พม่าประกาศใช้กฎหมายลงทุนจากต่างชาติ (ฉบับใหม่)


รัฐสภาพม่าผ่านความเห็นชอบกฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายใหม่แล้ว

กฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 20 มาตรา เปิดทางให้ต่างชาติลงทุนได้เต็มตัวในธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนพม่าซึ่งจะกำหนดเกณฑ์ต่ำสุดของเงินลงทุนตามความเห็นชอบของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังเปิดทางให้ต่างชาติร่วมลงทุนกับชาวพม่าหรือหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ตามสัดส่วนการลงทุนที่ตกลงกันไว้ด้วย


หลังจากส่งกลับไปกลับมาระหว่างสำนักงานประธานาธิบดีและรัฐสภาอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดประธานาธิบดีเต็ง เส่งได้ลงนามในกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนเพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในพม่าแทนฉบับเก่าที่ใช้มากว่า 20 ปีแล้ว


กฎหมายลงทุนต่างประเทศฉบับใหม่นี้มี 20 บท 57 มาตรา แต่สาระสำหรับที่นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจจะลงทุนในพม่าพึงจะต้องให้ความสนใจมากหน่อยมีอยู่ด้วยกัน 8 ประเด็นดังนี้


ข้อจำกัด: มาตรา 4 กำหนดประเภทธุรกิจซึ่งต้องห้ามสำหรับการลงทุนต่างประเทศด้วยกันทั้งหมด 11 ประเภท คือ ธุรกิจที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ในประเทศ ธุรกิจที่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะของประชาชน ธุรกิจที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ อุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต่อชุมชนหรือเป็นพิษ อุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายตามมาตราสากล การผลิตหรือการบริการซึ่งกฎหมายสงวนได้สำหรับคนพม่าเท่านั้น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรหรือวิธีการที่ยังอยู่ในขั้นทดลองหรือยังไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่าปลอดภัย การเพาะปลูกระยะสั้นหรือระยะยาวที่สงวนไว้สำหรับคนพม่าเท่านั้น การผสมพันธุ์สัตว์ที่สงวนไว้สำหรับคนพม่าเท่านั้น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในน้ำเค็มที่สงวนไว้สำหรับคนพม่าเท่านั้น และโครงการการลงทุนที่ห่างจากชายแดนไม่เกิน 10 ไมล์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) เว้นแต่ว่าอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลอนุญาตแล้วเท่านั้น

รูปแบบการลงทุน: มาตรา 9 และ 10 กำหนดว่าการลงทุนสามารถทำได้ 3 แบบคือ ต่างประเทศลงทุนทั้งหมด
การร่วมทุนระหว่างเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐพม่า หรือเป็นการร่วมลงทุนหลายฝ่าย ในกรณีที่เป็นการร่วมทุนสัดส่วนการถือหุ้นให้เป็นไปตามที่หุ้นส่วนตกลงกัน สัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำไม่ได้เขียนระบุเอาไว้ในกฎหมายชัดเจนแต่ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดโดยแปรผันตามลักษณะเฉพาะของธุรกิจแต่ละสาขา ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมใหม่ทั้งหมดจากที่เคยกำหนดสัดส่วนการร่วมทุนและเงินลงทุนขั้นต่ำเอาไว้อย่างชัดเจน


อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลงทุน: คณะกรรมการการลงทุนพม่านั้น โดยรูปร่างลักษณะแล้วอาจจะคล้ายๆกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยหรือในประเทศอื่นๆที่จัดรูปแบบองค์กรบริหารการลงทุนจากต่างประเทศในรูปคณะกรรมการ องค์ประกอบของคณะกรรมการที่เป็นตัวบุคคลนั้นในชั้นนี้ยังไม่ชัดเจนนักคนที่ทำหน้าที่เดิมก่อนที่กฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้คือ อู โซ เต็ง แต่ในตัวบทกฎหมายเขียนว่า ประธานจะมาจากเจ้าหน้าที่ในระดับสหภาพ (Union) หมายถึงระดับรัฐบาลกลางอาจจะอยู่ในระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า องค์ประกอบอื่นนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งเป็นกรรมการ และอาจจะมีบุคคลอื่นทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสมมาร่วมด้วย

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเสนอโครงการความเป็นไปได้ อนุมัติโครงการ ให้การส่งเสริมสิทธิพิเศษ ขยายโครงการ แก้ไขปรับปรุง และเพิกถอนโครงการได้หากดำเนินการผิดสัญญา ขอบเขตอำนาจที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของคณะกรรมการคือ มีอำนาจในอนุญาตหรือห้ามการใช้บริการทางการเงินของธนาคารใดก็ได้


การจ้างงาน: ในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินโครงการจะต้องจ้างแรงงานพม่าอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ในอีก 2 ปีถัดมาให้เพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และให้เป็น 75 เปอร์เซ็นต์ในอีก 2 ปีถัดมา แต่ทั้งนี้คณะกรรมการมีอำนาจที่จะปรับกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ให้เหมาะสมกับประเภทของธุรกิจได้ ในกรณีที่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือกฎหมายกำหนดว่าจะต้องจ้างชาวพม่าเท่านั้น ในกรณีที่เป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งงานนั้นๆจะต้องเป็นไปโดยปราศจากอคติหมายความว่าทั้งคนพม่าและต่างชาติต้องได้รับสิทธินั้นอย่างเท่าเทียม

สิทธิพิเศษ: การลงทุนจากต่างประเทศจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปี ถ้ามีการนำกำไรมาลงทุนต่อจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ในส่วนนั้น 1 ปี ในการกรณีที่เป็นการลงทุนเพื่อการส่งออกจะเสียภาษีรายได้ในส่วนของกำไรเพียง 50 เปอร์เซ็นต์
การนำเข้าเครื่องจักร อะไหล่ ส่วนประกอบ วัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าในช่วงการก่อสร้างโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร
ภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการผลิตเมื่อเริ่มโครงการแล้วจะได้รับยกเว้น 3 ปีหลังจากที่ก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว การขอยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับเครื่องจักร อะไหล่ ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบระหว่างที่เดินเครื่องทำการผลิตแล้วสามารถทำได้โดยการขออนุญาตจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับการยกภาษีการค้า

การใช้ที่ดิน: นักลงทุนต่างประเทศมีสิทธิใช้ที่ดินในประเทศพม่าโดยการเช่า ไม่ว่าจะเช่าหน่วยงานของรัฐหรือจากเอกชนเป็นเวลา 50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้งหากยังยืนยันที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป

สิทธิในการโอนเงินตราต่างประเทศ: การโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศผ่านธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้คณะกรรมการสามารถทำได้ใน 4 กรณีคือ 1) เงินตราต่างประเทศซึ่งบุคคลนั้นเป็นนำเข้ามาเอง
2) เงินตราต่างประเทศที่ถอนออกจากธนาคารที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการโดยบุคคลผู้นำเข้าเงินตราต่างประเทศนั้นเข้ามา
3) ผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย ภาษีและอื่นๆแล้ว

4) เงินได้ส่วนอื่นๆอันเกี่ยวเนื่องทางบัญชีหลังจากชำระภาษีแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลหรือครอบครัวที่นอกเหนือจากเงินเดือนและรายได้ที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทำงานในพม่า


บทลงโทษ: กฎหมายลงทุนต่างประเทศของพม่าฉบับนี้มีบทลงโทษสำหรับกรณีที่นักลงทุนได้กระทำการขัดต่อกฎหมายนี้ หรือ กฎหมายอื่น หรือ ระเบียบหรือคำสั่งอื่นใด การลงโทษนั้นจะมีลำดับชั้นจากเบาไปหาหนัก
เริ่มแต่ การตักเตือน พักสิทธิพิเศษเป็นการชั่วคราว เพิกถอนใบอนุญาตลงทุน และ ขึ้นบัญชีดำนักลงทุนรายนั้นๆ

 

โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลงทุนต่างประเทศของพม่าฉบับใหม่ เป็นกฎหมายที่นักลงทุนต่างประเทศทั่วไปเห็นว่ามีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับฉบับก่อนหรือจารีตประเพณีในการดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศที่พม่าเคยปฏิบัติมาในอดีต

อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงแนวทางการลงทุนจากต่างประเทศโดยชัดเจนเสียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้อจำกัดในการลงทุน ซึ่งต้องอ้างอิงจากกฎหมายอื่นๆที่อาจจะไม่เป็นการทราบกันโดยทั่วไปมากนัก
ด้วยว่าบางฉบับก็เป็นกฎหมายเก่าที่ใช้มานาน เช่นกิจการที่สงวนสำหรับประชาชนท้องถิ่นหรือชาวพม่าเองนั้นยังไม่มีปรากฎว่ามีการประกาศออกมาโดยชัดเจนในกฎหมายลงทุนว่ากิจการใดบ้างที่สงวนหรือกิจการใดบ้างที่ต่างชาติลงทุนหรือร่วมลงทุนได้

(เผยแพร่ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ 13 พฤศจิกายน 2555)

 

การเคลื่อนไหวข้างต้น ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ระดับโลกไล่ตั้งแต่ โคคา โคลา โค หนึ่งใน 2 ผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่สุดของโลก จากสหรัฐ ไปจนถึงเจนเนอรัล อิเล็คทริค (จีอี) กลุ่มการค้าอันดับต้นๆ ของโลก ต่างมีแผนที่จะเข้าลงทุนในพม่าที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่งหลุดพ้นจากการโดนหลายประเทศ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมานานหลายปี

ปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจซึ่งอยากเข้าลงทุนในพม่า ร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือการขาดกรอบกฎหมายการลงทุนที่ชัดเจน โดยบรรดานักลงทุนพากันมองพม่าว่าเป็นตลาดแถวหน้ารายต่อไปของภูมิภาค จากการที่มีทรัพยากรจำนวนมหาศาลประชากรจำนวนมาก และสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เพราะอยู่ระหว่างจีน กับอินเดีย


สำหรับข้อเสนออื่นๆที่ทางประธานาธิบดีได้เสนอมาและได้รับการอนุมัติคือ ใจความที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนเนื้อหาที่ไม่ได้รับการอนุมัติเพียงข้อเดียวคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการกำหนดเงินเดือนของผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น



ก่อนหน้านี้
ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความเห็น ถึงกฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ของพม่าว่า มีข้อดีอยู่ตรงที่ว่า ได้กำหนดกิจกรรมที่ต้องห้ามหรือต้องจำกัดไว้ คือ ไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของสำนักงานจดทะเบียนธุรกิจในการพิจารณาออกใบอนุญาตการค้าให้กับบริษัทจากต่างชาติอีกต่อไป

แต่ยังมีข้อเสียอยู่เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการให้ต่างชาติทำที่ต้องการทำการค้าผ่านพรมแดนทางบก ยกเว้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลพม่าก่อน นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดที่เข้มงวดในการจ้างบุคลากรในท้องถิ่น อาทิเช่น
ตำแหน่งที่ต้องใช้ผู้ชำนาญการด้านเทคนิคหรือมีทักษะพิเศษ ภายใน 2 ปีจะต้องมีบุคลากรชาวพม่าในตำแหน่งนั้นอย่างน้อย
25 % และภายใน 4 ปีต้องมีบุคลากรในตำแหน่งนั้นอย่างน้อย
50 % และสุดท้ายภายใน 6 ปีจะต้องมีบุคลากรชาวพม่าในตำแหน่งนั้นอย่างน้อย
75 %


กระนั้นก็ตาม
กฎหมายการลงทุนจากต่างชาติฉบับใหม่ ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประเภทธุรกิจต้องห้าม สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการการลงทุนต่างชาติเป็นผู้มีอำนาจและดุลพินิจในการตัดสินใจ ทั้งการกระตุ้นทางภาษียังไม่ดีเท่าที่ควร และมีความน่าสนใจน้อยกว่าที่การกระตุ้นทางภาษีที่กำหนดไว้ในกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีกทั้งยังคงขาดความชัดเจนในลักษณะการยกเว้นภาษี หรือการผ่อนผันทางภาษี


ที่มา :

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000134677

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/asean-plus/20121104/476514/%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2.html

http://www.indochinapublishing.com/content/view.php?code=at13530356060346

หมายเลขบันทึก: 512180เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท