เรื่องดีที่ มวล. : เสวนาคณบดี ครั้งที่ 6/2557


เล่าเรื่องการทำงานเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

วันที่ 4 มิถุนายน 2557

ดิฉันไม่ได้เขียนถึงการเสวนาคณบดีครั้งที่ 4 และ 5 เลยเวลามานาน อีกทั้งในการเสวนาครั้งที่ 5 ดิฉันติดภารกิจอื่นจึงไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย แต่ก็ได้รู้เรื่องราวทั้งหมดจากรายงานที่เจ้าหน้าที่ส่วนส่งเสริมวิชาการบันทึกไว้

วันนี้ เวลา 09.00-12.00 น. สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นเจ้าภาพการเสวนาคณบดี ครั้งที่ 6/2557 การเป็นเจ้าภาพแต่ละครั้ง จะต้องจัดเตรียมสถานที่สำหรับการเสวนา อาหารว่าง และอาหารกลางวันเลี้ยงแขกที่มาเยือนด้วย ดิฉันคุยกับน้องๆ เจ้าหน้าที่เรื่องเมนูอาหาร สรุปได้ว่าให้เอาอาหารที่เราทำเองแล้วทุกคนเห็นว่าอร่อย จึงได้เมนูพะโล้หมูใส่ไข่ใส่เต้าหู้ ที่พ่อครัวที่บ้านของดิฉันทำแล้วอร่อย คลั่วกลิ้งหมูที่บ้านน้องตาล กชพรรณ นุ่นสังข์ เป็นของยืนพื้น ที่เหลือมาคิดกันเมื่อวันจันทร์นี้เอง

เราต้องการให้เมนูอาหารมีผักเยอะๆ คิดได้หลายเมนู แล้วก็คิดต่อว่าจะทำกันเองหรือสั่งจากร้านดี แต่เมื่อไม่รู้ว่าจะหาเตาไฟหม้อกระทะที่เหมาะๆ จากที่ไหน ก็เลยสั่งอาหารเพิ่มจากร้านค้าที่คุ้นเคยเป็นน้ำพริกกุ้งสด ผักต้ม ผักสด และไข่เจียวกุ้งสับ เราหุงข้าวกันเอง โดยใช้ข้าวสังข์หยดที่มหาวิทยาลัยปลูกเอง มีทั้งแบบข้าวสารและข้าวกล้อง

เราขอยืมถ้วยจาน ช้อน อย่างดี จากส่วนกลาง ส่วนหม้อหุงข้าว หม้อสำหรับอุ่นพะโล้ (ที่แช่เย็นมาจากกรุงเทพฯ) เตาไฟฟ้า ขอยืมมาจากแม่ค้าที่ขายอาหาร ดิฉันหุงข้าวกล้องสังข์หยดผสมลูกเดือยมาจากบ้านพัก บ้านน้องตาลทำคลั่วกลิ้งหมูมา 3 กก. เมื่อตอนเช้ามืด น้องแหม่ม รัตนากร บุญกลาง ก็แวะซื้อลิ้นจี่สดๆ จากโลตัส คุณวรรณา นิลพัฒน์ เก็บผักหวานจากสวนครัวของเราไว้ให้กินเป็นผักแนม เก็บใบกระเพราใส่ถุงไว้เป็นของฝากกลับบ้าน ทุกคนเตรียมการต้อนรับแขกที่มาเยือนด้วยความเต็มใจ

คณบดีหรือรองคณบดีทุกสำนักวิชา ยกเว้นของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มาร่วมเสวนากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา รศ.ดร.อมรา ช้างทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธาน มีเรื่องมาแจ้งให้ทราบ 1 เรื่องคือกำหนดการส่งผลงานเพื่อขอรับเงินค่าตอบแทนตำแหน่งทางวิชาการเพิ่ม หลังจากนั้นดิฉันเล่าเรื่องการทำงานเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ว่าเราทำอะไร อย่างไรบ้าง เพื่อแลกเปลี่ยนกับสำนักวิชาอื่นๆ อ่านที่นี่ 123

รศ.ดร.สุรสีห์ วัฒนวิกย์กิจ คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ บอกว่าจะนำเอาวิธีการเร่งรัดการทำวิทยานิพนธ์ไปใช้บ้าง และยังเล่าว่านักศึกษาปริญญาตรีก็มีปัญหาเรื่องการทำโครงงานล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามเวลา

รศ.ดร.กัลยา ศรีสุวรรณ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ที่มีหลายหลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เล่าว่าในทุกภาคการศึกษาได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้แก่นักศึกษาบัณฑิตศึกษาทั้งหมดและให้นักศึกษารายงานความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ แยกตามหลักสูตร ก่อนที่จะพิจารณาให้เกรด สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี พบว่าในหลักสูตรที่ไม่มีปัญหา จะมีการติดตามนักศึกษาใกล้ชิด มีกระบวนการให้เลือกหัวข้อ ทดสอบความเข้าใจในหัวข้อที่ทำ ให้ทบทวนความรู้ ออกแบบว่าจะทำอย่างไร มีการเสนอโครงร่างและรายงานความก้าวหน้า แต่ละขั้นตอนมีคณะกรรมการดูแล กำหนดสัดส่วนการให้คะแนน เมื่อทำงานเสร็จแล้วยังให้มีการเผยแพร่ เช่น ทำโปสเตอร์ หรือตีพิมพ์ มีเวทีที่ให้นักศึกษาไปนำเสนอในที่ประชุมของเครือข่าย การทำงานในระบบที่มีคณะกรรมการจะไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐาน

อาจารย์กัลยายังให้ความเห็นเรื่องค่าใช้จ่ายในรายวิชา ถ้ามีหลายหลักสูตรจะต้องคิดรวม และต้องคิดรวมต้นทุนที่เป็นเงินเดือนของอาจารย์ด้วย รายวิชาที่ใช้เงินน้อยบางทีก็มีปัญหา เพราะไม่ค่อยทำอะไร

ระหว่างการเสวนา

รศ.ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เล่าว่าเคยจัดกิจกรรมให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาคล้ายแบบนี้ แต่ก็กลับมามีปัญหาเหมือนเดิม อาจเป็นเพราะนักศึกษาทำงานด้วยเรียนด้วย เมื่อครบระยะเวลาของการศึกษาจึงมีหลายคนที่เรียนไม่จบ ภาคการศึกษาหน้าจะทำใหม่ ต่อไปจะให้มีการตีพิมพ์ผลงานสารนิพนธ์ก่อนจบการศึกษาด้วย และเห็นว่าการให้นักศึกษามานำเสนอความก้าวหน้าเป็นระยะเป็นมาตรการที่ดี งานโครงการที่นักศึกษาทำนั้นสามารถเอาไปใช้ในการทำงานได้เลย

ผศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร บอกว่าการให้ผู้ประสานงานรายวิชาทุกวิชามานำเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอนของทั้งรายวิชาเป็นเรื่องดี ผู้บริหารจะมีข้อมูลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

อาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี รองคณบดีสำนักวิชาการจัดการ บอกว่าชอบที่สรุปว่าทุนดีที่มีอยู่แล้วมีอะไรบ้าง จะได้เอาทุนเดิมมาใช้แล้วทำให้ดีขึ้น ในสำนักวิชาการจัดการ นักศึกษาบอกว่า m-learning ซับซ้อน มีหลายวิชาที่ใช้ Facebook แต่ใช้ๆ ไปจะเปรอะเลอะ ในด้านค่าใช้จ่าย หลักสูตรใช้ Lab ข้างนอก เช่น โรงแรม บริษัททัวร์ ในระยะยาวจะมีต้นทุนต่ำ... อยากจะสร้างเครือข่ายระยะยาว

ผศ.ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ รองคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งใช้ m-learning ในการเรียนการสอน เล่าว่ามีการตกลงกับนักศึกษาก่อน มีใบงานให้นักศึกษาเข้ามาตอบในระบบ มีการ feedback และ interact กับนักศึกษาทีละคน เตือนนักศึกษาได้ และให้นักศึกษาสอบผ่านระบบนี้ได้ด้วย

อาจารย์พูลพงษ์เล่าว่าเคยพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนการสอนคล้าย facebook ให้กับสถาบันแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีใครใช้ ย้ำให้รู้ว่าการมีแต่เทคโนโลยี แต่ไม่มีกลวิธีให้เอามาใช้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์

อาจารย์ ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ตั้งประเด็นใหม่เรื่องของการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้เอื้อต่อการทำงานและการเรียนการสอน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์หลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน เรามีความเห็นตรงกันว่าให้นำเสนอเป็นวาระเข้าที่ประชุมบริหาร โดยบอกให้รู้ว่าเรื่องใดที่จะต้องทำเร่งด่วน เรื่องใดที่ต้องวางแผนระยะยาว พร้อมทั้งแนวทางการทำงานและการบริหาร

จบการเสวนาก่อนเวลาเที่ยงเล็กน้อย 

อาหารกลางวัน

อาหารมื้อกลางวันที่เราเตรียมเอาไว้รับแขก ได้รับคำชมว่าอร่อย ดูดี และหลายคนมีการตักรอบสองด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่  12 มิถุนายน 2557

หมายเลขบันทึก: 570301เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2014 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2014 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันจันทร์ที่ 16 นี้ อาจารย์สุพิศจะมาเล่าวิธีการใช้ ClassStart ค่ะอาจารย์จัน จะกระตุ้นให้มีการใช้ด้วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท