อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๒)


อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๒)

จากการที่อปท.มีอำนาจเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะประการใด จึงก่อให้เกิด "หน้าที่"ตามมา

จากอำนาจหน้าที่ที่มีของอปท. หากมีการใช้อำนาจ หรือละเลย ก็จะเกิดคดีพิพาททางปกครองได้

แยกพิจารณาได้2 กรณี

(1)อำนาจในการคุ้มครองป้องกัน และ

(2) อำนาจในการดูแลรักษา

ตามมาตรา 122 แห่ง พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 (แก้ไขฉบับที่ 11 พ.ศ.2551) “นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ..."


ตามระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553 ข้อ 6 อำนาจหน้าที่ "ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ 5"


จากฐานอำนาจดังกล่าวเห็นว่า อปท.ควรมีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับการคุ้มครองป้องกันและดูแลรักษาที่ดินของรัฐแยกได้ 3 เรื่อง ดังนี้


1. เรื่องการระวังชี้และรับรองแนวเขต

(1.1) อำนาจในการระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดิน ดังนั้น ในกรณีที่ต้องลงนามรับรองแนวเขตที่ดินในเขตอปท. (ประเภทที่รกร้างว่างเปล่าและประเภทที่สาธารณประโยชน์)นายอำเภอท้องที่ต้องลงนามร่วมกับ นายก อปท. เช่น ในเขตเทศบาลคือ นายกเทศมนตรี ในเขต อบต. คือ นายก อบต. ฯ

(1.2) หน้าที่ในการระวังชี้และรับรองแนวเขต (ตามระเบียบฯ กรมที่ดิน นายกอปท.ต้องลงนามร่วมกับนายอำเภอในการรับรองระวังแนวเขตที่ดินเอกสารสิทธิ์ที่ติดที่ดินสาธารณะ)

(1.3) หน้าที่ในการจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ จำนวน 4 ชุด ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดร่วมกับนายอำเภอและให้เก็บรักษาไว้ที่อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานที่ดินจังหวัดและกรมที่ดินแห่งละ 1 ชุด ตามข้อ 10 แห่ง แห่งระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(1.4) หน้าที่ให้ข้อเท็จจริงและความเห็นกรณีทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ให้สำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งการให้แก้ไขหรือจำหน่ายรายการทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามข้อ 11 วรรคสาม แห่ง ระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(1.5) หน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินตามข้อ 12 แห่ง ระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(1.6) หน้าที่ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตาม ข้อ 13 แห่ง ระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553 บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเช่น การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงการดำเนินคดีกรณีมีข้อพิพาท การรังวัดทำแผนที่การจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้เบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"


2. เรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน

(2.1) อำนาจดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน (ร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับนายอำเภอ)

หน้าที่เป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามสิบวันนับแต่รู้เหตุแห่งข้อพิพาทหรือคดี ข้อ 6 วรรคสอง แห่งระเบียบ มท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(2.2) หน้าที่ในการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน (รวมถึงเรื่องการบุกรุกด้วย), เป็นโจทก์ร่วมกับนายอำเภอในการฟ้องร้องคดี


3. เรื่องการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์

(3.1) อำนาจในการให้ความเห็นเพื่อใช้ประกอบการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินของรัฐ กรณีเอกชนขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามมาตรา 9 หรือมาตรา 12 แห่ง ป.ที่ดิน

(3.2) อำนาจขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ในทางราชการ เช่น ใช้เพื่อก่อสร้างสำนักงาน ในฐานะ “ทบวงการเมือง"ตาม มาตรา 8 ทวิ แห่ง ป.ที่ดินประกอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการ

(3.3) อำนาจขอเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจากการใช้เพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามข้อ 9แห่งระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553


ข้อสังเกตการใช้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์

"อำนาจ" ของ อปท. เกี่ยวกับที่ดินสาธารณะนั้น จะโยงไปถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทางปกครอง(กฎ, คำสั่ง, การทำอื่นใด, สัญญาทางปกครอง) ตาม มาตรา 9 แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542ตามหลักกฎหมายปกครองที่ว่า "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ"ฉะนั้นการที่ทราบว่า อปท.มีอำนาจเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะอย่างไร จึงเป็นสิ่งจำเป็น

นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันข้อ 7 แห่งระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

อปท.จะให้เช่าที่สาธารณประโยชน์โดยนำรายได้เข้าท้องถิ่นสามารถทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐพ.ศ. 2547 ซึ่งต้องมีการจัดทำประชาคมและจัดทำโครงการประชุมชี้แจงราษฎรในพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการที่สาธารณประโยชน์ของกรมที่ดิน

ฉะนั้นกรณีที่ อปท. นำที่ดินของรัฐไปอนุญาตให้เอกชนผู้หนึ่งผู้ใดใช้ประโยชน์จึงเป็นการไม่ถูกต้องหากเกิดความเสียหายต่อผู้ขอใช้หรือต่อที่ดินของรัฐ อปท.จะต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว และจะต้องรับผิดชอบทางวินัย และทางละเมิดหรืออาจจะต้องรับผิดในทางอาญาด้วย


ประเด็นทางสาธารณะ,ทางหลวง

"การได้มาซึ่งที่ดินนั้นเป็นการได้มาเพื่อสร้างทางหลวงตามข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 จึงอยู่ในความปกครองดูแลและคุ้มครองป้องกันของเทศบาลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ต้องถือว่าข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ฯได้ให้อำนาจหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างหรือขยายทางหลวงดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินนั้น"

(คำพิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ 42/2545ระหว่าง นางสุทิน บุพโก ผู้ฟ้องคดี กับ เทศบาลนครหาดใหญ่ ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องเทศบาลนครหาดใหญ่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติคดีเกี่ยวกับที่สาธารณะ) (ดูอ้างอิง [1])

***** หมายเหตุ สรุปประเภทที่ดินของรัฐได้ 2 ประเภท คือ

1. ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา กับ

2. ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

หากทรัพย์ของแผ่นดิน ใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ก็จะกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฉะนั้น ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ (ดูอ้างอิง [2])

หมายเหตุ ระเบียบ มท. มีหลายฉบับ ที่เกี่ยวกับที่ทางสาธารณะ ซึ่งยังไม่ยกเลิก ได้แก่

[1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550,

[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547,

[3] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2547,

[4] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. 2543,

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2541,
(หมายเหตุ ลำดับที่ 5 ถูกยกเลิกโดย“ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550”)

[6] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2539,

ฯลฯ

อ้างอิง


[1] อนุชา ฮุนสวัสดิกุล. “คดีปกครองที่สำคัญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น". สถาบันพระปกเกล้า,สิงหาคม 2547. (คดีปกครองเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 ประเภท), 

http://www.kpi.ac.th/คดีปกครอง...

[2] ลักคณา พบร่มเย็น, "ประเภทของที่ดินของรัฐ", คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บันทึก GotoKnow 24 ธันวาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/231729

[3] กรมการปกครอง, "ขอบเขตหัวข้อการดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน", http://iad.dopa.go.th/subject/land2.doc


[4] ดูเพิ่มเติมใน "มาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์", รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายวสันต์ วรรณวโรทร) ประธานคณะทำงาน ตาม คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 119/2549 ลงวันที่ 12 เมษายน 2549 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างมาตรฐานการบริหาร/การบริการสาธารณะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/work/e_book/eb1/std210550/27/27.htm

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2539, http://dl.parliament.go.th/han...

& http://drmlib.parliament.go.th...

[6] แนวทาง วิธีการ และมาตรการในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัด (กบร.จังหวัด), http://pab.dopa.go.th/main/law/land_threat.pdf

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัด (กบร.จังหวัด), คำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ 1/2553. ลงวันที่ 19 มกราคม 2553


[7] คู่มือดูแลรักษาที่ดินสาธารณฯ #คู่มือการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดย ส่วนคุ้มครองที่ดินของรัฐ สำนักจัดการที่ดินของรัฐ (สจร.) กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยกันยายน 2550
"ที่ดินของรัฐ" มีหลายประเภท ได้แก่ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สงวนหวงห้ามของรัฐ ทุกประเภท ที่สาธารณะ ที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ และที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท ...
ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน และที่ดินที่ใช้เพื่อ ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่มีไว้เพื่อบริการสาธารณะ เพื่อใช้ ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน และจัดไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304, 
https://www.dol.go.th/phangnga... 


[8] การขออนุญาตใช้ที่ราชพัสดุ, http://www3.rid.go.th/fad/fad_rev/rule/Q1.doc 




ความเห็น (59)

การให้พลเมืองเช่าที่สาธารณะประโยชน์ เพื่อการประกอบอาชีพค่าเช่า2.000บาท/เดือนและจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า1ปี อปท.กระทำได้หรือไม่

ได้ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2547 แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้...

นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย

ว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ

พ.ศ. ๒๕๔๗

ข้อ ๓ ในระเบียบนี้

“ที่ดินของรัฐ” หมายถึง ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว และมีผู้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์

“ผู้รับอนุญาต” หมายถึง ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามระเบียบนี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายถึง พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการพิจารณาเพื่ออนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ

ข้อ ๘ เมื่อศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนอำเภอ/กิ่งอำเภอ (ศตจ.อ./กิ่ง อ.) มีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐต่อไป ให้ยื่นความประสงค์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดโดยยื่นพร้อมแผนงาน โครงการ และแผนผังการแบ่งแปลง พร้อมรายชื่อของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก

ข้อ ๙ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้รับเรื่องตามข้อ ๘ แล้ว ให้ดำเนินการสรุปเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดเสนอคณะกรรมการเพื่อประชุมพิจารณาการอนุญาตภายในสิบห้าวัน เมื่อคณะกรรมการมีมติอนุญาตแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเสนอเรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการออกใบอนุญาตภายในเจ็ดวัน

ที่ดินของรัฐ(ที่ดินในเขตสำนักงานเทศบาล) สามารถสร้างบ้านได้หรือไม่

ดู พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔

มาตรา ๔

บ้าน” หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย

พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

อาคาร” หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงานและสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึง

(๑) อัฒจันทร์หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน

(๒) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอดเรือ รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะหรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย

(๓) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

(ก) ที่ติดหรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะและมีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกินสิบกิโลกรัม

(ข) ที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว ระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดหรือมีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๔) พื้นที่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถสำหรับอาคารที่กำหนดตามมาตรา ๘ (๙)

(๕) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของอาคารด้วย

ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕

ข้อ ๒๐ บ้านที่ปลูกสร้างในที่สาธารณะ หรือโดยบุกรุกป่าสงวน หรือโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาหรือตามกฎหมายอื่น ให้ถือเป็นบ้านที่จะต้องกำหนดบ้านเลขที่ให้ตามระเบียบนี้ โดยในการจัดทำทะเบียนบ้านให้ระบุคำว่า “ทะเบียนบ้านชั่วคราว” ในแบบพิมพ์ทะเบียนบ้าน เมื่อได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วให้ขีดฆ่าคำว่า “ทะเบียนบ้านชั่วคราว” ออกไป

+++++++++++++++++++

สรุปคร่าว ๆ 

(๑) การขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร (แบบ อ.๑) ตามม.๒๑ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ คือ ผู้ขออนุญาตต้องมีสำเนาโฉนดที่ดิน น.ส. 3 ก หรือ ส.ค. 1 และหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน หรือสัญญาเช่า

(๒) การปลูกสร้างอาคารในที่ดินของรัฐทุกประเภท (ที่ดินสาธารณะ ที่ราชพัสดุ ที่ของส่วนราชการ ที่ป่าไม้ ฯลฯ) อาจเข้าข่ายบุกรุก หรือ เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารฯได้

(๓) การปลูกสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้การออก "เลขหมายประจำบ้าน" (หรือการออกเลขที่บ้าน หรือการออกทะเบียนบ้าน) ตามปกติไม่ได้  นายทะเบียนฯ ออกได้เพียง "ทะเบียนบ้านชั่วคราว" ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ ๒๐

การให้พลเมืองเปิดทางเข้าที่อยู่อาศัยซึ่งต้องผ่านบนที่ดินสาธารณะประโยชน์รวมกัน ทำได้หรือไม่ครับ

เช่น ทางกลับรถในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ท้ายซอยทางหมู่ได้เว้นพื้นที่ 4x8 เมตร เพื่อไว้กลับรถ แต่บ้านที่อยู่ติดทางกลับรถจะเปิดกำแพงตรงทางกลับรถเป็นทางเข้าบ้าน โดยเจตนาแล้วเหมือนจะครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์รวมกันมาเป็นของตนเองโดยมิชอบมาเป็นสิทธิของตน โดยที่ดินตรงไม่มีในโฉนดที่ดิน เพราะท้ายซอยถือเป็นทางสาธารณะประโยชน์รวมกันโดยไว้กลับรถกันในซอยและจอดรถได้ เข้าจะได้ไม่ครับ 

ขอบคุณครับ

การให้พลเมืองเปิดทางเข้าที่อยู่อาศัยซึ่งต้องผ่านบนที่ดินสาธารณะประโยชน์รวมกัน ทำได้หรือไม่ครับ

เช่น ทางกลับรถในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ท้ายซอยทางหมู่ได้เว้นพื้นที่ 4x8 เมตร เพื่อไว้กลับรถ แต่บ้านที่อยู่ติดทางกลับรถจะเปิดกำแพงตรงทางกลับรถเป็นทางเข้าบ้าน โดยเจตนาแล้วเหมือนจะครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์รวมกันมาเป็นของตนเองโดยมิชอบมาเป็นสิทธิของตน โดยที่ดินตรงไม่มีในโฉนดที่ดิน เพราะท้ายซอยถือเป็นทางสาธารณะประโยชน์รวมกันโดยไว้กลับรถกันในซอยและจอดรถได้ ทำคนในซอยเดือดร้อยเลยครับ เข้าจะได้ไม่ครับ

ขอบคุณครับ

ที่ดินเป็นป่าสงวน เจ้าของที่ดินด้านหน้าปิดทางไม่ให้เจ้าของที่ดินด้านหลังผ่านเข้าออก ทั้งๆที่เจ้าของที่ดินด้านหลังผ่านเข้าออกมาเป็น 15 ปีแล้ว  มีข้อพิพาทเกิดขึ้น มีการตั้งกรรมการเพื่อไกล่เกลี่ย อำเภอได้สั่งการมาว่าให้ อบต. พิจารณาว่าสามารถทำเป็นทางสาธารณะได้หรือไม่  ไม่ทราบว่าอยูู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบต.หรือเปล่าค่ะ เเล้วสามารถดำเนินการอย่างไรในการระงับข้อพิพาทนี้ได้ หน่วยงานใหนมีอำนาจสั่งการ  ใช้วิธีไกล่เกลี่ยแล้วไม่ได้ผล วิธีการฟ้องศาลเป็นทางออกสุดท้ายค่ะ เพราะชาวบ้านกลัวโดนยึดคืน

กรณีนำต้นไม้ไปวางในทางสาธารณะ ซึ่งทางสาธารณะนั้นไม่ได้มีการใช้แล้วไม่มีผู้สัญจรไปมา แต่มีหญ้าขึ้นรก ซึ่งทางนั้นเป็นทางติดกับเขตบ้าน ไม่มีการใช้ประโยชน์ในทางนั้นแล้ว เราสามารถนำกระถางต้นไม้ไปวางได้หรือไม่


ตอบคุณชัย

ที่สาธารณประโยชน์ตรายใดที่ไม่มีการเพิกถอน ก็ยังคงมีสภาพเป็นที่สาธารณประโยชน์ ใครจะเข้าไปยึดครองถือครองไม่ได้ มีความผิดฐานบุกรุกได้ แต่ในคดีอาญาเขาให้ดูที่เจตนาประกอบด้วย

ชาวบ้านขอให้ทางเทศบาลตำบล ออกค่าใช้จ่ายในการรังวัดแนวเขตที่ดิน สาธาณะประโยชน์ บริเวณป่าสุสาน เพื่อต้องการทราบแนวเขตที่แน่นอน ...ขอสอบถามว่าเป็นหน้าที่ของทางเทศบาลที่ต้องดำเนินการให้หรือไม่ และมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรครับ ?

อยากทราบว่ามาอยู่ในที่ที่รกร้าง แล้วอยู่มาก็มีป้ายติดเป็นที่สาธารณะอยู่มา28-29ปีตอนนี้ยังไม่มีเอกสารสิทธิต้องการออกเอกสารสิทธิต้องทำยังไงบ้างคะ


ตอบคุณกิตติ ... เป็นหน้าที่ของ อปท. ตามระเบียบ มท. โดยสามารถตั้งงบประมาณไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ โดยให้ สมาชิกสภา อปท. (ส.อบต. หรือ ส.ท.) ขอตั้งงบประมาณได้... โดยให้ประชาคมชุมชนหมู่บ้านขอบรรจุโครงการรังวัดแนวเขตที่ดินสาธารณะ ไว้ในแผนพัฒนาสามปีของ อปท. ด้วย.


ตอบคุณเบียร์ ... ที่รกร้างว่างเปล่า อาจเป็นที่สาธารณะประโยชน์ก็ได้ แต่ที่รกร้างว่างเปล่าที่อยู่นอกเขตป่า และไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ หากมีการครอบครองที่ดินโดยเอกชนมาตลอด โดยไม่มีหลักฐานที่ดินใด ๆ (ต้องมีข้อแม้ว่ามิใช่ที่ดินสาธารณะประโยชน์นะ) ... อาจขอออก ใบจอง (นส.2) ได้ หรือเมื่อมีการสำรวจที่ิดินแปลงเล็กแปลงน้อย (ต่ำกว่า 1000 ไร่) เพื่อออกโฉนดที่ดิน (นส.4) หรือ การสำรวจที่ิดินเพื่อออกโฉนดที่ดินทั้้งตำบล ก็สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ... (เป็นโฉนดตราแดง ที่ห้ามโอนภายใน 10ปี)... รายละเอียดมีเยอะ อันนี้คร่าว ๆ...


สวัสดีค่ะ พวกหนูเป็นแม้ค้า ขายของอยู่บริเวรระหว่างชุมชน2ชุมชนขนานกันมีถนนตัดตรงกลาง พื้นที่บริเวรนี้ใช้ค้าขายกันมานาน(30กว่าปี)พื้นที่ที่พวกหนูใช้ค้าขายกันนี้แต่ก่อนเป็นนิติฯค่ะแล้วทางหมู่บ้านไปยกให้เทศบาล(ตอนไหนก็ไม่รู้) ซึ่งแบ่งกันคนละฝั่งระหว่าง2เทศบาล และเมื่อประมาณกลางปี58เทศบาลทั้ง2แห่งได้เข้ามาจัดระเบียบพื้นที่โดยการเรียกประชุมแม่ค้าทั้งหมด ให้ออกไปค้าขายจากพื้นที่เดิม ไปเช่าเอกชน แม่พวกแม่ค้าไม่ยอม มติในที่ประชุมคือ เทศบาลตัดสินให้ว่าให้ขายไปถึงสิ้นปี58โดยไม่ฟังพวกแม่ค้าเลย มาถึงเวลา ณ ตอนนี้พวกเราได้เข้าประชุมกับเทศบาลทั้ง2แห่งมาหลายครั้งมากแล้ว เสนอขอพื้นที่เป็นจุดผ่อนผันก็แล้ว ทางเทศบาลก็ไม่ให้ พวกหนูเลยไปยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม เเต่ก็ไม่เป็นผล เทศบาลอ้างแต่กฎหมาย บอกเป็นทางสาธารณะ ผลักดันพวกแม่ค้าขึ้นเช่ากับเอกชน อยากทราบว่าพวกหนูอยากค้าขายกันที่เดิม ต้องทำยังไงคะ มีกฎหมายอะไรที่ช่วยหรือคุ้มครองให้พวกแม่ค้าพ่อค้าอย่างพวกเราบ้างไม๊ค่ะ ที่ที่ทางเทศบาลจัดม้ไปขึ้นเช่ากับเอกชนอยู่ในซอยเปลี่ยว (พวกเราอยู่ในเขคปริมณฑณ ไม่ได้ติดกับถนนหลักค่ะ ค้าขายกันอยู่หน้าชุมชนหมู่บ้าน)ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ หนูเป็นแม่ค้าอายุน้อย ครอบครัวที่บ้านลำบากไม่มีส่งหนูเรียนสูงๆ จึงอยากจอความเมตตาผู้มีความรู้ช่วยพวกหนูด้วยนะคะ เป็นแม่ค้าก็ลำบากแล้วค่ะ ยังจะมาโดนไล่ที่อีก

ตอบคุณหยก... ที่ดินที่ขายขออง คงเปนที่สาธารณะ หรือ ที่ดินในเขตทาง ที่กรมทางหลวงดูแล... การจะขายของต่อได้ ต้องทำเป็น "จุดผ่อนผัน" ให้ขายของ... เทศบาลเขาไม่ให้ขาย ก็อาจยากที่จะขายได้... เพราะเป็นที่สาธารณะ หรือไม่ก็ที่ราชพัสดุ (ที่เขตทางฯ) ... หน่วยงานที่ดูแลเขาไม่อนุญาตก็ยาก...

กรณี จะขอเข่าหนองน้ำของหมู่บ้าน ทำธุรกิจเครื่องเล่นทางน้ำ ซึ่งจะต้องมีโครงสร้างเป็นเสาต่อสริงเพื่อลากจูงเครื่องเล่น และมีสิ่งปลูกสร้างเป็นร้านอาหาร ออฟิต ห้องรับรอง ห้องน้ำ ในบริเวณรอบๆหนองน้ำ เนื้อที่ 68 ไร่ จะต้องขออนุญาติติดตั้งก่อสร้างจากหน่วยงานไหน ขั้นตอนต้องเป็นอย่างไร

เทศบาลต้องการใช้ที่สาธารณประโยชน์เพื่อทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ มีขั้นตอนอย่างไรครับ


ตอบ คุณ เสกสิทธิ์ ไชยพร

... ต้องดูว่า ที่สาธารณประโยชน์ เป็นประเภทใด เช่น เป็น ป่าช้า หรือ ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ก็ขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ...

ตอบคุณ Kunrun

ปกติ การเช่าที่ดินสาธารณะของเอกชน มีได้ตามระเบียบเฉพาะ เพื่อคนยากจน ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ทำกิน...

ที่ดินสารธาณะที่ไม่มีการใช้ประโยชเจ้าของสามารถเรียกคืนได้ไหม

ขออนุญาตสอบถามครับ กองทุนหมู่บ้าน จะขอใช้ที่สาธารณะในหมู่บ้าน ก่อสร้างร้านค้าชุมชน (โครงสร้างถาวร) ได้หรือไม่ อย่างไร กองทุนหมู่บ้านไม่ใช่ทบวงการเมือง มีระเบียบข้อไหน ให้ทำได้ หรืไม่ได้ครับ

[email protected]

อยากทราบ และอยากได้แบบ การสร้างหลักเขตที่สาธารณประโยชน์คะ ที่เป็นรูปตัวที T คะ กว้าง x ยาว x สูง หรือมีแบบไหมคะ

อยากทราบว่า กรณีมีโรงงานมาตั้งในเขตพื้นที่และมาขอนุญาตใช้น้ำในลำน้ำอูนที่อยู่ในเขตพื้นที่ อปท.มีหน้าที่อนุญาตหรือป่าวค่ะ อ้างระเบียบไหนคะ ขอบคุณค่ะ


ตอบคุณ ปิยะรัตน์ การใช้ประโยชน์น้ำจากแม่น้ำ เป็นอำนาจของ "กรมเจ้าท่า" หรือเดิมชื่อ "กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี" เป็นผู้ดูแลอยู่

คุณ Dol ... ลองไปดูใน T.meesuprungruangpaisarn, 18 พฤษภาคม 2015, https://www.facebook.com/t.meesuprungruangpaisarn/...

ตอบคุณ ERA

กองทุนหมู่บ้าน จะขอใช้ที่สาธารณะในหมู่บ้าน ก่อสร้างร้านค้าชุมชน (โครงสร้างถาวร)

ข้อแนะนำเบื้องต้น... (๑) ให้ตรวจสอบว่าที่ดินสาธารณะแปลงดังกล่าวมีทะเบียนที่ดินหรือหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล. หรือ สธ.) หรือไม่ และเรื่อง "การใช้ประโยชน์" ของราษฎร ว่าราษฎรใช้ประโยชน์อะไรอยู่ หรือ เลิกใช้ประโยชน์เดิม เช่น เลิกใช้ป่าช้าแล้ว หรือ เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ยังไม่ยกเลิกใช้ประโยชน์ หรือ เป็นหนองน้ำ สระน้ำที่ตื้นเขิน ฯลฯ เป็นต้น

(๒) เนื่องจากระเบียบ กฎหมาย ว่าด้วยที่ดินสาธารณะ มีหลายฉบับ ให้ไปดู

(๒.๑) มาตรา ๙ ป.ที่ดิน

(๒.๒) ระเบียบมท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓
(๒.๓) ให้ทบวงการเมืองต้นสังกัดทำหนังสือขอถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม ระเบียบมท. ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๐

(๒.๔) ระเบียบ มท.ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๓

(๒.๕) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ (เป็นระเบียบหลักที่ อปท. ใช้)


สิริทรรศน์ ปัญญาสุรจิต

การที่เทศบาลจะเจาะบาดาลสำหรับประชาชนใช่ร่วมกัน(งานในเทศบัญญัติโดยโครงการผ่านการทำประชาคมจากประชาชนในพื้นที่แล้ว)ในพื้นที่สาธารณะประจำหมู่บ้านที่พลเมืองใช่ร่วมกัน(นสล.) จะต้องขออนุญาตการใช่พื้นที่อีกหรือไม่ ขอบคุณครับ

ตอบคุณ สิริทรรศน์ ปัญญาสุรจิต

ต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ ... ดู ข้อ 6, 7 แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553

...

ข้อ 6 วรรคแรก "อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ 5 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่"

ข้อ 7 "นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด"

ขออนุญาตสอบถามคะ เรื่องการใช้ที่พื้นที่สาธารณะในหมู่บ้าน บริเวณที่มีปัญหาคือในซอยที่ใช้ร่วมกันมาประมาณ ๕๐ ปี โดยมีพื้นที่ติดกันมีทางสาธารณะคั่นกลางมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และการใช้งานสามารถนำรถยนต์เข้าออกได้ในซอยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่เมื่อในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เจ้าของพื้นที่อีกฝั่งตรงข้ามนำเสาปูนมาปักหลักจองเขตแดนในซอยซึ่งได้กินพื้นที่ถนนในซอยทำให้มีความแคบลงมากและปักหลักโดยไม่ได้วัดอย่างชัดเจน อ้างกรรมสิทธิ์ว่าที่ของตนอยู่ตรงกลางซอยพอดี ทำให้บ้านดิฉันซึ่งอยู่ท้ายซอยเกิดความเดือนร้อนในการนำรถเข้าออกตามปกติวิสัยที่มันเคยเป็น อย่างนี้เราจะต้องทำอย่างไรบ้างคะ เพราะเจราจาเบื้องต้นไม่ได้ผล เพราะฝั่งตรงข้ามเขาไม่ยอมอย่างเดียวคะ รบกวนให้คำชี้แนะด้วยนะคะ

ตอบคุณ พนิดา

ตามที่บอก มีประเด็นข้อเท็จจริงว่า (1) ที่ทางสาธารณะ มีมานาน 50 ปีแล้ว แต่อยู่ติดเขตที่เอกชนทั้งสองฝั่ง (2) ที่ดินเอกชนอีกฝั่ง (น่าจะเป็นเอกสารสิทธิ์) อ้างว่าเขตที่ดินของตนอยู่กลางซอย จึงเอาหลักมาปัก ทำให้ซอยที่ทางสาธารณะแคบลง โดยไม่มีการวัด

ควรแจ้งให้ที่ดินจังหวัด อปท. และ นายอำเภอ ตรวจสอบแนวเขตที่ดิน โดยการ "รังวัดสอบเขตที่ดิน" (มีการเสียค่าธรรมเนียมด้วย) เฉพาะ "ที่ทางสาธารณประโยชน์" (ซอย) ... มีข้อสังเกตว่า ซอยนี้ ชาวบ้านใช้มาถึง 10 ปีหรือยัง (หมายถึง นำรถเข้าออกได้ ตามแนวเขตซอยเดิมก่อนที่เอกชนจะมาปักหลักเขต) หากถึง 10 ปีอาจเป็นทางภาระจำยอม แต่ต้องร้องให้ศาลสั่ง


อยากทราบว่า ที่ดินหลวง สามารถสร้างบ้านอยู่อาศัย หรือ ก้อสร้างที่ประกอบกิจการส่วนตัวได้ด้วยหรือครับ

#ต้องร้องเรียนที่ไหน

ตอบคุณ นที ...

... ที่ดินหลวง หรือ "ดินของรัฐ" มีหลายประเภท ต้องดูว่าเป็นที่ดินประเภทใด เช่น หากเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ หรือที่เรียกว่า "ที่ดินสาธารณะ" (ให้ดูหนังสือสำคัญว่า มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง - นสล. หรือไม่ หากไม่มีหนังสือสำคัญฯ ใด ให้ดูว่ามีการขึ้นทะเบียนฯ ไว้หรือไม่) ซึ่งที่ดินสาธารณะ จะไม่สามารถสร้างบ้านอยู่อาศัย หรือ ก่อสร้างที่ประกอบกิจการส่วนตัวได้เลย ..... ดู ข้อ 7 แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553.....

"นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด"

สำหรับช่องทางในการร้องเรียน ก็มีหลายช่องทาง ได้แก่ "ศูนย์ดำรงธรรม" (อำเภอ จังหวัด กระทรวงมหาดไทย) สายด่วน โทร 1567

หรือ สายด่วนรัฐบาล "ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล" สายด่วน โทร 1111

ขั้นตอนในการขอใช้ที่ดิน นสล. ดำเนินการอย่างไรบ้าง ครับ

หน่วยงานใดสามารถขอใช้ได้

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ หรือ

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด

ซึ่ง เป็นงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด โดยกองทุนหมู่บ้านเป็นผู้ทำโครงการร้านค้าประชารัฐชุมชนเสนอ และในตอนนี้ได้ก่อสร้างร้านค้าประชารัฐชุมชนเสร็จแล้ว

ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (ไม่มี นสล.) แต่ได้มีการนำขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไว้ และได้มีการขายพันธ์ุไม้ของชาวบ้านในที่ดินดังกล่าว อปท.จะเอาหลักฐานได้เพื่อแจ้งให้ผู้ที่ขายพันธุ์ไม้ออกจากที่ดินดังกล่าวได้ (ในกรณีที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน อปท.จะเอาหลักฐานใดไปแจ้งความ)

ตอบคุณ ณัฐวุฒิ...

(1) ขั้นตอนในการขอใช้ที่ดิน นสล. หน่วยงานใดสามารถขอใช้ได้

... ผู้ขอต้องเป็นส่วนราชการ ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค) หรือ ทบวงการเมือง (ราชการส่วนท้องถิ่น) ... แต่ในกรณีนี้ เป็นโครงการที่เสนอโดย "กองทุนหมู่บ้าน" หากเป็นนิติบุคคล ผู้ขอก็คือ ประธานกองทุนหมู่บ้าน ดู ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

(2) ที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (ไม่มี นสล.) แต่ได้มีการนำขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไว้แล้ว

... หลักฐานทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ก็คือ ทะเบียนที่ดินสาธารณะที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ... เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ประจำตำบลหมู่บ้าน... เป็นต้น ในระวางที่ดินของกรมที่ดิน และ ในระวางแผนที่ภาษี ของ อปท. น่าจะมีระบุไว้ในแผนที่ ขอตรวจสอบดูได้


ที่ดินเป็น นสล.ทางอำเภอและชาวบ้านใช้เป็นที่จัดตั้งเป็นศาลหลักเมืองของอำเภอ อยู่ดีๆ มาสมัยหนึ่งทางผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาล ร่วมกันไปจัดทำมูลนิธิขึ้นมา ใช้เป็นสถานที่เป็นของพวกตนหาผลประโยชน์ เช่นนี้ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนได้เลยมั้ยครับท่าน อ้างระเบียบใดบ้างครับ.?

ลองตอบคุณ สมเกียรติ ...

มีประเด็นว่า (1) เป็นที่ดิน นสล. มีเอกสาร (2) เดิม ใช้เป็นที่ตั้งของ "ศาลหลักเมืองของอำเภอ" (3) ผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาล ร่วมกันไปจัดทำมูลนิธิขึ้นมา ใช้เป็นสถานที่เป็นของพวกตนหาผลประโยชน์ (4) จะฟ้องศาลเพิกถอนการใช้ประโยชน์ของ "มูลนิธิ" ได้หรือไม่ และ จะต้องไปฟ้องศาลใด ระหว่าง ศาลยุติธรรม กับศาลปกครอง ... เพียงประเด็นเท่านั้น ก็ปวดหัวพอดู..


แนวคำตอบ...

คงตอบให้ควาามเห็นแบบรวม ๆ ว่า

(1) "นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด"

อ้างตาม ข้อ 7 แห่ง ระเบียบ มท. ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 ประกอบ พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 มาตรา 123 ...

มาตรา 122 ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ คือ ที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่จัดไว้สำหรับราษฎร ไปรวมเลี้ยงด้วยกัน เป็นต้น ตลอดจนถนนหนทางและที่อย่างอื่นซึ่งเป็นของกลางให้ราษฎรใช้ได้ ด้วยกัน เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณา ประโยชน์แต่เฉพาะตัว

มาตรา 123 ที่วัด หรือกุศลสถานอย่างอื่นซึ่งเป็นของกลางสำหรับมหาชน ก็ให้อยู่ ในหน้าที่กรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตราอุดหนุนผู้ปกปักรักษาอย่า ให้ผู้ใดรุกล้ำเบียดเบียน ที่อันนั้น

(2) หน่วยงานที่ใช้ที่สาธารณะดังกล่าวอยู่ (ในที่นี้คือ มูลนิธิฯ) ได้มีการขอใช้ที่สาธารณประโยชน์ (นสล.) เพื่อ "ประโยชน์สาธารณะ" (Public Interest) ดังกล่าวถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย หรือไม่ อย่างไร (ดูข้อ 1)

... "คณะกรรมการของมูลนิธิ" เป็นผู้แทนของมูลนิธิ ตาม ปพพ. มาตรา 123 บัญญัติว่า "คณะกรรมการของมูลนิธิเป็นผู้แทนของมูลนิธิในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก" เพราะเป็น "นิติบุคคล" ตาม ปพพ. มาตรา 72

"ผู้จัดการมูลนิธิ" เป็นผู้แทนของมูลนิธิ ตาม ปพพ. มาตรา 75 (“ผู้แทน” ตามมาตรา 75 เป็นผู้ที่แสดงความประสงค์ของนิติบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นิติบุคคลจะแสดงความประสงค์ จะใช้สิทธิหรือหน้าที่มิได้ หากไม่มีผู้แทน)

(3) ส่วนการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ (เพื่อประโยชน์ส่วนตน) ของมูลนิธิฯ นั้น ควรอยู่ในการตรวจสอบกำกับดูแลของ "ปมท. และ ผวจ." ในฐานะ "นายทะเบียนมูนิธิ" โดยมีนายอำเภอ ผอ.เขต เป็นผู้ช่วยเหลือ

ในเขตกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นนายทะเบียนมูลนิธิ

ในเขตจังหวัดอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนมูลนิธิ


ดู... กฎกระทรวง ว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิ การดำเนินกิจการและการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. 2545

https://multi.dopa.go.th/omd2/laws/cate3/view5

หน่วยที่ 6 มูลนิธิ

http://law.stou.ac.th/dynfiles/หน่วย6...doc

คำแนะนำการขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเป็นนิติบุคคล

http://stat.bora.dopa.go.th/callcenter1548/monti.h...


ขอสอบถามคะ บริเวณที่ดินทางเข้าหน้าบ้านเรามีรอยต่อติดกับที่ดินของเทศบาลหรือชลประทาน ไม่มั่นใจค่ะ และติดกับถนนที่มีรถวิ่งผ่าน..จะสอบถามว่า ชาวบ้านคนอื่นจะมาขอใช้พื้นสร้างร้านหรืออาคารบังขวางหน้าบ้านเราได้หรือไม่....เค้าอ้างว่าบริเวณนี้เปนที่สาธารณะ เค้าไปติดต่อกับชลประทานมาแล้วโดยจ่ายเงินค่าเช่าจำนวนหลักแสน จะสอบถามว่าเจ้าของบ้านมีสิทธิแจ้งหรือร้องขอใช้พื้นที่หน้าบ้านไว้สำหรับ ตั้งรถเข็ญขายของอะไรได้บ้างหรือไม่ หรือไม่มีสิทธ์ แต่คนอื่นมาใช้พื้นที่หน้าบ้านเราได้ด้วยหรอหรือเพราะเค้าจ่ายค่าเช่า??

อบต.จะทำสัญญาเช่ากับเอกชน โดยอาศัยตามกฎหมายฉบับใด และมีขั้นตอนขอเช่าอย่างไรบ้าง ครับ

ตอบคุณ ชาย... สรุปสั้น ๆ อย่างง่าย 

(1) กรณีที่ดินมีเอกสารกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเป็นของ อบต. (ที่ดินที่ อบต.เเป็นเจ้าของ เช่น ที่ดินมีโฉนด หรือ น.ส. 3) ก็ชอบที่จะให้เช่าได้ โดยดำเนินการตามระเบียบ มท. ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 และ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (ระเบียบใหม่) ดูข้อ 94 ข้อ 95(2)

(2) กรณีเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ให้เช่าได้เฉพาะ "คนจน" ตามระเบียบ มท. ว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้

(3) ที่ดินของรัฐอื่นใดในความดูแลของส่วนราชการใด ก็ขอ (เช่า) กับส่วนราชการนั้น เช่นที่ดินที่ราชพัสดุ ก็ขอต่อกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง, ที่ดินในเขตทางหลวงแผ่นดิน ก็ กรมทางหลวง, ที่ดินในเขตชลประทาน ก็ กรมชลประทาน เป็นต้น 

(4) ที่ดินในเขตป่าไม้ และ เขตป่าสงวนแห่งชาติ อันนี้คงขออนุญาตใด ๆ ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายเฉพาะ แต่กรณีที่เป็นป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์ ก็จะเป็นเขตที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 (เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)

ดู

http://www.local.moi.go.th/law...

http://www.sbpac.go.th/pdf/601...

http://law.longdo.com/law/492/...

ขอสอบถามค่ะ

คุณยายปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ของหลวงมาเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ที่ข้างเคียงจะขายที่เลยเเจ้งเขตให้ไล่คุณยายออกจากที่ดิน  กรณีนี้ถ้าทางเขตไล่คุณยายออกสามารถไล่โดยไม่มีหนังสืออะไรมาบอกมีแต่เจ้าหน้าที่บอกด้วยวาจา และถ้าไม่ออกเจ้าหน้าที่สามารถมารื้อเองได้หรือไม่คะ   และมีสิทธิได้ค่ารื้อถอนหรือไม่คะ เนื่องจากคุณยายเพิ่งเสียลูกสาวไปและยังหาที่อยู่ใหม่ยังไม่ได้ค่ะ 


ขอบคุณค่ะ

ขออนุญาตสอบถามนะครับผม

ระหว่างที่ดินที่มีหนังสือ  นสล.  กับที่สาธารณประโยชน์

ถ้าเทศบาลจะขอใช้  อย่างไหนที่เทศบาลมีอำนาจอิสระในการใช้มากกว่ากัน

และมีขอบเขตอำนาจแค่ไหน  ขอบคุณครับผม

ตอบคุณกุ้ง ตามคำถามว่า (1) คุณยายปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ของหลวงมาเป็นเวลาหลายสิบปี (2) ทางเขตไล่คุณยายออกสามารถไล่โดยไม่มีหนังสืออะไรมาบอกมีแต่เจ้าหน้าที่บอกด้วยวาจา และถ้าไม่ออกเจ้าหน้าที่สามารถมารื้อเองได้หรือไม่ (3) คุณยายมีสิทธิได้ค่ารื้อถอนหรือไม่

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย/วิเคราะห์ เนื่องจากข้อมูลถามไม่ครบ

(1) การอยู่อาศัยในที่หลวง (ไม่ทราบว่าเป็นที่หลวงประเภทใด เพราะมีหลายประเภท หากเป็นที่สาธารประโยชน์ ก็ถือเป็นการบุรุก หากเป็นที่ดินประเภทอื่น เช่น ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินของส่วนราชการต่างๆ ... ก็บุกรุกเช่นกัน แต่เจ้าของอาจผ่อนผันให้อยู่...) โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ หมดเวลาที่ราชการจะให้อยู่ (มีเหตุยกเลิกการผ่อนผันฯ... หรือ มีเหตุอื่นใดที่ส่วนราชการไม่อนุญาต) ถือเป็นการบุกรุก ผิดกฎหมายอาญา หากเป็นที่ดินสาธารณปัจจุบันอยู่ในอำนาจของนายอำเภอ (รวมผอ.เขต) และ อปท. ที่ต้องร่วมกันในการดูแลรักษา ไม่ปล่อยให้ใครมาใช้ประโยชน์ 

(2) เมื่ออยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องออก การแจ้งให้ออก ต้องมีหนังสือแจ้งให้ออก (ไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะคุณยายกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมายอาญา) 

(3) สิทธิในค่ารื้อถอน ในกรณีของคุณยาย "เป็นการบุกรุก" ที่ ฝ่ายปกครองสามารถใช้มาตรการทางปกครอง ดำเนินการได้ คือ แจ้งให้คุณยายรื้อถอน หรือ หากคุณยายไม่ถอนตามกำหนดที่แจ้ง จนท. ก็ใช้มาตรการทางปกครองรื้อถอนได้ หรือ ฝ่ายปกครอง "แจ้งความดำเนินคดีอาญาคุณยายข้อหาบุกรุก"  และ ฝ่ายปกครองอาจเรียกค่ารื้อถอนจากคุณยายได้ เพราะคุณยายกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มิใช่การกระทำทางปกครอง 

... แต่หากการแจ้งให้รื้อถอน "เป็นคำสั่งทางปกครอง" ในหลักความสุจริตใจของคุณยาย อาจขอ "ค่าทดแทนความเสียหาย" ภายใน 180 วัน นับแต่ได้รับแจ้งให้ทราบ (คำสั่งให้รื้อถอน) เทียบดู มาตรา 52 พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (ประเด็นนี้ น่าจะมิใช่คำสั่งทางปกครอง) ...

ตอบคุณ ชายน้อย บ้านนา

เนื่องจาก ที่ดินสาธารณประโยชน์ กรณีมีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีความชัดเจนแน่นอนกว่า "ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ" 

แต่ก็มิใช่ว่าที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจะไม่ต้องขออนุญาตหรือ ดำเนินการใด ๆ ในที่ดินฯ ก็ได้โดยพลการ การดำเนินเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ฯ หรือการขอใช้ประโยชน์ฯ การให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินก็ต้องดำเนินการตามระเบียบกฏหมายเช่นเดียวกัน  เพราะเป็น "ที่ดินสาธารณประโยชน์" เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย 

สรุป มีค่าเท่ากัน อยู่ที่เหตุผลความจำเป็นของ เทศบาล เพราะ การใช้ประโยชน์ หรือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ จะไปเกี่ยวพันกันที่ต้องตราเป็นกฎหมาย "พรฎ.ให้เพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์" เสียก่อน 

อยากสอบถามว่า  ทางสาธารณะที่มีสภาพเป็นคูน้ำรกปกคุมด้วยพืชน้ำหนาแน่นไม่มีการใช้ประโยชน์ในการสัญจร ขนาดประมาณ 15x500 เมตร สามารถถมดินวางท่อ ขนาด 10m x 15mได้หรือไม่่ เพื่อเชื่อมที่เอกชนกับทางสาธารณะ ทำได้หรือไม่ และต้องดำเนินการเช่นไร ( มิได้มีเจตนาครอบครองที่สาธารณะ ทำเพื่อเชื่อมทาง และเพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้เนื่องจากบ้านตั้งอยู่ระหว่าง  คูน้ำขนาด 15 m x 500 m  กับ คลองระบายน้ำขนาด 30 m x 19 km  มีเพียงสะพานไม้ที่สามารถให้รถยนต์ข้ามได้เท่านั้น หากเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ หากถมทางเชื่อมก็สามารถเข้าได้ และยังสามารถช่วยเหลือบ้านเรือนข้างเคียงได้ด้วย )

ตอบคุณ วิณณ์วิชช์ "การถมดินวางท่อฯ" ต้องขออนุญาตผู้ดูแลตามระเบียบ 

ปัญหาว่าเป็น "ทางสาธารณะ" หรือ "ทางน้ำสาธารณะ" (คูน้ำ,คลองสาธารณะ) 

หากเป็น "ทางสาธารณะ" ผู้ดูแลรักษา คือ นายอำเภอ และ นายก อปท. (แห่งพื้นที่)

หากเป็น "ทางน้ำสาธารณะ" ผู้ดูแลรักษา คือ นายอำเภอ หรือ กรมเจ้าท่า (เดิมเรียก "กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี") ในกรณีที่เป็นทางน้ำที่มีน้ำของแม่น้ำใหญ่ หรือ ทางน้ำที่มีน้ำ(ไม่แห้ง) ตลอดปี 

สรุป ไม่ว่ากรณีใด ก็ต้องขอนุญาตก่อน มิเช่นนั้นจะเป็นการบุกรุกที่ดินสาธารณะ

นายนิเวศน์ โพธิพิพิธ

ขอเรียนถามดังนี้ ที่ดินกรรมสิทธิ์ 2 แปลงมีทางสาธารณประโยชน์ผ่านกลางที่ดิน ผมต้องการถมที่ดินเพื่อยกระดับที่ดินทั้ง 2 แปลงให้สูงจากเดิมประมาณ3เมตร ซึ่งจะทำให้ทางสาธารณประโยชน์มีระดับต่ำกว่าที่ดินผม  ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสม ถ้าผมต้องการถมทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้มีระดับเดียวกับที่ดินของผมเลยเพื่อความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้สัญจรไปมา  ผมต้องขออนุญาตหรือขอความยินยอมจากหน่วยงานใดในการถมดินปรับระดับทางสาธารณประโยชน์นี้ครับ

อเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ

1มีที่ดินของเอกชนและมีคลองสาธารณะตัดผ่าน​คลองนี้​ชาวบ้านใช้เป็นคลองระบายน้ำออกจากหมู่บ้าน​และที่หาปลาของชาวบ้านและได้วางท่อไปแล้ว​จะได้หรือไม่​ถ้าไม่

2.ถ้าชาวบ้านต้องการจะขุดท่อและดินที่ถมให้กลับมาเป็นคลองเหมือนเดิมจะทำอย่างไร​บ้าง

3.บริเวณลำสาธารณะนี้มีป่าปกคลุมทั้งไม่ยืนต้นและเถาวัลย์เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า​เช่นลิง​ตอนนี้ลิงได้หนี้ออกอยู่ตามโรงอาหารโรงเรียน​สร้างความรบกวนนักเรียนด้วย​ จะแจ้งความดำเนินคดีได้หรือไม่อย่างไร​ใครเป็นคนแจ้ง

4.มีการลากสายไฟฟ้า​และใช้ต้นไม่ริมคลองแทนเสาไไฟฟ้าจะได้หรือไม่ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไรขอขอบคุณมา​ ณ​โอกาสนี้ด้วย

ตอบคุณ นิเวศน์ โพธิพิพิธมีประเด็นว่าเอกชนมีความประสงค์ต้องการถมทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้มีระดับที่สูงขึ้น (มีระดับเดียวกับที่ดินของเอกชน) ถามว่า เอกชนต้องดำเนินการอย่างไร แนวตอบ เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ(1) พรบ.การขุดเดินและถมดิน พ.ศ. 2543(2) ประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าด้วยสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ที่ดินสาธารณะประโยชน์) ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน มาตรา 1304 … ควรประสาน อปท. นั้น ๆ เพื่อดำเนินการ เพราะ การถมถนนที่่เป็นทางสาธารณประโยชน์เพื่อประโยชน์ในการสัญจร มิใช่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ซึ่ง อปท.สามารถดำเนินการได้

คอบคุณ [email protected]ประเด็นมีว่า การวางท่อเดิมนั้นผิดกฎหมายจะแก้ไขให้กลับคืนสภาพเดิมได้อย่างไร เรื่องนี้เห็นว่า ควรปรึกษานายอำเภอ (โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา) ซึ่งผู้กระทำวางท่อเดิมนั้นกระทำการผิดกฎหมาย (อาญา) ได้แก่ การบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ เพราะ “การถมคลอง” โดยไม่ได้มีการเพิกถอนสภาพการใช้ประโยชน์เสียก่อน ประเด็นว่าจะ “แจ้งความดำเนินคดีได้หรือไม่อย่างไร​ใครเป็นคนแจ้ง” กรณีหากเป็นผู้เสียหายโดยตรงก็แจ้งความร้องทุกข์ได้ (ร้องทุกข์คือการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น โดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษฯ) คือ “ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจ”หากมิใช้ผู้เสียหายโดยตรงก็แจ้งความกล่าวโทษได้ คือ “การกล่าวโทษ หมายถึง บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด้”ในกรณีของ อปท. เดือดร้อนเสียหาย ในฐา่นะหน่วยราชการ (อปท.เป็นทบวงการเมือง) อปท. ก็แจ้งความได้ อาจทั้งแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้ทั้งสองอย่าง (โดยนายก อปท. หรือ ผู้รับมอบหมาย เช่น นิติกร, ผอ.กองช่าง, หน.สป., รองปลัด อปท., ปลัด อปท., รองนายก อปท. เป็นต้น)

สวัสดีค่ะ… ขออนุญาติปรึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินของเทศบาล ดังนี้ค่ะทางหมู่บ้าน/ชุมชนจะขอใช้ที่ดินของเทศบาล (ที่ดินดังกล่าวมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
น.ส.3)เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของหมู่บ้าน เช่น สถานที่ออกกำลังกาย อาคารสำนักงานผู้สูงอายุ ฯลฯ ได้หรือไม่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆเลยหากเทศบาลสามารถอนุญาตให้ทางหมู่บ้าน/ชุมชนใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ… ขออนุญาติปรึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินของเทศบาล ดังนี้ค่ะทางหมู่บ้าน/ชุมชนจะขอใช้ที่ดินของเทศบาล (ที่ดินดังกล่าวมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
น.ส.3)เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของหมู่บ้าน เช่น สถานที่ออกกำลังกาย อาคารสำนักงานผู้สูงอายุ ฯลฯ ได้หรือไม่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆเลยหากเทศบาลสามารถอนุญาตให้ทางหมู่บ้าน/ชุมชนใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

ขอบคุณค่ะ

ผมเป็น จนท. ของสำนักงานพระะพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอสอบถามกรณี ขออนุญาตใช้พื้นที่สร้างวัด เนื่องจากเดิมมีโคกหลวงพ่อขาวตั้งอยู่กลางทุ่ง ต่อมามีการตรวจสอบพื้นที่ ปรากกฏในระวางระบุ ร.ศ.๑๒๔ เป็นหนองน้ำ และได้มีการดำเนินการก่อสร้่าง ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอระฆัง และมีลานโคกหลวงพ่อขาว มีประชาชนไปนมัสการอยู่เนื่องๆมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ส่งไปจากวัดใกล้เคียง สภาพพื้นที่ ๖ ไร่ เศษ ประสงค์จะยกเป็นวัดเนื่องจากอาคารสถานที่มีความพร้อม แต่คิดปัญหาท่ี่ดิน จึงขออนุญาต มีแนวปฏิบัติการขอใช้พื้นที่เพื่อเป็นที่ตั้งวัด อย่างไร ช่วยแนะนำข้้นตอน ปัจจุบัน ได้จัดทำประชาคมแล้ว ชุมชนไม่ขัดข้อง ประสงค์จะยกเป็นวัด เนื่องจากมีหมู่บ้านอยู่รอบพื้นที่ สามด้าน

สวัสดีค่ะ ขออนุญาติขอคำปรึกษาด้วยนะค่ะคือทางเรามีที่ดิน 2โฉนดติดกับทางสาธารณะประโยชน์ทั้ง2แปลงค่ะ แต่มีประชาชนปลูกสร้างบ้านในที่ทางสาธารณะประโยชน์ขวางทางเข้าออก ทางเราก็ได้เจรจาให้ขยับเข้าไปเพื่อที่ทางเราจะได้เข้าออกได้สะดวก ผู้ปลูกสร้างก็ไม่ยอมแจ้งไปทาง ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่สามารถระงับได้ ทางเราก็ไปร้องทุกข์ที่ศูนย์ร้องทุกข์อำเภอ ทางอำเภอ(นายอำเภอ)มีหนังสือแจ้งเจรจาทั้งสองฝ่าย โดยมี ผู้ใหญ่บ้าน ,กำนัน,นายก อบต ต.หนองปลิง,ปลัด แจ้งให้ทางนั้นทราบว่าที่ดินตรงนั้นคือทางสาธรณะประโยชน์ประชาชนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ให้ย้ายออกเฉพาะหลังนั่น หรือจะให้ออกทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่นั้น แต่ทางฝ่ายนั้นเค้าก็ไม่ยอมออก ทางเราจึงได้ไปร้องต่อที่ศูนย์ร้องทุกข์จังหวัดสระบุรีค่ะ ทางสระบุรีก็แจ้งที่ อำเภอหนองแคดำเนินการต่อ คือให้สำนักที่ดินจังหวัดออกรางวัดตรวจสอบหาความจริงของพื้นที่ ก็สรุปออกมาว่าทางฝ่ายนั่นอยู่ในที่ทางสาธารณะประโยชน์จริง แจ้งให้ทางอำเภอรับทราบ และทางอำเภอก็ออกหนังสือแจ้งมายังท้องถิ่น อบต.หนองปลิง ให้ดำเนินการต่อ แต่ณ.ตอนนี้ทางฝ่ายนั้นเค้าก็ยังมีการสร้างต่อเลื่อยๆๆ นั้นหมายถึงว่า อบต.ต หนองปลิงไม่ได้มีการส่งระงับอะไรเลย ทางเราต้องโทรตาม ทวงถามมาตลอดก็ยังเหมือนเดิม เรื่องได้เกิดมาจะครบปีแล้วค่ะ ทางเราก็ยังเข้าออกทางสาธารณะไม่ได้เหมือนเดิมค่ะ อย่างนี้ อบต.หนองปลิงเข้าข่ายละเลยหน้าที่ไหมค่ะ และทางเราจะต้องทำอย่างไรได้บ้างค่ะ เราขอคำปรึกษาด้วยนะค่ะ

ตอบคุณ [email protected] “ถนนหรือทางสาธารณะ” เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ประเภท “พลเมืองใช้ร่วมกัน” ตาม ปพพ. มาตรา 1304 ปล่อยให้ใครบุกรุกไม่ได้ ผิดกฎหมายอาญา อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษา เป็นของ “นายก อปท.” ร่วมกัน “นายอำเภอ”

ที่สาธารณประโยชน์…เป็นพื้นที่ ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

รบกวนสอบถามคำว่า “ประชาชน” ในที่นี้หมายความถึงใครได้บ้างคะ

ตอบคุณ [email protected] “ประชาชน” คือ คนไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “ปวงชนชาวไทย” โดยเฉพาะที่สาธารณประโยชน์ประเภท “พลเมืองใช้ร่วมกัน” เช่น ถนน(ทางสาธารณะ) ที่ป่าช้า ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ที่สาธารณประจำหมู่บ้าน ห้วย คลอง หนองน้ำ ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท