จาก ศ. ดร. เขียน ธีระวิทย์


รัฐประหารไทย 2557 : ทางเลือกทางรอด

ก่อนหน้าที่ทักษิณ ชินวัตร จะก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า ทหารจะหาข้ออ้างใดๆ มาทำรัฐประหารไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จากนั้นเป็นต้นมา ผมว่าหลักการนี้จะมาใช้กับประเทศไทยภายใต้ระบอบทักษิณไม่ได้ ระบอบทักษิณสอนให้ผมเติบโตในด้านวิชาการ ทางการเมืองมากขึ้น การเมืองไทยในระบอบทักษิณมีลักษณะจำเพาะอย่างไร เรามีทางเลือกในการแก้ปัญหาโดยปราศจากการแทรกแซงของทหารอย่างไรหรือไม่ ผลประโยชน์ของชาติเราอยู่ที่ไหน เป็นประเด็นที่จะนำมาวิเคราะห์ในบทความเรื่องนี้อย่างย่อๆ

1.สาเหตุของรัฐประหาร

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทักษิณ ชินวัตรเป็นเจ้าของพรรคนั้น ขาดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย เพราะโกงการเลือกตั้ง ละเมิดกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ใช้กฎป่าทำให้ได้อำนาจและรักษาอำนาจ จนเป็นเหตุให้ผู้อยู่ใต้การปกครองใช้กฎป่าในการโค่นล้มรัฐบาลอันมิชอบด้วยกฎหมายได้

1.1 โกงการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ได้ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคเพื่อไทยและ ส.ส. ของพรรคได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งหลายประการ ถ้า กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จะมีผลทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบ ส.ส.พรรคหลายคนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองและถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกและ/หรือปรับหลายกระทง
 เหตุที่ กกต.ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นมีมาก ที่สำคัญคือ กกต. จังหวัดทั่วประเทศนั้น ขาดความรู้-ความสามารถ-ความเที่ยงธรรม และการละเมิดกฎหมายมีมากเกินไปที่จะดำเนินคดี การซื้อเสียงในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศนั้นหาหลักฐานลำบาก นอกจากนั้น ก็ยังเกรงกลัวการข่มขู่จากคนในระบอบทักษิณซึ่งทำงานผ่านตำรวจ และขบวนการคนเสื้อแดง
 ยิ่งกว่านั้น การยุบพรรคการเมืองของทักษิณนั้นไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติ เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน (2551) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของแกนนำพรรคนับร้อย แต่ทักษิณก็จัดตั้งพรรคใหม่ หา “มือปืนรับจ้าง” มาเล่นการเมืองโกงๆ พลิกแพลงให้ “ก้าวหน้า” มากขึ้น เช่น พรรคเพื่อไทยที่มียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยิ่งลักษณ์และบุคคลสำคัญๆ มิได้เป็นกรรมการบริหารของพรรค ระบอบทักษิณเตรียมตัวโกงล่วงหน้า ถ้าพรรคถูกยุบ กรรมการบริหารสิบกว่าคนที่เป็น “มือปืนรับจ้าง” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็ไม่เป็นไร พวกเขาก็ไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ คือใช้กลเม็ดทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนเสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ นี่คือประชาธิปไตยในระบอบทักษิณ

1.2 ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญซ้ำซาก คิดว่ามีเสียงข้างมากแล้วสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง แก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของประชาชน และทำลายความอิสระของวุฒิสภา พยายามจะออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับ “เหมาเข่ง” ล้างโทษอย่างหมดจดให้นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายในรอบสิบปีที่ผ่านมา แม้ศาลจะได้ตัดสินลงโทษถึงที่สุดไปแล้วก็ให้ถือว่าไม่เคยทำผิด

เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้เป็นโมฆะไปแล้ว ผู้นำของรัฐบาลนี้ประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และทุกครั้งที่ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะตัดสินคดีที่ฝ่ายรัฐบาลถูกดำเนินคดี ฝ่ายรัฐบาลจะออกมาข่มขู่คุกคามโดยวาจา ชุมนุมประท้วงปิดล้อมสำนักงาน และยิงหรือขว้างปาระเบิดใส่บ้านของกรรมการ ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนหลายครั้ง แต่รัฐบาลไม่เคยจับกุมคนร้ายได้เลย

ในเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ นำโดย กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แม้ในที่สุด โดยคำสั่งของทักษิณ รัฐบาลได้ถอนร่าง พ.ร.บ. ไปแล้วในขั้นวุฒิสภา แต่การชุมนุมประท้วงก็ยังไม่หยุด ในช่วง 6 เดือน ก่อนหน้าการรัฐประหาร คนร้ายของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามยิงและขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่าเกือบทุกวัน เป็นผลให้มีคนตาย 28 คน บาดเจ็บ 837 คน ในจำนวนนี้มีที่บาดเจ็บสาหัสและต้องพิการตลอดชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก

ในกรณีที่ฝ่ายตัดสินคดีและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นฝ่ายถูกกระทำ ตำรวจและรัฐบาลนี้ยังไม่เคยจับผู้ร้ายมาดำเนินคดีได้เลยแม้แต่รายเดียว (แม้คนร้ายบางคนจะปรากฏโฉมหน้าในจอโทรทัศน์ที่มีภาพคนกำลังขว้างปาระเบิดจากกล้องวงจรปิดก็ตาม)

นอกจากนั้น รัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปยังมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับคดีต่างๆ มากมาย ที่สำคัญเช่น การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. ตัดสินให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้าการเกิดรัฐประหารไม่นาน ผู้นำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลายคนได้ออกมาพูดจาข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญและป.ป.ช. อย่างอุกอาจ และประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยขององค์กรทั้งสองด้วย นั่นเท่ากับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ คนอื่นก็ไม่ต้องทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วย โดยเอาทักษิณที่เป็นนักโทษหนีคุกเป็นตัวอย่าง

1.3 อำนาจคือความชอบธรรม การอ้างเสียงข้างมากในการทำผิดกฎหมายหรือผิดรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการบิดเบือนหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนเลือก ส.ส.และ ส.ว.ไปทำความดีไม่ใช่ไปทำความชั่ว และไม่ใช่ให้ไปทำผิดกฎหมาย นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก Aristotle (พ.ศ.159?-221) เรียกพวกเสียงข้างมากที่ทำผิดกฎกติกาของประชาคมว่า “ทรราชโดยเสียงข้างมาก” ผู้นำเช่นนี้จะถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติ Hobbes (พ.ศ.2133-2222) และ Locke (พ.ศ.2174-2247) ต่างพูดถึงเรื่องนี้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้ปกครองสูงสุดซึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขตที่สัญญาประชาคมให้ไว้ (เท่ากับรัฐธรรมนูญและกฎหมายในปัจจุบัน) เขาเป็น “ทรราช” เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาคมพลเรือนสิ้นสุดลง กลับเข้าสู่ภาวะธรรมชาติอีก กฎหมายไม่มี มีแต่กฎป่า (law of the jungle) ไม่มีถูก ไม่มีผิด “อำนาจคือความชอบธรรม” ผู้ที่ชนะจากการใช้กำลังได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมิ่งจื่อ (พ.ศ.174-254) สาวกเอกของขงจื่อบอกว่า ผู้ชนะได้รับ “ประกาศิตแห่งสวรรค์” (เทียนมิ่ง) ให้ปกครองประเทศแทนผู้ปกครองคนเก่า (ดูวิเคราะห์เชิงทฤษฎีอย่างละเอียดใน เขียน ธีระวิทย์ “สิทธิการทำรัฐประหาร” ใน www.thaiworld.org หมวดว่าด้วยการเมือง)

2. ทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไทย

ก่อนที่ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และยึดอำนาจการปกครองในอีกสองวันต่อมานั้น ประเทศไทยเข้าสู่ยุควิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ปัญหาร้ายแรงที่ต้องแก้ไขอย่างรีบด่วน ที่สำคัญๆ โดยย่อคือ

ประการแรก รัฐบาลรักษาการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้ นอกจากรัฐบาลไม่มีนายกรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายแล้ว ทำเนียบรัฐบาลและหน่วยราชการสำคัญๆ ถูกกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยึดไว้นานเกือบ 6 เดือนแล้ว ใกล้จะอยู่ในสภาพเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state)

ประการที่สอง ความแตกแยกของคนในสังคมเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐบาล กลุ่มพลังมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาล (กปปส.) และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล (นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กำลังเผชิญหน้ากันใกล้ถึงจุดแตกหัก

ประการที่สาม รัฐบาลปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยสงบ ถูกลอบยิงและขว้างระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่สี่ ชาวนาอีกประมาณ 850,000 ครอบครัวรอเงินที่รัฐบาลค้างชำระค่าจำนำข้าวอีกประมาณ 99,000 ล้านบาท พวกเขาเดือดร้อนแสนสาหัสจนถึงกับฆ่าตัวตายไปแล้วถึง 16 คน

ประการที่ห้า วิกฤตการเมืองกำลังส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กระทบถึงสวัสดิภาพปากท้องของประชาชนแล้ว

ปัญหาเหล่านี้ เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ คนไทยส่วนมากทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มีทางเลือกทางรอดอะไรบ้างในขณะนั้น

2.1 ทางเลือกที่ 1 : ให้รัฐบาลรักษาการจัดการเลือกตั้งใหม่

2.1.1 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด (2 กุมภาพันธ์ 2557) ถูกขบวนการมวลชนนำโดย กปปส. ต่อต้าน จนศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นโมฆะไปแล้ว ถ้าจะให้รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของทักษิณซึ่งเป็นเจ้าภาพตัวจริง จัดการเลือกตั้งอีกก็คงล้มเหลวเช่นเดิม

2.1.2 สมมติว่ารัฐบาลในระบอบทักษิณจัดการเลือกตั้งใหม่ได้สำเร็จ การโกงการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งก็คงเหมือนเดิม ตามที่กล่าวแล้วในข้อ 1.1 หลังการเลือกตั้ง ขบวนการต่อต้านรัฐบาลก็คงไม่ลดความรุนแรงลงเลย

2.1.3 ปัญหาวิกฤติ 5 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้นก็คงยังคั่งค้างอยู่ แก้ไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น คู่ขัดแย้งอาจจะยกพวกปะทะกัน กลายเป็นการจลาจลนองเลือดหรือสงครามกลางเมืองขึ้นมาได้

2.2 ทางเลือกที่ 2 : ให้รัฐบาลรักษาการลาออก

2.2.1 ผู้นำในระบอบทักษิณบอกว่ารัฐบาลรักษาการลาออกไม่ได้ จะต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ความจริงการลาออกนั้นง่ายนิดเดียว จะลาออกทั้งคณะก็ได้หรือเป็นรายบุคคลก็ได้ เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

2.2.2 จริงอยู่ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องลาออก แต่เป็นมโนธรรมส่วนบุคคล รัฐบาลนี้ได้สร้างปัญหาให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะชาวนาผู้ยากไร้ 16 ชีวิตที่ฆ่าตัวตาย เพราะรอรับเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาลนานเกินไป ก็น่าจะเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงเพียงพอที่จะกระตุ้นจิตสำนึกให้รัฐบาลลาออก เพื่อหลีกทางให้รัฐบาลใหม่มาชำระหนี้ให้ได้ทันที

2.2.3 ถ้ารัฐบาลรักษาการลาออก วุฒิสภาในขณะนั้นมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศสืบต่อไปได้

2.2.4 ปัญหาก็คือ รัฐบาลรักษาการยืนกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่ยอมลาออก แม้รักษาความสงบเรียบร้อยไม่ได้ ก็ไม่ยอมลาออก คนอื่นจะเข้ามาบริหารราชการแทนก็ไม่ยอม

2.3 ทางเลือกที่ 3 : ให้วุฒิสภาจัดตั้งรัฐบาลใหม่

2.3.1 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไปแล้ว วุฒิสภาก็ต้องทำหน้าที่แทนในฐานะรัฐสภา จึงมีพันธะที่จะต้องช่วยหาทางออกให้ชาติโดยตรง

2.3.2 แต่ในทางปฏิบัติ มีปัญหาในแง่กฎหมายโต้เถียงกันมาก เช่น วุฒิสภาจะเรียกประชุมกันเองได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่ยอมตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมวุฒิสภา และเมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกยกเลิก การเลือกตั้งคนกลางที่มิได้ผ่านการเลือกตั้ง มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำได้หรือไม่ เป็นต้น

2.3.3 ถ้าไม่เกิดการรัฐประหาร คาดกันว่าสมาชิกวุฒิสภาคงจะเลือกคนกลางที่เหมาะสม มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศต่อไป

2.3.4 ผลที่จะตามมาคงคาดการณ์ได้ยาก ทางที่อาจเป็นไปได้มากที่สุดคือ รัฐบาลรักษาการภายใต้การชี้นำของทักษิณก็คงไม่ยอมออก พวกเสื้อแดงและคนพันธุ์ทักษิณ ก็คงจะร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาลใหม่จนเข้าทำงานไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น ตำรวจคงจะเข้าข้างรัฐบาลรักษาการเหมือนเดิม ทหารประกาศกฎอัยการศึก และต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของคนในระบอบทักษิณ ความสงบสุขก็คงจะยังไม่เกิดขึ้น แต่สงครามกลางเมืองอาจเกิดขึ้นมาได้

2.4 ทางเลือกที่ 4 : รัฐประหาร

2.4.1 ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทหารจะใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมืองไม่ได้ แต่ประเทศไทยภายใต้ระบอบทักษิณนั้น เรามีแต่ประชาธิปไตยจอมปลอมเท่านั้น

2.4.2 หัวหน้าคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้เหตุผลของการทำรัฐประหารว่า วิกฤตของประเทศถึงจุดเดือดจึงจำเป็นต้องออกมายุติความวุ่นวายและการนองเลือด เมื่อท่านออกมาปราศรัยต่อ สื่อมวลชนครั้งแรกหลังรัฐประหาร ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ท่านกล่าวโดยสรุปว่าประเทศไทยกำลังจะแตกสลาย ท่านจึงออกมาซ่อม ไม่ใช่ออกมาต่อสู้กับใคร

2.4.3 รัฐประหารนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ต้องการ รวมทั้งทหารด้วย แต่ทหารไทยมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติด้วย ตอนที่เกิดการรัฐประหารขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าความมั่นคงของชาติถูกคุกคามอย่างรุนแรง สงครามกลางเมืองมีทีท่าว่าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก

2.4.4 การชำระหนี้ชาวนานั้น คสช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงจัดการชำระหนี้ให้ได้เรียบร้อยภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เข้ายึดอำนาจ

2.4.5 ทหารอดทน-อดกลั้นมานาน เพื่อให้พลเรือนแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองกันเอง แต่ในที่สุด เมื่อทางออกอื่นถูกปิดหมด ทหารจึงตัดสินใจทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะได้รับการต่อต้านทั้งจากภายในและภายนอกก็ตาม

3. ปัญหาและลู่ทางในอนาคต

การทำรัฐประหารคราวนี้ สำเร็จลุล่วงไปโดยราบรื่น และสูญเสียทรัพยากรของชาติน้อยมาก คนที่มีคุณธรรมและมีความสำนึกผิดชอบชั่วดีล้วนมีความเห็นว่า การรัฐประหารคราวนี้แม้จะไม่ดี แต่ก็จำเป็นเพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่นักการเมืองทำสะสมเอาไว้

ปัญหามีว่า คสช. จะสามารถสร้างความสงบ และสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนต่อเนื่องไปจนถึงมีการเลือกตั้งทั่วไปได้หรือไม่ จะทำอะไรที่เป็นแก่นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ส่งลูกต่อให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรที่จะลดความกดดันของคนที่รังเกียจการทำรัฐประหารและรัฐบาลทหาร จะตอบคนที่สงสัยได้หรือไม่ว่า คสช. มิใช่ “อำมาตย์” ที่จะทำสงครามชนชั้นกับ “ไพร่” ในชนบท ใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบส่วนรวม ทำรัฐประหารเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย แต่ไม่ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงและผลประโยชน์ต่างๆ ของชาติ

3.1 ปัญหาภาพลักษณ์ของคณะรัฐประหาร

3.1.1 เป็นความจริงว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีการปกครองโดยทหาร ปัญหามีว่า คสช. จะทำอย่างไรเพื่อให้คนที่รังเกียจเห็นว่า เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า ทหารจึงต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เข้ามาปกครองอย่างถาวร

3.1.2 อกุศลกรรมที่ระบอบทักษิณทำเอาไว้ ทำให้การทำรัฐประหารคราวนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากประชาชนส่วนใหญ่ คสช. จะต้องทำงานให้คนไทยและชาวโลกเห็นว่า การเมืองที่ใช้อำนาจเงินเป็นใหญ่ มีข้อเสียอย่างไร มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าอะไรบ้าง

3.1.3 คสช. ต้องทำอย่างไรให้คนที่คัดค้านรัฐประหารเห็นว่าระบอบทักษิณเป็น “ทรราชโดยเสียงข้างมาก” ทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญซ้ำซาก และทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมายด้วย เป็นเหตุให้ทหารต้องเข้ามาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และพยายามสร้างรากฐานการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสืบทอดต่อไปอย่างถาวร

3.1.4 ปัญหาที่ท้าทายก็คือ การขุดรากถอนโคนกำจัดระบอบทักษิณ โดยไม่ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ชวนให้เกิดการทะเลาะกันต่อ แต่เพื่อความปรองดองแห่งชาตินั้นต้องทำอย่างไร

3.2 ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ไพร่” กับ “อำมาตย์”

3.2.1 ระบอบทักษิณได้อาศัยวิธีโกงการเลือกตั้งดังที่กล่าวแล้วในข้อ 1.1 ผสมกับความเชี่ยวชาญในการทำประชาสัมพันธ์โครงการประชานิยมของทักษิณ ทำให้พรรคการเมืองของทักษิณได้คะแนนเสียงข้างมากในภาคเหนือและภาคอีสาน กระแสความนิยมทักษิณในหมู่คนจนยังมาแรง ขบวนการคนเสื้อแดง อาศัยวิทยุชุมชนของฝ่ายทักษิณ พยายามสร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่า พวกเขาเป็น “ไพร่” พวกเดียวกับคนจน ต่อสู้กับ “อำมาตย์” ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและคนรวยในเมืองที่ต่อต้านพวกเขา

3.2.2 คสช. จะต้องทำอะไรให้คนจนในชนบท นักวิชาการมาร์กซิสต์ทั้งไทยและเทศเข้าใจว่า ชนชั้น ในสังคมไทยไม่มีจริง ทหารมิได้ทำรัฐประหารรับใช้อำมาตย์ดังที่ถูกกล่าวหา โครงการประชานิยมนั้นเป็นโครงการซื้อเสียงทางอ้อม ประโยชน์ที่ได้รับไม่ยั่งยืน ดูโครงการรับจำนำข้าวของทักษิณเป็นตัวอย่าง นายทุน ตัวจริงในระบอบทักษิณที่หลอกชาวโลกว่าเป็น”ไพร่”นั้น รวมหัวกันโกงกินเงินรับจำนำข้าวอย่างพิสดาร ทำให้ข้าวไทยถูกตีตลาดขายไม่ออกทั่วโลก เป็นเหตุทำให้รัฐบาลไม่สามารถเอาเงินมาชำระค่าข้าวให้ชาวนา ทำให้ชาวนาเดือดร้อน ต้องฆ่าตัวตายจำนวนมาก ถามคนที่ยกย่องทักษิณให้เป็นขวัญใจคนจนว่า มีใครบ้างที่บริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ตาย ? และใครเสี่ยงภัยเข้ายึดอำนาจรัฐ หาเงินมาชำระหนี้ให้ชาวนาจนหมดสิ้น? คนที่ช่วยชาวนานั้นเป็นเพราะมีความผูกพันกันทางชนชั้นกระนั้นหรือ?

3.3 ปัญหาสิทธิมนุษยชน

3.3.1 ประเด็นนี้ นักประชาธิปไตยต่างชาติแสดงความห่วงใยมากกว่าคนไทย ข้อนี้อธิบายให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ ใครที่เคยอยู่ในสิงคโปร์สักครึ่งปีก็จะเข้าใจดีว่าสิงคโปร์ที่ปกครองโดยพลเรือน และไม่ต้องใช้กฎอัยการศึกนั้น ก็เหมือนกับอยู่ในไทยภายใต้การปกครองของคสช. และการประกาศใช้กฎอัยการศึก ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพใกล้เคียงกัน คนที่เชื่อฟังกฎหมายเป็นนิสัยทำมาหากินอยู่ได้สบายมาก

3.3.2 ปัญหาใหญ่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ไทยเรามีคนละเมิดกฎหมายมาก ผู้บังคับใช้กฎหมายมิได้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ จริงจังและตรงไปตรงมา ทหารไทยต่างกับนักการเมืองไทย มีระเบียบวินัยเป็นทุน จึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดได้

3.3.3 คสช. สั่งปิดสถานีวิทยุชุมชน วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเซ็นเซอร์สื่อสังคมด้วย คสช.จะอธิบายได้หรือไม่ว่า ส่วนไหนเป็นการทำงานแทน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องทำมานานแล้ว แต่ไม่ทำ (เช่นปล่อยให้สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุและโทรทัศน์เถื่อนเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้น) ส่วนไหนเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง ส่วนไหนชอบทำข่าวสร้างความแตกแยกภายในชาติ และส่วนไหนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นต้น สวนเหตุผลการห้ามชุมนุมทางการเมืองในยามประกาศกฎอัยการศึกนั้น คนไทยย่อมทราบกันดีแล้ว

3.4 แรงกดดันต่างชาติ

3.4.1 ทันทีที่เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สหรัฐฯ นำประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด เช่น ออสเตรเลีย ประกาศตัดความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทั้งหมดที่สัญญากันไว้ 10.5 ล้านเหรียญฯ รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยคืนการปกครองให้พลเรือนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว และให้เคารพสิทธิมนุษยชนด้วย

ประเทศที่แสดงท่าทีต่อต้านการรัฐประหารของไทย เพื่อปกป้องประชาธิปไตยเหล่านั้น ไม่สนใจที่จะรู้ว่ารัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปนั้นเป็นประชาธิปไตยแท้ หรือประชาธิปไตยเทียม ส่วนมากแสดงความรังเกียจคณะทหาร และเอ็นดูผู้ถูกคุมตัวมากกว่าประชาชนคนไทย

3.4.2 สื่อมวลชนต่างประเทศ ในช่วง 10 วันแรกของการรัฐประหาร พากันเสนอข่าวด้านลบของคณะรัฐประหาร เช่น ภาพกลุ่มชนที่ต่อต้าน แต่ไม่มีภาพกลุ่มที่สนับสนุน เป็นต้น ต่อเมื่อ คสช. คุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว สื่อมวลชนต่างประเทศจึงเริ่มเสนอข่าวสองด้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติรู้เรื่องเมืองไทยได้ถูกต้องมากขึ้น

3.4.3 เรื่องคนต่างชาติที่ไม่เป็นมิตรกับการรัฐประหารนี้ พลเอกประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ได้มอบแนวนโยบายในทางปฏิบัติแก่นักการทูตไทยที่ประจำอยู่ในต่างประเทศว่า อย่าตอบโต้ ให้เกียรติ เข้าใจเขา แต่รักศักดิ์ศรีของเรา เรามีปัญหาจำเพาะของเราที่ต้องเลือกทางนี้ อดทนชี้แจงให้ต่างชาติเข้าใจ และแจ้งให้เขาทราบว่า เมื่อเราผ่านวิกฤตนี้ได้แล้ว ต่างชาติจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อเราทำดีแล้ว พวกเขาจะเข้าใจเอง

3.4.4 ในที่สุด ไม่ว่าต่างชาติจะมองรัฐประหารของไทยอย่างไร ถ้า คสช. มุ่งมั่นทำเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย รักษาความสงบเรียบร้อยได้ บริหารกลไกของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลักการปกครองโดยกฎหมายอย่างมั่นคง มิตรต่างชาติจะเข้าใจเราเอง

ปัจฉิมลิขิต

สำหรับนักวิชาการไทยที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผมที่ว่ามาแล้ว ผมเข้าใจและเห็นใจ เพราะว่าเมื่อครั้งที่ตัวเองยังเห็นโลกน้อยและเป็นเด็กในทางการเมืองนั้น ก็คงคิดเหมือนๆ ท่านนั่นแหละ สำหรับมิตรต่างชาติที่ได้ประณามรัฐประหารของไทยนั้น ท่านอาจจะไม่เข้าใจการเมืองไทยภายใต้ระบอบทักษิณอย่างแท้จริง หรือไม่เช่นนั้นก็มิใช่มิตรแท้ของไทย

เขียน ธีระวิทย์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สาขารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 

หมายเลขบันทึก: 570870เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2014 05:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2014 05:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท