อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ (๑)


อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ (๑)

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ [1]

ประเภทที่ดินของรัฐ [2]

กล่าวทั่วไป ที่ดิน หมายถึง ทรัพยากรดินภายในอาณาเขตบริเวณที่กำหนด ดังนั้นการเป็นเจ้าของที่ดินจึงเท่ากับมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินบนตำแหน่งที่ตั้งภายในขอบเขตที่ระบุอยู่ในเอกสารสิทธินั่นเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ที่ดิน" มีความหมายครอบคลุมส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน ด้วยกัน ส่วนแรกเป็นตัวทรัพยากรดินและอีกส่วนหนึ่งเป็นทำเลที่ตั้งที่ทรัพยากรดินนั้นตั้งอยู่ ฉะนั้นบางแห่งจะใช้คำว่า “ทรัพยากรดินและที่ดิน" ซึ่งทรัพยากรดิน หมายถึง เนื้อดิน สำหรับที่ดินหมายถึงรูปแปลงที่ดินหรือทำเลที่ตั้ง

ที่ดินในฐานะของอสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์" ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ , ประมวลกฎหมายที่ดิน หมายความว่า “ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็น อันเดียวกับที่ดินนั้นและหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย"

ที่ดิน เป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถพบได้ในสินทรัพย์ประเภทอื่นเพราะมีอยู่จำกัด เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง สำหรับในทางการเงินแล้ว “ที่ดิน" จัดเป็นสินทรัพย์พิเศษที่มีสถานะเป็นทั้งสินทรัพย์แท้จริง (Real Asset) และสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset)

ในทางกฎหมายแล้วสามารถแบ่งที่ดินออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

2.1 ที่ดินของเอกชน หมายถึง ที่ดินของเอกชนซึ่งอาจเป็นที่ดินมีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจองและตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชนแล้ว หรืออาจเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ แต่อาจมีหลักฐานสำหรับที่ดินอื่น เช่น แบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1), หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก., น.ส.3 ข.) [3] ผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวนี้ กฎหมายถือว่ามีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินเท่านั้น

2.2 ที่ดินของรัฐ หมายถึง ที่ดินที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมถึง

ที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งมิได้มีผู้ใดครอบครองเป็นเจ้าของ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน [4]

คำว่า "ที่ดินของรัฐ" โดยหัวใจหลักเมื่อได้พิจารณาประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 [5] จึงเห็นว่า "อปท." เป็นองค์กรที่เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ "ที่ดินของรัฐ" เช่น อบต. [6]

บรรดาทรัพย์สินทั้งหลายตามมาตรา 8 แห่ง ป.ที่ดิน มีข้อพิจารณา คือ

- หากมีกฎหมายกำหนดบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลไว้เป็นการเฉพาะแล้วก็ต้องนำข้อกำหนดตามที่ได้มีระบุดังกฎหมายมีบัญญัติมาบังคับ

- แต่ถ้าหากไม่มีกฎหมายกำหนดบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลไว้เป็นการเฉพาะเช่นนั้นแล้ว จึงให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน ดูแล รับผิดชอบ

อนึ่ง อำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินเช่นว่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้

หมายถึง ถ้าหากไม่มีกฎหมายกำหนดบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลไว้เป็นการเฉพาะแต่เพียงเท่านั้น...เพราะถ้าหากมีไว้ก็ต้องใช้บังคับไปตามที่มี

ตามมาตรา 8 แห่ง ป.ที่ดิน เห็นว่า ถ้าทรัพย์สินหรือที่ดินแปลงใดไม่มีกฎหมาย ระบุบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลเอาไว้ ให้เป็นของ อธิบดีกรมที่ดิน

กรณี "กฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น" ตามมาตรา 8 วรรคแรก เช่น พรบ.แร่ พ.ศ.2510 [7], พรบ.ทางหลวง, พรบ.เจ้าท่า เป็นต้น

ทบวงการเมือง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ประกอบไปด้วย เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นทบวงการเมืองตาม มาตรา 7 แห่ง พรบ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ.ฯ 2535 ประกอบ มาตรา 72 แห่ง ป.พ.พ. [public body, administrative department ทบวงการเมือง (ศัพท์นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์)] [8]

ทบวงการเมือง คือ ส่วนราชการและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจหน้าที่ในทางปกครอง ซึ่งได้แก่
1. ราชการส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่อย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ประเภทหลังนี้เช่น ราชบัณฑิตยสถานซึ่งมีฐานะเป็นกรมแต่ไม่ได้มีชื่อเรียกกว่ากรม เป็นต้น
2. ราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดอย่างเดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่าราชการส่วนภูมิภาคจะแบ่งออกเป็นจังหวัดและอำเภอก็ตาม อำเภอมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด
3. ราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น

สรุป "ทบวงการเมือง" หมายความว่า หน่วยราชการที่มีฐานะเป็น นิติบุคคลของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการ ส่วนท้องถิ่น

ประเด็น “ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.ฯ กำหนดให้ อปท.มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ มากมายเพื่อให้ปกครองตนเองได้ เทศบาลฯ จะถือว่าเป็นนิติบุคคลหรือไม่"

1. พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 7 บัญญัติไว้ให้เทศบาลมีฐานะเป็น “ทบวงการเมือง" [9]

2. พ.ร.ฎ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2468 ประกาศใช้โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2468 เป็นต้นมา ซึ่งตามมาตรา 72 บัญญัติไว้ว่า จำพวกที่จะกล่าวต่อไปนี้ ย่อมเป็นนิติบุคคล คือ (1) ทบวงการเมือง (2) วัดวาอาราม ...ฯลฯ

3. พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 ได้บัญญัติไว้ว่า

- มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 และบรรพ 2 ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยกเลิกบทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดย พ.ร.ฎ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2468 … ฯลฯ

- มาตรา 7 ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทบวงการเมืองตามความหมายของ มาตรา 72 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 (1) แห่ง พ.ร.บ.นี้ คงมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไป

กล่าวโดยสรุป“ทบวงการเมือง" ย่อมเป็น “นิติบุคคล" ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 ได้รับรองตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 เป็นต้นมา แม้ว่าในปี พ.ศ.2535 จะได้มีการตรวจชำระและยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ปี พ.ศ.2468 เสียใหม่ แต่ตามมาตรา 7 ก็ยังรับรองความเป็นนิติบุคคลของทบวงการเมืองต่อไป ดังนั้น “เทศบาลจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคล" ตามกฎหมาย [10]

สรุป “พรบ.เทศบาลฯ ให้เป็นทบวง การเมือง และพรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ม.7 กำหนดให้ทบวงการเมืองเป็นนิติบุคคล"

อำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ประเด็น อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ และที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่

อำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ แยกได้ 3 เรื่อง คือ

1. เรื่องการระวังชี้และรับรองแนวเขต

2. เรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน

3. เรื่องการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์

แยกพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

(1) ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ได้บัญญัติให้ อปท.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งเฉพาะที่ดินของรัฐ ประเภท (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน และ (2)ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน) ดังนี้

มาตรา 68 (8) [11] แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ อบต. มีหน้าที่ "คุ้มครองดูแลรักษา" มีความหมายถึง ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท ตามมาตรา 1304 (1),(2),(3) แห่ง ป.พ.พ.

มาตรา 50, 53, 56 [12] แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ให้เทศบาลฯ มีหน้าที่ "หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล"

มาตรา 62 [13] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ให้เมืองพัทยาฯ มีหน้าที่ "อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของ เมืองพัทยา"

มาตรา 89 [14] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ให้ กทม. มีหน้าที่ "การดูแลรักษาที่สาธารณะ"

กฎหมายจะกำหนดเฉพาะหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง

เรื่องการระวังชี้และรับรองแนวเขต และเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกี่ยวกับที่ดินของรัฐไว้ (ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122) [15] หรือมาตรา 8 ป.ที่ดิน กำหนดหน้าที่ในการตรวจตรา รักษา หรือคุ้มครองป้องกัน ฯลฯ) โดยไม่ได้กำหนดอำนาจเรื่องการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ไว้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จะมีก็เฉพาะกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเจ้าท่า

การระวังชี้และรับรองแนวเขต และการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ ผู้ฝ่าฝืน นั้น ตามบทบัญญัติต่างๆ ก็จะกำหนดหน้าที่หลักในการควบคุมดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินของรัฐ หรือที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่ ทบวงการเมือง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น

มาตรา 8 วรรคแรกแห่ง ป.ที่ดิน [16] กำหนดว่า “อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้" มีความหมายถึง ที่ดินของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่าด้วย

มาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 (ประกอบมาตรา 62 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) กำหนดว่า “นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ" มีความหมายถึง ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) ป.พ.พ.ด้วย

แต่เดิม มาตรา 41 [17] แห่ง พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 บัญญัติว่า "เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แล้ว ให้นายกเทศมนตรี และเทศมนตรี มีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บรรดาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่ หรือกฎหมายอื่นเท่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและได้กำหนดขึ้นไว้โดยกฎกระทรวง" มีความหมายเช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของกำนัน ต้องตรวจจัดการรักษาสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อันอยู่ในตำบลนั้น เช่น สระน้ำ ศาลาอาศัย ที่เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ตามมาตรา 40 [18] แห่ง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ต่อมามาตรา 41 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ฉะนั้น หน้าที่นี้ของเทศบาลฯ ปัจจุบันจึงไม่มี

(2) ตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

มาตรา 16 (27) [19] กำหนดให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ "ดูแลรักษาที่สาธารณะ" และมาตรา 17 (5) [20] องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่ "คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษา...ที่ดิน..."

หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0804.4/ว 1161 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2551 เรื่อง การหารือปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่สาธารณะสาธารณประโยชน์ (ตอบหารือจังหวัดจันทบุรี) [21]

หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/10730 ลงวันที่ 17 กันยายน 2551 เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติการตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการรังวัดแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ (ตอบหารือจังหวัดพัทลุง) [22]

ปัจจุบัน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553ข้อ 6 [23] ได้กำหนดให้ “อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ 5 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่"


[1]ความหมาย ที่สาธารณประโยชน์ หมายถึง ที่ดินที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1304 วรรคสอง ซึ่งมีที่มาหรือบ่อเกิดแห่งที่สาธารณประโยชน์ได้ 3 ประการ คือ

(1) เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เป็นต้น

(2) เกิดขึ้นโดยสภาพการใช้ เช่น ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะ หนองน้ำสาธารณะ ป่าช้าสาธารณะ เป็นต้น

(3) เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เช่น การสงวนหวงห้ามตามกฎหมาย การอุทิศให้เป็นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยาย การยกให้หรือซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น

& “อบต.กับที่ดินของรัฐ."21 ตุลาคม 2547. [Online] Available URL : http://www.lawyerthai.com/forum2/view.php?topic=595

[2] http://www.postengineer.com/new/doc/land/pv4.pdf

[3] หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข) หมายความว่าหนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว

น.ส. 3 ออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินทั่ว ๆ ไป ในพื้นที่ที่ไม่มีระวาง มีลักษณะเป็นแผนที่รูปลอย ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน หรือออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ (นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออก)

น.ส. 3 ก. ออกในท้องที่ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ โดยมีการกำหนดตำแหน่งที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศ (นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้)

น.ส. 3 ข. ออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ และรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแล้ว (เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้ออก)

[4] ป.พ.พ. มาตรา 1304“สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน

(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ

(3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์"

พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4“ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน

(2) อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ

ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ"

[5] มาตรา 8 “บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้ รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้

ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเป็นที่ดินที่ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองอาจถูกถอนสภาพหรือโอนไปเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือนำไปจัดเพื่อประชาชนได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้าทบวงการเมือง รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนจัดหาที่ดินมาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว การถอนสภาพหรือโอนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้าพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือที่ดินนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และมิได้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดตามอำนาจกฎหมายอื่นแล้ว การถอนสภาพให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

(2) ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองใด ถ้าทบวงการเมืองนั้นเลิกใช้ หรือไม่ต้องการหวงห้ามหรือสงวนต่อไป เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ใช้หรือจัดหาประโยชน์ก็ได้ แต่ถ้าจะโอนต่อไปยังเอกชน ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และถ้าจะนำไปจัดเพื่อประชาชนตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

การตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองให้มีแผนที่แสดงเขตที่ดินแนบท้ายพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย"

[6] ทนายปกรณ์ http://www.lawyerthai.com/forum2/595.html

[7] มาตรา 9 “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ ที่ดินของรัฐนั้นถ้ามิได้มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด

(1) เข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่า

(2) ทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทราย ในบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามในราชกิจจานุเบกษา หรือ

(3) ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน"

[8] administrative department ทบวงการเมือง, http://dict.longdo.com/

[9] มาตรา 7 “เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาล ให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้นๆ เป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น"

[10]  ทบวงการเมือง, Lawamendment, www.lawamendment.go.th/index.p... &  http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=nitikon&topic=1451

[11] มาตรา 68 (8) “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจการในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ ...(8) การคุ้มครองดูแลรักษา ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน…"

[12] มาตรา 50 “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้…(9) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล…"

(มาตรา 50 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 336 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และมาตรา 50 (9) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542)

มาตรา 53 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลเมืองมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้…(1) กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 50…"

(มาตรา 53 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2517)

มาตรา 56 “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลนคร มีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้…(1) กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 53…"

[13] มาตรา 62 “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการในเขตเมืองพัทยาในเรื่องดังต่อไปนี้…(14) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของ เมืองพัทยา…"

[14] มาตรา 89“ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น ให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องดังต่อไปนี้...(10) การดูแลรักษาที่สาธารณะ..."

[15] มาตรา 122 “นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ

นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตามวรรคหนึ่ง นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันดำเนินการหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติด้วยก็ได้

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสามให้จ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด"

(มาตรา 122 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11)พ.ศ.2551)

[16] มาตรา 8 วรรคแรก “บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้ รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้"

[17] มาตรา 4 “เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะท้องถิ่นใดเป็นเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครแล้ว ห้ามมิให้ใช้กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่บัญญัติถึงการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในท้องถิ่นนั้น…"

[18] มาตรา 40 “กำนันต้องร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในตำบลนั้น"

[19] มาตรา 16 (27) “ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้…(27) การดูแลรักษาที่สาธารณะ…"

[20] มาตรา 17 (5) “ภายใต้บังคับมาตรา 16 ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้… (5) การคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม…"

[21] สรุปว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องอำนาจในการดูแลรักษาที่สาธารณะและความไม่ชัดเจนในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อดูแลรักษาที่สาธารณะอีกต่อไป อปท.สามารถตั้งงบประมาณฯได้ ตามมาตรา 122 แห่ง พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 11 พ.ศ.2551

[22] สรุปว่า ไม่สามารถอุดหนุนอำเภอเพื่อสนับสนุนการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เพราะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมการปกครอง เป็นอำนาจที่ซ้ำซ้อน จะต้องได้รับการถ่ายโอนตามมาตรา 30(1)(ก) และกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบตามมาตรา 30(2)แห่ง พรบ.กำหนดแผนฯ พ.ศ.2542เสียก่อน

[23] ข้อ 6 “อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ 5 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

ในกรณีมีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามสิบวัน นับแต่รู้เหตุแห่งข้อพิพาทหรือคดีนั้น เว้นแต่คดีจะขาดอายุความให้ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยทันที

หากมิได้มีการดำเนินการตามวรรคสอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเหตุผลและความจำเป็นให้นายอำเภอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ครบกำหนด และให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการหรือนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการก็ได้

การดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือการดำเนินคดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือนายอำเภอได้ดำเนินการไปก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือนายอำเภอดำเนินการต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

ความในวรรคสอง ไม่เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอที่จะดำเนินการฝ่ายเดียว"

ข้อ 5 "ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในบังคับของระเบียบนี้ หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรม หรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ที่ป่าช้า ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประจำตำบลหรือหมู่บ้าน

++++++++++++++++++++++++++++

ศึกษาเพิ่มเติม

[1] คู่มือการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
โดย ส่วนคุ้มครองที่ดินของรัฐ สำนักจัดการที่ดินของรัฐ (สจร.) กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย, กันยายน 2550

"ที่ดินของรัฐ" มีหลายประเภท ได้แก่ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สงวนหวงห้ามของรัฐ ทุกประเภท ที่สาธารณะ ที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ และที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท ...

ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน และที่ดินที่ใช้เพื่อ ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่มีไว้เพื่อบริการสาธารณะ เพื่อใช้ ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน และจัดไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304

https://www.dol.go.th/phangnga...


[2] ขอบเขตหัวข้อการดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

C R : [DOC] การคุ้มครองดูแลที่ดินอันเป็นที่สาธารณะ - วิทยาลัยการปกครอง iad.dopa.go.th/subject/land2.doc

ดู "มาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์", รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายวสันต์ วรรณวโรทร) ประธานคณะทำงาน ตาม คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 119/2549 ลงวันที่ 12 เมษายน 2549 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างมาตรฐานการบริหาร/การบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/work/e_book/eb1/std210550/27/27.htm

[3] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2550, http://www.dol.go.th/dol/image...

& มาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ (กมร 2551,2553), 2554, http://nam.dol.go.th/landmap/D...

[4] ขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน, ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทย  ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2543, http://www.dol.go.th/dol/image...

[5]  ขั้นตอนการถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์, http://nam.dol.go.th/publiclan...

1. การยื่นคำขอ  
2. การสอบสวนประวัติความเป็นมา 
3. การจัดทำแผนที่ท้ายประกาศ 
4. ความเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประชุมประชาคมรับฟังความเห็น  
5. ความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้อง  
6. การประชุมคณะกรรมการกำกับการใช้ประโยชน์ฯของจังหวัด  
7. จังหวัดส่งเรื่องให้กรมที่ดิน  
8. ร่างพระราชกฤษฎีกา  
9. กรมที่ดินเสนอกระทรวงมหาดไทย  
10. นำเสนอคณะรัฐมนตรี  
11. นำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา  
12. ประกาศราชกิจจานุเบกษา  
13. กรมที่ดินแจ้งจังหวัด

[6] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2539, http://dl.parliament.go.th/han...
& http://drmlib.parliament.go.th...

[7] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2553
ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 95 ง วันที่ 6 สิงหาคม 2553 หน้า 3-7,
http://www.ratchakitcha.soc.go...

หมายเลขบันทึก: 512187เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2019 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้จักที่ดิน ภ.บ.ท. 5

โพสต์เมื่อ 18 มกราคม 2559

http://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/เตรียมตัวก...

ในบรรดาที่ดินซึ่งประกาศขายอยู่เราจะพบที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิรับรองสิทธิในที่ดิน ได้แก่ โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (น.ส. 3 ก.) หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (น.ส. 3) หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (น.ค. 3) และหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) แต่ก็ยังมีที่ดินอีกประเภทหนึ่งที่ซื้อขายกันโดยเอกสารที่เรียกว่า ภ.บ.ท. 5 ซึ่ง DDproperty อยากจะชวนคุณมาเรียนรู้เกี่ยวกับที่ดินประเภทนี้กัน และเอกสารที่เรียกว่า ภ.บ.ท 5

ภ.บ.ท. 5 คืออะไร

ภ.บ.ท. 5 นั้นย่อมาจากชื่อเต็มคือ ภาษีบำรุงท้องที่ หรือที่เรียกกันว่า ภาษีดอกหญ้า ดังนั้น ภ.บ.ท. 5 จึงเป็นเพียงเอกสารที่รับรองการเสียภาษีของผู้ที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้คือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีหน้าที่รับจ่ายเงินภาษีและลงบันทึกไว้ และออกเอกสารที่เรียกว่า ภ.บ.ท. 5 ให้ผู้ชำระภาษีไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น ภ.บ.ท. 5 จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิที่ดินเพราะไม่ได้ออกโดยกรมที่ดิน และอบต. ไม่มีอำนาจตรวจสอบการครอบครองที่ดิน

...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท