ลุงเหมย
ข้าราชการครูบำนาญ นายชุมพล บุญเหมย

พิธีทำบุญต่ออายุ


     

พิธีทำบุญต่ออายุ การชักบังสุกุลเป็น บอกหนทางคนป่วยลางแห่งการบอกเหตุมรณะ ของถูกผีทับ

๛ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ...ชีวิตของมนุษย์เรามีความเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันตาย คราวนี้เป็นเรื่องราวรายละเอียดประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตาย และการทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ

         การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกรูปทุกนามโดยเท่าเทียมกัน ดังมีคำกล่าวที่ว่า..." มรณํ อนตีโต " ...คือ เราจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ ธรรมชาติของน้ำ คือ ความเหลว ธรรมชาติของคน คือ ความตาย แม้ว่าความตายจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เกรงกันมาก แต่ก็ไม่เคยมีใครหลีกหนีพ้น ได้มีผู้คนเป็นจำนวนมากพยายามคิดค้นหาตัวยา หรือหนทางที่จะให้มีชีวิตอยู่อมตะ แต่ยังไม่มีใครประสบผลสำเร็จ ฉะนั้นเมื่อมนุษย์ทุกคนมีความตายเป็นของคู่กับการเกิด จึงไม่ควรเกรงกลัวกับความตายจนเกินเหตุ แต่สิ่งที่ควรคำนึง คือ การกระทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ควรพิจารณาว่า เราได้ประกอบคุณงามความดีและสร้างบุญกุศลเอาไว้มากน้อยแค่ไหน ในช่วงที่มีโอกาสเหลืออยู่ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตายมีอยู่มากมายหลายอย่าง อาทิ พิธีทำบุญต่ออายุ การชักบังสุกุลเป็น การบอกหนทางผู้ป่วย พิธีการทำศพ ฯ

              พิธีทำบุญต่ออายุ ในสมัยโบราณ เมื่อมีผู้ป่วยหนักเห็นว่าจะมีโอกาสรอดได้น้อย บรรดาญาติ ๆ หรือลูกหลาน จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพุทธมนต์ บทโพชฌงค์ และชักบังสุกุล นอกจากนั้นยังมีพิธีทำบุญต่ออายุให้แก่คนชราทั่ว ๆ ไป ซึ่งลูกหลานจะเป็นผู้จัดให้ คือ กระทำก่อนที่จะเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ส่วนใหญ่เป็นการทำพิธีทางศาสนา คือนิมนต์พระมาสวดพระปริต และทำบุญอุทิศส่วนกุศล โดยมากลูกหลานจะกระทำให้ทุก ๆ ปี หรือทุก ๆ ๕ ปี ข้อนี้แล้วแต่ความสะดวกและเห็นสมควร

              ประวัติความเป็นมา การสวดโพชฌงค์ หรือ การสวดหลักธรรมชั้นสูง อันเป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ซึ่งพระอริยเจ้าเมื่อระลึกถึงสามารถคลายความทุกข์เวทนาในเวลาอาพาธนั้นได้ ดังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธตำนาน...ดังนี้....

          .......เมื่อคราวที่พระมหากัสสปะ แลพระโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาบทโพชฌงค์โปรด ทำให้พระอริยเจ้าทั้งสองคลายจากความทุกข์เวทนาหายอาพาธ อีกคราวหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวร ได้ตรัสให้พระมหาจุนทะแสดงบทโพชฌงค์ให้ฟัง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงหายประชวรเช่นกัน

                การชักบังสุกุลเป็น สำหรับการสวดบังสุกุลเป็น คือ การนำผ้ามาคลุมร่างคนเจ็บไว้ทั้งตัว ให้พระสงค์จับชายผ้า กล่าวเป็นภาษาบาลี ว่า....อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อธิเสสสะติ ฉุฑโฑ อะเปตะวัญญาโณ นิรัตถังวะ กะลิงคะรัง แปลใจความได้ว่า....กายนี้ไม่นานหนอ จักเป็นขอเปล่า ๆ ปราศจากวิญญาณทับถมแผ่นดิน ดังท่อนไม้อันหาประโยชน์มิได้ ฉะนั้น ฯ .... เป็นการช่วยให้คนป่วยหรือคนชรามีกำลังใจทั้งจากบทสวด และการที่ลูกหลานมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันด้วยความรัก และระลึกถึงว่าคนชราผู้นี้เคยเป็นดังร่มโพธิ์ร่มไทรที่เคยให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลาน หากคนชราถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง โดยเฉพาะเมื่อยามเจ็บป่วยจะขาดกำลังใจเป็นอย่างมาก....ด้วยเหตุนี้ ประเพณีนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพุทธมนต์บทโพชฌงค์ และชักบังสุกุลแก่ผู้ที่กำลังป่วยหนัก จึงกระทำสืบเนื่องกันมา .... ในภาคอีสานจะมีพิธีสวดขวัญให้แก่คนไข้ที่กำลังเจ็บหนัก และทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ต่ออายุ พิธีตวงข้าว ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำบุญและสร้างขวัญกำลังใจทั้งสิ้น บางคนเมื่อป่วยหนัก อาจจะทำบุญต่ออายุ ด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา ปล่อยเต่า บางทีไปซื้อสัตว์เป็น ๆ จำพวกเป็ด ไก่ หมู วัว ควาย ที่เขากำลังจะฆ่า ไปปล่อยเป็นการไถ่อายุ...

                    การบอกหนทางคนป่วย ไม่ว่าจะกระทำพิธีต่ออายุหรือพยายามรักษาพยาบาลอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงแห่งการสิ้นอายุขัย ทุกคนก็ต้องตายละสังขารไปตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เมื่อคนป่วยเจ็บหนักใกล้จะหมดลมหายใจ ญาติพี่น้องจะจัดเตรียมกรวยสำหรับใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ซึ่งทำจากใบตอง นำมาใส่มือให้แก่ผู้ป่วยที่พนมไว้และทำการบอกหนทาง คือ บอกหรือกระซิบข้างหูว่า ให้นึกถึงพระอรหันต์ หรือภาวนาว่า...อะระหัง สัมมา ฯลฯ เหตุแห่งการบอกหนทางเช่นนี้ เพราะมีความเชื่อกันว่าคนเราเมื่อกำลังจะหมดลมหายใจ วิญญาณจะออกจากร่าง แต่จะไปสู่สุขคติ หรือ ทุกขติ ย่อมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกครั้งสุดท้าย การบอกหนทางแก่ผู้ตาย ก็เพื่อให้ดวงวิญญาณได้ไปสู่สุคติ หรือสู่สัมปรายภพ คือ ภพใหม่ที่ดี

                    ตำนานความเป็นมา .... มีคตินิยามเกี่ยวกับเรื่องกรวยดอกไม้ ธูปเทียน และการบอกหนทางแก่ผู้ตายอยู่ว่า........พรานป่าผู้หนึ่งเมื่อมีชีวิตอยู่ได้ล่าสัตว์ขายเป็นอาชีพ ครั้นเมื่อเจ็บหนักใกล้จะหมดลมหายใจ ได้เห็นวิญญาณของสัตว์ที่ตนเคยฆ่าจำนวนมากมาปรากฎอยู่ตรงหน้า จึงเกิดความสะดุ้งหวาดกลัวต่ออกุศลที่กระทำไว้ พรานได้บอกเรื่องราวแก่ภิกษุลูกชายของตน ภิกษุผู้เป็นลูกชายของพรานได้ให้บิดาพนมมือแล้วจัดกรวยดอกไม้เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย ครั้นเมื่อบิดาใกล้จะหมดลมหายใจ ภิกษุได้เตือนให้บิดาของตนรำลึกถึงคุณของพระศรีรัตนตรัย โดยกล่าวว่า....สัมมา อรหัง หรือ สัมมา สัมพุทโธ ให้นึกถึงพระอรหันต์ คนเจ็บใกล้หมดลมหายใจ เราเรียกว่าอยู่ในช่วงใกล้มรณะญาณ โสตประสาทและจักษุประสาท (หูและตา) ยังไม่ดับสนิท เมื่อเห็นอาการว่าใกล้จะหยุดหายใจ ให้พยายามดูแลใกล้ชิด นำกรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่มือพนม พร้อมบอกหนทางแก่คนเจ็บ คนโบราณเชื่อว่า ควรให้คนป่วยได้ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ และนำเงินติดกระเป๋าให้ด้วย เพราะเมื่อดวงวิญญาณออกจากร่างแล้ว จะได้ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่และมีเงินทองติดกระเป๋า สำหรับเป็นค่าเดินทางไปสู่โลกของวิญญาณ

                    ลางบอกเหตุแห่งการมรณะ ..... ก่อนที่จะถึงมรณะญาณ จะมีสิ่งบอกเหตุอย่างหนึ่งสำหรับคนป่วย เช่น กินสั่งลา ไฟธาตุแตก เป็นต้น

                   กินสั่งลา คือ อาการของคนป่วยที่เจ็บหนังมาเป็นเวลานาน กินข้าวกินน้ำไม่ค่อยได้ แล้วจู่ ๆ ก็มีอาการเหมือนหายป่วย ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ขอข้าวขอน้ำกินหลังจากนั้นอีกไม่นานก็จะหมดลมหายใจหรือตายอย่างสงบ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า...กินสั่งลา

                   ไฟธาตุแตก คนป่วยจะปล่อยอุจจาระ ปัสสาวะ ออกมาอย่างไม่รู้ตัว ลูกหลานจะรีบทำความสะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ให้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ คนไข้หรือคนชราที่นอนเจ็บอยู่นั้น ตัวจะเย็นผิดปกติหากเย็นจากปลายเท้าขึ้นมาเป็นลำดับ เรียกว่า ตายขึ้น หากตายแล้วร่างกายจะเย็นจากตัวลงสู่ปลายเท้า เรียกว่า ตายลงเป็นภาษาชาบ้าน และมีความเชื่ออันหนึ่งกล่าวว่า หากมีนกแสกมาเกาะที่หลังคาบ้านที่มีคนป่วย หรือบินผ่าน พร้อมส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน แสดงว่าคนป่วยนั้นถึงกาลหมดอายุ เพราะนกแสกเป็นพาหนะของพญายม

                    ของถูกผีทับ    เป็นคติความเชื่อของชาวบ้านว่า เมื่อก่อนที่คนเจ็บจะหมดลมหายใจต้องนำยาที่ใช้รักษาพยาบาลออกไปไว้นอกบ้าน มิฉะนั้น เมื่อคนเจ็บตาย ยานั้นเรียกว่า ของถูกผีทับ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะคุณภาพเสื่อม บางทีเชื่อถึงขนาดต้องนำคาถา เลขยันต์ ของศักดิ์สิทธิ์ออกไปนอกตัวบ้าน ก่อนที่คนเจ็บจะตาย มิเช่นนั้นของจะเสื่อม ต้องนำไปถวายวัดหรือนำไปเข้าพิธีปลุกเสกใหม่ สิ่งนี้เป็นคติความเชื่อของคนโบราณ ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยยึดถือปฏิบัติกันแล้ว

                                           

หมายเลขบันทึก: 579003เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2014 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2014 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นคติชนวิทยา  ที่ถือเป็น "เค็ด" (เคล็ด) ...
ทำแล้ว สบายอก สบายใจมีพลัง..
เราไม่อาจหยั่งรู้ได้เลยว่า
เมื่อทำแล้ว จะบรรลุดั่งใจหวังแค่ไหน
แต่สรุปคือทำแล้ว อุ่นอกอุ่นใจ สบายอก สบายใจ --- มีพลังใจ

ขอบคุณบันทึกแห่สาระ...ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท