"ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๕ (๕) : เรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ และทักษะการทำงาน จากการตรวจงาน


การตรวจงานโดยให้นักเรียนเป็นผู้เสนอแนะนั้น เป็นกิจกรรมที่ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้รู้จักกันและกันมากขึ้น และยังช่วยให้นักเรียนทั้งห้องมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้นได้อย่างทั่วถึงสังเกตได้จากงานเขียนที่นักเรียนเรียนรู้ที่จะปรับปรุงงานของตน หลังจากที่ได้เรียนรู้จากเพื่อน ทั้งเรื่องการใช้คำเชื่อมประโยค การใช้ถ้อยคำในการสื่อความหมาย รวมไปถึงการอธิบายเหตุผล ที่พัฒนาไปไกลจากจุดตั้งต้นของแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด

นักเรียนชั้น ๖ เป็นพี่ชั้นโตที่สุดในระดับประถมศึกษา  พวกเขาผ่านประสบการณ์ในการเรียนรู้และการประเมินตนเองมาแล้วมากมาย  ดังนั้น คงไม่ยากถ้าครูคิดจะออกแบบกระบวนการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการตรวจงาน 

 

เมื่ออ่านแล้วหลายคนอาจสงสัย จะทำได้อย่างไร และทำแล้วจะเป็นอย่างไร...

 

คุณครูนัท – นันทกานต์  อัศวตั้งตระกูลดี  และเพื่อนครูในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยตั้งเป้าหมายการทำงานว่าในครึ่งปีหลังนี้ไว้ว่า จะพัฒนาการตรวจงานไปให้ถึงการรู้จักตัวตนของนักเรียน การตรวจงานในความหมายนี้จึงเป็นมากกว่ามากกว่าการใส่เครื่องหมายถูก หรือวงกลมเพื่อให้นักเรียนกลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง ยิ่งถ้าเป็นรอยปากกาของครูด้วยแล้ว เกณฑ์ความคิดเหล่านั้นก็เกิดขึ้นมาจากครูนั่นเอง

 

                                                                                 

 

เหตุใดการตรวจงานจึงควรเป็นงานของนักเรียน

หากการตรวจงานเป็นของนักเรียนแล้ว ตัวนักเรียนผู้สร้างงานนั้น ก็คือผู้ที่เห็นกระบวนการทั้งหมด ดังนั้นจึงควรสะท้อนตนเองได้ดีกว่าการที่มีครูมาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน

 

ความคิดนี้จึงจะกลายเป็นจริงได้อย่างไร

วิธีการนั้นไม่ยาก เพราะครูสามารถนำเอาขั้นตอนในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในทุกชั่วโมงมาใช้ เพียงแต่ความรู้ที่แลกเปลี่ยนในขณะตรวจงานนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนคำแนะนำในการใช้ภาษา

 

ขั้นแรก ครูให้นักเรียนอ่านงานของตนเองแล้ววิจารณ์งานเขียนของตนเองก่อน จากนั้นครูจะให้นักเรียนที่อาสา อ่านงานของตนให้เพื่อนทั้งห้องฟัง เมื่อจบแล้วจึงนำเสนอข้อสังเกตที่พบได้จากงานของตนเอง ทั้งจุดเด่น และ ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อ  

 

ขั้นที่สอง ผู้ฟังจะเริ่มพิจารณางานของเพื่อนที่นำเสนอ เพื่อเสนอแนะทั้งจุดเด่น และประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมจากที่เจ้าของงานได้พูดไปแล้ว ซึ่งเป็นมุมที่เจ้าของงานอาจมองข้ามไป  โดยครูจะให้นักเรียนพิจารณา ๒ ด้าน คือ ด้านเนื้อหาและด้านการใช้ภาษา  เช่น  การใช้คำเชื่อม  การเขียนเรียบเรียง เป็นต้น  ซึ่งเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งที่เรียน  รวมทั้งวิธีการก็อาจแตกต่างกันไปด้วย เช่น อาจให้นักเรียนจับคู่กัน แล้วอ่านงานเขียนของกันและกัน แล้วให้คำแนะนำเพื่อนเพิ่มเติม เป็นต้น

 

ครั้งหนึ่งในการเรียนรู้งานเขียนบทความ “สืบ นาคะเสถียร”  ซึ่งเป็นการเรียนรู้เรื่องการคัดเลือกข้อมูลจากการสืบค้นและนำข้อมูลมาเขียนเรียบเรียงเป็นภาษาของตนเอง  โดยครูได้ให้ข้อมูลกับนักเรียน ๓ ชุดข้อมูล  จากนั้นให้นักเรียนอ่านและคัดเลือกข้อมูลที่น่าสนใจ แล้วมาตั้งประเด็นในการเขียน พร้อมทั้งจัดลำดับประเด็นให้ร้อยเรียงกัน เพื่อเล่าเรื่องราวได้น่าสนใจมากขึ้น  เมื่อนักเรียนทำงานเสร็จ  ครูจึงให้นักเรียนในการตรวจงาน นักเรียนคนหนึ่งได้อ่านงานเขียนของเพื่อนแล้วเล่าให้ครูฟังว่า “ผมว่าเพื่อนเขียนดี  เกริ่นนำได้น่าสนใจ ใช้คำดูมีพลัง  ตอนที่ผมอ่านผมรู้สึกว่าข้อมูลมันเยอะมาก คิดอยู่ในใจว่าเพื่อนจะสรุปจบอย่างไร ปรากฏว่า ก็เห็นว่าเขาสรุปจบได้ ไม่จบแบบทื่อๆไปเหมือนของผม  เพราะผมพบปัญหาว่า ตอนผมเขียนผมก็ไม่รู้ว่าจะเขียนบทสรุปอย่างไรดี พอเห็นงานของเพื่อน มันก็ทำให้เราได้วิธีการไปด้วย” (คำกล่าวของไท หลังจากได้อ่านงานของหนูแพน) 

 

นอกจากเสียงสะท้อนดังกล่าวแล้ว  ยังมีเสียงสะท้อนอีกมากมายที่สะท้อนมาถึงครูว่า การตรวจงานโดยให้เราอ่านงานของกันและกัน มันยังทำให้เราเห็น “ความคิดและตัวตนของเพื่อน” มากขึ้นด้วย  เช่น  ในการทำชิ้นงาน “จากหนึ่งผู้ให้...จดจำไว้มิรู้ลืม”  ซึ่งเป็นงานเขียนจากการเรียนรู้เรื่องการให้และคุณค่าจากการให้  นักเรียนคนหนึ่ง เขียนเล่าเรื่องราวการที่เขาได้มีโอกาสเป็นผู้รับแล้วเขารู้สึกจดจำผู้ให้คนนั้นอยู่ในใจ บอกเล่าการให้ของเพื่อนนั้นว่า  “อะลีฟเป็นผู้ให้ที่อะลีฟอาจไม่รู้ตัว  สิ่งที่อะลีฟให้คือ ความกล้าหาญ และการไม่กลัวต่ออุปสรรคต่างๆ ที่แสดงออกมาให้น้ำทิพเห็น และอยากเป็นอย่างอะลีฟบ้าง”  น้ำทิพเล่าเรื่องราวนี้ด้วยน้ำเสียงที่ซาบซึ้งใจ อยากตอบแทนผู้ให้ของเธอ ในขณะที่อะลีฟซึ่งเป็นผู้ให้ กลับไม่เคยรู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าตนเคยให้สิ่งนี้กับเพื่อน ซึ่งไม่ใช่เพื่อนเพียงคนเดียวด้วย  ครูจึงถามเพื่อนคนอื่นๆในห้องว่า ได้ฟังงานของเพื่อนแล้วรู้สึกอย่างไร  เพื่อนในห้องก็สะท้อนมาว่า “รู้สึกว่ามันออกมาจากใจและทึ่งกับสิ่งที่น้ำทิพเขียน เพราะไม่คิดว่าน้ำทิพจะเขียนสิ่งนี้แล้วจะกล้าพูดด้วย”  สิ่งที่เพื่อนสะท้อนมานั้น ครูเองก็ไม่เคยคิดว่าน้ำทิพจะเขียนถึงเพื่อนในมุมนี้ เพราะน้ำทิพเป็นคนที่มีความมั่นใจ และกล้าแสดงออกมากๆ

 

การเรียนรู้ใหม่ของครูนัท คือ การตรวจงานโดยให้นักเรียนเป็นผู้เสนอแนะนั้น  เป็นกิจกรรมที่ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้รู้จักกันและกันมากขึ้น  และยังช่วยให้นักเรียนทั้งห้องมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้นได้อย่างทั่วถึงสังเกตได้จากงานเขียนที่นักเรียนเรียนรู้ที่จะปรับปรุงงานของตน หลังจากที่ได้เรียนรู้จากเพื่อน ทั้งเรื่องการใช้คำเชื่อมประโยค  การใช้ถ้อยคำในการสื่อความหมาย รวมไปถึงการอธิบายเหตุผล ที่พัฒนาไปไกลจากจุดตั้งต้นของแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด

 

นอกจากนี้ ยังทำให้ครูได้เห็นวิธีการทำงาน การจัดการกับระบบความคิดของนักเรียนแต่ละคนว่าเขาคิดและร้อยเรียงประเด็นเป็นลำดับอย่างไร  การอธิบายขยายความดีหรือไม่  เพื่อครูจะนำสิ่งที่สังเกตนี้ไปปรับใช้ในกระบวนการสอนครั้งต่อไป หรือ ใช้ในการซ่อมเสริมผู้เรียนบางคน  หากใช้วิธีการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นักเรียนจะคุ้นเคย และมีทักษะการเรียนรู้ดีขึ้น  สังเกตกันและกันมากขึ้น  ได้เรียนรู้ตัวอย่างงานเขียนดีๆ จากฝีมือของพวกเขาเอง และยังได้เรียนรู้เรื่องของการเคารพความแตกต่าง และให้เกียรติกันและกันมากขึ้นด้วย

                      

 

หมายเลขบันทึก: 565928เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2014 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2014 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นอกจาก "ตัวนักเรียน" พัฒนา "ตัวครู" ก็ยังพัฒนาอีกนะครับ ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท