แนวคิดพุทธศาสนากับการพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักผลิต


บนห้างสรรพสินค้าบางแห่งจะมีพื้นที่สำหรับให้บริการแก่เด็กน้อยที่ติดตามพ่อแม่มาทำธุระที่ห้าง บนพื้นที่ดังกล่าวจะมีของเล่นหลากหลายชนิดทั้งม้าหมุน ม้าโยก เกมส์คอมพิวเตอร์ เรือเหาะ เครื่องหยอดเหรียญได้รางวัล รถแข่ง ฯลฯ เป้าหมายหลักจะน่าคือ "ความเพลิดเพลินของเด็ก"

แต่ความเพลิดเพลินของเด็กก็มาพร้อมกับการต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับความเพลิดเพลินนั้น ดังนั้น จะมีเด็กจำนวนมาก เมื่อขึ้นไปบนห้างสรรพสินค้า เขาจะคิดถึงของเล่นที่ทางห้างสรรพสินค้าให้บริการ สิ่งที่เขาเห็นคือการจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความเพลิดเพลิน นอกจากนั้น หากสังเกตให้ดี ในบ้านที่มีเด็กน้อย จะมีของเล่นจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งหมดมาจากการซื้อ ยิ่งทางบ้านไม่เดือดร้อนเรื่องเงินด้วยแล้ว เด็กอยากได้อะไรก็จะได้อย่างที่เขาต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นการสนับสนุนความต้องการของเด็ก

เป็นไปได้ที่เด็กเหล่านี้ซึ่งเติบโตมาด้วยการซื้อ จะกลายเป็นนักบริโภคมากกว่านักผลิต เมื่อเขาเข้าไปเรียนในโรงเรียนเขาอยากได้โทรศัพท์มือถือ โทรหาเพื่อนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขามากนัก ทุกครั้งที่โทรหาจะหมายถึงเงินที่ไหลออกจากโทรศัพท์ อันที่จริงแม้แต่เพียง ๕๐ สตางค์ก็มีความหมายต่อนักธุรกิจไม่ใช่น้อย คนที่เสียเงิน ๕๐ สตางค์อาจไม่ได้เห็นค่าของเงินจำนวนนี้ เมื่อเขาเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยมีโน๊ตบุ๊คและแทบแล็ตแจกให้ด้วย คำว่า "แจก" ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหมายถึงการให้ฟรีโดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ "แจก" ดังกล่าวถูกรวมเงินไว้แล้วในค่าการศึกษา ใช้งานได้ไม่ถึงปี โทรศัพท์ แทบเล็ต คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งเร็วกว่า ดีกว่า กว่า กว่า กว่า...เพราะไม่สามารถผลิตเองได้ ก็ต้องหาเงินไปซื้อมาเป็นเจ้าของ ทั้งโทรศัพท์ แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ ล้วนแต่ของเล่นของวัยรุ่น จบจากการเรียนหนังสือเข้าไปทำงาน ซื้อรถ ซื้อบ้าน ในกลุ่มชายที่ชอบความเร็วและรายละเอียดของรถ จะซื้อรถในฐานะของเล่นของผู้ใหญ่ อะไรชำรุงก็ซ่อมไม่เป็น ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง คอมพิวเตอร์บางตัวกลายเป็นเศษขยะรกบ้าน

เส้นทางนักบริโภค ต้องอาศัยผู้ช่วยชาญเฉพาะทางอยู่ร่ำไป ดังนั้น นักบริโภคแม้จะได้ของที่พึงพอใจ แต่เราก็ตกเป็นทาสทั้งทางความคิด ประดิษฐ์กรรม และการบำรุงรักษา ถ้าเป็นปลา ก็เหมือนกับปลาที่ติดเบ็ด คนตกปลาที่ติดเบ็ดแล้วจะจูงปลาไปทางไหนก็ได้ ถ้าชีวิตมนุษย์เสมือนปลา ปลาตัวนั้นจะแตกต่างอะไรกับสิ่งไร้ชีวิต

ผู้ใหญ่ที่โตแล้ว รู้จักคิด รู้จักทำ ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่เด็กน้อยทั้งหลายที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่างหากที่น่าเป็นห่วง เราสอนให้เขาบริโภคตั้งแต่น้อย จิตที่ถูกสอนมาจนเคยชินอย่างนั้น ก็จะทำอย่างนั้นอย่างที่จิตได้สะสมไว้นั้นคือการบริโภค

แม้ว่าโบราณจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในสายตาของคนยุคใหม่บางคน เราโบราณก็มีสิ่งล้ำค่าที่คนยุคใหม่เหล่านี้อาจมองไม่เห็น ของเล่นโบราณไม่ได้เกิดจากการซื้อมา แต่เกิดจากการคิดค้นเพื่อประดิษฐ์ของเล่นขึ้นมาจากทรัพยากรรอบกาย ลองพิจารณาถึงว่าวที่เด็กน้อยปัจจุบันซื้อหามาเล่นช่วงหน้าลม คนโบราณจะสอนให้ลูกรู้จักตัดไม้ไผ่ ย่างไม้ไผ่ให้เหนียว เหลาไม้ไผ่ ฯลฯ ขึ้นโครงเป็นว่าว แล้วตัดแปะด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสีแบบเขา เป็นการลดความเป็นนักบริโภคลง แล้วสร้างนักประดิษฐ์ขึ้นมา ใครที่เคยมีน้อง หลายสิบปีก่อน คนไทยจำนวนหนึ่งเลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นตราหมีบ้าง นมอื่นๆ บ้าง กระป๋องนมที่แม่ทิ้งแล้ว เราสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นรถสิบล้อได้ โครงที่ทำจะทำด้วยไม้ไผ่ มีทั้งแบบลากและแบบเข็น เสียงดังถูกใจเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นจะมีของเล่นอื่นๆอีกที่เหล่าเยาวชนนักผลิต ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อความเพลิดเพลิน

กล่าวถึงพุทธศาสนา ไม่นิยมการซื้อแม้แต่กุฏิที่ใช้พำนักช่วงหน้าฝน พระสงฆ์จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย ไม่ใช่ใหญ่โตเกินพอดี และไม่ได้เล็กเกินกว่าจะอยู่อาศัยไม่ได้ เสื้อผ้าที่พระสงฆ์ใช้จะเป็นผ้าที่เก็บตกมาแล้วเย็บย้อม นี้คือตัวอย่างของการเป็นนักผลิต ขอตั้งข้อสังเกตจากสำนักเรียนที่เคยเขียนถึง พระเณรจะหาบาตรเก่าๆ ที่พระใหม่ซึ่งบวชไม่นานทิ้งไว้ นำบาตรเหล่านั้นมาเผาไฟ แล้วขัดด้วยทราย รมด้วยเทียน นำไปใช้เป็นภาชนะรับอาหารจากชาวพุทธ นี่น่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการผลิตมากกว่าการเป็นนักบริโภค

การเป็นนักบริโภคนั้น ผลิตออกมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอ เพราะความต้องการของคนเรานั้นไม่เคยอิ่มเต็ม ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากพอก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์เลย

หมายเลขบันทึก: 579051เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท