่องราวขยายความในภาพให้ยืดยาวขึ้น โดยให้นำส่งในวันพรุ่งนี้ หากแต่ไม่บังคับกะเกณฑ์ว่าทุกคนต้องเขียน – ใครใคร่เขียนก็เขียน - ใครไม่ใคร่เขียนก็ไม่เป็นไร





มองบริบทชุมชนผ่านภาพวาด : ในภาพมีเรื่องราว ในหมู่บ้านมีเรื่องเล่า และตำนาน

ด้วยความที่ผมปรับกระบวนการเรียนรู้ด้วยการแทนที่จะบรรยายภาคทฤษฎีเรื่องการเรียนรู้ชุมชนผ่านสถานที่สำคัญๆ แต่กลับใช้กระบวนการวาดภาพเข้ามาแทน เพื่อละลายพฤติกรรมของผู้คนเข้าหากัน และเอาโจทย์การบรรยายมาแทรกไว้ในกระบวนการวาดภาพ ทำให้บรรยากาศของการเรียนรู้ดูมีชีวิต เป็นกันเอง และมีพลังอย่างไม่ต้องสงสัย

กระบวนการที่ว่านี้ ไม่เพียงทำให้แต่ละคนรู้จักมักคุ้น เปิดใจเข้าหากันได้มากขึ้นและเร็วขึ้น หากแต่ยังพาแต่ละคนได้รับรู้ว่าในชุมชน “บ้านเกิด” ของแต่ละคนมีสถานที่สำคัญๆ อะไรบ้าง และสถานที่ดังกล่าวนั้นทำ “หน้าที่” อะไรบ้าง ทั้งต่อผู้เล่าเรื่องและต่อชาวบ้านในชุมชน



ผมเชื่อมั่นอยู่อย่างว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า” กระบวนการดังกล่าวจึงนำพาแต่ละคนกลับไป “ทบทวนตัวเอง” ผ่านฐานความรู้อันเป็น “ชุมชน” ของตนเอง เสมอเหมือนการกระตุกต่อมคิดเรื่องจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดของตนเองไปแบบสุภาพๆ ...


และคำว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า” ที่ผมใช้เป็นวาทกรรมนั้นก็มิใช่บ่งชี้แค่เรื่องเล่าธรรมดาๆ หากแต่ซ่อนนัยสำคัญเรื่องความรู้ ตำนาน ฯลฯ ที่มีในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ อย่างชัดแจ้ง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนยังจดจำมันได้หรือไม่ ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่ “ไร้ราก” หรือหลงลืมรากเหง้าตัวเองไปแล้วก็เป็นได้



แน่นอนครับ, เรื่องราวสถานที่ๆ ปรากฏในภาพส่วนใหญ่มักเป็นบ้าน วัด โรงเรียน หนองน้ำ สวนยาง สวนอ้อย ดอนปู่ตา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ “คลังความรู้” แทบทั้งสิ้น ซึ่งในห้วงยามที่จัดกิจกรรมในชุมชนก็ไม่อาจละเลยเรื่องราวเหล่านี้ได้ เพราะสถานที่เหล่านี้คือบริบทชุมชน และบริบทชุมชนนี่แหละคือส่วนหนึ่งที่เป็นโจทย์แห่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (เรียนรู้คู่บริการ) ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน...



ส่งท้าย :

การปรับแต่งกระบวนการเรียนรู้แบบดิบด่วนเช่นนี้ ผมถือว่ามันจำเป็นอย่างมาก... มันเป็นความท้าทายของกระบวนกรอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับผมแล้วการปรับแต่งกระบวนการคือการยึดผู้เข้าร่วมเวทีเป็นศูนย์กลาง เมื่อไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ก็ต้องใจเย็นพอที่จะผ่อนคลายแล้วยึดโยงสิ่งต่างๆ เข้ามาหนุนเสริม หรือกระทั่งย่นย่อประเด็นเข้าหากันไม่ใช่ลากเลื้อยไม่สิ้นสุด และการออกแบบก็ต้องหยัดยืนและขับเคลื่อนบนฐานคิด “บันเทิงเริงปัญญา”

ครั้งนี้ก็เช่นกัน การปรับกระบวนการของผมเป็นไปตามนั้น เป็นการปรับแต่งอย่างมีสติ และสุขใจที่กระบวนการที่ปรับแต่งนั้นได้ช่วยลดช่องว่างของผู้คนลง และยังไม่สูญเสียประเด็นของการเรียนรู้ เรียกได้ว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกมาสองตัว” เลยทีเดียว



หมายเลขบันทึก: 579387เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2014 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2014 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านเรื่องราว

-"ไม่มีที่ไหนไม่มีเรื่องเล่า"จริง ๆครับ

-ดังนั้นคนเราจึงมีเรื่องเล่า..แต่ว่าจะเล่าด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่..

-ที่สำคัญ..เวที..เวลา..โอกาส..ที่จะเล่า..ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองครับ

-สำหรับตัวผมเองแล้ว...มีพื้นที่แห่งนี้เป็นช่องทางในการเล่าเรื่อง...

-ขอบคุณสำหรับแนวคิดดี ๆ และเรื่องเล่าจากบันทึกนี้นะครับ

-ด้วยจิตคารวะ...ผู้ให้..


ตั้งชื่อเรื่องได้ถูกใจวัยรุ่น (นิสิต นักศึกษา) นะคะ ขอบคุณข้อคิดดีๆ ค่ะอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาติดตามงานเขียนที่ทรงพลังต่อไปนะคะขอบคุณมากที่ไปทักทายผ่านมานานมากเพิ่งได้เข้ามาเยี่ยมค่ะ

บรรยากาศงานค่าย ยังคงสะท้อนภาพงานทีม ที่ต้องปรับตามสถานการณ์

ไม่ว่าหน่วยงานใด ที่ไหน ช่วงวัยใด ยังคงให้ความรู้สึกดีๆเสมอ

สะดุดคำว่า"ลากยาว - เลื้อยไหล" พลอยให้คิดถึงค่ายสุขภาพที่ไปมาร้อนๆค่ะ

รายการลากยาว ละลายพฤติกรรม (มี)เลื้อยไหล อย่างเป็นธรรมชาติสุดๆค่ะ ๕๕ 

...ด้วยความชื่นชมมากๆค่ะ

เพิ่งแสดงความคิดถึงได้ครับ

กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอนี้งเป้นกระบวนการที่ดีมาก

เข้าไปแทรกได้ทุกกิจกรรม

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้อะไรมากเลย

ขอบคุณมากๆครับ

ทุกชุมชนมีเรื่องเล่าจริงๆ อ่านไปก็มีความสุขไปด้วย

อ่านไปแล้วก็นึกถึงบรรยากาศชุมชนชนบทห่างไกลความเจริญสมัยก่อนโน้น  เป็นความผูกพัน ใกล้ชิด ช่วยเหลือ ร่วมแรงร่วมใจ  ที่กำลังห่างหายไปจากชุมชนเมือง

การเล่าเรื่องชุมชนตัวเองน่าจะทำให้พวกเขารักและภูมิใจถิ่นเกิด 

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท