ไม้เรียวเปลี่ยนโจรให้กลายเป็นมหาบุรุษ


คุณของไม้เรียว ( ติลมุฏฐิชาดก )

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่   ๑๒

                                                                           ๒. ติลมุฏฐิชาดก 

                                                                       การเฆี่ยนตีเป็นการสั่งสอน

           [๓๕๕]  การที่ท่านให้จับแขนเราไว้แล้วเฆี่ยนตีเราด้วยซีกไม้ไผ่เพราะเหตุเมล็ดงากำมือหนึ่งนั้น  ยังฝังอยู่ในใจของเราจนทุกวันนี้.

           [๓๕๖]  ดูก่อนพราหมณ์ ชะรอยท่านจะไม่ยินดีในชีวิตของตนแล้วสินะ จึงได้มาจับแขนแล้วเฆี่ยนตีเราถึง  ๓  ครั้ง  วันนี้ท่านจะได้เสวยผลของกรรมนั้น.

          [๓๕๗] อารยชนใดย่อมข่มขี่คนที่ไม่ใช่อารย ขึ้นผู้ทำกรรมชั่วด้วยอาชญากรรมของอารยชนนั้น เป็นการสั่งสอนหาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้แล.

                                                                      จบ  ติลมุฏฐิชาดกที่  ๒

                                                                     อรรถกถาติลมุฏฐิชาดกที่  ๒

         พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่งจึงตรัสเรื่องนี้  มีคำเริ่มต้นว่า  อชฺชปิ   เม ตํ  มนสิ  ดังนี้.

        ได้ยินว่ามีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มักโกรธมากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกใครว่าอะไรแม้เพียงนิดเดียวก็โกรธ ข้องใจ  กระทำความ 

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่    ๑๓

โกรธความประทุษร้ายและความน้อยใจให้ปรากฏ.อยู่มาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่าผู้มีอายุทั้งหลายภิกษุรูปโน้นเป็นคนโกรธง่ายมากไปด้วยความคับแค้นใจ เที่ยวทำเสียงเอะอะเหมือนเกลือที่เขาใส่ในเตาไฟ  เป็นผู้บวชในศาสนาที่สอนมิให้โกรธเห็นปานนี้แม้แต่ความโกรธเท่านั้น ก็ไม่อาจข่มได้.พระศาสดาทรงตรัสถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้ไปเรียกภิกษุรูปนั้นมาแล้วตรัสถามว่าข่าวว่าเธอเป็นผู้โกรธง่ายจริงหรือ ? เมื่อภิกษุรูปนั้นรับเป็นสัตย์แล้ว  จึงตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลายมิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนภิกษุนี้ก็ได้เป็นคนมักโกรธเหมือนกัน  ภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

         ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  โอรสของพระเจ้าพรหมทัตนั้นได้มีนามว่าพรหมทัตตกุมาร.แท้จริงพระราชาครั้งเก่าก่อนแม้จะมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในนครของตน  ก็ย่อมส่งพระราชโอรสของตน ๆ  ไปเรียนศิลปะยังภายนอกรัฎฐะในที่ไกล   ด้วยหวังใจว่า  เมื่อกระทำอย่างนี้    พระราชโอรสเหล่านั้น จักเป็นผู้ขจัดความเย่อหยิ่งด้วยมานะ ๑  จักเป็นผู้อดทนต่อความหนาวและความร้อน ๑จักได้รู้จารีตประเพณีของชาวโลก  ๑  เพราะฉะนั้น  พระราชาแม้พระองค์นั้น  จึงมีรับสั่งให้หาพระราชาโอรสซึ่งมีพระชนมายุ  ๑๖  พรรษามาแล้วพระราชทานฉลองพระบาทชั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่  ๑๔

เดียวคู่ ๑  ร่มใบไม้คันหนึ่ง และทรัพย์   ๑,๐๐๐   กหาปณะ  พลางตรัสว่าลูกรักเจ้าจงไปยังเมืองตักกศิลา  ร่ำเรียนเอาศิลปะมา  แล้วทรงส่งไป. พระราชโอรสรับพระราชโองการแล้ว   ถวายบังคมพระชนกชนนีแล้วเสด็จออกไป  บรรลุถึงเมืองตักกศิลาโดยลำดับ  ได้ไปถามหาบ้านอาจารย์ก็ในเวลานั้น   อาจารย์สอนศิลปะแก่พวกมาณพเสร็จแล้วลุกขึ้นมานั่ง ณ ที่ข้างหนึ่งที่ประตูเรือน.   พระราชโอรสนั้นไปที่บ้านอาจารย์นั้นได้เห็นอาจารย์นั่งอยู่ในที่นั้น  ครั้นแล้วจึงถอดรองเท้าตรงที่นั้นแหละ    ลดร่ม   ไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ อาจารย์นั้นรู้ว่าพระราชโอรสนั้นเหน็ดเหนื่อยมา  จึงให้กระทำอาคันตุกสงเคราะห์ . พระกุมารเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว  พักผ่อนอยู่ครู่หนึ่ง  จึงเข้าไปหาอาจารย์ไหว้แล้วยืนอยู่   เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามว่า   เธอมาจากไหนน่ะพ่อ   จึงกล่าวตอบว่า   มาจากเมืองพาราณสี. เธอเป็นลูกใคร ? เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี.  พระองค์เสด็จมาด้วยประสงค์อะไร ?  ท่านอาจารย์ข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการเรียนศิลปะ    พระองค์นำทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์มาด้วยหรือเปล่า  หรือพระองค์จะเป็นธัมมันเตวาสิก. พระราชกุมารนั้นกล่าวว่า  ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ข้าพเจ้านำมาด้วยแล้วว่าแล้วก็วางถุงทรัพย์พันกหาปณะลงที่ใกล้เท้าของอาจารย์แล้วก็ไหว้.   อันศิษย์ที่เป็นธัมมันเตวาสิก    เวลากลางวันต้องทำการงานให้อาจารย์  กลางคืนจึงจะได้เรียน  ศิษย์ที่ให้ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์  เป็นเหมือนบุตรคนโตในเรือน  เรียน

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่   ๑๕

แต่ศิลปะเท่านั้น.เพราะฉะนั้นอาจารย์แม้นั้น พอมีฤกษ์งามยามดีแล้ว จึงเริ่มสอนศิลปะแก่พระกุมารโดยพิสดาร. ฝ่ายพระราชกุมารก็เรียนเอาศิลปะด้วยความตั้งใจ วันหนึ่งได้ไปอาบน้ำพร้อมกับอาจารย์. ครั้งนั้นมีหญิงชราคนหนึ่ง ขัดสีเมล็ดงาให้หมดเปลือกแล้วเอามาแผ่ตากไว้นั่งเฝ้าอยู่. พระกุมารเห็นเมล็ดงาที่ตากไว้ก็อยากจะเสวยจึงหยิบเมล็ดงามาหนึ่งกำมือแล้วเคี้ยวเสวย.หญิงชราคิดว่ามาณพนี้คงอยากกินจึงนิ่งเสียมิได้กล่าวประการใด. แม้ในวันรุ่งขึ้นพระกุมารนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้น ในเวลานั้น. แม้หญิงชรานั้นก็ไม่กล่าวอะไรกะพระราชกุมารนั้น. แม้ในวันที่ ๓ พระราชกุมารก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. คราวนั้นหญิงชราเห็นเข้า จึงประคองแขนทั้งสองร้องคร่ำครวญว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ใช้ให้พวกศิษย์ของตนปล้นเรา.อาจารย์หันกลับมาถามว่านี่อะไรกันแน่หญิงชรากล่าวว่า นาย ศิษย์ของท่านเคี้ยวกินเมล็ดงาอ่อนที่ข้าพเจ้าทำไว้ วันนี้กำมือหนึ่ง เมื่อวานกำมือหนึ่ง เมื่อวันซืนกำมือหนึ่ง ก็เมื่อศิษย์ของท่านเคี้ยวกินอยู่อย่างนี้  เมล็ดงาที่มีอยู่ของดิฉันเท่าไรๆ ก็จักหมดสิ้นไปมิใช่หรือ.อาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวว่า แม่ อย่าร้องไห้ไปเลย ฉันจักให้มูลค่าแก่ท่าน. หญิงชรากล่าวว่า  ดิฉันไม่ต้องการมูลค่าดอกนาย  ดิฉันขอให้ท่านสั่งสอน โดยอย่าให้กุมารนี้กระทำอย่างนี้อีกต่อไป. อาจารย์กล่าวว่า  ถ้าอย่างนั้นจงคอยดูนะแม่ แล้วให้มาณพ ๒ คนจับพระราชกุมารนั้นที่แขนทั้ง ๒ ข้างไว้จึงเอาชืกไม้ไผ่มาเฆี่ยนที่

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ ๑๖

กลางหลัง  ๓  ครั้ง พร้อมกับสอนว่าเธออย่าได้ทำอย่างนี้อีกต่อไป พระราชกุมารโกรธอาจารย์ทํานัยน์ตาแดงมองดูตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผม.  แม้อาจารย์นั้นก็รู้ว่า  พระราชกุมารนั้นมองดูเพราะโกรธเคือง. พระราชกุมารเรียนศิลปะจบแล้วทำการฝึกซ้อมเก็บโทษที่อาจารย์นั้นกระทำไว้ในหทัย โดยอาฆาตว่าเราต้องฆ่าอาจารย์ผู้นี้ ครั้นเวลาจะไปจึงไหว้อาจารย์  ทำที่มีความสิเนหาอย่างสุดซึ้งรับเอาปฏิญญาว่า ท่านอาจารย์เมื่อใด  ข้าพเจ้าได้ราชสมบัติในพระนครพาราณสี  แล้วส่งข่าวมาถึงท่าน  เมื่อนั้นขอให้ท่านพึงมาหาข้าพเจ้า   กล่าวดังนี้แล้วก็จากไป.ครั้นไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว  ถวายบังคมพระชนกชนนีแล้วแสดงศิลปะให้ทอดพระ เนตรพระราชาตรัสว่า  เรามีชีวิตอยู่ทันเห็นบุตรเราขณะมีชีวิตอยู่นี้แหละ  จักได้เห็นความสง่าในราชสมบัติแห่งบุตรของเราจึงทรงสถาปนาพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติ.   เมื่อพระราชโอรสได้ครอบครองศิริราชสมบัติ  ก็ระลึกถึงโทษที่อาจารย์ได้กระทำไว้ก็ทรงพระพิโรธ จึงทรงส่งทูตไปถึงอาจารย์เพื่อให้มาเฝ้าด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักฆ่าอาจารย์นั้น. ท่านอาจารย์คิดว่าในเวลาที่เขายังหนุ่มแน่นเราจักไม่อาจให้พระราชานั้นเข้าใจได้   จึงมิได้ไปในเวลาที่พระราชานั้นล่วงเข้ามัชฌิมวัย   คิดว่าบัดนี้เราจักอาจทำให้พระรา ชานั้นเข้าใจได้  จึงได้เดินทางไปยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง  ให้กราบทูลว่าอาจารย์จากเมืองตักศิลามาแล้ว.  พระราชาทรงโสมนัสยินดี  รับสั่งให้เรียกพราหมณ์มา  พอเห็นอาจารย์ 

ตรัสสั่งให้เข้าเฝ้าได้ทันที โดยมิได้ รอช้าเลย เมื่อได้เห็นหน้าอาจารย์แล้ว แม้อยู่ต่อหน้าอำมาตย์ทั้งหลาย ก็มิอาจระงับพระทัย ที่เจ็บแค้นไว้ได้ ทรงพระพิโรธรุนแรงถึงกับชี้หน้าอาจารย์ ทรงตวาดด้วยเสียงดังว่า

"การที่ท่านอาจารย์ให้คนจับแขนเราไว้ แล้วเฆี่ยนตีเรา เพียงแค่เหตุเมล็ดงากำมือเดียวนั้น ยังฝังใจเรา ให้แค้นอยู่จนทุกวันนี้ ดีแล้วที่อาจารย์มาถึงที่นี่ ชะรอยไม่ไยดีในชีวิต ของตัวเองแล้วสินะ วันนี้แหละท่านจะได้รับผลกรรมตอบสนอง ในการที่เฆี่ยนตีเราถึง ๓ ครั้ง"

แม้พระราชาจะขู่อาฆาตจองเวรด้วยความตาย แต่อาจารย์ยังคงตั้งมั่นอยู่ด้วยอาการเยือกเย็น ได้พยายามอธิบายอย่างเมตตาปรานีว่า

"อารยชน (คนดีงาม) ทั้งหลาย ย่อมจะข่มขี่คนต่ำช้า ผู้กระทำกรรมชั่วด้วยการลงโทษ ข้อนี้บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมรู้ชัดว่า การกระทำของอารยชนนั้น เป็นการเมตตาสั่งสอน มิใช่เป็นการปองร้ายก่อเวรเลย"

พระราชาทรงสดับเช่นนั้น ขณะที่กำลังจะทรงโต้เถียงไปนั้น อาจารย์ก็ได้กล่าวขึ้นก่อนอีกว่า

"ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้นแล้ว แม้แต่พระองค์เอง ก็โปรดทรงทราบในข้อนี้เถิด พระองค์ ไม่ควรก่อเวร ปองร้ายต่อข้าพระองค์เลย

เพราะแม้ข้าพระองค์ผู้เป็นอาจารย์ ไม่ได้เฆี่ยนตีให้พระองค์ทรงสำนึกแล้ว ต่อไปภายหน้า พระองค์ลักขโมยขนม น้ำตาลกรวด ผลไม้ เป็นต้น จะทรงติดในนิสัยโจรกรรม จะทำการ ตัดช่องย่องเบา กล้าฆ่าคนช่วงชิงของเขา ในที่สุด ก็จะถูกจับพร้อมของกลาง โดนนำตัว ไปให้พระราชาตัดสิน จะต้องได้รับการลงโทษ ตามสมควรแก่ฐานะโจร

เมื่อเป็นไปอย่างนี้แล้ว ราชสมบัติจะได้มีแก่พระองค์จากที่ไหนเล่า ทุกวันนี้ที่พระองค์ได้ ความเป็นใหญ่ อยู่โดยราบรื่นเรียบร้อย เพราะอาศัยข้าพระองค์อบรมสั่งสอนให้มิใช่หรือ"

อาจารย์กล่าวจบถึงตรงนี้ ทำให้พระราชาทรงนิ่งอึ้ง ประทับนั่งอยู่ด้วยอาการสงบลง ความโกรธแค้นขุ่นเคืองบรรเทาเบาบางลงเป็นอันมาก ขณะที่ทรงพิจารณาคำกล่าว ของอาจารย์อยู่นั้น เหล่าอำมาตย์ที่ยืนห้อมล้อมอยู่ ได้ฟังถ้อยคำของอาจารย์นั้นแล้ว จึงกราบทูลบ้างว่า

"ขอเดชะ คำที่อาจารย์ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริง ความเป็นใหญ่ แห่งพระราชานี้ ของพระองค์ ท่านอาจารย์เป็นผู้ช่วยเหลือไว้โดยแท้"

บัดนั้นเอง พระราชาทรงกำหนดได้ถึงพระคุณมากหลายของอาจารย์ จึงทรงสำนึกตัว ตรัสขอขมา ต่ออาจารย์

"ท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง ข้าพเจ้าขอมอบความเป็นใหญ่นี้แก่ท่าน ท่านจงรับราชสมบัตินี้ไว้เถิด"

อาจารย์รีบปฏิเสธทันทีว่า

"ข้าพระองค์มิอาจรับราชสมบัตินี้ได้ ขอให้พระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรมต่อไปเถิด พระเจ้าข้า"

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระราชาจึงทรงส่งข่าวไปยังเมืองตักกสิลา ให้บุตรและภรรยาของอาจารย์มา แล้วประทาน อิสริยยศใหญ่ให้ ส่วนอาจารย์นั้นให้เป็นปุโรหิต แล้วทรงเชื่อฟังคำสอน ของอาจารย์ ดุจดังเป็นบิดาของตน ทรงบำเพ็ญบุญทานทั้งหลาย ได้มีสวรรค์เป็นที่ไป ในเบื้องหน้าแล้ว

พระศาสดาแสดงชาดกนี้จบแล้ว ได้ตรัสว่า

"พระเจ้าพรหมทัตตะนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ในคราวนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

แล้วทรงประกาศอริยสัจ ๔ เมื่อจบธรรมะนั้น ภิกษุผู้มักโกรธนั้น ก็ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลทันที ภิกษุนอกนั้น บ้างก็ได้เป็นพระโสดาบัน บ้างก็ได้เป็นพระสกทาคามี

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๕๕, 

อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๑๒

ที่มา 

http://www.asoke.info/09Communication/Dharmapublicize/Dokya/D110/047.html

ถ้าไม้เรียวทำให้ลูกเป็นนายกซึ่งเป็นคนดีของชาติได้จริง เป็นคนหนึ่งที่ยอมให้ครูตีลูกด้วยความเมตตาเหมือนชาดกเรื่องนี้ 

นับถือพุทธ ไม่นับถือปรัชญาฝรั่งหรือญี่ปุ่นที่เอามาใช้กับการสอนในเมืองไทยผิดๆ และไม่ได้เรื่องตราบจนทุกวันนี้

หมายเลขบันทึก: 575218เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2014 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2014 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท