หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : อีกหนึ่งความสำเร็จ ๔ In ๑ บ้านดิน (วิศวกรรมศาสตร์)


การผนึกกำลังนิสิตจากวิชาเรียนเข้าสู่กลุ่มผู้นำกิจกรรมของคณะเช่นนี้ เป็นการละลายพฤติกรรมของนิสิตเข้าหากันอย่างละมุมละม่อม ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือในการเยียวยาและเสริมพลังต่อกันและกัน ไม่เพียงชี้ให้เห็นบทบาทของนิสิตที่มีต่อ "การบริการสังคม" ผ่านวิชาชีพเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างนักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ หรือการต่อลมหายใจในมิติ “จิตอาสา” หรือ “ชาวค่าย” ได้อย่างน่าทึ่ง

เป้าหมายอันสำคัญในการขับเคลื่อนงาน “บริการวิชาการแก่สังคม” ภายใต้ชื่อโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” มีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการบูรณาการภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการวิจัย หรือที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเรียกโดยทั่วไปว่า ๔ In ๑

จากการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕  ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบูรณาการภารกิจ ๔ In ๑ ฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับไม่ง่ายดังที่ใจคิด



จวบจนวันนี้ย่างเข้าเป็นปีที่ ๓ เป้าหมายแห่งการบูรณาการดังกล่าวยังมิได้เหือดหายไปจากระบบ ทุกอย่างยังคงเป็นความท้าทายเหมือนวันแรกเริ่ม เพราะถือว่านี่คือกระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอนสู่การ “รับใช้สังคม” ผ่านหลักคิดสำคัญๆ ๓ หลายประการคือการใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered) ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-based learning) เรียนรู้ผ่านกิจกรรม หรือการลงมือทำ ( Project base learning & Activity Based Learning


โครงการ “พัฒนาอาคารดินสำหรับใช้เป็นสถานบำบัดผู้ป่วยในชุมชน” ณ สวนป่าธรรมโชติปัญญาราม ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จากหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ และอาจารย์รัตนา หอมวิเชียรพร้อมคณะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เป็นหนึ่งในโครงการที่ผมคิดว่าเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนภารกิจ ๔ In ๑ อย่างไม่ต้องกังขา





บูรณาการบริการวิชาการ > การเรียน > การวิจัย (นิสิตและอาจารย์)

ย้อนกลับไปปี ๒๕๕๕ คณะทำงานชุดดังกล่าวเคยได้ขับเคลื่อนเรื่องบ้านดินมาแล้วครั้งหนึ่ง (อาคารดินอบสมุนไพร) ที่ชุมชนบ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ส่วนปี ๒๕๕๖ เปลี่ยนทิศทางไปสู่การทำอาคารคัดแยกขยะ โดยบูรณาการกับอีก ๓ หลักสูตรในคณะเดียวกัน ณ โรงเรียนบ้านคันธาร์ ตำบลคันธารราษฏร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

ปี ๒๕๕๗ การขับเคลื่อนเรื่องอาคารดินยังคงดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิดเดิม ประกอบด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนเข้าสู่วิชา 0303341 (Energy Conservation Management)ซึ่งมีทั้งที่เรียนทฤษฎีสู่การปฏิบัติและสนับสนุนให้นิสิตได้ทำ “วิจัยในชั้นเรียน” (โปรเจค)  ไปในตัว เช่นเดียวกับการใช้ฐานคิดงานวิจัย  (บ้านดินรักษ์โลก)  หรือการวิจัยในส่วนของวัสดุฉาบอาคารดินที่เคยใช้ในอดีตมาขับเคลื่อนต่อยอดในพื้นที่ดังกล่าว  โดยในตอนท้ายของโครงการฯ  เมื่อนิสิตทำวิจัยเสร็จสิ้น  อาจารย์ก็จะต่อยอดวิจัยของนิสิตไปสู่วิจัยของอาจารย์ฯ ในอีกระดับหนึ่ง

ซึ่งในภาพดังกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและงานวิจัยทั้งที่เป็นวิจัยของนิสิตและวิจัยของอาจารย์อย่างน่าสนใจ –

หรือในอีกมิติหนึ่งคือการนำงานวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้วมาบูรณาการเข้ากับการบริการวิชาวิชาการและการเรียนการสอน  และเมื่อเสร็จภารกิจโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ก็นำไปสู่การวิจัยอีกเรื่องหนึ่งนั่นเอง





บูรณาการบริการวิชาการ > การเรียน > การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม


การขับเคลื่อนโครงการ “พัฒนาอาคารดินสำหรับใช้เป็นสถานบำบัดผู้ป่วยในชุมชน” ในปี ๒๕๕๗  ยังคงยึดมั่นการทำงานภายใต้หลักปรัชญาการ “เรียนรู้คู่บริการ” อย่างหนักแน่น เน้นการเชื่อมโยงภูมิปัญญาของชาวบ้านเข้ากับองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้จากตลอดห้วงระยะเวลาการทำงาน ๒๐ วัน ทั้งนิสิต อาจารย์ได้ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างจริงๆ จังๆ   เป็นการทำงานแบบ “มีส่วนร่วม”  ผสมผสานระหว่างชุดความรู้จากมหาวิทยาลัยกับชุดความรู้เดิมที่ชุมชนเคยได้ลองผิดลองถูกเกี่ยวกับการทำ “อิฐดิน” ด้วยการนำเอาดินในบริเวณวัดมาผสมกับแกลบและฟางข้าวมาเป็นวัสดุเสริมแรงของอิฐดิน  ซึ่งสิ่งที่ชุมชนได้ทำขึ้นก็ใช้ได้ดี และคงทนต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม ๒ ปี




ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าวจึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวระหว่างนิสิต  อาจารย์กับชุมชน  ไม่เพียงแต่เฉพาะชุดความรู้ว่าด้วยการทำอิฐดินเท่านั้นที่ถูกหยิบจับมาบูรณาการร่วมกัน  แต่ยังยึดโยงถึงการนำเอาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาทำบ้านดินด้วยเช่นกัน  เป็นต้นว่าใช้ไผ่มาทำโครงอาคาร ใช้หญ้าคามามุงหลังคา ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องการลดต้นทุน (พอเพียง) การลดภาวะโลกร้อนแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้ว  ตลอดระยะเวลาการทำงาน ๒๐ วัน  ทั้งอาจารย์และนิสิต  ยังได้เรียนรู้มิติอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องภูมิปัญญาหรือศิลปวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ  กล่าวคือ  หลังเสร็จภารกิจการงานในช่วงเย็นของแต่ละวัน  ทั้งนิสิตและอาจารย์จะร่วมปฏิบัติธรรม  ทั้งฟังเทศน์  ฝึกสมาธิ  หรือแม้กระทั่งเรียนรู้กระบวนการบำบัดผู้ป่วยผ่านมิติต่างๆ ทั้งภูมิปัญญาในท้องถิ่นและการแพทย์สมัยใหม่  รวมถึงการเรียนรู้วิถีธรรมชาติในวัดที่รายล้อมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของ “ธรรมชาติบำบัด”





บวร : บ้าน วัด โรงเรียน


ถึงแม้โครงการ “พัฒนาอาคารดินสำหรับใช้เป็นสถานบำบัดผู้ป่วยในชุมชน” จะปักหมุดหมายพื้นที่ปฏิบัติการหลักใน “วัด” หรือ “สถานปฏิบัติธรรม”  แต่ในความเป็นจริงนั้น  ต้องยอมรับว่าการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้มีเสน่ห์น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะมีชาวบ้านในชุมชนมาร่วมกิจกรรมสร้างบ้านดินร่วมกับนิสิตกับอาจารย์อย่างต่อเนื่อง

การทำงานร่วมกัน  ได้กลายเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกันในหลากเรื่องอย่างเสร็จสรรพ  เสมือนการ “ทำงานไปด้วย เก็บข้อมูลชุมชนไปด้วย”  ผ่านการโสเหล่ถามทักอย่างกัลยาณมิตรทั้งเรื่องวิถีวัฒนธรรม  การศึกษา  ประเพณี  ความเชื่อ  เศรษฐกิจ  การเมือง ฯลฯ





เช่นเดียวกับการออกแบบให้นิสิตไปพักค้างคืนที่โรงเรียนหนองกุงราษฎร์วิทยา  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานปฏิบัติธรรมโชติปัญญาราม  ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธหนึ่งในการเรียนรู้วิถีทางการศึกษาของชุมชนด้วยเช่นกัน  และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานโครงการฯ  นิสิตและอาจารย์ยังได้จัดกิจกรรมขึ้นมา  เพื่อเป็นการขอบคุณที่ทางโรงเรียนได้ให้ความอนุเคราะห์เรื่องที่พัก

เหนือสิ่งอื่นใด  โดยส่วนตัวผมเชื่อว่านั่นคือการผูกโยงให้รู้ว่า  “อาคารดิน”  ที่จัดทำขึ้นนั้น  คืออีกหนึ่ง “ห้องเรียน” ที่โรงเรียนสามารถใช้เป็น “ฐานการเรียนรู้”  ของนักเรียนในชุมชนนั้นได้เป็นอย่างดี

ยิ่งทั้งชาวบ้านและพระครูครูณัฐพงษ์ เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในเรื่องการทำบ้านดินและอิฐดินอยู่แล้ว ยิ่งง่ายต่อการบูรณาการเข้าสู่การเรียนรู้  หรือกระทั่งการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นที่ว่าด้วยบ้านดินลดโลกร้อน  หรือบ้านดินเพื่อการบำบัดผู้ป่วย รวมถึงการเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ป่า โดยใช้ผืนป่าในสถานปฏิบัติธรรมเป็นฐานแห่งการเรียนรู้ – ผมว่ามันเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากๆ






เจ๋ง ! บูรณาการกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน

หากไม่นับกระบวนการบริการวิชาการที่เดินคู่ไปกับการเรียนการสอน การวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อีกประเด็นที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับโครงการฯ นี้ก็คือ การบูรณาการนิสิตจากวิชาเรียนเข้ากับนิสิตที่ทำกิจกรรมนอกชั้นเรียน (นอกหลักสูตร) ได้อย่างลงตัว

เวทีการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้ ทางหลักสูตรฯ ได้ผนึกโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเข้าสู่กิจกรรมอันเป็นอัตลักษณ์หลักของสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อโครงการ “ค่ายชมรมถนนผู้สร้าง สายที่๑๐” เรียกได้ว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์กิจกรรมของนิสิตในวาระ “๑ ทศวรรษของชมรมถนนผู้สร้าง” เลยทีเดียว





การผนึกกำลังนิสิตจากวิชาเรียนเข้าสู่กลุ่มผู้นำกิจกรรมของคณะเช่นนี้ เป็นการละลายพฤติกรรมของนิสิตเข้าหากันอย่างละมุมละม่อม ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือในการเยียวยาและเสริมพลังต่อกันและกัน  ไม่เพียงชี้ให้เห็นบทบาทของนิสิตที่มีต่อ "การบริการสังคม"  ผ่านวิชาชีพเท่านั้น   หากแต่ยังเป็นการสร้างนักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ หรือการต่อลมหายใจในมิติ “จิตอาสา” หรือ “ชาวค่าย” ได้อย่างน่าทึ่ง - ไม่ใช่ย่อย

และนั่นก็คือส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะนิสิตตามอัตลักษณ์ "เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน"  และเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย "เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน"

กรณีดังกล่าวนี้ ผมมองว่าน่าจะถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาของหลักสูตรอื่นๆ ได้อย่างไม่เขินอาย  เพราะไม่ใช่เพียงแค่บูรณาการนิสิต  หรือบูรณาการกิจกรรมในชั้นเรียนกับกิจกรรมนอกชั้นเรียนเข้าหากันเท่านั้น  หากแต่ยังมีนัยสำคัญของการบูรณาการงบประมาณ (เงินๆ ทองๆ) เข้าหากันไปโดยปริยาย - ซึ่งผมมองว่าสำคัญและท้าทายต่อการออกแบบการเรียนรู้ในห้วงยุคนี้เป็นที่สุด





อื่นๆ : หมายเหตุ

ในช่วงการสำรวจพื้นที่และพัฒนาโจทย์   ผมมีโอกาสได้ลงพื้นที่ร่วมกับอาจารย์และนิสิตด้วยเช่นกัน หลักๆ ทางคณะสำรวจพื้นที่พัฒนาโจทย์ร่วมกับชุมชน ๓  พื้นที่เลยทีเดียว  ประกอบด้วยมหาสารคาม ๑ พื้นที่และกาฬสินธุ์ ๒ พื้นที่

สวนปฏิบัติธรรม-สวนธรรมโชติปัญญาราม  คือพื้นที่ที่ถูกพิจารณาคัดเลือกด้วยเหตุผลหลยประการ เช่น สถานที่ดังกล่าวชุมชน้องการบ้านดินเป็นที่พักพิงของผู้สูงอายุที่ไร้ญาติและเพื่อใช้เป็นสถานที่บำบัดรักษาอาการป่วยของผู้คน โดยสถานที่ดังกล่าว พระครูณัฐพงษ์ เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มด้วยการพลิกผืนดินที่ว่าเปล่าให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยต้นไม้นานาชนิดในเนื้อที่ประมาณ ๓,๕๐๐ ต้น

ภายในสวนปฏิบัติธรรมนี้ จัดระบบชีวิตในอ้อมกอดของธรรมชาติและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ปลูกสมุนไพร มีอาคารรองรับการพักพิงของผู้คนที่ไร้ญาติและเจ็บป่วย อาคารแต่ละหลังมุ่งเน้นการสร้างจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น โดยพระครูณัฐพงษ์ เคยได้ทำก้อนอิฐดินจากแกลบและฟางข้าวมาแล้วระยะหนึ่ง จึงเหมาะต่อการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน-วัด (สถานปฏิบัติธรรม)

ซึ่งบ้านดิน (อาคารดิน) ที่สร้างขึ้นเป็นลักษณะทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕เมตร สูง ๒.๑เมตร ใช้เวลาดำเนินการ ๒๐วัน คือ ย่ำดินเป็นเวลา ๑๐วัน ทำฐานรากและพื้น ก่ออิฐดินดิบอีกเป็นเวลา ๑๐วัน





โครงการ “พัฒนาอาคารดินสำหรับใช้เป็นสถานบำบัดผู้ป่วยในชุมชน”
ระหว่างวันที่ ๕ – ๑๕และ ๒๐ – ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ณ พุทธสถานสวนธรรมโชติปัญญารามบ้านหนองกุง
ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์



หมายเลขบันทึก: 575223เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2014 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2014 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บ้านดิน น่าสนใจมากจ้ะ  หน้าร้อนคงไม่ร้อนเท่ากับบ้านอิฐ  บ้านปูน  เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ๆ จ้ะ


-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาชมกิจกรรมของชาวค่าย

-ค่ายแบบนี่้ทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมได้ดีทีเดียวครับ

-ครอบคลุมทุกมิติจริง ๆ 

-"วัดจะดีมีหลักฐาน เพราะบ้านช่วย คนจะสวย เพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย หากขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง"

-ขอบคุณครับ

ชื่นชมกิจกรรมดีๆเช่นนี้ค่ะ...ร่วมแรงร่วมใจเพื่องานจิตอาสาที่เป็นแบบอย่าง

"อยากจะฝาก..เอกลักษณ์..ของดิน..ที่นำมาเป็น..วัสดุก่อสร้าง."..ที่สำคัญ..บ้านดิน..ถ่้าออกแบบให้ถูกต้อง..ตามลักษณะ..พื้นที่ๆที่ปลูกสร้าง..ดินเป็นวัตถุที่เก็บความชื้น..ในเวลาหน้าร้อน..ในห้องดิน..จะเย็น..กว่าข้างนอก..ถ้าเป็นหน้าหนาว..ก็จะให้ความอบอุ่น....(สำหรับเมืองหนาว..ที่ต้องใช้เตาผิง)...

การสร้างบ้านดินในเมืองไทย..ผิด..ปรกติ..คือ..ใช้ดิน..แถมติดแอร์...บางที่..โบกฉาบด้วยซีเมนต์...

(โปรดสังเกตุ)...ว่า  งานทางสถาปัตยกรรม..เวลานี้..เพี้ยนไปมากๆๆ..แล้ว..

บ้านเราสมัยก่อน..มักจะใช้ดิน..ทำยุ้งข้าว..เพราะเหตุใด..ควรพิจารณา..การออกแบบ..หรือการเรียนการสอนที่ต้องย้อนยุค..ควรจะมีการวิจัย..ให้มากเป็นพิเศษ..

มีภาพ..ผนังดิน..ในยุโรป..สถาปัตยกรรมชนิดนี้มีอายุ.คงอยู่ได้.เป็นพันปี.....

หลอมรวม  กลมกลืน  ผสมผสาน  บูรณาการ  เยี่ยมค่ะ  ^_,^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท