เรื่องดีที่ มวล. : ทบทวนงานที่ผ่านมาและวางแผนทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม


เชื่อว่าการทำงานในแนวทางนี้ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมและเน้นการเรียนรู้จากคนที่ได้ปฏิบัติจริง จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการสอน

ปีการศึกษา 2557 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เลื่อนการเปิดภาคการศึกษาใหม่จากเดือนมิถุนายนเป็นเดือนสิงหาคม คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ จึงถือโอกาสที่ปิดเทอมยาวเป็นช่วงเวลาของการวางแผนปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของปีการศึกษาใหม่ให้มีความพร้อมและดีกว่าเดิม กำหนดวันจัดการประชุมคือวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2557

ในการประชุมวิชาการร่วมระหว่าง 3 สภามหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2557 มีวิทยากรจากต่างประเทศคือ Dr. John Craig มาพูดเรื่อง UK Professional Standards Framework (UKPSF) และมีข้อความว่า “Excellent teaching is an essential ingredient in the creation of an outstanding learning” ยิ่งย้ำความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์

งานนี้ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกคน เราจึงขอความร่วมมือให้งดการหยุดการลาทุกประเภท นอกจากมีเหตุผลที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เราวางแผนล่วงหน้าและสำรวจวันสะดวกของทุกฝ่ายแล้วจึงกำหนดวันการประชุม แต่ถึงเวลาจัดการประชุมจริงเกิดไปชนกับกิจกรรมของหน่วยงานอื่นด้วย จึงต้องแบ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไปร่วมกิจกรรมนั้น ส่วนอาจารย์ที่ไม่ได้ลาศึกษาต่อเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างพร้อมเพรียงมีอาจารย์เพียง 1 คนเท่านั้น ที่มีกิจส่วนตัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จึงจำเป็นต้องลากิจ

กิจกรรมในการประชุมมีดังนี้

1. ทบทวนการจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาของปีการศึกษา 2556 เราให้ผู้ประสานงานรายวิชา จำนวน 32 รายวิชา นำเสนอการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานั้นๆ โดยให้เวลารายวิชาละ15 นาทีและให้นำเสนอว่า

  • สอนอะไร
  • ด้วยเทคนิคหรือวิธีการอย่างไรบ้าง
  • เทคนิคหรือวิธีการใดที่ใช้แล้วได้ผลดี เพราะเหตุใด
  • ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
  • หากจะสอนในรายวิชานี้อีก จะทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม

เรามีกติกาสำหรับผู้ฟัง ดังนี้

  • ผู้นำเสนอให้นำเสนอรายวิชาละ 15 นาที
  • ผู้ฟัง ให้ฟังอย่างตั้งใจ จนจบ ไม่ขัดจังหวะ
  • ผู้ฟังซักถามในส่วนที่ยังไม่ชัดเจน ไม่อภิปรายถกเถียง เพราะเป็นการกระทำในอดีตที่ผ่านมาแล้ว
  • ให้เวลาในการซักถาม ประมาณ 5 นาที

ผู้ฟัง

ผู้นำเสนอและคนจดบันทึก

เราใช้เวลาเกือบ 2 วันในการฟังกันและกัน พบว่าอาจารย์ของเราได้พยายามนำวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ใช่การบรรยายมาใช้ ทุนดีที่เกิดจากความตั้งใจและความพยายามของอาจารย์ เช่น m-learning, experiential learning, problem based learning เป็นต้น หลายรายวิชาเมื่อสอนเสร็จแล้วอาจารย์ให้นักศึกษาสรุปความรู้หรือเขียน reflection เอาไว้ในรูปของ mind mapping อาจารย์บางคนแจกเอกสารประกอบการสอนที่เตรียมอย่างครบถ้วนรวมเป็นเล่มตั้งแต่วันแรกที่เปิดสอน

สำหรับสื่อที่น่าสนใจ มีการใช้ภาพยนต์ VDO ที่เป็นเรื่องราว หรือ Clip สั้นๆ Animation

อย่างไรก็ตามการใช้วิธีการที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังเป็นการบรรยายและมี PowerPoint ประกอบ เราคาดหวังว่าเมื่อได้ฟังได้เห็นว่าเพื่อนใช้วิธีการสอนแบบใหม่ๆ แล้วนักศึกษาตอบสนองดี อาจารย์คนอื่นๆ จะได้สนใจเรียนรู้จากเพื่อนแล้วนำไปใช้ต่อบ้าง ซึ่งเราจะจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการสอนที่ใช้แล้วได้ผลดีในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะมีอาจารย์จากนอกสำนักวิชามาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

2. วางแผนการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2557 ในช่วงเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม เราได้ตกลงกันว่าใครจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานรายวิชาและผู้ร่วมสอน ทั้งในรายวิชาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และแจ้งให้มีการจัดทำแผนการสอนในทุกหัวข้อของรายวิชาภาคทฤษฎีและทุกรายวิชาภาคปฏิบัติ ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดปีการศึกษา โดยดิฉันให้ input เป็นข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • ทักษะแห่งอนาคตใหม่และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  • นวัตกรรมอุดมศึกษาในประชาคมโลก เช่น เรื่องของ Community engagement
  • ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2557-2559 อาทิ Active learning ความเป็นสากล วิชาการรับใช้สังคม
  • เกณฑ์การรับรองสถาบันฯ ของสภาการพยาบาล ที่ออกใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2556
  • ค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา โดยเฉพาะในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาล ที่ข้อมูล 3 ปีย้อนหลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดิฉันบอกแหล่งความรู้และข้อมูลที่อาจารย์สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ในเรื่องทักษะแห่งอนาคตใหม่และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้น อ่านได้จากบล็อก “สภามหาวิทยาลัย” ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้เลย และยังมีหนังสือที่ได้แจกให้กับอาจารย์ทุกคนไปก่อนหน้านี้แล้วคือ “ครูเพื่อศิษย์ : สร้างห้องเรียนกลับทาง” หนังสือแนวทางการพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์ TQF และ คู่มือการรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและผดุงครรภ์

ช่วงบ่ายดิฉันติดประชุมสภาวิชาการ จึงให้ ผศ.ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ รองคณบดี นำเสนอข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาล และให้ร่วมกันวางแผนการทำงานต่อไป

ดิฉันได้ทราบจากรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการว่าอาจารย์ของเราไปเล่าต่อว่าการประชุมดีมาก ทุกคนได้พูด ดิฉันเชื่อว่าการทำงานในแนวทางนี้ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมและเน้นการเรียนรู้จากคนที่ได้ปฏิบัติจริง จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการสอน

วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557

หมายเลขบันทึก: 570151เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2014 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบการพัฒนาอาจารย์แบบนี้ครับ อาจารย์ได้กลับไปพัฒนาการเรียนการสอนจริงๆ

ฝากอันนี้ให้อาจารย์ที่ต่างๆใช้ด้วยครับ

ClassStart.org

http://www.gotoknow.org/posts/569641

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ถ่ายทอดให้อ่าน

เรียนอาจารย์ขจิต วันที่ 16 มิถุนายนนี้ ผศ.ดร.สุพิศ ฤทธิ์แก้ว ที่ใช้ ClassStart อยู่ มาเล่าวิธีการใช้ให้อาจารย์ของเรารู้ค่ะ เคยเชิญอาจารย์จันทวรรณมาอบรมวิธีการใช้ไปแล้ว ตอนเรียนก็คึกคักดี แต่ไม่มีใครเอาไปใช้จริง ก็เลยเปลี่ยนแนวใหม่ค่ะ

ต้องกระตุ้นให้อาจารย์เอาไปใช้จริง โดยชี้ให้เห็นประโยชน์จากผู้ใช้จริง

จะเกิดประโยชน์มากเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท