​สอนอย่างมือชั้นครู :๑๔. สอนด้วยการอภิปราย


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๑๔ นี้ ตีความจาก Part Three : Choosing and Using the Right Tools for Teaching and Learning มี ๗ บท ตอนที่ ๑๔ ตีความจากบทที่ 13. Leading Effective Discussions

          สรุปได้ว่า การเรียนแบบอภิปรายมีคุณค่าต่อนักศึกษามาก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบตื่นตัว (Active Learning) และบทบาทของอาจารย์ที่สำคัญที่สุดคือ อำนวยให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างนักศึกษา โดยที่อาจารย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเวทีอภิปราย แต่ทำหน้าที่ช่วยอำนวยความคึกคัก และผลสำเร็จของการเรียนรู้

          การอภิปรายหมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งเป็นการร่วมกันแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งหรือเรื่อง นั้นๆ

          อาจารย์ต้องมีทักษะและศิลปะในการนำอภิปราย ให้มีกรอบแนวทางที่เหมาะสม และในขณะเดียวกัน การอภิปรายก็ดำเนินไปอย่างลื่นไหล ไม่ถูกจำกัดโดยกรอบ


มีหลักการอย่างไรในการเลือกให้นักศึกษาเรียนโดยการอภิปราย

          หากมีการจัดการและดำเนินการอย่างดี การสอนโดยการอภิปรายสามารถบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ทั้ง ๘ ระดับ โดยที่การอภิปรายช่วยแก้จุดอ่อนของการบรรยาย ส่วนของทักษะ เจตคติ และทักษะในการเรียนรู้ ส่วนที่การบรรยายบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ยาก

          เลือกจัดการเรียนรู้แบบอภิปรายเพื่อเป้าหมายต่อไปนี้

  • เพื่อตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อ คุณค่า และพฤติกรรม
  • เสาะหาแนวคิดที่แปลกแตกต่าง อย่างเปิดใจ
  • การเรียนรู้ในมิติที่ลึก
  • การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
  • การแก้ปัญหา
  • การสื่อสารทางวาจา
  • เชื่อมโยงความรู้สู่สถานการณ์ใหม่
  • จดจำความรู้นั้น
  • เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาวิชานั้น

          การอภิปราย (discussion) แตกต่างจากการท่องจำ (recitation) กรณีที่อาจารย์ตั้งคำถามให้นักศึกษาตอบเพื่อตรวจสอบความจำหรือความเข้าใจ ไม่นับเป็นการอภิปราย คำถามที่ใช้ในการอภิปราย เป็นคำถามที่ ต้องการการคิดระดับสูง นำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูง


สร้างบรรยากาศ

          หัวใจสำคัญของการสอนแบบให้นักศึกษาอภิปราย คือต้องให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วม และร่วมอย่างตั้งใจและเปิดใจ ประเด็นสำคัญคือ นักศึกษาต้องเข้าห้องเรียนด้วยจิตใจที่สบาย มีการเตรียมตัวล่วงหน้า และพร้อมที่จะแบ่งปัน


เตรียมนักศึกษาตั้งแต่วันแรก

          ต้องมีการเตรียมนักศึกษา เริ่มจากการแจ้งตั้งแต่วันแรกว่าชั้นเรียนนี้จะมีการเรียนโดยการอภิปรายด้วย และแจ้งให้ทราบว่า กติกาของการเรียนโดยการอภิปรายคือ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม หรือ “ร่วมกันพายเรือ” ไม่อนุญาตให้คนใดคนหนึ่งทำตัวเป็น “ผู้โดยสาร”

          บอกให้นักศึกษาทราบว่า การเรียนโดยการอภิปรายร่วมกัน จะก่อผลดีต่อการเรียนรู้ ในลักษณะที่ก่อ ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูง และคนที่นั่งฟังเฉยๆ ไม่เข้าร่วมวงอภิปราย จะไม่ได้เรียนรู้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

          บอกนักศึกษาว่า สาระในการอภิปรายสัมพันธ์กับภาพใหญ่ของวิชา และสัมพันธ์กับตอนที่แล้วหรือ ตอนต่อไปของการบรรยายอย่างไร รวมทั้งเตรียมออกการบ้าน ข้อสอบย่อย และข้อสอบรายวิชา ที่เกี่ยวข้อง กับการอภิปรายไว้ด้วย

          อธิบายให้ทราบว่าคุณค่าของการอภิปรายอยู่ที่การออกความเห็นที่แตกต่างกัน โดยมีข้อมูลหลักฐาน สนับสนุน ความเห็นที่แตกต่าง ช่วยให้การเรียนรู้กว้างขวางขึ้น และที่จริงแล้วหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ เป็นสถานที่เอื้อให้มีการรับฟัง การทดลองนำเสนอ และการตรวจสอบมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย นักศึกษา จะได้ฝึกฟังอย่างตั้งใจ และอย่างเคารพทุกความเห็นที่นำเสนอ ร่วมกันประเมินหลักฐานที่สนับสนุนหรือแย้ง ข้อเสนอนั้น รวมทั้งต้องเตรียมหลักฐานมาปกป้องหรือสนับสนุนความเห็นของตน

          ควรฝึกซ้อมการอภิปรายในวันแรกของการเรียน โดยอาจให้อภิปรายเรื่อง เอกสารรายวิชา หรือเรื่องพื้นความรู้เดิมของนักศึกษา อาจารย์ใช้วิธีตั้งคำถาม และต้องหาทางให้นักศึกษาทุกคนในชั้นได้พูด โดยในวันแรกอาจเป็นการตอบคำถามของอาจารย์ โดยอาจารย์อาจเรียกชื่อนักศึกษาและตั้งคำถามให้ทีละคน โดยใช้ช่วงเวลานี้เป็นการละลายพฤติกรรม และสร้างความคุ้นเคยไปในตัว โดยที่อาจารย์ต้องมีวิธีดำเนิน การอภิปรายที่สร้างบรรยากาศที่ทุกคนสบายใจที่จะมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการสบตา


การให้คะแนน

          การให้คะแนนการเข้าชั้นเรียนและการมีส่วนร่วม จะมีผลให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียนมากขึ้น ดังนั้น หากอาจารย์กำหนดให้มีการให้คะแนน ทั้งคะแนนเข้าเรียน คะแนนร่วมอภิปราย และคะแนนคุณภาพของ การอภิปราย ต้องแจ้งให้นักศึกษาทราบตั้งแต่วันแรก โดยระบุให้ชัดว่าคะแนนส่วนนี้คิดเป็นร้อยละเท่าไร ของคะแนนทั้งหมด


สร้างกติกา

          กติกาแรกของการอภิปรายในชั้นเรียนคือ อาจารย์จะใช้ระบบแบบไหนในการเรียกให้นักศึกษาคนใดตอบ หรือให้ความเห็นก่อนหลัง มีทางเลือก ๓ แบบ คือ (๑) มีระบบที่ชัดเจน เช่น ตามลำดับตัวอักษรของชื่อ ตามที่นั่ง หรือตามลำดับทะเบียน (๒) ตามการยกมือ (๓) เรียกแบบสุ่ม ตามวิจารณญาณของอาจารย์ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน และผู้เขียนให้รายละเอียดไว้มาก แต่ผมจะไม่นำมาลงในบันทึกนี้

          แต่จะขอย้ำหลักการที่สำคัญว่า อาจารย์ต้องสร้างบรรยากาศสบายๆ หรือบรรยากาศอิสระ เพื่อการเรียนรู้ ไม่ให้นักศึกษาคนใดรู้สึกว่าตนถูกสถานการณ์ใดทำให้เสียหน้า เมื่ออาจารย์ชี้ให้นักศึกษา คนใดตอบ แต่นักศึกษายังไม่พร้อม อาจารย์ไม่ควรตำหนิ ควรปลอบโยนว่า ไม่เป็นไร เธอยังไม่พร้อมตอนนี้ ก็รอโอกาสหน้าได้ เดี๋ยวครูจะให้โอกาสอื่น

          และครูก็ต้องจัดกระบวนการให้นักศึกษาร่วมกันกำหนดกติกา ว่าพฤติกรรมใดบ้างเป็นสิ่งไม่ พึงประสงค์ในชั้นเรียน เช่น จงใจอภิปรายนอกเรื่อง ทำให้การอภิปรายกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่เป็นสาระ โจมตีเพื่อนเป็นการส่วนตัว แสดงกิริยาวาจาเหยียดหยาม แสดงอารมณ์โกรธเกรี้ยว โต้แย้งไม่ลดละ เป็นต้น

          เมื่อเวลาในชั้นเรียนผ่านไป และนักศึกษาได้ผ่านประสบการณ์การอภิปรายในชั้นเรียนไปบ้างแล้ว อาจารย์อาจให้นักศึกษาช่วยกันทบทวนว่า ประสบการณ์ดีๆ ในช่วงอภิปรายในชั้นเรียนมีอะไรบ้าง เช่น พฤติกรรมของเพื่อน การแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน และให้ทบทวนประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น ชั้นเรียนเงียบเป็นเวลานาน อารมณ์โกรธ รู้สึกกลัวว่าตนจะตอบไม่ถูก เป็นต้น แล้วจึงร่วมกันกำหนดกติกา ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          อาจารย์ควรย้ำกับนักศึกษาว่า คำถามที่นักศึกษาถามมีประโยชน์ทั้งสิ้น และคำถามโง่ๆ มีอยู่อย่างเดียว คือคำถามที่ยังไม่ได้ถาม


เรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลาย

          ทุกสิ่งทุกอย่างในชั้นเรียนเป็นการเรียนรู้ของนักศึกษาได้ทั้งสิ้น และผมคิดว่าชั้นเรียนแบบ อภิปรายแลกเปลี่ยนกันหากมีนักศึกษาที่แตกต่างกันมากด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ซึ่งมองในมุมหนึ่งเป็น เรื่องละเอียดอ่อน ที่อาจารย์ต้องระมัดระวัง แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม ว่านี่แหละโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตข้างหน้า คือทักษะในการคบค้ากับคนที่แตกต่างจากตัวเอง

           ที่จริงหัวข้อย่อยนี้ในหนังสือ ชื่อ Bringing Equity to a Diverse Classroom คือผู้เขียนเน้นความ เท่าเทียมกัน (equity) ในชั้นเรียน ไม่มีการเหยียดหยามหรือมองคนบางกลุ่มอย่างเลือกที่รักมักที่ชัง

          เพื่อฝึกการให้เกียรติความแตกต่าง ผู้เขียนแนะนำเกมชื่อ “Naming Ourselves” ให้นักศึกษาสะท้อนคิด ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มประชากรใด ในด้าน วัฒนธรรม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานภาพทาง เศรษฐกิจและสังคม แล้วจึงบอกเพื่อนๆ ในชั้นเรียน รวมทั้งบอกให้รู้ว่าตนอยากให้เพื่อนๆ เอ่ยถึงกลุ่มสถานภาพที่ตนเป็นสมาชิก ว่าอย่างไร รวมทั้งบอกเพื่อนๆ ว่า การที่ตนอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มนี้ มีความหมายต่อตนอย่างไร ในด้าน คุณค่า ความเชื่อ ภาษา พฤติกรรม และอื่นๆ

          อีกเกมหนึ่งชื่อ “Expressing Anger and Grief” ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่ม คุยกันว่าแต่ละคนเคยมี ประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือฐานะในสังคม อย่างไรบ้าง แล้วสมาชิกกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์ เรื่องราวเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนเรา ที่เกิดจากอคติต่อความแตกต่างเหล่านั้น

          อีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์พึงระมัดระวัง คือความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ


ให้มีส่วนร่วมมากที่สุด

อำนวยความสะดวกต่อการอภิปรายแลกเปลี่ยน

          อาจารย์ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ของการอภิปรายแลกเปลี่ยน คือทำให้เป็นการง่ายที่ นักศึกษาจะออกความเห็น โดยอาจารย์อาจต้องเตรียมตัวก่อนเริ่มเวลาเรียน โดยอาจารย์มาถึงห้องเรียน ก่อนเวลา และเดินไปพูดคุยให้ความเป็นกันเองกับนักศึกษา เพื่อสร้างบรรยากาศสบายๆ ไม่เคร่งเครียด

          ในการทำหน้าที่นี้ อาจารย์แสดงหลายบท ได้แก่ เป็น โค้ช, ผู้ดำเนินการอภิปราย, พิธีกร, ผู้ฟัง, ผู้สังเกตการณ์, ผู้ให้ข้อมูลหรือสารสนเทศ, ผู้นำเสนอ, ผู้ให้คำแนะนำ, ผู้บันทึก, ผู้ตรวจตรา, ผู้ยุยง, ผู้ชี้ทิศ, ผู้แปลความ, ผู้รักษาความสงบ และผู้สรุป

          อาจารย์ประสบความสำเร็จเมื่อนักศึกษาอภิปรายต่อกัน ไม่ใช่อภิปรายผ่านอาจารย์ไปยังเพื่อนในชั้น


ส่งเสริมให้นักศึกษาเตรียมตัว

          มีวิธีส่งเสริมให้นักศึกษาเตรียมตัวร่วมการอภิปรายในชั้นมากมาย หนังสือแนะนำวิธีมอบหมาย ให้อ่านบทเรียนล่วงหน้า บอกนักศึกษาให้เขียนบันทึกลงในเอกสาร ทั้งที่เป็นบทคัดย่อ ข้อคิดคำนึง คำถาม และคำตอบของตนเอง อนุญาตให้นักศึกษาใช้โน้ตนี้ในห้องเรียน เพื่อประกอบการอภิปรายได้

          อาจให้นักศึกษาเขียนบันทึกประกอบการอ่านเอกสารเตรียมตัว และอาจารย์เก็บมาตรวจให้คะแนน อย่างสม่ำเสมอ


สร้างความพร้อมของชั้นเรียน

          อาจารย์ควรมีวิธีนำเข้าสู่บทเรียน เช่นชวนนักศึกษาทบทวนว่าคราวที่แล้วเรียนเรื่องอะไร โดยให้ นักศึกษาเปิดสมุดจดได้ และบอกว่าคราวนี้จะเป็นเรื่องต่อเนื่องอย่างไร แล้วเข้าสู่โครงสร้างของเรื่องที่จะ อภิปรายกันในวันนี้ โดยอาจเขียนบนกระดาน ฉายสไลด์ ว่าวันนี้นักศึกษาจะได้เรียนอะไร (ผลลัพธ์ของ การเรียนรู้) รวมทั้งกระบวนการที่อาจารย์จะอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ครั้งนี้

          อาจตั้งคำถามทบทวนความจำของเอกสารบทเรียน เพื่อช่วยให้จิตใจของนักศึกษามาจดจ่อ อยู่ที่บทเรียนนี้


จุดชนวนการแลกเปลี่ยน

          เริ่มได้หลายวิธีเช่นกัน เช่น ให้ดูวีดิทัศน์ เล่น role play หรือสาธิต เรื่องราวในชีวิตจริงที่เกี่ยวข้อง กับบทเรียน วิธีที่สอง ให้นักศึกษาระดมความคิด ว่าตนรู้อะไรบ้างแล้ว เกี่ยวกับบทเรียนนี้ วิธีที่สาม อาจารย์โยนคำถามที่มีข้อโต้แย้งได้มาก ให้นักศึกษาโต้วาทีกันมาล่วงหน้า หรืออาจารย์เองแสดงบท “ทนายของปีศาจ” (Devils’s Advocate)

          วิธีตั้งคำถามมีความสำคัญมาก จึงแยกอยู่ในตอนต่อไป (บทต่อไปในหนังสือ) ทั้งตอน


ดึงความสนใจของนักศึกษา

          เป้าหมายของการอภิปรายคือ ให้นักศึกษาทั้งชั้นร่วมวง และฟังอย่างตั้งใจ เพื่อส่งเสริมการฟัง บอกนักศึกษาให้จดบันทึก และสอนวิธีบันทึก เช่นเมื่อเพื่อนเสนอประเด็นใหม่หรือน่าสนใจ ให้จดไว้ อาจารย์อาจช่วยเขียนประเด็นสำคัญที่นักศึกษาอภิปรายลงบนกระดาน

          หากจัดการอภิปรายโดยแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย ควรสุ่มเรียกให้ตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลการภิปราย แก่ชั้นเรียน

          ขั้นตอนการจบชั้นเรียน สามารถออกแบบให้ดึงความสนใจของนักศึกษาได้มาก เช่นเรียกให้นักศึกษา ออกมาทำหน้าที่สรุปประเด็นการเรียนรู้ให้แก่เพื่อนๆ หรือจบด้วย เทคนิคการประเมินชั้นเรียน (บทที่ ๒๘) ตัวอย่างเช่น ให้เขียนบทความ ๑ นาที บอกประเด็นเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด


รอการตอบสนอง เพื่อให้มีส่วนร่วมมากขึ้น

          ตั้งคำถามทีละคำถาม เพื่อไม่ให้นักศึกษาสับสน แต่ละคำถามให้เวลาพอสมควรสำหรับนักศึกษา นึกคำตอบ เช่น ๕ - ๑๕ วินาที โดยพึงตระหนักว่า นักศึกษาต้องการเวลาคิด (ทบทวนและเลือกเฟ้นความรู้) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดด้วยภาษา ที่ใหม่สำหรับเขา คือภาษาวิชาการในวิชาที่กำลังเรียน

          แนะนำให้นักศึกษาร่างความคิดในกระดาษ

          อาจารย์พึงสังเกตสีหน้าและท่าทางของนักศึกษาที่แสดงความพร้อมต่อการอภิปราย


แบ่งกลุ่มย่อย

           ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ จำเป็นต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้อภิปรายกันได้ทั่วทุกคน การแบ่งกลุ่มมี ๒ แบบ คือแบ่งกลุ่มชั่วคราว เฉพาะในช่วงการอภิปรายสั้นๆ หรือในคาบเรียนนั้น กับ การแบ่งกลุ่มระยะยาว เพื่อทำงาน หรือโครงการต่อเนื่องร่วมกัน


หาวิธีดึงดูดคนที่ไม่ร่วม

          ได้กล่าวถึงวิธีดึงดูดให้นักศึกษาเข้าร่วมอภิปรายไปแล้ว คือ ให้นักศึกษาจดประเด็นอภิปรายไว้ล่วงหน้า, ให้เวลาคิด, และแบ่งกลุ่มย่อย

          ในการอภิปราย อาจารย์ต้องสังเกตหาคน/กลุ่ม ที่ไม่เข้าร่วม และหาทางส่งเสริม เช่นบอกว่า “มุมนี้เงียบจัง” แล้วตั้งคำถามให้ตอบ โดยที่ต้องมีวิธีตั้งคำถามให้ตอบได้ วิธีให้นักศึกษาที่เป็นคนเงียบ ให้เข้ามีส่วนร่วม คือให้อ่านประโยคหรือตอนหนึ่งของข้อความในเอกสาร และอาจตามด้วยการให้อธิบาย ความหมาย

          อาจารย์ต้องหาทางช่วยนักศึกษาที่ไม่เข้าร่วมอภิปรายต่อเนื่องในหลายคาบเรียน โดยเชิญมาคุย โดยอาจให้คำถามสำหรับชั้นเรียนอภิปรายล่วงหน้า และให้มาซักซ้อมคำอภิปรายกับอาจารย์ล่วงหน้า

           ผมคิดว่าหนังสือกล่าวถึงคนที่ไม่ร่วมเพราะไม่มั่นใจตนเอง แต่ในความเป็นจริงอาจมีนักศึกษาที่ ไม่ร่วมเพราะ กิจกรรมมันง่ายเกินไปสำหรับตน หรือเพราะไม่สนใจเรียนวิชานั้น อาจารย์ต้องมีวิธีจัดการ นักศึกษาทั้งสองกลุ่มนี้


ตอบสนองนักศึกษาที่อภิปราย

          อาจารย์ต้องตอบสนองต่อทุกคำอภิปราย (ทั้งด้วยวาจา และสีหน้าท่าทาง) และมีวิธีตอบสนองต่อ คำอภิปรายของนักศึกษาที่แตกต่างกัน ตามคุณภาพของคำอภิปราย แต่ต้องสะท้อนให้เห็นว่า ทุกคำอภิปราย มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของชั้นเรียน รวมทั้งคำอภิปรายที่ผิด เพราะมาจากความเข้าใจผิด ก็เป็นเครื่องมือ ของการเรียนรู้ที่ดี เพราะเป้าหมายของการ อภิปรายคือการเรียนรู้ ไม่ใช่การแสดงฝีมือของนักศึกษาแต่ละคน

          อาจารย์อาจให้คำสรรเสริญต่อคำอภิปรายที่ถูกต้อง อาจตั้งคำถามเพิ่ม ต่อคำอภิปรายที่ยังไม่ชัดเจน หรือยังไม่ครบถ้วน อาจขอให้นักศึกษาอธิบายต่อ หรือให้ข้อมูลหลักฐาน (evidence) ฯลฯ


กำกับการจราจร

          “คุณอำนวย” ที่ดีที่สุด เป็นคนที่พูดน้อยที่สุด แต่คอยทำหน้าที่ “กำกับการจราจร” ของการอภิปราย คือทำให้เข้าใจร่วมกันว่า จะดำเนินไปทางใด และ “การจราจร” ที่ดีเป็นอย่างไร แล้วคอยช่วยเหลือให้เกิด “การจราจร” ที่ดี โดยถือหลักว่า เข้าไปร่วมวงพูดน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

          เป้าหมายคือ อาจารย์ต้องไม่ใช่ศูนย์กลางของวงอภิปราย อาจารย์เป็นผู้อำนวยความสะดวกอยู่ข้างๆ วงเท่านั้น

          ผมเกิดความคิดว่า อาจารย์น่าจะทดลองหานักศึกษาอาสาสมัคร ทำหน้าที่ “ผู้กำกับการจราจร” โดยอาจารย์ช่วยโค้ชมาล่วงหน้า


สรุป

          ก่อนจะสรุป ต้องให้มั่นใจว่านักศึกษาทุกคนไม่มีเรื่องค้างคาใจ โดยถามชั้นเรียนเสียก่อนว่ามีใคร ยังสงสัยหรือมีคำถามในส่วนใดบ้างหรือไม่ ก่อนจะมอบหมายให้นักศึกษาคนหนึ่งทำหน้าที่สรุป และสร้างรอยต่อ เพื่อเชื่อมสู่บทเรียนคาบต่อไป ซึ่งหมายความว่า อาจารย์ต้องมีทักษะในการจัดการเวลาอย่างดี ให้มีเวลาสำหรับช่วงสุดท้าย ๔ - ๕ นาทีสำหรับการสรุป

          การตั้งคำถามที่ดี และการจัดการบทเรียนแบบอภิปรายที่ดี จะนำไปสู่การอภิปรายในหมู่นักศึกษา ต่อเนื่องไปอีกเป็นสัปดาห์ ซึ่งหมายความว่า เป็นวิธีการเรียนที่ช่วยให้นักศึกษามีใจจดจ่ออยู่กับบทเรียนได้ ไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 578884เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2014 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2014 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท