nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ข้อคิดการดูแลบุพการีผู้สูงอายุ : จากหนังสือ_หนังโรคจิต ๒ เล่ม _ เมื่อจิตแพทย์เขียนถึงหนัง


          คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นจิตแพทย์ที่เขียนหนังสือเก่ง อ่านง่าย ได้ความรู้ ทั้งยังชอบดูหนัง เมื่อคุณหมอเขียนหนังสือ “หนังโรคจิต” ๒ เล่มจึงเขียนจากมุมของ “หมอธรรมดา” และ “หมอโรคจิต” ไม่ได้เขียนในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ทั่วไป คุณหมอหยิบบางฉากในหนังแต่ละเรื่องมาอธิบายด้วยวิชาการแพทย์ อ่านสนุก อ่านเพลิน และได้ความรู้ เพราะคุณหมอใช้ความสามารถทางภาษาเขียนให้อ่านง่ายสำหรับคนทั่วไป ทั้งยังเขียนได้ลึกซึ้งในมิติที่หมอทั่วไปมองไม่เห็น

         หนังสือชื่อ “หนังโรคจิต” เขียนถึงหนัง ๒๖ เรื่อง เล่ม๒ ชื่อ “จากหลังคาแดงถึงหลังโรง’บาล” เขียนถึงหนัง ๒๙ เรื่อง อ่านแล้วก็ทึ่งที่คุณหมอช่างหยิบจับบางฉากที่เราคิดไม่ถึงมาวิเคราะห์ได้น่าอ่าน

          ขออนุญาตเอามาเล่าต่อเฉพาะสาระที่น่าสนใจ (ท่านที่สนใจหาซื้อมาอ่านเพิ่มได้ ยังคงมีขายค่ะ)


          หนังเรื่อง The Savages (2007)  เล่าเรื่องคนแก่ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน ลูกสองคนถกเถียงกันว่าจะดูแลพ่ออย่างไรจึง “ดีที่สุด” สำหรับพ่อ และ สำหรับผู้เป็นลูก หนังจบที่ลูกเอาตัวพ่อไปฝากที่เนิสซิ่งโฮม ตามรายทางของหนังมีสาระจับต้องได้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุอยู่มาก

          คำว่า “ดีที่สุด” ในวัฒนธรรมฝรั่ง กับไทยต่างกัน คนไทยนั้นการเอาพ่อแม่ไปอยู่เนิสซิ่งโฮมสังคมจะชี้นิ้วว่าเป็นลูก “อกตัญญู” เพราะการเป็นลูกกตัญญูของสังคมไทยคือการดูแลแบบฟูมฟักใกล้ชิดจนคนแก่ช่วยตัวเองไม่เป็นในที่สุด ประเด็นนี้สำคัญมาก คุณหมอเขียนไว้ว่า

          “...การดูแลบุพการีสูงอายุเปรียบไปก็เหมือนการเลี้ยงลูก หากมีคำกล่าวว่าเลี้ยงลูกให้ถูกทาง ก็มีคำเปรียบเปรยเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่แล้วให้ถูกทางด้วย หากเราช่วยเหลือลูกมากเกินไปเขาจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ฉันใด หากเราช่วยเหลือคนแก่มากเกินไปเขาก็จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ฉันนั้น...หากเราตามใจลูกเล็กมากเกินไปเขาจะโตขึ้นเป็นเด็กไร้วินัย หากเราตามใจพ่อแม่ที่แก่แล้วมากเกินไปเขาก็จะไม่มีวินัยเช่นกัน” (จากหลังคาแดงถึงหลังโรง’บาล , หน้า ๑๖๒)

          ฟังแล้วเหมือน “ใจร้าย” แต่มีเหตุผลในวิธีคิดนั้น

          ในบทนี้ คุณหมอเล่าเพิ่มเติมถึงคนไข้สูงอายุ ๒ กลุ่ม 

         กลุ่มแรก คนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง คนไข้จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตซีกหนึ่งซีกใดของร่างกาย อาการอ่อนแรงจะค่อยๆ ฟื้นฟูดีขึ้น ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๒ ประการ คือ ความรุนแรงของโรค กับ การฟื้นฟู (กายภาพบำบัด และ กิจกรรมบำบัด) ความรุนแรงของโรคแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ การฟื้นฟู ทำได้ด้วยความร่วมมือของ ๓ ฝ่าย คือ คนไข้ ญาติ และ บุคลกรสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เราให้น้ำหนักที่ความร่วมมือของญาติมากที่สุด ลูกหลานที่ไม่เอาใจใส่เลย กับ ที่เอาใจใส่มากเกินไปคือทำอะไรให้ทุกอย่าง ก็เป็นผลเสียเท่ากั น

           “...ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่โหดร้าย ลูกหลานทุกบ้านอยากกตัญญู แต่ความกตัญญูผิดวิธีก็เท่ากับทำร้ายบุพการี กตัญญูอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ด้วย” (หน้า ๑๖๓)

          กลุ่มที่ ๒ คนแก่ที่สมองเสื่อม ยิ่งต้องฝึกเรื่องวินัย ให้คนแก่ได้ทำอะไรด้วยตัวเองมากที่สุด ตั้งแต่ กินข้าวเอง เข้าห้องน้ำ อาบน้ำแต่งตัวเอง กดชักโครกเอง และอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน “...หากเรากำหนดและยืนยันให้บุพการีทำตั้งแต่แรก ท่านจะทำได้ และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจว่าตนเองยังทำได้” (หน้า ๑๖๓)

          สิ่งที่คุณหมอเขียน เราเจอกันทุกวันในโรงพยาบาล ไม่ค่อยมีใครอยากพูดเพราะจะกลายเป็น “คนใจร้าย”

          ฉันขอเล่าเพิ่มเป็น กลุ่มที่ ๓ ไม่ใช่ทั้งคนแก่ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง และไม่ใช่คนแก่ที่สมองเสื่อม แต่เป็น คนแก่ที่มานอนโรงพยาบาลสักระยะ อาจด้วยโรคติดเชื้อ หรือโรคอื่นๆ ตอนนอนรพ.ไม่ค่อยได้เดินเพราะความเจ็บป่วยกับไม่มีที่ทางให้เดิน หมอพยาบาลก็ไม่บอกว่าเดินได้นะ ต้องเดินนะ กลับไปบ้านญาติก็เอาไปนอนต่อบนเตียงที่บ้าน ผ่านไป ๖ เดือน กล้ามเนื้อที่เคยทำงานได้ก็ค่อยๆ หมดเรี่ยวแรง ผ่านไป ๑ ปีกล้ามเนื้อลีบหมด คนแก่ที่เคยเดินได้กลายเป็น “คนไม่ป่วย” ที่ต้องนอนติดเตียง ผ่านไป ๒ ปีข้อทั้งหลายติดแข็ง และเดินไม่ได้ตลอดชีวิต ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดขี้เช็ดเยี่ยว

         คุณตาคุณยายเหล่านี้ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามอัตภาพของตน แต่ต้องมานอนอยู่บนเตียง เมื่อกายภาพแย่ จิตใจ สมองก็ค่อยๆ เสื่อมถอยไปช้าๆ สุดท้ายจบลงที่ไม่รับรู้ใดๆ อีกเลย

         ในหนัง  “The Savage” ลูกชายคิดว่าต้องส่งพ่อไปเนิสซิ่งโฮม ลูกสาวก็รู้สึกผิดแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนที่สองคนพี่น้องเอาตัวพ่อไปส่งแล้วเดินจากมา ลูกสาวร้องไห้พลางพูดว่า “เรามันโหดร้าย เรามันชั่ว”

         คุณหมอวิเคราะห์แบบจิตแพทย์ว่า บทพูดจาของลูกชายลูกสาวกับพ่อในหนัง เป็นแบบแผนการพูดจาของ "พ่อแม่กับลูก" บางเรื่องก็ถนอมน้ำใจ บางเรื่องก็เผชิญหน้าตรงๆ

          ยอมรับว่าตกใจมากที่คุณหมอสรุปประโยคสุดท้ายในบทนี้ว่า 

          “นี่คือหนังแนวหายนะ (disaster movies)”(หน้า ๑๗๓)

           ฉันขอปิดบันทึกเศร้าๆ บันทึกนี้ว่า เรากำลังไปสู่ยุคคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลูกหลานทั้งหลายต้องตระหนักแล้วว่า เราจะดูแลบุพการีอย่างไรให้พอเหมาะพอดี กตัญญูอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ด้วย.

ศุกร์ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗

เอกสารอ้างอิง

๑.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. หนังโรคจิต. (พิมพ์ครั้งที่ ๑) กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊คส์ , ๒๕๕๔

๒.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. หนังโรคจิต ภาค ๒ จากหลังคาแดงถึงหลังโรง’บาล. (พิมพ์ครั้งที่ ๑) กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊คส์ , ๒๕๕๖

บันทึกตอนต่อไปยังคงอยู่ที่หนังสือ ๒ เล่ม

        “...ในที่สุดคุณแม่ลอรี่ยอมแพ้ เธอไม่สามารถอดทนต่อการทำงานของโรงพยาบาลได้อีก เธอพูดสิ่งที่ผู้ป่วยทั่วโลกอยากพูดนั่นคือ คุณหมอให้ยาตัวที่หนึ่ง แล้วให้ยาตัวที่สองเพื่อแก้ฤทธิ์ข้างเคียงของยาตัวที่หนึ่ง แล้วให้ยาตัวที่สามเพื่อแก้ฤทธิ์ข้างเคียงของยาตัวที่สอง เรื่อยๆ ไป...” (หนังเกี่ยวกับแม่ที่ต่อสู้เพื่อลูกชายตัวน้อยที่ป่วยด้วยโรคลมชัก หนังชื่อ “...First Do No Harm” หน้า ๒๑๗)

          จะเขียนบันทึกเรื่อง “ยาหลายตัว” (Polypharmacy) ค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 570777เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2014 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2014 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมชอบคุยขำๆ ติดตลกกับคนแก่ให้แกได้หัวเราะ

ชอบถามเหตุการณ์ในอดีต ฟังแกเล่าแล้วก็เพลินดีเช่นกันครับ

แต่คนชราระดับหลงลืมนี่ยังไม่เคยพบกับตัวเองเลยครับ แฮะๆ...

นพ. ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ ...... เป็นแพทย์ที่เก่งมากๆๆ ค่ะ ... ท่านมีพี่ชาย คือ นพ.ประสิทธิ ... เรียนเก่งทั้งบ้านเลยค่ะ (นพ.สมพนธ์ นวรัตน์ เล่าให้P'Pleฟังค่ะ)

...ลูกมีความกตัญญู ดูแลปรนนิบัติ เมื่อพ่อแม่ยามแก่เฒ่า และเจ็บป่วย...ต่างจากลูกที่ได้ใกล้ชิดดูแลพ่อแม่ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ อย่างสม่ำเสมอ...การตามใจพ่อแม่จึงมิได้หมายความว่าเป็นลูกกตัญญู  ...และการขัดใจพ่อแม่ก็มิได้หมายความว่าลูกอกตัญญูเสมอไปนะคะ...

สวัสดีค่ะครู อาร์ม

คุยกับคนแก่มากๆ ได้บุญนะคะ  คนแก่มีความสุขที่มีคนคุยด้วย

คนแก่ที่มีความบกพร่องการได้ยิน การรับรู้ การเห็น เวลาคุยด้วยต้องมีความใจเย็นและเมตตาสูงมากๆ ค่ะ

เขาไม่ได้แกล้ง แต่เพราะความพร่องทางกายภาพของเขาเองค่ะ

ญาติที่ดูแลส่วนหนึ่งจะแสดงความ "ระอา" ไม่อยากคุบกับญาติแก่ๆ ซึ่งซ้ำเติมให้อาการมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณพี่เปิ้ล Dr. Ple ที่ให้ข้อมูลค่ะ

อ่านบทความของคุณหมอมานานและชอบการเขียนของคุณหมอมากค่ะ

ขอบคุณความเห็นเพิ่มเติมนะคะอาจารย์ Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

เป็นประโยชน์มากค่ะ  เพราะที่เราเจอญาติที่ไม่เข้าใจวิธีดูแลพ่อแม่ที่ป่วยจะซ้ำเติมปัญหาของคนไข้ด้วยค่ะ  ตัวอย่างง่ายๆ ที่เจอนะคะ 

- อย่างคนแก่ที่เป็นเบาหวานคุมน้ำตาลไม่ได้  ถ้าลูกหลานไม่เอาใจใส่เรื่องอาหาร ก็คุมน้ำตาลไม่ได้ไปเรื่อยๆ เช่น ซื้อขนมหวานมาให้กิน สามมื้อ บอกว่าแม่อยากกิน  

- เจอคนแก่เดินไปไหนไม่ได้ เป็นปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ห้ามสูบบุหรี่ คนไข้เดินไปซื้อเองไม่ได้ แต่ญาติไปซื้อมาให้สูบ บอกว่า ไม่ให้ก็โวยวาย และเมื่อเสนอให้ความช่วยเหลือมักปฏิเสธบอกว่าไม่มีเวลา

การให้ความรู้คนไข้มีข้อจำกัดเยอะค่ะ  ทัศนคติ และวิธีคิดมีความสำคัญมากจริงๆ 

อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้ผมเปิดโลกทัศน์มากขึ้นครับ ขอบพระคุณมากครับพี่ 

ขออนุญาตตอบพี่ nui นะครับผม

จิตบำบัด คือ ศาสตร์และการประกอบโรคศิลปะสากลของนักจิตบำบัด (Psychotherapist) ที่เน้นการใช้เทคนิคจิตบำบัดที่หลากหลายแก่ผู้ป่วยจิตเวช เช่น การให้คำปรึกษาถึงปมปัญหาเชิงลึก การเพิ่มแรงจูงใจด้วยการสื่อสารจินตนภาพ การลดความกลัวด้วยการสะกดจิต ฯลฯ ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายการประกอบโรคศิลป์เฉพาะสาขา แต่จะเป็นกรอบการทำงานตามกฎหมายการประกอบโรคศิลป์สาขานักจิตวิทยาทางคลินิก

กิจกรรมบำบัด คือ ศาสตร์และการประกอบโรคศิลปะสากลและไทยของนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) ที่เน้นการประเมินและการใช้สื่อบำบัดจากตัวผู้บำบัด การวิเคราะห์กิจกรรม การปรับบริบทและสิ่งแวดล้อม การจัดกลุ่มบำบัดแบบพลวัติเพิ่มทักษะสังคม และกระบวนการสอนและการเรียนรู้ด้วยการให้เหตุผลทางคลินิก ในผู้รับบริการทุกวัยที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ และการพัฒนาความสุขความสามารถในการดูแลตนเอง การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง การนอนหลับพักผ่อน และการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางสังคม

ขอบพระคุณมากครับผม

จริงๆแล้วการสะท้อนภาพเคลื่อนไหวจากหนังลงสู่การสะท้อนสาระจากการดูหนังในภาพนิ่งและเนื้อหาในหนังสือ เป็นสื่อการเรียนรู้ชีวิตของมนุษย์ได้ระดับหนึ่่ง (อ่านแล้วนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ 10-30% ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคล) แต่การดูหนังแล้วแสดงบทบาทสมมติจนถึงลงมือฝึกทักษะชีวิตจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะปรับใช้ได้ในชีวิตจริง 30-50% ที่เหลือคือการระดมทีมงานมืออาชีพสุขภาพจิตสังคม ผู้ดูแล และผู้มีประสบการณ์ ที่ทำงานมุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ป่วยให้เกิดการเข้าสู่สุขภาวะ (Mental Health Recovery) ทั้งผู้ที่เจ็บป่วยร่างกาย และ/หรือ จิตใจ ทุกเพศทุกวัยครับผม

ขอบพระคุณสำหรับแง่คิดชีวิตดีๆ ผ่านหนังสือ ครับ...
เรื่องจริง ที่บอกเล่าผ่านวรรณกรรม เป็นบันเทิงคดีที่ทำให้เราเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย มีสีสัน...
แตะเรียนรู้ชีวิตอย่างไม่อึดอัดนัก...

ขอบพระคุณครับ...(“...ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่โหดร้าย ลูกหลานทุกบ้านอยากกตัญญู แต่ความกตัญญูผิดวิธีก็เท่ากับทำร้ายบุพการี กตัญญูอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ด้วย”)

ใจนำพา ศรัทธานำทาง อย่างเดียวไม่พอ...ความรู้ คือกลไกหลักของการขับเคลื่อนชีวิตและโลกใบนี้ ครับ

ขอบคุณอาจารย์ Dr. Pop ค่ะที่มาให้ความรู้เพิ่มเติม  มีหลายอย่างที่พี่ยังไม่รู้และได้ความรู้จากอาจารย์เยอะค่ะ

ชอบดูหนังเพราะหนังดีๆ มีสาระให้เราเรียนรู้มากมาย ช่วยกระตุ้นและต่อยอดความคิดให้เราในหลายๆ เรื่อง  หนังเป็นสื่อที่ใช้เทคโนโลยีหลายสาขามารวมกันเพื่อเล่าเรื่อง กว่าจะเป็นหนังให้เราดูแต่ละเรื่องนั้นต้องมีทีมงานที่ใหญ่มาก  ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก

คุณหมอประเสริฐเล่าไว้ในหนังสือว่า คุณหมอฉายหนังบางเรื่องให้นักศึกษาแพทย์ดูประกอบการสอน

เป็นการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ มากกว่าการนั่งฟังบรรยายอย่างเดียว

ขอบคุณความเห็นเพิ่มเติมของอาจารย์ แผ่นดิน

ชอบประโยคนี้ของอาจารย์ค่ะ "ความรู้ คือกลไกหลักของการขับเคลื่อนชีวิตและโลกใบนี้

โดยเฉพาะในยุคที่มีข้อมูลมากมาย เข้าถึงง่าย ต้องการการกลั่นกรองมากกว่าเดิม มิฉะนั้นเราจะหลงทางได้ง่ายๆ

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจจาก  วิชญธรรม

ชอบคุณหมอเขียนมากๆ ครับ ที่นำเรื่องจากหนังแล้วนำมาวิเคราะห์กับชีวิต...ขอบคุณพี่หนุ่ยเช่นกันครับที่นำมาให้อ่านครับ

น้อง ทิมดาบ พี่อ่านหนังสือสองเล่มของคุณหมอประเสริฐรอบสามแล้วค่ะ  พี่ชอบดูหนัง ติดดูหนังมาแต่เล็ก  เลยชอบอ่านบทวิจารณ์หนัง  ยิ่งคุณหมอประเสริฐเขียนเชิงวิเคราะห์เอาวิชาการการแพทย์เข้าจับนี่ยิ่งอ่านสนุก

ขอบคุณกำลังใจค่ะ

น้องหมอ  ธิรัมภา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท