อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๓)


อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๓)

ประเด็นปัญหา

ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐมาสองตอนแล้ว พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบปัญหาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างสิ่งที่ล่วงล้ำทางน้ำ (แม่น้ำ ลำคลองสาธารณะ)

จึงขอเสนอบทความต่อเนื่องกัน เกี่ยวกับการขออนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ในอำนาจหน้าที่ดูแลของกรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) หรือ ในอำนาจหน้าที่ดูแลของ "นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เพราะ สับสนเกี่ยวกับคำว่า "ทางน้ำ" ตาม ข้อ ๕ แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่า

"ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในบังคับของระเบียบนี้ หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรม หรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ที่ป่าช้า ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประจำตำบลหรือหมู่บ้าน"

ความสับสนเกิดต่อเนื่องกันอีก เนื่องจาก ตาม ข้อ ๗ แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่า

"นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และระเบียบ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด"

หมายความว่า ท้องถิ่นไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะได้ มีหน้าที่เพียง "ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน" เท่านั้น ฉะนั้น การอนุญาตให้เอกชนก่อสร้างล่วงล้ำที่สาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะทางน้ำ ต้องขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจ ซึ่งหากเป็นทางน้ำอื่น(ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน) ผู้อนุญาตก็คือ "ผู้ว่าราชการจังหวัด" หากเป็น "แม่น้ำลำคลองและที่ดินริมแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นที่ชายตลิ่งที่น้ำท่วมถึง" ก็เป็นอำนาจของ "กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (หรือกรมเจ้าท่า)"

บทบัญญัติของกฎหมายในอำนาจของกรมเจ้าท่า

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช ๒๔๕๖ [1]

มาตรา ๑๑๗ [2] จะกำหนดว่ากรมเจ้าท่ามีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเล

มาตรา ๑๑๗ ทวิ [3] กำหนดว่า ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตามมาตรา ๑๑๗ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจในการดูแล "ทางน้ำ"

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ว่า ที่ดินริมแหล่งน้ำสาธารณะที่น้ำท่วมไม่ถึงอีกต่อไปเนื่องจากแหล่งน้ำสาธารณะได้ตื้นเขินลงย่อมพ้นสภาพการเป็นที่ชายตลิ่งและไม่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า การปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงบนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ต้องขออนุญาต เสียค่าตอบแทนและไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (แหล่งน้ำสาธารณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน) ที่ดินนั้นก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่ต่อไป และอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของนายอำเภอท้องที่ [4]

และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองและที่ดินริมแหล่งน้ำสาธารณะ โดยแบ่งหน้าที่ในการดูแลรักษาออกเป็นหลายหน่วยงาน คือ(๑) ส่วนที่เป็นที่ชายตลิ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าท่า (๒) ส่วนบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอหรือกรมธนารักษ์หรืออธิบดีกรมที่ดินแล้วแต่กรณี

การพิจารณาว่าที่ดินนั้นน้ำท่วมถึงหรือไม่นั้นต้องถือหลักเกณฑ์ว่าที่ดินนั้นโดยปกติน้ำท่วมไม่ถึงตลอดไปมิใช่เฉพาะฤดูใดฤดูหนึ่งหรือเพียงปีใดปีหนึ่งเท่านั้น กล่าวโดยสรุปคือขอบเขตอำนาจของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่า) จำกัดอยู่บริเวณที่ชายตลิ่ง

ดังนั้นที่ริมน้ำซึ่งมิใช่ที่ชายตลิ่งและไม่อยู่ในอำนาจกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีก็คือที่ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึงตลอดไป [5]

อย่างไรก็ตามความเห็นดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจนว่าที่ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึงตลอดไปคือบริเวณใด และปัญหานี้ได้ส่งผลในการอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือ ถ้าเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างลงในแหล่งน้ำสาธารณะซึ่งกรมเจ้าท่าดูแลรักษา ผู้ปลูกสร้างต้องขออนุญาตเสมอ และสิ่งปลูกสร้างที่กรมเจ้าท่ามีอำนาจออกคำสั่งให้ รื้อถอนได้ ก็จะต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกล่วงล้ำเข้ามาในแหล่งน้ำสาธารณะที่กรมเจ้าท่าดูแลรักษาด้วยเช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือประชาชนมักปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนโดยไม่ได้ขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นการปลูกสร้างในที่ดินอันมีกรรมสิทธิ์ของตนและเข้าใจว่าตนสามารถปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนลงในแหล่งน้ำสาธารณะได้ ซึ่งในบางครั้งสิ่งปลูกสร้างได้ปลูกล่วงล้ำเข้ามาในที่ทางน้ำหรือแม้จะปลูกสร้างในที่ดินอันเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแต่ที่ดินนั้นได้ถูกน้ำกัดเซาะจนกลายสภาพเป็นที่ทางน้ำและมิได้มีการหวงกันจนกลายเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นการปลูกสร้างล่วงล้ำเข้ามาในที่ทางน้ำอันกรมเจ้าท่ามีอำนาจในการควบคุมดูแลเช่นกัน ท้ายที่สุดก็ต้องมีการออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไป ทำให้เกิดข้อโต้แย้งและฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมากเนื่องจากประชาชนโต้แย้งว่าเป็นการปลูกสร้างในที่ดินอันมีกรรมสิทธิ์ของตนนั่นเอง [6]

กรมเจ้าท่ามอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาและอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

การก่อสร้างที่ล่วงล้ำทางน้ำในการดูแลของกรมเจ้าท่า โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะเป็นการ "บุกรุกที่สาธารณะ" อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความวิตกดังกล่าว "อยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เนื่องจากกรมเจ้าท่ามอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาและอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแล้ว

ตามคำสั่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่ ๔๔๒/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เรื่อง มอบอำนาจ "เจ้าท่า" ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [7]

(๑) การพิจารณาและอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

(๑.๑) โรงสูบน้ำ

(๑.๒) การวางท่อ สายเคเบิล การปักเสาไฟฟ้า

(๑.๓) กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๑.๔) เขื่อนกันน้ำเซาะ

(๒) การอนุญาตให้ขุดลอก ดูแลรักษาร่องน้ำทางเดินเรือ และงานติดตั้งบำรุงรักษาเครื่องหมายการเดินเรือรวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

(๒.๑) ร่องน้ำภายในประเทศที่เป็นบึง ลำคลอง แม่น้ำ ขนาดเล็กที่มีพื้นที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพียงแห่งเดียว

(๒.๒) ร่องน้ำชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก

(๓) การบริหาร ดูแลรักษาสถานีขนส่งทางน้ำ (ท่าเทียบเรือสาธารณะ) และดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้องตามมาตรา ๔๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

(๔) การจัดเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นเงินได้แผ่นดิน

(๔.๑) ค่าธรรมเนียมการตรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามข้อ ๒(๑๔) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ.๒๕๑๐)

(๔.๒) ค่าใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และค่าใบอนุญาตให้ขุดลอกร่องน้ำ ตามข้อ ๒(๖) และข้อ ๒(๘) - (๑๐) ตามลำดับ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ.๒๕๓๔)

(๔.๓) ค่าธรรมเนียมการตรวจและสำรวจการขุดลอกแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่องน้ำทางเดินเรือและค่าธรรมเนียมการตรวจพิจารณาสำหรับการขุดลอกหน้าท่าเทียบเรือแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๙ (พ.ศ.๒๕๔๒)

(๕) หลักเกณฑ์การพิจารณาดำเนินการตามอำนาจ "เจ้าท่า" ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามคำสั่งนี้ให้เป็นไปตาม "คู่มือการอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการขุดลอกร่องน้ำขนาดเล็ก" [8]

(๖) คำสั่งนี้ไม่มีผลกระทบหรือมีผลเป็นการยกเลิกการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะ "เจ้าท่า" ที่ได้กระทำไปแล้ว ตามคำสั่งกรมเจ้าท่าที่ ๗๑๘/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ และคำสั่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่ ๓๑๙/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗

สรุป

ในกรณีของสิ่งปลูกสร้างสิ่งที่ล่วงล้ำลำน้ำ ต้องพิจารณาว่า "ทางน้ำ" นั้น อยู่ในอำนาจของดูแลของใคร ระหว่าง กรมเจ้าท่า (ผู้อนุญาตก่อสร้างคือนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) หรือ นายอำเภอ (ผู้อนุญาตก่อสร้างคือผู้ว่าราชการจังหวัด) หรือ หน่วยราชการอื่น เช่น กรมชลประทาน กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ เพื่อจะได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง ก่อนที่จะรับใบอนุญาตก่อสร้าง ตาม พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒


[1] พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช ๒๔๕๖http://61.19.54.137/law/dpmlaw/uploadfiles/พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย.pdf

http://61.19.54.137/law/dpmlaw/main/content.php?page=sub&category=141&id=113

[2]มาตรา ๑๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

หลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องระบุลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ให้ชัดแจ้ง พร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาอนุญาตให้แล้วเสร็จด้วย

เมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคำขอถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงตามวรรคสองแล้ว เจ้าท่าต้องอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว

(มาตรา ๑๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕)

[3]มาตรา ๑๑๗ ทวิ ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตามมาตรา ๑๑๗ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าสิบบาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจให้เสียเป็นสองเท่าของอัตราดังกล่าว ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวถูกปลูกสร้างขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้เสียค่าตอบแทนเป็นสามเท่าของอัตราดังกล่าว

การกำหนดค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสภาพของแต่ละท้องที่และประโยชน์ที่ผู้ปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองพึงได้รับ

ค่าตอบแทนที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แล้วแต่กรณี ที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นอยู่ในเขต

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร จะออกกฎกระทรวงยกเว้นหรือลดหย่อนค่าตอบแทนให้หน่วยงานหรือบุคคลใดก็ได้

(มาตรา ๑๑๗ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๕)

[4] หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๖๐๑/๒๖๖ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๘ เรื่องปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินริมแห่งน้ำสาธารณะ

ปัจจุบันตาม มาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ และ ตามข้อ ๖ แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดว่า “อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ 5 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่”

[5] บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ ๕๐๔/๒๕๔๙ เรื่องการทบทวนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจในการดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย

[6]ดู บุปผาชาติ กาวชู, นิติกรปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี, “มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยขอบเขตการควบคุมทางน้ำ (บริเวณแม่น้ำลำคลอง)”, http://law.hcu.ac.th/file/03.doc

[7] คำสั่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีที่ ๔๔๒/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗, รจ.เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๑๐๒ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗, 

http://www.md.go.th/md2webApp/attach/inf/20080515102035453.pdf 

http://law.longdo.com/law/148/sub6481

[8] คู่มือการอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการขุดลอกร่องน้ำขนาดเล็ก, http://www.md.go.th/marine_knowledge/interest_pdf/book_48.pdf

http://lawlocal.tongthin.com/law/1_7.pdf

http://www.tlg.rmutt.ac.th/?p=3858

+++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ ระเบียบ มท. มีหลายฉบับ ที่เกี่ยวกับที่ทางสาธารณะ ซึ่งยังไม่ยกเลิก ได้แก่

[1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๐,

[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. ๒๕๔๗,

[3] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๗,

[4] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๓,

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๑,

(ลำดับที่ 5 ถูกยกเลิกโดย“ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๐”)

[6] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ. ๒๕๓๙,

ฯลฯ

อ้างอิง

การขออนุญาตใช้ที่ราชพัสดุ, http://www3.rid.go.th/fad/fad_rev/rule/Q1.doc

การขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ, 
http://vigportal.mot.go.th/portal/site/PortalMOT/menuitem.075627846599a3e2a88bc955506001ca/

คู่มือการอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการขุดลอกร่องน้ำขนาดเล็ก, 

http://www.md.go.th/marine_knowledge/interest_pdf/book_48.pdf

คู่มือการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน , การอนุญาตให้ปลูกสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำและการขุดลอกร่องน้ำขนาดเล็ก (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี), 

http://lawlocal.tongthin.com/law/1_7.pdf

http://www.tlg.rmutt.ac.th/?p=3858

คำแนะนำในการขออนุญาตและขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535, 

http://www.md.go.th/data_form/water-trp13.php


คำสั่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่ ๔๔๒/๒๕๔๗ เรื่อง มอบอำนาจ "เจ้าท่า" ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, 

http://www.md.go.th/md2webApp/attach/inf/20080515102035453.pdf

http://law.longdo.com/law/148/sub6481

สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 สาขานครราชสีมา, http://www.md.go.th/md7nr/6_3.html

หมายเลขบันทึก: 531120เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2013 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2020 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ที่ดินในเขตป่าสงวน เจ้าของที่ดินด้านนอกปิดทางไม่ให้เจ้าของที่ดินด้านในผ่านเข้าออก อนุญาตให้ผ่านเข้าออกเฉพาะรถจักรยานต์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้นำรถยนต์  ทั้งๆที่ผ่านเข้าออกมาเป็น 15 ปีแล้ว โดยสร้างโรงเรือน เป็นโรงจอดรถปิดกั้น  เจ้าของที่ดินด้านในไม่มีทางเข้าออกทางอื่น ร้องเรียนต่ออำเภอให้ไกล่เกลี่ย 4-5 ครั้งแล้วก็ไม่เป็นผล  ทางอำเภอทำความเห็นมายัง อบต.ว่า ให้อบต.พิจารณาว่าเป็นที่สาธารณะหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของเจ้าของที่ด้านใน ที่ดินเป็นป่าสงวนที่ชาวบ้านจับจองทำกินมานานแล้ว ขอสอบถามเป็นประเด็นดังนี้ 

1. อบต.มีอำนาจดำเนินการหรือไม่ และดำเนินการอย่างไรได้บ้าง 

2. มีแนวทางในการบรรเทาความเดือนร้อนของเจ้าของที่ดินด้านในอย่างไรบ้าง

ขอบคุณค่ะ

บ้านอยู่ในน้ำแถวเจริญนคร ต้องเสียค่าที่กับใครเพราะน้ำท่วมตลอดปีไม่มีผืนดิน ระหว่างเจ้าท่ากับเขตใครดูแล และต้องเสียภาษีค่าเช่าที่กับใคร

"บ้านอยู่ในน้ำแถวเจริญนคร" ต้องดูว่า บ้านนั้นตั้งอยู่บนโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 หรือ บนที่ดินมีหลักฐานใดหรือไม่ (อาจเป็นที่ราชพัสุด หรือที่ดินสาธารณะ หรือ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า) ถ้ามีหลักฐานที่ดิน (โฉนด, นส.3) ก็ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่ อปท.ในพื้นที่นั้น ๆ ได้แก่ เทศบาล, อบต., กทม. (มีการลดหย่อนด้วยถ้าเนื้อที่ดินมีมาก ตามเกณฑ์ฯลดหย่อนฯ)

คลองที่ไม่มีเรือสัญจรผ่าน มานานเกิน15ปี อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่าหรือไม่ 

ตอบ คุณลุงจิม บ้านกุสลา 

กรณีคลอง ให้ดูว่า คลองมีน้ำไหลตลอดปี หรือ ยังมีน้ำไหลอยู่ในปีนั้น ๆ มิใช่คลองที่หมดสภา จะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กรมเจ้าท่า 

... ปัจจุบันล่าสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ประกาศคำสั่งคสช.ที่ 32/2560 โดยกำหนดให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมาย พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และได้มีผลบังคับใช้  ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป 

... คำสั่ง หน.คสช.ที่ 32/2560 มีเนื้อหาสาระให้ชะลอการเก็บค่าปรับเพื่อการบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ โดยกำหนดให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ชะลอออกไปและผู้ที่เข้าข่ายว่ามีความผิดในการสร้างสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ล่วงล้ำลำน้ำ ถ้าได้แจ้งต่อเจ้าท่าภายใน 60 วัน นับแต่ประกาศคำสั่งคสช. จะได้ยกเว้นโทษปรับและโทษจำคุก 

โดยประกาศคำสั่งของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ไม่ได้เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นเพียงการชะลอการใช้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2560 หากประชาชนไม่ได้ทำการแจ่้งต่อเจ้าท่าภายในเวลาที่กำหนดจะต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ 

... เพราะ เพื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการแก้ไข พ.ร.บ.ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั้งกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง และการอยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิมริมน้ำ 

... ดู ตามนี้ http://www.ratchakitcha.soc.go...   ตัวประกาศ

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 18-20 เล่ม 134 ตอนพิเศษ 176 ง วันที่ 4 กรกฎาคม 2560


... ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้ทำการร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และได้มีผลบังคับใช้  ในวันที่ 23  กุมภาพันธ์ 2560 โดยในบทบัญญัติจะเพิ่มอัตราโทษของความผิดเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยผิดกฎหมายให้มากขึ้นจากเดิม  

กล่าวคือ  “หากมาแจ้งต่อกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 (ภายใน 120 วัน) กฎหมายกำหนดให้ใช้อัตราโทษเดิม แต่หากไม่มาแจ้งภายในวันที่กำหนดจะมีโทษปรับในอัตราใหม่ซึ่งเป็น 2 เท่าของโทษตามกฎหมายเดิม โดยจะปรับสูงขึ้นและยังกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี” 


มิใช่คลองที่หมดสภาพ 

"ความเปลี่ยนแปลงของ พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย", 26 กรกฎาคม 2560, https://ilaw.or.th/node/4576


เหนืออบต.ยังมีเจ้าท่า อำนาจเพื่ออันใดในลำน้ำ หนอง คลอง บึง ที่ไม่มีการเดินเรือ#การปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำอ.926/2555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท