​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๗๑. เรียนรู้ coaching


          รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ชวนผมไปเข้า workshop เรื่อง coaching ในวันที่ ๑๓ - ๑๔ กันยายน ๒๕๕๗ ที่โรงแรม เซนจูรี่ ปาร์ก ผมจัดเวลาไปเข้าแบบเต็มเวลา ไม่ยอมให้นัดอื่นๆ มาทำให้วอกแวก ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะ โค้ชนุ่น (นภัส มรรคดวงแก้ว) มีความรู้และทักษะแน่นและแม่นจริงๆ สมคำเล่าลือ

          เธอบอกว่า โค้ชชิ่งมี ๒ แนว คือแนวแรก โค้ชต้องเก่งเรื่องนั้น และแนวที่สอง โค้ชไม่ต้องเก่งเรื่องนั้น แต่ต้องเก่งด้านการถาม และการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้ coachee คิดออกเอง ที่เราเรียน (ฝึก) กัน เป็นแนวที่สอง

          โค้ชนุ่นบอกว่า โค้ชทำหน้าที่ facilitator ไม่ใช่ผู้ช่วย ไม่ใช่ที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้แก้ปัญหา และที่สำคัญไม่ใช่กระโถน สำหรับรองรับปัญหา โค้ชทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้ coachee แก้ปัญหา หรือ “หลุด” พ้นจากปัญหา ด้วยตัวเอง

          จากการฝึกผมพบว่า การวางความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน สลัดความรู้สึกว่าตนเองรู้ดีกว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก สำหรับคนแก่อย่างผม รวมทั้งสลัดความคุ้นเคยในการทำอะไรก็คิดอย่างรวดเร็ว ทำให้เราในฐานะโค้ชคิดหาทางออกไปล่วงหน้า ทำให้เป็นโค้ชที่ไม่ดี เพราะหลงไปคิดแทนเขา จากประสบการณ์ฝึกสั้นๆ ผมคิดว่าโค้ชต้องใช้ความคิดมาก จากการฟัง ฟังให้ได้ความเข้าใจลึกเข้าไปในตัว coachee ตรงไหนไม่ชัดต้องถาม โดยมีวิธีถามเพื่อกระตุ้นให้ coachee เข้าใจตนเองชัด

          ที่สำคัญที่สุดต้องเข้าใจเป้าหมายได้ชัด และถูกต้อง ไม่ติดสิ่งที่โค้ชนุ่นเรียกว่า “แผ่นกรอง” (filter) ซึ่งน่าจะหมายถึง “ความจริงส่วนผิว” ระหว่างที่ผมนั่งสังเกตการณ์โค้ชนุ่นดำเนินการโค้ชอาสาสมัคร คือครูพจน์ (ชื่อเล่น) แห่งจังหวัดพะเยา ผมคิดว่า ส่วนที่ยากและท้าทายมากที่สุดส่วนหนึ่งของโค้ชคือ การวินิจฉัยว่า coachee “แกะ” แผ่นกรอง ออกหรือยัง หรือเข้าถึง “แก่น” ของเป้าหมายแท้จริงในชีวิต แล้วหรือยัง

          coaching ทำงานบนสมมติฐานว่า คนเราต่างก็มีเป้าหมายในชีวิต แต่มักหลงเปลือกที่มาห่อหุ้มแก่นของเป้าหมายนั้น โค้ชต้องค่อยๆ ถาม จน coachee นึกออกเอง ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร

          ความยึดติด หรือ “แผ่นกรอง” ที่ปิดกั้นพลังของคนเรา คืออุปสรรค เรามักหลงเอาใจไปเพ่งอุปสรรค ไม่เพ่งคุณค่าของเป้าหมาย และศักยภาพของตนเอง และปัจจัยรอบข้าง คือหลงคิดลบ ไม่มีทักษะในการใช้พลังคิดบวก

          “แผ่นกรอง” อีกอย่างหนึ่ง คือ หลงยึดติด “เป้าหมายปลายทาง” ไม่เห็นพลังของ “เป้าหมายรายทาง” หรือผลสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ใช้พลังของความสำเร็จเล็กๆ ในระหว่าง “การเดินทาง”

          ผมตีความว่า coaching สำนักโค้ชนุ่น เน้นการบรรลุศักยภาพภายในตน และศักยภาพการใช้พลังที่อยู่รอบตัว ไปสู่เป้าหมาย เอาชนะความท้อแท้ หรือหยุดอยู่กับข้อจำกัด

          อยู่กับโอกาส ไม่ใช่อยู่กับข้อจำกัด

          ในการฝึกหัด ผมพบว่าผมเป็นทั้ง coach และ coachee ที่เลวเพราะ (๑) ไม่ได้อยู่ในวงเพาะพันธุ์ปัญญา (๒) ไม่มีความทะเยอทะยานส่วนตัวที่จะ “เป็นอยู่คือ”

          โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าผมไม่ได้ใช้ โค้ชชิ่ง ในชีวิต เพราะในวันที่สอง มีการฝึกหัดโค้ชตัวเอง แม้ผมจะไม่ได้ ทำในช่วงฝึกหัด ๑๕ นาที ผมก็ได้ตระหนักว่า ผมใช้เทคนิคนี้มาตลอดชีวิต ในการทำให้จิตใจมีพลัง มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต เอาเป้าหมายและพลังเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต ไม่เอาอุปสรรคหรือความยากลำบากมาเป็นอารมณ์ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันและอนาคต ไม่เอาปัญหาในอดีตมารกสมอง

          ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง coaching ไว้ ที่นี่และ ที่นี่ และคิดว่าหนังสือ ผู้บริหารองค์กรอัจฉริยะก็ใช้ปรัชญาบริหาร การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังบวกนี้ด้วย

          กิจกรรมฝึกโค้ชชิ่งนี้จัดโดยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูเอาไปใช้กับนักเรียน ซึ่งหมายความว่า ครูจะเป็นโค้ชที่เก่งเรื่องสาระ ไม่ใช่เป็น โค้ชกระบวนการเฉยๆ อย่างที่เราฝึกกันสองวัน ผมจึงเสนอต่อ ดร. สุธีระ ผู้จัดการ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา และต่อ ดร. เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ ผู้จัดการโครงการ Teacher Coaching ว่า ควรส่งเสริมให้ครูเอาไปใช้ ให้ครูคิดวิธีเอาไปใช้เอง แล้วเล่าความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้น มีทีมตรวจสอบว่าเกิดการเรียนรู้ที่มีพลังอย่างแท้จริง แล้วจัดเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีที่ครูโค้ชนักเรียน เพื่อยกระดับวิธีโค้ชของครูต่อการเรียนรู้ของนักเรียนขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

          โค้ชชิ่งที่เราฝึก เน้นที่ผล “หลุด” คือ coachee หลุดจาก “บ่วง” หรือ “แผ่นกรอง” แต่โค้ชชิ่งของครูต่อนักเรียน เน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้น เรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงขึ้น รวมทั้งเรียนได้ครบถ้วนทุกด้าน ไม่เฉพาะด้านวิชา แต่เรียนครบทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          และครูอาจใช้วิธีโค้ชให้ “หลุด” ตามแนวโค้ชนุ่น ให้ศิษย์ “หลุด” จากกระบวนทัศน์ “พรสวรรค์” สู่ กระบวนทัศน์ “พรแสวง” ก็จะเป็นคุณต่อศิษย์ไปตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๑๔ก.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 579053เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นข่าวดีมากๆสำหรับเช้าวันนี้ครับ

ขอบคุณครับ(-:

เป็นกระบวนการที่น่าสนใจมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท