คติความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยโคมไฟ



                การทำบุญในงานประเพณีต่าง ๆ ของชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะเป็นการร่วมมือร่วมใจช่วยงานเจ้าภาพให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยของบรรดาญาติพี่น้องที่เต็มใจมาช่วยงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดเตรียมสถานที่ การยก หาม วัสดุอุปกรณ์ การเตรียมหาเรื่องอาหารไว้บริการแขกผู้มาร่วมงานให้เพียงพอ ซึ่งในการเตรียมงานนั้นส่วนมากจะมีการเตรียมการไว้ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อให้มีความพร้อมเพรียงมากที่สุด และเมื่อถึงวันงานแล้วก็จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน รื่นเริง ญาติ ๆ แขกต่าง ๆ ที่มาร่วมงานก็ได้พบปะพูดคุย สนทนาแลกเปลี่ยนกัน 



และสิ่งอื่นที่จะขาดไม่ได้ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ ของชาวอีสานคือ การแข่งขันปล่อยโคมไฟ หรือที่เรียกกันว่า โคมลอย รวมทั้งการปล่อยโคมไฟลากจูงลูก ซึ่งภาษาอีสานจะเรียกว่า โคมเกี่ยลูก ที่มีการจุดเทียนไขเล่มเล็ก ๆ ไว้ในลูกโคมไฟและจะต้องจุดหรือปล่อยโคมเกี่ยลูกนี้ในตอนกลางคืนด้วยเพราะจะเกิดความสวยงามในเวลาตอนปล่อยโคมไฟที่เป็นตัวแม่ขึ้นบนท้องฟ้า

                       อีกอย่างหนึ่งเพราะลักษณะความเชื่อชาวบ้านทั่วไปเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยเป็นการปล่อยเคราะห์กรรมสิ่งที่ไม่ดีงามให้ลอยออกไปจากชีวิต และปล่อยให้ลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ การลอยโคม เป็นประเพณีพื้นบ้านในวันเพ็ญเดือนสิบสอง หรืองานบุญประเพณี ที่ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานนิยมทำกัน ถือเป็นการปล่อยเคราะห์ ปล่อยโศกและเรื่องร้ายๆ ต่างๆ ให้ไปพ้นจากตัว แต่เดิมนั้นวันขึ้น 15 ค่า เดือน 12 จะมีพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทาเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาก็ทำพิธียกโคม เพื่อบูชา พระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมฆทานที ประเทศอินเดีย

ชนิดของโคมลอย

สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 แบบตามลักษณะการใช้งานคือ

1. โคมลอยที่ใช้ปล่อยในเวลากลางวัน โคมลอยชนิดนี้จะอาศัยหลักการการลอยตัวของควันไฟในเวลากลางวัน โดยใช้วิธีการรมควันให้ควันไฟเข้าไปรวมกันอยู่ภายในตัวโคมลอยจนเต็มที่จากนั้นจำนวนควันไฟที่อัดแน่นอยู่ภายในตัวโคมลอยจะช่วยพยุงให้ตัวโคมลอยสามารถลอยพุ่งขึ้นสู่บนท้องฟ้าได้

2. โคมลอยที่ใช้ปล่อยในเวลากลางคืน โคมลอยชนิดนี้ปัจจุบันเป็นที่นิยมปล่อยกันมากและมีความนิยมสูงขึ้นเพราะเมื่อโคมลอยลอยพุ่งขึ้นสู่บนท้องฟ้าในเวลากลางคืนแสงไฟที่จุดตรงใส้โคมลอยจะสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดและเกิดความสวยงาม หลักการลอยตัวของโคมลอยชนิดปล่อยกลางคืนนี้ใช้ความร้อนจากไฟที่ลุกไหม้ของไส้โคมที่ติดอยู่ตรงฐานล่างของโคมลอย เป็นแรงขับให้ตัวโคมลอยสามารถลอยพุ่งขึ้นสู่บนท้องฟ้าได้[1]



ในวันงานประเพณีต่าง ๆ จะมีการจุดโคมและปล่อยขึ้นบนท้องฟ้าทำให้ท้องฟ้าในยามค่ำคืนสว่างไสวไปด้วยแสงจากโคมลอยซึ่งมีความสวยงามและประเพณีนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจในเอกลักษณ์ของประเพณีลอยโคมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวอีสาน ที่มีการสืบทอดกันมานานจนกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นไปแล้ว ชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ยังคงถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาทุกๆ ปี ในช่วงเทศกาลวันออกพรรษาเดือน 11 คือ “ประเพณีปล่อยโคมลม และโคมไฟ” ชาวบ้านจะร่วมกันทำโคมลม และโคมไฟ ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน ด้วยคติความเชื่อของชุมชนที่ว่าการปล่อยโคมลม และโคมไฟนั้น เป็นการส่งเหล่าเทวดาอารักษ์กลับขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากได้ทำหน้าที่ลงมาช่วยปกปักษ์รักษาชาวบ้านให้รอดพ้นปลอดภัย จากเหตุเภทภัยจากพวกปีศาจในช่วงเข้าพรรษา และเป็นการปล่อยทุกข์โศก สิ่งอัปมงคลทั้งหลาย ให้ลอยไปกับโคมด้วย



                 ความเชื่อของชุมชนชาวบ้านที่ว่าในช่วงการเข้าพรรษา พระสงฆ์ต้องจำพรรษาอยู่เฉพาะแต่ในวัดไม่สามารถออกธุดงค์โปรดสัตว์ไปในที่ต่างๆ ได้ จึงเป็นโอกาสให้ภูตผีปีศาจออกมาสร้างเหตุเภทภัย ให้กับชาวบ้านเป็นประจำทุกปี เทวาอารักษ์ ที่สถิตอยู่บนสวรรค์ จึงลงมาปกปักษ์รักษาชาวบ้านในช่วงเข้าพรรษา ดังนั้นเมื่อถึงช่วงออกพรรษาชาวบ้านจึงมีการปล่อยโคมลม และโคมไฟ เพื่อเป็นการส่งเหล่าเทวดาเหล่านั้นกลับคืนสู่สวรรค์ นอกจากคติความเชื่อดังกล่าวนี้แล้ว ชาวบ้านในสมัยโบราณยังได้ใช้ประโยชน์จากโคมลม และโคมไฟในแง่ของการสื่อสารอีกทางหนึ่งด้วย โดยชาวบ้านจะเขียนใบฎีกาบอกบุญต่างๆ เช่น การทำบุญบูรณะซ่อมแซมวัดที่ชำรุดทรุดโทรมหรือการทำบุญในเทศกาลต่างๆ ผูกติดกับโคมดังกล่าว แล้วก็ปล่อยให้ลอยขึ้นท้องฟ้า เมื่อโคมลมและโคมไฟดังกล่าวลอยไปตกที่ใด ข่าวการบอกบุญก็จะแพร่กระจายไปถึงที่นั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงหนึ่ง เคยมีหลักฐานว่าโคมลม และโคมไฟ จากประเทศไทยเคยลอยไปเป็นร้อยๆ กิโลเมตรไปตกที่ประเทศ สปป.ลาว และจังหวัดไกลๆ ส่วนความเป็นมาเป็นไปของประเพณีปล่อยโคมลม และโคมไฟ ที่อีสานนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าประเพณีดังกล่าวมีมากันตั้งแต่เมื่อใดแต่ก็เป็นประเพณีวิถีอีสานที่ดีงาม มีความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ชุมชน[2]



เอกสารอ้างอิง

1. http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/web_NTIC_article... (19 ตุลาคม 2557)

2. ส. ปิ่นวิเศษ, ข่าวสารวัฒนธรรมกาฬสินธุ์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2555.

3. ภาพประกอบถ่ายเอง 

หมายเลขบันทึก: 578998เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2014 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2014 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้เกี่ยวกับความเชื่อ

ความเชื่อชาวบ้านทั่วไปเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยเป็นการปล่อยเคราะห์กรรมสิ่งที่ไม่ดีงามให้ลอยออกไปจากชีวิต และปล่อยให้ลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ การลอยโคม

นี่ก็ใกล้เข้ามาแล้ว เทศกาลลอยกระทง ที่เชียงใหม่ ชาวบ้านนอนไม่ค่อยหลับเพราะกลัวโคมลอยตกบนหลังคาบ้าน เขาปล่อยเคราะห์ เราอาจต้องรับเคราะห์  คอยดูว่าทางการมีมาตรการอย่างไร

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท