nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ข้อคิดเรื่องยาหลายตัว : จากหนังสือ_หนังโรคจิต ๒ เล่ม _ เมื่อจิตแพทย์เขียนถึงหนัง



          ในตอนท้ายของบันทึก ข้อคิดการดูแลบุพการีผู้สูงอายุ : จากหนังสือ_หนังโรคจิต ๒ เล่ม _ เมื่อจิตแพทย์เขียนถึงหนัง ฉันยกข้อความจากหนังสือของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ที่เขียนไว้ในบทว่าด้วยหนัง “...First Do No Harm” (จากหลังคาแดงถึงหลังโรง’บาล ,หน้า ๒๑๗) มาดังนี้

          “...ในที่สุดคุณแม่ลอรี่ยอมแพ้ เธอไม่สามารถอดทนต่อการทำงานของโรงพยาบาลได้อีก เธอพูดสิ่งที่ผู้ป่วยทั่วโลกอยากพูดนั่นคือ คุณหมอให้ยาตัวที่หนึ่ง แล้วให้ยาตัวที่สองเพื่อแก้ฤทธิ์ข้างเคียงของยาตัวที่หนึ่ง แล้วให้ยาตัวที่สามเพื่อแก้ฤทธิ์ข้างเคียงของยาตัวที่สอง เรื่อยๆ ไป...”


        หนังเรื่อง “...First Do No Harm” เป็นหนังเกี่ยวกับแม่ที่ต่อสู้เพื่อลูกชายตัวน้อยที่ป่วยด้วยโรคลมชัก หมอตรวจวินิจฉัยและรักษาหลายๆ อย่างแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถรักษาลูกชายของเธอได้ แม้ว่าหมอได้ทำทุกอย่างทุกขั้นตอนตามหลักการของวิชาชีพแล้ว

          ด้วยอารมณ์อัดอั้นจากความทุกข์แสนสาหัสคุณแม่ลอรี่จึงโพล่งด้วยประโยคยาวๆ ที่คุณหมอประเสริฐเขียนไว้ในหนังสือ

          คนเขียนบทหนังเรื่อง First Do No Harm ยกนิยามบางตอนของแนวคิดเรื่อง “ยาหลายตัว”  มาตรงๆ

          คำว่า “ยาหลายตัว” (Polypharmacy) จำกัดความไว้ ๒ ความหมาย คือ การที่คนไข้ได้ยามากกว่า ๕ ตัว กับ การที่หมอจ่ายยาตัวที่สองเพื่อรักษาอาการข้างเคียงของยาตัวแรก หรือ จ่ายยาตัวที่สามเพื่อรักษาอาการข้างเคียงของยาตัวที่สอง

          ขยายความนิดว่า ยาเป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลอง จึง “อาจเกิด” สิ่งที่เรียกว่า อาการข้างเคียง ปรากฏขึ้นเป็นความ “ไม่สบาย” โน่นนี่นั่นหลายอาการ ที่พบบ่อยๆ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ ฯลฯ คนไข้ก็ไม่รู้หมอก็ไม่รู้ว่าอาการไม่สบายที่คนไข้บอกนั้นเกิดจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา หรือเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยากันเองที่เรียกว่ายาตีกัน จึงให้ยารักษาอาการนั้นเพิ่มไปอีก เช่น เวียนหัว ก็ให้ยาเวียนหัวเพิ่มเป็นตัวที่ ๒ ตัวที่ ๓ มีคนไข้มากมายที่กินยาเวียนหัว ๓ ตัวแล้วก็ยังเวียนหัว กินยาแก้คลื่นไส้จุกแน่นท้อง ๕ ตัวก็ยังไม่สบายในท้อง

          เมื่อคนไข้รายนี้ไปหาอายุรแพทย์ที่เข้าใจเรื่อง Polypharmacy ดี คุณหมอก็ขอให้คนไข้กลับไปเอายาที่กิน “ทั้งหมด” มาให้ดู (บางคนกินยามากกว่า ๒๐ ขนาน) คุณหมอดูๆ แล้วก็หยิบยาที่ “ไม่จำเป็น” บางตัวออกไป คนไข้ก็สบายขึ้นได้ จากที่กินยา ๒๐ ตัวก็กินยาแค่ ๘ ตัว (ซึ่งเป็นยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคของผู้ป่วย เช่น ยาความดัน ยาเบาหวาน เป็นต้น)

          ในคนแก่อายุเกิน ๖๕ ปี ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก จึงมีเกณฑ์ช่วยหมอเพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจจ่ายยาว่า ยาตัวไหนควรให้ ยาตัวไหนไม่ควรให้ เพราะให้แล้วอาจเกิดอาการข้างเคียงที่อันตรายต่อคนแก่ เรื่องนี้ คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เขียน(ยกมาให้อ่านยาวๆ ทั้งหมด)ไว้ว่า

          “คนแก่หนึ่งคนควรมีอายุรแพทย์ประจำตัวคนเดียวและอาจจะมีแพทย์เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาช่วย เช่น มีหมอหัวใจ ปอด ตับ ไต สมอง ลูกตา หู กระดูกและข้อ รวม ๘ คนดู ๘ อวัยวะ แต่อย่าปล่อยให้คุณหมอทั้ง ๘ จ่ายยาคนละสามซองรวมเป็น ๒๔ ซองโดยไม่มีแพทย์ประจำตัวเป็นกรรมการกลาง ที่ถูกที่ควรคนแก่หนึ่งคนควรมีอายุรแพทย์ที่มีฝีมือเป็นแพทย์ประจำตัวดูภาพรวมของผู้ป่วยและควบคุมการรักษาทั้งหมด มิเช่นนั้นจะเกิดสภาพการกินยา ๒๔ ซองแล้วสมองสับสนอาการทรุดหนักกว่าเดิมเสมอๆ”  (จากหลังคาแดงถึงหลังโรง’บาล ,หน้า ๑๖๘)

          ระบบของประเทศไทยไม่มีแพทย์ประจำตัว คนไข้จึงสามารถตระเวนไปหาหมอตามใจชอบ หาหมอหลายคน ได้ยามามากมาย กินเท่าไหร่ก็ไม่สบายสักที คำแนะนำง่ายๆ คือ

          - ไปหาหมอเอายาทั้งหมดไปด้วย เอายาให้หมอดู ย้ำว่า “ยาทั้งหมดที่กิน” ทั้งยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน น้ำหมัก ยาหมอพระ ยาหมอผี ยาป้าข้างบ้าน วิตามิน อาหารเสริม ที่ซื้อมาแพงๆ ยกหม้อไปไม่ได้ก็เล่าให้หมอฟัง

          - ไม่ซื้อยากินเอง แม้ที่โฆษณาว่าเป็นสมุนไพร วิตามิน อาหารเสริม ก็ไม่ปลอดภัย เพราะสมุนไพรเดี๋ยวนี้ก็แอบใส่ยาลงไปด้วย วิตามินเม็ดก็เป็นสารเคมี กินแล้วตับพัง ไตพังมาเยอะแล้ว

          - กินยาเท่าที่จำเป็น คือ ยาที่รักษาโรคประจำตัวเท่านั้น ถามหมอถามเภสัชกรให้รู้จักยาทุกตัวที่กิน ยาแก้เวียนหัว วิตามิน ยาบำรุง ถือว่าเป็นยาเกินจำเป็น เว้นแต่คนไข้บางคนที่หมอบอกว่าจำเป็นต้องกิน

          หลักจำง่ายๆ คือ กินยาเท่าที่จำเป็น ไม่จำเป็นก็อย่าไปหายามากิน.

จันทร์ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 570872เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2014 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2014 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ใช่ค่ะ ....ยาไม่ใช้รักษาได้ทุกโรค .... ผลเสียของการกินยา มีมายกมายค่ะ

ขอบคุณค่ะความรู้เรื่องนี้จำเป็นมากค่ะ  ก่อนที่คุณหมอจะสั่งยาควรแนะนำคนไข้นะคะ ไม่ต้องเกรงใจ คิดถึงคุณแม่ ได้ยาจากหมอมากินแล้วคงรู้สึกไม่ดี ก็เลือกยาบางเม็ดทิ้งเอง ก็ไม่ถูกอีกเช่นกัน 

ยารักษาที่ปลายเหตุ....บางกรณีรักษาผิด กลับซ้ำเติมโรคให้กนักขึ้นอีก...เห็นด้วยค่ะเรื่องอันตรายจากการใช้ยา...

ขอบคุณพี่ Dr. Ple เราควรกินยาเท่าที่จำเป็นค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ GD ค่ะ

หมอจะบอกคนไข้ในห้องตรวจ แต่คนไข้รับได้ไม่ครบหรอกค่ะเพราะหมอมีเวลาน้อย  คนไข้จะได้คำอธิบายที่ละเอียดจากเภสัชกรที่หน้าห้องยาก่อนจ่ายยาอีกรอบ 

แต่ก็ยังเจอบ่อยๆ ที่ผู้สูงอายุใช้ยาไม่ถูกต้อง หยุดกินยาเองบางตัว เลือกกินบางตัว ซึ่งอาจเป็นผลเสีย เพราะไม่รู้ว่ายาตัวไหนจำเป็นต้องกิน  ตัวไหนหยุดกินได้

กินยาแล้วมีปัญหา ขนยาทั้งหมดไปหาหมออีกรอบดีที่สุด

คนแก่ไปหาหมอ ถ้ามีลูกไปคุยกับหมอด้วยดีที่สุดค่ะ  คนแก่มีข้อจำกัดการรับรู้ เช่น ได้ยินหมอพูดไม่ชัด  เกรงใจไม่กล้าถาม ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ฯลฯ

คนไข้ไทยชอบกินยาค่ะ  ขอให้ได้ยาไปมากๆ กินครบไม่ครบ กินถูกไม่ถูกนี่อีกเรื่องหนึ่งค่ะพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

เจอคนไข้ที่ซื้อยา อาหารเสริมกินเองแล้วมีปัญหาเรื่องตับ ไต หัวใจ ไม่น้อยค่ะ

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจค่ะคุณ  วิชญธรรม

...ใช้ธรรมชาติบำบัด...ดีที่สุดนะคะ...

เห็นด้วยค่ะอาจารย์ Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

คนที่ไม่มีโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาประจำนี่โชคดีมากค่ะ

เป็นบันทึกที่มีประโยชน์สำหรับทุกคนมากนะคะ ขอบคุณมากค่ะพี่นุ้ย น่าเป็นห่วงนะคะ คนที่ต้องกินยาหลายขนาน ระวังรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรงเป็นดีที่สุดนะคะ An apple a day keeps a doctor away ทำนองนั้น 

กุหลาบต้องพาพี่สาวซึ่งอายุ 79 ไปหาหมอเป็นประจำ จะได้ระวังไว้ และจำไว้ว่ากินยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น

"An apple a day keeps a doctor away "  ชอบจัง  เอามาจากไหนคะนี่

ตอนอุ้มท้องลูกชายคนเล็กพี่ก็มาแนวนี้ค่ะ  An apple a day..

ไม่มีโรค ร่ำรวยกว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง ๑๐ ใบค่ะ 

ขอบคุณคุณ  rojfitness ที่แวะมาอ่าน และฝากดอกไม้ค่ะ

ยามีทั้งคุณและโทษนะจ๊ะ  กินก็ไม่ดี  ไม่กินก็ไม่ได้  คุณมะเดื่อก็ต้องกินยาประจำทุกวันจ้ะ

ใช่แล้วค่ะน้องครู คุณมะเดื่อ กินเท่าที่ทำเป็นเพื่อรักษาโรคก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ อย่าไปหาอะไรมากินเพิ่มก็แล้วกัน

-สวัสดีครับพี่หมอ

-กินยาเป็นประจำทุกวัน..

-รักษาอาการโรคเรื้องรัง..ความดันสูง..อิๆ

-แบบนี้จำเป็นต้องกินใช่ไหมครับ?

-หากหยุดยา..มีหวัง...พลาด...เดิมพันด้วยชีวิต..

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ..

น้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง ยารักษาความดันโลหิตสูงถือเป็น "ยาจำเป็น"   ต้องกินไปตลอดชีวิต  ห้ามเบื่อค่ะ

ใช่ค่ะพี่ใหญ่  นงนาท สนธิสุวรรณ คนสูงอายุถ้าไม่ต้องกินยาอะไรเลย ถือว่าสุขภาพดีเยี่ยม

วันนี้เจอคนไข้สองคน กินเห็ดหลินจือแคปซูล มาด้วยตับอักเสบค่ะ  แม้เราไม่รู้ว่าเป็นสาเหตุจริงหรือเปล่า  แต่คนไข้ที่มาด้วยตับอักเสบพอคุยไปๆ ก็ได้ความว่าไปหาวิตามินอาหารเสริมอะไรสักตัวมากิน ส่วนใหญ่คนไข้โรคเรื้อรังทั้งหลายหามากินกันมากกว่า ๑ ตัว  ซื้อตามโฆษณา บอกต่อ  และ ขายตรงค่ะ

หมอโรคตับที่ รพ. เธอโกรธมากเวลาคุยเรื่องวิตามินอาหารเสริมที่ขายกันเกร่อ เพราะเพิ่มคนไข้มาให้เธอรักษาค่ะ

ขอบคุณค่ะ Dr. Pop ทีแวะมาอ่าน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท