“จ้างทำการบ้าน”ที่มาที่ไป


อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมมากมาย จากทั้งโรงเรียนเองและหน่วยงานอื่น ซึ่งดาหน้ากันเข้ามาเบียดแทรกการจัดการเรียนการสอน หรือ ภาระงานอื่นของครูมีมาก จนส่งผลกระทบต่องานสอน ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก รวมถึงการนิเทศติดตามประเมินผลที่ไม่ต่อเนื่องจริงจัง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ เพราะแนวคิดผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลายในทุกระดับ ยังไม่ตระหนักจริงว่า การจัดการเรียนการสอนต้องเป็นภาระงานสำคัญที่สุดของโรงเรียน

อ่านข่าวนักเรียนจ้างทำการบ้านแล้ว เดิมทีไม่รู้สึกอะไร ขำด้วยซ้ำ ที่ครูผู้สอนปล่อยให้เกิดขึ้นได้ นักเรียนสมัยนี้ก็สุดๆเลยเหมือนกัน ไม่รับผิดชอบ จะเอา(แต่คะแนน)ลูกเดียว ความเจริญก้าวหน้าของสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ที่ทำให้สิ่งต่างๆง่ายดายขึ้น จนกระทั่งง่ายเกิน บ่มเพาะให้เป็นคนง่ายๆไป “ไม่ใฝ่เรียนรู้ ไม่สู้งาน"

การจัดการศึกษาซึ่งถูกปรามาสตลอดมานั้น ปัญหามีมากมาย คล้ายทุกคนรู้ ผู้มีหน้าที่ก็รู้ แต่ก็มักแค่พูด ลงมือแก้จริง แก้ที่ต้นตอ ไม่ค่อยเห็น ผลสัมฤทธิ์ถดถอยลงเรื่อย ทั้งในระดับพื้นฐานและอุดมศึกษา ผลสำรวจล่าสุดตามหลังหลายๆประเทศ แม้แต่ในชาติอาเซียน ธรรมดากระมัง ก็ไม่เห็นจริงจังอะไร

การจัดการเรียนการสอนน่าจะสำคัญที่สุด แต่ก็ยังไม่ใช่ กิจกรรมโน่นนี่แทรกเข้ามา ทั้งของโรงเรียนเองและหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะใกล้สิ้นปีงบประมาณ เวลาเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ของเด็กๆยิ่งจะมีมาก ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนปกติจึงลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาระงานครูอีก ทั้งงานประจำและงานจร บางครั้งไม่ได้สอนต้องสั่งให้นักเรียนทำงาน ไม่อย่างนั้นงานอื่นก็ทำไม่ทัน สุดท้ายเกิดผลกระทบ เพราะอย่างไรครูก็สอนจบตามหลักสูตรได้ ด้วยกลวิธีต่างๆ รายงาน สรุป แบบฝึกหัด ฯลฯ การบ้านนั่นเอง ที่ครูจำเป็นต้องมอบหมาย สอดคล้องกับหลักสูตรไม่ใช่หรือ? นักเรียนเป็นสำคัญ คิด ค้นคว้า สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง(ฮา)

การบ้านมากมายจากหลายกลุ่มสาระ ต่างคนต่างสั่ง ประเดประดังจนนักเรียนรับมือไม่ไหว มาจากเหตุนี้ด้วย ไม่ได้สอนก็ใช้วิธีมอบหมายให้ไปเรียนรู้เอง จะว่าไปบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระ เพื่อมอบหมายงาน เราคุยกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็แค่หยิบหลักสูตรมาพิจารณา งานใดครอบคลุมหลายสาระวิชา ก็มอบหมายเสียงานเดียว อย่างเดียว แต่มาถึงวันนี้ ยังพูดซ้ำเดิม “การบ้านนักเรียนมาก เรียนหลายวิชา ครูต่างคนต่างสั่ง" แสดงว่าที่ผ่านมาแค่พูด เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็เงียบ นอกจากนั้น การที่ปัญหาการบ้านมากยังคงอยู่ ยังเชื่อมโยงให้เห็นอีกเรื่อง การนิเทศติดตามประเมินผล

ทั้งที่ชัดแจ้งทั้งสาเหตุและวิธีการแก้ไข เวลาก็ผ่านมานานพอดูแล้ว ทว่าปัญหายังคงเดิม อาจเพราะสองสามอย่าง หนึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ลงมือแก้ไขอะไรเลย สองวิธีแก้ไขที่ทำมาไม่ได้ผล สามไม่รู้ได้ผลหรือไม่ เพราะไม่เคยติดตามประเมินอย่างจริงจัง

การนิเทศติดตามการจัดการเรียนรู้ สอนแล้วนักเรียนรู้มั้ย เป็นไปตามแผนหรือเปล่า ถ้าติดขัดไม่ได้ผล เป็นเพราะเหตุใด ครูผู้สอนต้องปรับแก้อย่างไร ควรสนับสนุนโรงเรียนและครูในเรื่องใด สื่อ วิธีการ หรืออื่นๆ ถ้ากระบวนการนิเทศติดตามเป็นไปด้วยความเข้มแข็งต่อเนื่องเช่นนี้ ปัญหานักเรียนจ้างทำการบ้านคงไม่เกิดหรือไม่อย่างนั้นก็ไม่หมักหมม เพราะมันก็แค่ปัญหาหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูแต่ละคนในแต่ละรายวิชาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมมากมาย จากทั้งโรงเรียนเองและหน่วยงานอื่น ซึ่งดาหน้ากันเข้ามาเบียดแทรกการจัดการเรียนการสอน หรือ ภาระงานอื่นของครูมีมาก จนส่งผลกระทบต่องานสอน ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก รวมถึงการนิเทศติดตามประเมินผลที่ไม่ต่อเนื่องจริงจัง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ เพราะแนวคิดผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลายในทุกระดับ ยังไม่ตระหนักจริงว่า การจัดการเรียนการสอนต้องเป็นภาระงานสำคัญที่สุดของโรงเรียน

อีกเรื่องเป็นเรื่องติว เรียนพิเศษ หรือกวดวิชา นับวันแต่จะมากขึ้น บางคนบอกก็ดีกว่าไม่ได้เรียน ผิวเผินก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ นี้เป็นอีกเหตุที่ฟ้องถึงความล้มเหลวของการจัดการศึกษา การสอนเพียงเพื่อให้ทำข้อสอบได้ บอกวิธีลัด บอกเทคนิค สรุปเนื้อหาให้ จะได้กากบาทถูก แล้วเมื่อไรเด็กๆจะคิดวิเคราะห์เป็น จะมีศีลธรรมจรรยา หรือจะมีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดีเสียที ที่สำคัญความผิดเพี้ยนของการจัดการศึกษานี้ขยายตัวไม่หยุด กลายเป็นธุรกิจใหญ่โต สร้างภาระให้กับผู้ปกครองเป็นเงินจำนวนมหาศาล มิหนำซ้ำผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ก็มิได้ยืนหยัดต่อความถูกต้อง ระยะหลังการติว การสอนพิเศษ หรือการกวดวิชา ระบาดหนักเข้าไปถึง แม้แต่ในห้องเรียน

ขนาดหลักใหญ่ใจความของพ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. 2542 เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ การศึกษาต้องสร้างให้คนคิดเองทำเองเป็น “โรงเรียนต้องให้เบ็ดตกปลา มิใช่จับปลาป้อน" การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ ครูต้องเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ เพื่อสร้างนักคิดนักวิเคราะห์ ครูจะมาบอกเล่าบรรยายความรู้เหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว

สถานการณ์จัดการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติก็เช่นกัน ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ครูยังสอนคล้ายเดิม ทั้งนี้เพราะการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ยังคงคัดเลือกด้วยการทำข้อสอบ โดยเฉพาะแบบเลือกตอบ ซึ่งใช้ทักษะคิดวิเคราะห์น้อยเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว การสอนแบบบรรยายให้รู้เนื้อหา จึงยังคงสอดคล้องกับชีวิตจริง ที่ทุกคนมุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ดีมีชื่อเสียง เป็นเหตุผลให้ครูหลายๆคน ยังคงสอนด้วยวิธีเดิมๆ

การที่รับมาแต่แบบสำเร็จรูป ในห้องเรียนครูก็สอนแบบบรรยาย ยิ่งมีกิจกรรมแทรกเข้ามามาก เวลาเรียนน้อย ครูยิ่งจะสอนให้รู้แค่เนื้อหา ตามมาด้วยการมอบหมายการบ้าน การบ้านมากๆเข้า ครูตรวจไม่ทันเอง งานอื่นที่โรงเรียนมีมากเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ครูบางคนบอกแค่ลงลายมือชื่อว่าตรวจแล้วก็ใช้เวลาโขอยู่ ครูบางคนซื้อตราประทับเอาเลย แล้วจะน่าแปลกใจอะไร ถ้าเด็กๆจะจ้างใครก็ไม่รู้ทำการบ้านมาส่ง

การที่การเรียนกวดวิชาตามสถาบัน หรือแม้แต่การติวหรือเรียนพิเศษในโรงเรียนเอง ต่างก็เน้นสอนเพื่อให้ทำข้อสอบได้ ด้วยการยัดเยียดเนื้อหา บอกวิธีลัด พื้นฐานที่มาไม่ต้องรู้ก็ได้ เทคโนโลยี เว็บไซต์ ครูกูเกิ้ล ทำให้ชีวิตหรือภาระงานของเด็กๆง่ายขึ้น เรียนรู้อะไรก็สะดวก ค้นคว้าความรู้ก็ง่าย อาการติดสบายจึงเกิดและสะสม สุดท้ายกลายเป็นคนง่ายๆ ไม่รับผิดชอบ แค่ทำข้อสอบได้ แค่ให้ได้คะแนน หรือแค่ประโยชน์ตัวเองเป็นพอ คุณธรรมจริยธรรมลดลงกับการดำเนินชีวิตเยี่ยงนี้

รู้สึกบอกไม่ถูก เมื่อผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาระดับชาติ ให้แนวปฏิบัติแก่โรงเรียนหรือครู เกี่ยวกับการให้การบ้านนักเรียน ได้แก่ ให้อย่างเหมาะสม ไม่ยากและไม่มากเกินไป ให้ทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น เพื่อโอกาสในการทำงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ (ที่มา http://www.kruthai.info) ที่รู้สึกบอกไม่ถูก เพราะต่อไปมิต้องละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ล่ะหรือ? อาทิ เกณฑ์พิจารณาอนุญาตให้นักเรียนเข้าห้องน้ำ , แนวคิดการจัดป้ายนิเทศ , แนวปฏิบัติในการขีดเส้นคั่นหน้าในสมุดแบบฝึกหัด ฯลฯ เป็นต้น

ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาถึงในระดับชาติแล้ว พิจารณาเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ หรือ เรื่องที่สำคัญกว่านี้จะดีไหม? อาทิ การจัดการเรียนสอนต้องเป็นงานสำคัญที่สุด และต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ , การติวหรือสอนพิเศษ ที่เน้นเพียงการทำข้อสอบได้ จะทำอย่างไร? เพราะประเด็นเหล่านี้ครอบคลุมอีกสารพันปัญหาการศึกษา ซึ่งสังคมมักวิพากษ์ จ้างทำการบ้านนี้ก็ด้วย อีกนัยหนึ่ง หากระดับนโยบายมัวสนใจแต่เรื่องย่อยๆ แล้วเพิกเฉยเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นต้นตอหรือเป็นที่มาที่ไป เช่นนั้นแล้ว ปัญหาก็ยากจะสำเร็จหรือยั่งยืน

สำหรับเรื่องการบ้านหรือเรื่องเล็กๆน้อยๆ ให้ผู้ปฏิบัติคิดเองทำเองบ้างเถอะ จะได้เป็นตัวอย่างให้โรงเรียนหรือครูด้วย ว่าการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดเองทำเอง อย่างไร?

(ภาพประกอบ : ปฏิบัติการเรียนรู้โครงสร้างหัวใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1)

หมายเลขบันทึก: 576252เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2014 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มาร่วมแสดงความเป็นห่วงในปัญาหเหล่านี้ด้วย...ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ...

  • ปัญหาการศึกษาในมุมครูผู้ปฏิบัติแล้ว โดยเฉพาะความรู้สึกตัวเอง ไม่น่าจะยากมากอย่างที่สังคมเห็นครับ..
  • ขอบคุณกำลังใจมากๆครับพี่ใหญ่ นงนาท

ดีค่ะที่อาจารย์แสดงความเห็นกับเรื่องนี้ เห็นด้วยทุกประการค่ะ

เห็นข่าวนักเรียนจ้างทำการบ้านแล้วส่วนตัวไม่ค่อยตื่นเต้นตกใจ คิดว่าถ้ามีจริงก็คงมีจำนวนน้อย กว่าจำนวนนักเรียนที่ไม่ส่งการบ้าน ทำการบ้านไม่ทัน ลอกการบ้าน ฯลฯ 

เด็กบางคนที่จ้างคงมีเงินมีทองและอาจมีปัญหาด้านอื่นอีกด้วยอันเนื่องมาขาดการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมในครอบครัว ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องได้รับการปรับพฤติกรรมและทัศนคติเป็นการเฉพาะรายบุคคล ครูประจำชั้นหรืออาจารย์ที่ปรึกษาควรรับงานนี้ไปและด้วยวิธีการที่แสดงว่า เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เด็กต้องดีขึ้นแน่นอน เด็กเหล่านี้น่าสงสารคงอยากได้คะแนน กลัวสอบตกจึงยอมทุ่มเงิน เด็กเหล่านี้ครูต้องช่วยเหลือแนะแนวอย่างอดทน คนที่เรียนทางด้านการศึกษาทุกคนต้องผ่านการเรียนจิตวิทยาการศึกษา การแนะแนวและให้ความช่วยเหลือเด็ก ต้องนำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้

ส่วนตัวเคยตรวจงานนักศึกษาพบว่าลอกกันมาเป็นกลุ่ม ๆ เลยให้คะแนนคนเดียว คนอื่น ๆที่เหมือนกันไม่ได้คะแนน โดยวิธีนี้ คนที่ได้คะแนนอาจเป็นคนที่ลอก คนที่ทำเองให้เพื่อนลอกอาจได้ ศูนย์ ทั้งห้อง 40 คน อาจได้คะแนนเพียง 5 คน นอกนั้นศูนย์หมด คนที่ได้ศูนย์ก็ไม่กล้าโวยเพราะรู้ว่าตนทำผิด งานชิ้นต่อไปยังพอมองเห็นร่องรอยของการลอกแต่ดีขึ้นมาก ครูก็ทำเป็นมองไม่เห็นแล้วค่อย ๆเลียบเคียงถามและให้ความช่วยเหลือ ระยะหลังไม่รับงานที่พิมพ์ส่ง ต้องเขียนด้วยลายมือเท่านั้น พฤติกรรมและผลงานดีขึ้นมาก

แต่ข่าวนี้ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ ข่าวนี้ควรจะกระตุ้นให้ครูกลับมาทบทวนวิธีการสอนและการให้งานหรือการบ้านแก่เด็ก ให้คิดถึงตนเองตอนเป็นนักเรียน ถ้าได้การบ้านโถมทับเข้ามาทุกวิชาแบบเด็กจะรับไหวไหม และครูพอใจแล้วหรือที่จะได้รับการบ้านที่ก้อบปี้จากอินเทอร์เน็ตทั้งดุ้น ใส่ปกสวยงาม ได้รับงานที่ผู้ปกครองทำให้เช่นงานเย็บปักถักร้อย งานศิลปะ พอใจหรือไม่ งานเหล่านั้นพัฒนาเด็กได้จริงหรือ งานที่ทำให้วุ่นวายกันทั้งบ้านเหมาะสมแล้วหรือ แล้วครูตรวจการบ้านพวกนี้หรือเปล่า

 ครูที่สอนนักเรียนห้องเดียวกันในแต่ละภาคเรียนต้องทำงานเป็นทีม นั่นคือต้องเตรียมการร่วมกันว่าจะบูรณาการกันอย่างไร ถ้าใช้  project-based learning ก็บูรณาการหลายวิชา แต่โครงงานเดียว ไม่ใช่ 4 วิชา 4 โปรเจ็ค บางวิชาไม่จำเป็นต้องให้การบ้านเลย สามารถสอนและทำกิจกรรม ฝึกทักษะจบในแต่ละคาบได้เลย แต่บางวิชาการฝึกเพิ่มเติมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งด้วยธรรมชาติของวิชาที่ต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพราะจะเป็นพื้นฐานของการเรียนเนื้อหาต่อ ๆไป เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น และเด็กแต่ละคนต้องการเวลาที่จะเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ต่างกัน การบ้าน 1-3 ชั่วโมงจึงเป็นเรื่องธรรมดา

แต่เห็นข่าว ศธ. ให้แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบ้านอย่างรวดเร็วฉับไว แล้วรู้สึก บอกไม่ถูกเช่นเดียวกับท่าน อ. ธนิตย์ เห็นด้วยทุกประการ

การบ้านมาก เรียนในห้องก็มาก วันหยุดก็เรียนพิเศษอีก  แล้วเด็กๆ จะมีเวลาวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบได้อย่างไร  ว่างจากตำราก็มาก้มหน้าติดหน้าจอ ตัวเล็กตัวน้อยแม่ก็ซื้อแทบเล็ตให้เล่นเกม ไม่ได้เงยหน้ามองรอบตัว...พี่ว่ามันเครียดนะ  (อย่างตัวเองรู้เลยค่ะ ว่า เวลาที่เราหมกมุ่นกับหน้าจอมาก จะเครียด สมาธิที่จะอ่านหนังสือสั้นลงๆ แต่พอเรารู้ตัวก็ถอยออกมา อารมณ์ก์แจ่มใส กลับมาปกติ)

ยิ่งได้อ่านว่าเวลาในห้องเรียนของเด็กไทยอยู่อันดับต้นๆ ของโลก แต่คุณภาพการศึกษาอยู่ระดับปลายๆ แล้วยิ่งกลุ้ม

การที่เราผู้ใหญ่ "พูดบ่น" โดยยังไม่เห็นทางออกนี่ก็เป็นทุกข์อยู่นะคะ  นึกไม่ออกจริงๆ ว่าเราจะ "เริ่มต้น" ออกจากทางตันนี้ได้อย่างไร  พี่เป็นห่วงอนาคตของลูกหลานไทยมาก 

พี่คิดว่าเด็กๆ ควรมีเวลาที่แจ่มใสนอกห้องเรียน  ได้เรียนรู้ ทำความรู้จักเรื่องราวในชุมชนของตัวเองมากกว่านี้ เพราะแต่ละชุมชนมีดีให้เรียนรู้เยอะ  โรงพยาบาลก็เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ฯลฯ

<p>ลูกชายคนเล็กพี่ค่ะ (คนที่ได้เหรียญทองชีวะโอลิมปิก) สนุกมากกับการขึ้นไปที่ทำงานพ่อ ได้ดูสไลด์สวยๆ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เด็กๆ ชอบมาก </p>

  • เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประการ เช่นเดียวกันครับ
  • ขอบคุณอาจารย์GDมากครับ
  • เรื่อยมา หลายคนมักพูดว่า การเรียนการสอนต้องเป็นหัวใจของโรงเรียน เมื่อก่อนเป็นครูใหม่ๆไม่เข้าใจ ก็นึกว่าจริงครับ แต่นานวันเข้า ตรงกันข้ามเลย..
  • จากประสบการณ์ ถ้าเด็กๆได้มีโอกาสเรียนจากของจริง ประสบการณ์ตรง หรือลงมือทำเอง แกจะชอบมากจริงๆครับ
  • ขอบคุณพี่Nuiครับ

อ่านแนวปฏิบัติของกระทรวง

แล้วเศร้า

ทำเหมือนครู คิดไม่เป็น  สั่งการตลอด

มาให้กำลังพี่ครูธนิตย์และโรงเรียนครับ

  • อ่านแล้วรู้สึก เหมือนกันครับ..
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท