เรียนรู้จากการเป็นกรรมการคัดเลือก ทุนโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเซีย


          ดูรายละเอียดของทุนโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเซีย (API Fellowship) ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/6360

           วันที่ ๓๐ ตค. ๔๙  ผมไปทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับทุนดังกล่าวตลอดวัน     กว่าจะเลิกก็กว่าหกโมงเย็น     เพราะหลังจากการสัมภาษณ์และให้ objective scoring คณะกรรมการยังใช้เวลาถกเถียงกันด้วย subjective judgement ต่ออีกยาว    

          ผมบอกคณะกรรมการว่า  ผมรู้สึกว่าได้มาเข้าหลักสูตรเรียนรู้เรื่องทางสังคมศาสตร์     จึงขอบันทึกประเด็นหลักๆ ที่ผมได้เรียนรู้ในวันนี้
             ๑. ได้รู้จัก "ภาพยนตร์นอกกระแส" และรู้ว่าภาพยนตร์ในญี่ปุ่น ๙๕% เป็นภาพยนตร์นอกกระแส     คือภาพยนตร์นอกกระแส \เป็นกระแสหลักในประเทศญี่ปุ่น     ต่างจากในประเทศอื่นๆ โดยสิ้นเชิง      ภาพยนตร์นอกกระแส  หมายถึงภาพยนตร์ที่สร้างนอก studio    ไม่เน้นการค้าเป็นหลัก      ไม่เน้นตอบโจทย์ทางการตลาดเป็นหลัก     เป็นการสร้างศิลปะเพื่อกระตุ้นภายในตัวผู้ชม  ให้เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ     ผมมองว่าการผลิตภาพยนตร์นอกกระแส เป็นการทำงานเพื่อสังคม                 ๒. Gentrification ในพจนานุกรม Merrium-Webster dictionary & thesaurus ที่อยู่ใน electronic dictionary Franklin mwd-1440 ที่ผมซื้อและใช้มาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี   บอกความหมายว่า the process of renewal accompanying the influx of middle-class people into deteriorating areas that often displaces earlier usu. poorer residents.    เป็นกระบวนการ "ฟื้น" เมืองเก่า ให้มีชีวิตใหม่     ที่ถ้าทำได้ดี ก็จะสามารถใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเดิมให้เกิดคุณค่าได้    ตัวอย่างน่าจะได้แก่บริเวณถนนข้าวสาร      ถนนพระอาทิตย์     คงจะมีมุมมองของคุณประโยชน์ได้หลายแบบ      ทั้งที่เน้นธุรกิจ เช่นการท่องเที่ยว     และเน้นการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม     ปรากฏการณ์ gentrification นี้เกิดขึ้นทั่วไปในทุกประเทศ
            ๓. แนวคิดใหม่ต่ออำนาจตุลาการ    ที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์    ที่อำนาจตุลาการทำหน้าที่บางส่วนล้ำเข้าไปทำหน้าที่ด้านบริหาร  และนิติบัญญัติด้วย      คือหลักการแบ่งแยกอำนาจ ๓ อำนาจหลักของประชาธิปไตย ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป     ตุลาการมีหน้าที่สร้างความยุติธรรมในสังคม  โดยดูแลความยุติธรรมนอกกฎหมาย (นอกตัวบทกฎหมาย  เพราะกฎหมายยังพัฒนาไปไม่ถึง)   มีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนเครือข่ายภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาระบบความยุติธรรมในสังคมรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม
            ๔. การสร้างกระแส ที่ให้ความสำคัญ หรือเห็นคุณค่า ของ East Asian Community (ASEAN plus 3) เพื่อความเป็นปึกแผ่นและผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมเอเซียตะวันออกในประชาคมโลก    นอกจากสำนึกร่วมของผู้คนในเรื่องชาติ หรือประเทศแล้ว     ยังต้องการสำนึกร่วมข้ามชาติ เป็นภูมิภาคของโลกด้วย     การมองบทบาทของสื่อมวลชน ต่อการสร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าของ EAC     ผมมองว่า ควรมีการทำความเข้าใจบทบาทของสื่อมวลชนต่อเรื่องสำคัญๆ ทุกเรื่องในสังคม     
            ๕. "Creative class"  คำนี้ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน    ในภาษาไทยใช้คำว่า "ชนชั้นสร้างสรรค์"     ผู้ริเริ่มใช้ และให้นิยามคำนี้ คือ Richard Florida   สามารถดูรายละเอียดได้ที่  www.creativeclass.org     ไม่ว่าเขาจะนิยามคำนี้อย่างไร     ผมมองว่ากลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์มีได้หลายรูปแบบ    ในหลากหลายสภาพสังคม     ไม่ใช่แค่กลุ่มที่ใช้ electronic media เป็นเครื่องมือเท่านั้น
            ๖. ทางมูลนิธินิปปอน เจ้าของโครงการ API ได้ขอให้ ดร. คริส เบเคอร์ เป็นผู้ประเมินโครงการ     เพราะโครงการนี้ดำเนินมาครบ ๖ ปี ย่างเข้าปีที่ ๗ แล้ว      เขาอยากรู้ว่าได้ผลของโครงการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่   
            ๗. ด้วยวิญญาณนักจัดการงานวิจัยเก่า ผมเกิดความคิดในด้านการ "จัดการ" เชิงรุกให้เกิดผลที่ต้องการมากมาย      แต่จะต้องมีการใช้เงินและการจัดการที่เอาจริงเอาจังกว่านี้มาก     โดยสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบของกิจกรรม networking ในระดับต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ    ซึ่งจะช่วยให้โครงการมีคุณภาพและเกิด impact เพิ่มขึ้นด้วย

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 56524เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท