ค่ารังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อป้องกันการบุกรุก


ค่ารังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อป้องกันการบุกรุก

มีข้อสอบถามความเห็นท่าน ในกรณีของ อบต. นายอำเภอทำหนังสือขอให้ อบต. ออกค่ารังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อป้องกันการบุกรุกว่าสามารถกระทำได้หรือไม่

มีประเด็นที่ต้องตรวจสอบตามหนังสือสั่งการและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(๑) หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท ๐๘๐๔.๔/ว ๑๑๖๑ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ เรื่อง การหารือปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่สาธารณะสาธารณประโยชน์ (ตอบหารือจังหวัดจันทบุรี) [*]

[*] สรุปว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องอำนาจในการดูแลรักษาที่สาธารณะและความไม่ชัดเจนในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อดูแลรักษาที่สาธารณะอีกต่อไป อปท.สามารถตั้งงบประมาณฯได้ ตามมาตรา ๑๒๒ แห่ง พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๑

(๒) หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท ๐๘๐๘.๒/๑๐๗๓๐ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑ เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติการตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการรังวัดแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ (ตอบหารือจังหวัดพัทลุง) [**]

[**] สรุปว่า ไม่สามารถอุดหนุนอำเภอเพื่อสนับสนุนการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เพราะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมการปกครอง เป็นอำนาจที่ซ้ำซ้อน จะต้องได้รับการถ่ายโอนตามมาตรา ๓๐(๑)(ก) และกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบตามมาตรา ๓๐(๒) แห่ง พรบ.กำหนดแผนฯ พ.ศ.๒๕๔๒เสียก่อน

(๓) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๖ [***] ได้กำหนดให้ “อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่...”

(ระเบียบฯ ประกาศใน รจ. เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๙๕ ง วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓)

[***] ข้อ ๖ อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

ในกรณีมีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามสิบวัน นับแต่รู้เหตุแห่งข้อพิพาทหรือคดีนั้น เว้นแต่คดีจะขาดอายุความให้ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยทันที

หากมิได้มีการดำเนินการตามวรรคสอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเหตุผลและความจำเป็นให้นายอำเภอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ครบกำหนด และให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการหรือนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการก็ได้

การดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือการดำเนินคดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือนายอำเภอได้ดำเนินการไปก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือนายอำเภอดำเนินการต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

ความในวรรคสอง ไม่เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอที่จะดำเนินการฝ่ายเดียว

ข้อสังเกต

(๑) หนังสือสั่งการกรณีพัทลุง ตอบหารือในกรณีของ อบต. น่าจะใช้ไม่ได้แล้ว ปัจจุบันต้องยึดถือตามระเบียบ มท.ฯ ข้อ ๖ เพราะนส. ตอบหารือพัทลุงเป็นกรณีการอุดหนุนเป็นค่ารังวัดที่สาธารณะ แต่หากเป็นกรณีที่ อบต. ตั้งจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายรังวัดฯ เพื่อ อบต.ดำเนินการเอง สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบ มท.ใหม่ข้อ ๖ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวอ้าง พรบ. กระจายอำนาจว่ายังไม่ถ่ายโอนให้ อบต. ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนได้ แต่กรณีที่ถามไม่ใช่เงินอุดหนุน เป็นกรณีที่อปท. ตั้งจ่ายเองได้ตามข้อ ๖ และข้อ ๑๓ แห่งระเบียบใหม่ มท. เพราะหน้าที่ของ อปท. มีหน้าที่ดูแล รวมถึงปกป้องคุ้มครองร่วมกับนายอำเภอ แต่ไม่มีอำนาจให้ใครมาใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ

(๒) พิจารณาตามแนวทางตอบข้อหารือจังหวัดจันทบุรี ที่ มท ๐๘๐๔.๔/ว ๑๑๖๑ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ ได้ตอบหารือว่า เทศบาลสามารถตั้งจ่ายเป็นค่ารังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์ได้ เพราะเทศบาลมีอำนาจหน้าที่เพื่อดูแลรักษาที่สาธารณะ

(๓) พิจารณาตาม พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ที่แก้ไขใหม่ (ใช้บังคับ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)

มาตรา ๑๒๒ บัญญัติว่า “นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ

นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตามวรรคหนึ่ง นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันดำเนินการหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติด้วยก็ได้

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสามให้จ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด”

(มาตรา ๑๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๕๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๒๗ ก/หน้า ๙๖/๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)

(๔) สรุป ปัจจุบัน นับตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา อปท. ต้องยึดถืออำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณฯ ตาม ข้อ ๖ และข้อ ๑๓ แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณฯ และ ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินเกี่ยวกับการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณฯ ให้จ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ตาม มาตรา ๑๒๒ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสามให้จ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด”

อ้างอิง

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ

http://www.gotoknow.org/posts/512187

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๒)

http://www.gotoknow.org/posts/520799

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๓)

http://www.gotoknow.org/posts/531120

การคุ้มครองดูแลที่ดินอันเป็นที่สาธารณะ - วิทยาลัยการปกครอง

iad.dopa.go.th/subject/land2.doc

ดูเรื่องเสร็จที่ ๓๗๓/๒๕๕๑ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจของเทศบาลในการตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่สาธารณะ

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/095/3.PDF

หมวด ๖ ค่าใช้จ่าย

ข้อ ๑๓ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การดำเนินคดีกรณีมีข้อพิพาท การรังวัดทำแผนที่ การจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 571756เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2014 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2015 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท