สะท้อนเสียงสื่อกับบ้านหนังสืออัจฉริยะ


สรุปสาระสําคัญจากการเสวนาวิชาการ

“โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ ส่งเสริมการอ่านให้คนไทยทันโลกก้าวสู่อาเซียน”

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 13.30-14.30 น.

ณ ฮอลล์ 9 อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

จากการที่สำนักงาน กศน. ได้จัดงานเปิดตัวโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ และมีการเปิดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง  “โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ ส่งเสริมการอ่านให้คนไทยทันโลกก้าวสู่อาเซียน” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ได้เชิญสื่อมวลชนที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก สยามรัฐ มติชน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดต่อโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะว่า จะส่งเสริมการอ่านให้คนไทยทันโลกก้าวสู่อาเซียนอย่างไร โดยการเสวนาดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมเสวนา จำนวน 5 ท่าน ได้แก่

1. คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี หัวหน้าศูนย์ข้อมูล กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 

2. คุณวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

3. คุณเสด็จ  บุนนาค  บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  

4. คุณทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และ 

5. คุณนฤตย์  เสกธีระ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน จำกัด (มหาชน)

โดยมี  คุณเขมสรณ์ หนูขาว  เป็นผู้ดำเนินรายการซึ่งการเสวนาดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

  คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี หัวหน้าศูนย์ข้อมูล กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า การอ่านหนังสือพิมพ์เป็นบทเรียนสำคัญที่เก็บทุกเรื่องราวในทุกด้าน ไม่ว่าสังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษา จะอยู่ในนี้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า หนังสือพิมพ์ นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ให้ความรู้ที่สดใหม่ทุกๆ วัน อ่านแล้วได้ความรู้ใหม่ไปปรับใช้ในชีวิตได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เด็กจนโต เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต หนังสือพิมพ์จึงมีเสน่ห์ที่สำคัญในฐานะของแหล่งความรู้ในการพัฒนาตนเอง

  สำหรับการช่องทางการรับรู้ข่าวสารจะมีช่องทางอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และสื่ออื่นๆ ความแตกต่างของหนังสือพิมพ์กับสื่อนั้นๆซึ่งเป็นข้อดีของหนังสือพิมพ์ คือ หนังสือพิมพ์จับต้องได้ ง่ายต่อการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์ ก่อนที่จะตีพิมพ์ต้องผ่านการกลั่นกรอง ผ่านบรรณาธิการ ตรวจสอบกันอย่างถี่ถ้วน ไม่เหมือนการนำเสนอข่าวทางเว็บไซต์ซึ่งรวดเร็ว แต่มีข้อเสียในเรื่องของความถูกต้อง หนังสือพิมพ์จึงเป็นแหล่งข้อมูลสุดท้ายในการตรวจสอบ ตัวหนังสือพิมพ์ได้นำไปใช้จัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน เน้นการศึกษาตลอดชีวิตตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ช่วยให้เด็กรักการอ่าน หลังจากได้วิเคราะห์แล้วว่าเด็กไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือ

  รูปแบบของกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน จะใช้การอบรมครูในโรงเรียน ถึงการนำประโยชน์ของข้อมูลภายในหนังสือพิมพ์ไปใช้ในการเรียนการสอน

  หนังสือพิมพ์ à  ใช้ประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ทุกวิชา

  หนังสือพิมพ์ à  เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารประจำวัน ที่ช่วยสร้างเสริมจินตนาการให้ชุมชน

  การทำงานอาศัยความร่วมมือ และออกแบบกิจกรรม มีการติดตามผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ พบว่าเด็กๆ มีความสนใจที่จะทำโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสังคมมีความตื่นตัวเรื่องอาเซียน ทางหนังสือพิมพ์ก็ต้องปรับตัวในเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความต้องการของคนไทยในขณะนี้ ซึ่งยังมีความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประชาคมอาเซียน คือ AEC ซึ่งที่ถูกต้อง ประชาคมอาเซียน คือ AC ซึ่งมี 3 เสาหลัก AEC เป็นแค่ 1 เสาหลักในจำนวนดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งความรู้ที่ถูกต้องนี้ หาได้ในหนังสือพิมพ์

  คุณวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กล่าวว่า การรักการอ่านเป็นหัวใจของบัณฑิต ดีใจที่ กศน.ทำห้องสมุดประจำหมู่บ้านในปีนี้ 40,000 กว่าแห่ง และปีหน้าจะครบทุกหมู่บ้าน คือ 80,000 แห่ง ซึ่งมีหนังสือพิมพ์ นิตยสารไว้ให้บริการ ในเรื่องของการอ่าน ผมเคยอ่านนิทานเหล่มหนึ่ง เป็นหนังสือตอน ป.1 ที่ทำให้ผมเป็นบัณฑิตอยู่ทุกวันนี้ เรื่องมีอยู่ว่า มีหมู่บ้าน แห่งหนึ่ง มีบัณฑิตอยู่คนหนึ่ง เป็นคนที่เก่งมาก มีหนังสือเต็มบ้าน เวลาที่ชาวบ้านมีปัญหาก็จะไปถามบัณฑิตคนนี้เสมอ ซึ่งเขาสามารถตอบคำถามและปัญหาให้ชาวบ้านได้ทุกเรื่อง ชาวบ้านก็เกิดความนิยม คนข้างบ้านเกิดอยากเป็นบัณฑิตบ้าง เพราะเห็นว่าเป็นบัณฑิตแล้วมีคนนับหน้าถือตา เอาขนม เอาส้มสูกลูกไม้ไปฝาก ก็คิดว่าถ้าได้เป็นบัณฑิตแล้วคงจะดี จึงไปอบสังเกตุดูว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นบัณฑิต ก็เห็นว่าบัณฑิตคนนี้ มักจะอ่านหนังสือ บังเอิญว่าบัณฑิตสายตาสั้น จึงต้องใส่แว่นสายตาทุกครั้งที่อ่านหนังสือ คนข้างบ้านจึงคิดว่า เพราะแว่นนี่เองที่จะทำให้เราอ่านหนังสือได้ ก็ไปตัดแว่นมาใส่ ซื้อหนังสือมาเต็มบ้าน ประกาศตัวเป็นบัณฑิต ชาวบ้านก็ลองมาใช้บริการ มีปัญหาก็เอามาถาม ปรากฎว่าตอบไม่ได้ เพราะว่าอ่านหนังสือไม่ออก ฉะนั้นการมีแว่นไม่ได้หมายความจะเป็นบัณฑิตได้ คนเป็นบัณฑิตได้ การอ่านเป็นพื้นฐานของบัณฑิต เน้นให้ลูกรักการอ่าน ทำให้เด็กรู้ว่าการอ่านนั้นสำคัญอย่างไร

  การอ่านหนังสือผ่านเว็บไซต์กับอ่านผ่านหนังสือจะมีความแตกต่างกัน ในแง่ของจิตวิทยา เนื่องจากการอ่านจากหนังสือ จะต้องมีการถอดรหัสตัวหนังสือ การถอดรหัสตัวหนังสือจะต้องมีสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วความรู้ทั้งปวงจะเข้าไปในส่วนลึกของความทรงจำ ก่อให้เกิดจินตนาการจากตัวอักษรและภาพนิ่งที่ได้รับ แต่ถ้าเป็นการดูภาพยนตร์หรือดูทีวีจะมีคนจินตนาการมาให้เราครบถ้วน บอกทุกอย่างด้วยภาพเคลื่อนไหว แต่หนังสือพิมพ์มีภาพนิ่ง และตัวหนังสือ สังเกตการอ่านหนังสือ เช่นการอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ ถ้าอ่านจากต้นฉบับจริง เราจะมีจินตนาการของเราแบบหนึ่ง แต่พอไปดูหนังแล้วคิดว่าทำไมไม่เหมือน จริงๆแล้วเนื้อเรื่องเหมือน สิ่งที่ต่างคือจินตนาการต่างหาก ซึ่งถ้าหากอยากมีจินตนาการก็ต้องอ่านหนังสือ ถ้าอยากจะให้มีสมาธิอย่างลึกซึ้ง ก็ต้องอ่านหนังสือ ประกอบกับหนังสือก็สามารถอ่านได้หลายรอบ อ่านซ้ำได้เท่าที่ต้องการ และการอ่านหนังสือเป็นสื่อที่มีพิษภัยน้อยที่สุด คนอ่านสามารถใช้สติปัญญาแยกแยะได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องร้ายๆ เราก็สามารถนำมาวิเคราะห์ได้

  การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ต้องเริ่มจากคนที่นั่งฟังตรงนี้ เริ่มก่อน กลับบ้านแล้วอ่านเลย อ่านแล้วมีประโยชน์อย่างไร การอ่านเป็นที่มาของการเขียน คนที่อยากเขียนอยากถ่ายทอดเก่งๆ ต้องมาจากการอ่านก่อน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นักเขียนผู้มีชื่อเสียง ซึ่งท่านเป็นนักอ่านด้วย ท่านสอนหลายอย่างเกี่ยวกับการอ่าน ได้แก่การอ่านแล้วเก็บความให้ได้ การใช้สำนวนภาษา การใช้คำสามพยางค์ ในดารตั้งชื่อคอลัมน์เพื่อให้เกิดการจดจำ นอกจากนี้ การอ่านแล้ววิจารณ์ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็ลองวิจารณ์ดู จะทำให้ข้อเขียนนั้นมีชีวิตยิ่งขึ้น

  คุณเสด็จ  บุนนาค  บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี  และน่าจะมีมานานแล้ว หนังสือพิมพ์เป็นแหล่งความรู้ที่มีราคาถูกที่สุด และถ้ารายการโทรทัศน์นำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปอ่าน ก็จะพบว่าข้อมูลในเนื้อหา 1 ฉบับ มีความรู้หลายๆ ด้าน ไม่ได้มีเฉพาะข่าวสาร บันเทิง หรือนิยาย แต่หนังสือพิมพ์ในวันนี้มีทั้งความรู้ต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และอื่นๆ  ทำให้คนจดจ่อในการอ่าน ทำให้เกิดสมาธิ เด็กวัยรุ่นชอบเปิดหน้าบันเทิงเฉพาะหน้า แต่จริงๆ แล้วมีความรู้มากมายกว่านั้น ขณะนี้หนังสือพิมพ์ได้ปรับให้มีเนื้อหาสาระที่จำเป็นต่อชีวิตในปัจจุบันยิ่งขึ้น การฟังเล่าข่าวอย่างเดียวจึงไม่ใช่เนื้อหาสาระของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ตัวอย่าง ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว  มีการแจ้งข่าวตลอดเวลา เช่น Facebook  , SMS  ฯลฯ และมีคนพูดว่า ต่อไปหนังสือพิมพ์จะตายไป เพราะคงไม่มีใครบริโภคหนังสือพิมพ์แล้ว แต่เสน่ห์หนังสือพิมพ์ก็คงยังมีอยู่ ซึ่งคงอีก 10 กว่าปี หนังสือพิมพ์มันยังจับต้องได้ มันยังไม่ตายไปเสียทีเดียว

  เด็กรักการอ่าน จะเป็นอนาคตของชาติ และ กศน. ให้ความสำคัญกับหนังสือพิมพ์มาก คนอ่านหนังสือพิมพ์ที่ร้านกาแฟ และของ กศน. 40,000 กว่าหมู่บ้าน จะเป็นแหล่งอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนังสือพิมพ์จะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าข่าวสารที่ได้รับทางระบบ Internet เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตจะยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงทุกชุมชน แต่หนังสือพิมพ์สามารถเจาะเข้าไปได้ทุกชุมชนทุกพื้นที่

  เด็กไทยยังอ่านหนังสือกันน้อยมาก แต่ถ้ามีคำถามให้เด็กได้มีการศึกษาค้นคว้าในหนังสือพิมพ์ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการชื่อว่าอะไร ก็จะไปอ่านข้อมูลด้านการศึกษาเป็นหลัก หนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ ไม่ใช่แค่อ่าน แต่ในหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ สามารถหาเกม หากิจกรรมเข้ามาจับได้ เช่นครูให้นักเรียนหาภาพของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นกุศโลบายที่จะให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้นเช่นกัน

  คุณทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ กล่าวว่า สำหรับสื่อทุกอย่างได้พยายามเต็มที่ในการส่งเสริมการอ่านอยู่แล้ว ในฝ่ายสื่อพร้อมในด้านข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย ไม่ใช่อ่านแล้วทิ้ง แต่สามารถเก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้อีกด้วย บทบาทของสื่อมวลชนที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ มีการรับหนังสือพิมพ์ลงในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งให้ข้อมูลความรู้ให้แก่ชุมชนและประชาชน และในโรงเรียน เราจะใช้สื่อมวลชนให้เกิดประโยชน์เต็มที่ได้อย่างไร เช่นเดียวกัน มีการรับหนังสือพิมพ์ เพียง 1 ฉบับ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก ปัจจุบันเรามีสื่อหลายประเภท ทุกสื่อเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมถ้ารู้จักใช้

ปัญหาของสื่อมวลชน สื่อมวลชนมีน้อย และปัจจุบันมีการสร้างสื่อหลายประเภทเพิ่มมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น กลัวว่าหนังสือพิมพ์จะล้ม จึงต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยเราก็ควรมีการเตรียมพร้อมเหมือนกันไม่ว่าระบบ Internet  สื่อต่างๆ  ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่ตลาดใหญ่มาก รวมถึงประเทศเล็กๆ ในเอเซีย ไม่ได้กลัวเรื่องหนังสือพิมพ์ตาย เนื่องจากอินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย หนังสือพิมพ์ยังคงครองตลาดสื่อในประเทศเหล่านี้อยู่ ประเทศไทยเองมีการปรับตัวในเรื่องสื่อค่อนข้างเร็ว ก็ได้มีการเตรียมพร้อม ซึ่งในที่สุดก็เกิดช่องทีวีขึ้นมากมาย รวมถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ใน 40,000 หมู่บ้านนั้น อินเตอร์เน็ตและสื่อต่างๆ สามารถเข้าถึงได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนด้วย บ้านหนังสืออัจฉริยะ คือ Smart ได้จริงต้องฝากไว้กับพี่น้อง กศน.และผู้นำชุมชน  การตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ให้เด็กได้เข้ามาใช้งาน และจะเป็นบ้านอัจฉริยะได้ ขึ้นอยู่กับผู้นำชุมชน , ชุมชน , สื่อสิ่งพิมพ์ จึงจะสามารถดำรงอยู่ได้

ในทัศนะของนักลงทุนระดับโลก สื่อสิ่งพิมพ์จะยังดำรงคงอยู่ตลอดไป

  คุณนฤตย์  เสกธีระ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ว่า ขณะนี้โลกของเราเปลี่ยนแปลง ทำให้มีสื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์เข้ามาตลอดเวลา ทำให้เกิดผลกระทบกับสื่อสิ่งพิมพ์มาก เช่น อเมริกา แต่กับประเทศไทยอาจจะช้ากว่าเขา  สำหรับประเทศอินเดีย จะพบว่า มีจำนวนผู้ที่อ่านสื่อสิ่งพิมพ์สูงขึ้น ในประเทศไทย ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังลง ก็ต้องมีการปรับตัวตามกระแสสังคมเช่นกัน ต้องมีสื่ออื่นๆ เข้ามาเสริม ในด้านของสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ต้องมีการส่งเสริมพัฒนาหลายรูปแบบให้เกิดการปรับตัวตามกระแสโลก เช่น ทางอินเทอร์เน็ต (หนังสือพิมพ์)ขณะนี้มีหนังสือพิมพ์ออนไลน์ มีสื่อโทรทัศน์ วิทยุเพิ่มเข้ามาด้วย ก็ต้องปรับตัวกันไปตามกระแสโลก การที่เราจะอยู่กับกระแสโลกได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็มาจากการอ่านด้วย เมื่อพูดถึงการอ่าน เราอ่านหนังสือเรียนจบ ก็คือจบ การอบรมก็เช่นกัน อบรมเสร็จก็จบตรงนั้น ขณะที่จบตรงนั้นโลกก็ยังคงหมุนอยู่ตลอดเวลา คนในโลกก็ประกอบกิจกรรมอยู่ 24 ชั่วโมง มันจึงมีสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ถ้าถามว่าเราอ่านหนังสือพิมพ์ทำไม คำตอบคือ หนังสือพิมพ์นำสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันมาเปิดเผย รายงาน ทำให้เรารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เชื่อมโยงกับความรู้ของเราได้ขนาดไหน การอ่านหนังสือพิมพ์คือการติดตามโลกทุกๆ วัน ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สังคม เศรษฐฏิจ การเมือง แต่ละเหตุการก็อาจเกิดการเชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดความเชื่อมโยงกัน ก็จะมีผู้รู้ที่ออกมาให้ความรู้ ความคิดเห็น ในรูปแบบต่างๆ การให้สัมภาษณ์ บทความ การรายงาน เบื้องลึก เบื้องหน้า เบื้องหลัง ทั้งปรากฏการณ์ การทำนาย ประวัติศาสตร์ ทุกอย่างอยู่ที่สื่อสิ่งพิมพ์ หากว่าวันนี้เราจะติดตามให้ทันกระแสโลก ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ และควรอ่านหลายฉบับด้วย เราก็จะได้มุมมองที่หลากหลายยิ่งขึ้น 

  จากสถิติการอ่านหนังสือของสำนักงานสถิติ จะพบว่าเด็กไทยอ่านน้อย ดังนั้นจึงผู้ปกครองจึงควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้น เขาก็จะเกิดความสนใจรักการอ่านหนังสือเอง ซื้อหนังสือที่ชอบเอง ทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น สื่อแต่ละแบบมีเสน่ห์ในตัวเอง สื่อใดที่เสพแล้วมีประโยชน์ และได้ความรู้ ก็ควรส่งเสริม

  การสร้างบรรยากาศให้ที่อ่านหนังสือเป็นสถานที่เปิด และมีกิจกรรมเกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นสภากาแฟ มีการเปิดพูดคุยกันเรื่อง นอกจากนี้หากห้องสมุดมีพื้นที่จำกัด กศน. มีการส่งอาสาสมัครขี่รถจักรยานบริการส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้หนังสือเกิดคุณค่าต่อผู้อ่านได้ ตามร้านก๋วยเตี๋ยว ชา กาแฟ ขายของชำ  เปิดเป็นห้องสมุดเล็กๆ จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้

ประเด็นคำถามà  สื่อมวลชนจะช่วยให้เรารักการอ่านมากขึ้นได้อย่างไร

  ไทยรัฐ  “การที่ครูสั่งงานให้เด็กไปทำความเข้าใจและอ่านคอลัมน์ข่าวในหนังสือพิมพ์ เพื่อเขียนคอลัมน์ข่าว โดยส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะช่วยเด็กทำการบ้าน กิจกรรมอยู่แล้วก็จะพบว่า ในหนังสือพิมพ์นั้นมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่เคยรู้มา ซึ่งคนที่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ จะต้องก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อมาเป็นข้อมูลในหนังสือพิมพ์ เคยทำวิจัยว่าทำไมคนชอบอ่านไทยรัฐ หน้า 1-9 เนื่องจากไม่เคยเปลี่ยนเลย หาง่าย”

เดลินิวส์  “ หนังสือพิมพ์ ถือว่าเป็นครูของสังคม ทำให้คนทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เป็นสื่อสำหรับคนจน

ทำให้เรารอบรู้ทุกเรื่อง”

คุณลักษณะที่แตกต่างของเว็บไซต์กับหนังสือพิมพ์  สำนักพิมพ์ก็ได้ให้ความเห็นโดยสรุปว่า

1.  การอ่านหนังสือใน Internet จะเป็นแบบ Real time

2.  ภาษาในหนังสือพิมพ์จะอ่านเข้าใจ สื่อสารได้ง่ายเหมาะกับการอ่านในชนบท ภาษาไม่เป็นทางการมาก และไม่ใช่ภาษาพูด ทำให้ชนบทพัฒนาได้ไกล

3.  หนังสือพิมพ์มีราคาประหยัด ในหนังสือพิมพ์จะมีเนื้อความขยายมากกว่าในเว็บไซต์ โดยหนังสือพิมพ์ก็ต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย เช่น Facebook , Website

  สยามรัฐ  “จะช่วยประชาชนให้รักการอ่านมากขึ้นได้โดยการประชาสัมพันธ์สิ่งที่ดี เรื่องดีๆ ผ่านหนังสือพิมพ์  เช่น ถ้าเราต้องการจะเสนอคนดีว่าคนไหน หมู่บ้านใด ชุมชนใด ที่ดำเนินโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะได้สำเร็จ โดยผ่านสื่อหนังสือพิมพ์นี้”

  มติชน “กศน. จะให้ช่วยอะไร ควรจะทำสกู๊ป และประกาศออกไปว่ามีห้องสมุด มีหนังสืออะไรบ้าง หรือจะรวมกิจกรรมของแต่ละบ้าน แล้วคัดมาให้มติชนส่งนักเรียนไปช่วยเขียน จะได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรม”

ถ้ากฎหมายการศึกษาตลอดชีวิตผ่าน ท่านคิดว่าจะส่งเสริมให้เกิดผลดีอย่างไร

ไทยรัฐ  “การศึกษาคงจะไม่ได้กำหนดเฉพาะในระบบเท่านั้น จะเห็นว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องรักที่จะเรียนรู้การศึกษาตลอดชีวิต”

เดลินิวส์  “เราต้องมีกฎหมายนี้ให้ได้ โดยเฉพาะถ้ามี AEC มีการแข่งขัน จะเกิดผลดี ขนาดยังไม่มี AEC คนต่างประเทศยังเข้ามาได้ กฎหมายนี้จะส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้มากขึ้น ถ้าใช้แรงอย่างเดียว คงจะสู้ประเทศอื่นเขาไม่ได้”

คมชัดลึก  “คนเราต้องศึกษาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ต้องใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ ไปอบรมตลอด เคยเห็นโรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนที่ไม่มีโอกาสเรียนในระบบ เช่น ท้อง  และอาจจะพาน้องมาเรียน การเรียนแต่ละพื้นที่มีหลากหลายหลักสูตร คงต้องพิจารณาในเรื่องหลักสูตร”

สยามรัฐ  “หลักการดีมาก เมื่อรัฐเปิดพื้นที่ในการสร้างโอกาสทางการศึกษา ก็ต้องประสานกับภาคเอกชนด้วย แต่ตัวชี้ขาดที่สำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ ประชาชนว่าอยากได้ ใฝ่รู้ขนาดไหน และต้องการความสำเร็จมากเพียงใด คนในชุมชนต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิดการใฝ่รู้ จึงจะประสบผลสำเร็จ”

มติชน  “พระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถอุดช่องโหว่ให้กับการศึกษาไทย ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่พลาดโอกาสทางการศึกษา ได้รับโอกาสอีกครั้ง”

สิ่งที่สื่อมวลชนอยากฝากไว้กับชุมชน

  ไทยรัฐ  “การที่ชุมชนได้รับหนังสือพิมพ์ใดก็ตาม ทำให้ทุกที่ได้รับทราบข่าวสารสำคัญเหมือนกันทุกฉบับ ซึ่งจุดที่สำคัญของหนังสือพิมพ์ ก็จะเป็นการให้ข้อมูล ความเห็น ข่าวที่น่าสนใจทุกแง่ทุกมุมทั้งด้านฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อสะท้อนความเห็นของคอลัมน์นิสนักข่าวให้เห็นมุมมองต่างๆ ที่สำคัญ มี นักเขียน นักวิชาการ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางว่าจะไปในทิศทางใด เข้าใจในทุกมิติที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งคำตอบของทุกคนจะอยู่ในหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงหน้า 1 เท่านั้น”

  เดลินิวส์ “สื่อหนังสือพิมพ์ จะเป็นแหล่งรวมผู้รู้เยอะ เพราะเริ่มตั้งมาก่อน ให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์”

  คมชัดลึก  “วันนี้เป็นวันเริ่มโครงการ จึงขอให้ทุกหมู่บ้านประชาสัมพันธ์ ตีฆ้องร้องป่าวด้วย หนังสือพิมพ์ก็เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เมื่ออ่านเสร็จแล้วอย่าคิดแต่นำกระดาษไปชั่งกิโลขาย มันมีคุณค่ามากกว่านั้น”

  สยามรัฐ  “ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา วัด โรงเรียน ควรจะมีการประสานงานที่ดีต่อกัน ให้เหมือนโรงเรียนกับบวร”

  มติชน  “โครงการนี้จะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว จะขึ้นอยู่กับชุมชน  โดยหนังสือพิมพ์จะเป็นตัวสนับสนุนทุกท่านให้เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ทุกคนเรียนรู้”

  ผู้ดำเนินรายการ ขอขอบคุณข้อคิดเห็นที่ได้รับจากบรรณาธิการอาวุโส ที่ได้ให้แนวคิด ให้กำลังใจ เพื่อกลับไปทำงานบ้านหนังสืออัจฉริยะ เพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิตต่อไป

 

               


หมายเลขบันทึก: 520792เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2013 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2013 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

..... ขอบคุณ บทความดีดีนี้ค่ะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท