รำลึกถึงระบบและกระบวนการจัดการศึกษาสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง


ทำให้ผมนึกถึงพ่อผมสมัยนั้นท่านเรียนจบแค่ประโยคที่ 1 แต่ทำไมท่านจึงสามารถอ่านและเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว เขียนหนังสือตัวสวยมาก
     ผมมีโอกาสได้ฟังอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ(อาจารย์ประจวบ  คำบุญรัตน์) เล่าให้ฟังถึงระบบและกระบวนการจัดการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาไทย เลยอยากมาเล่าสู่กันฟังต่อ
     อาจารย์ประจวบเล่าว่า สมัยนั้นพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้เปิด "โรงสอน" สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารขึ้นในพระบรมมหาราชวัง  ใน พ.ศ.2427 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกสำหรับทวยราษฎร์ได้ศึกษาเล่าเรียนขึ้นแห่งแรก คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม  และให้ปรับคำว่า "โรงสอน" มาเป็น "โรงเรียน" โดย พ.ศ.2430 ก็ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น และต่อมาขยายเป็นกระทรวงธรรมการในวันที่ 1 เมษายน 2435  มีการขยายการจัดการศึกษาไปอย่างกว้างขวางทั่วราชอาณาจักร 
      ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้หลายท่านคงได้เคยเรียนแล้วในประวัติศาสตร์ไทย  แต่มีเรื่องที่อาจารย์ประจวบเล่าให้ฟังที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งคือ  ระบบการศึกษาของไทยในสมัยนั้นว่า  ทรงให้จัดการศึกษาเป็น 2 ประโยค คือ
      ประโยคที่ 1  กำหนดให้เรียน 3 ปี  มีชั้นเรียน 3 ชั้น  มีหนังสือเรียน 6 เล่ม เป็นแบบเรียนของพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย  อาจารยางกูร)  คือ  มูลบทบรรพกิจ  วาหนิติกร  อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  ไวพจน์พิจารณ์  และพิศาลการันต์ 
      ใครเรียนและสอบไล่ได้ตามหนังสือทั้ง 6 เล่มนี้ ก็ถือว่าจบประโยคที่ 1
      ประโยคที่ 2  กำหนดให้เรียน 3 ปี เช่นเดียวกัน  แบ่งชั้นเรียนเป็น 3 ชั้น  มีข้อบังคับว่าต้องจบประโยค 1 ก่อน  และต้องเรียนและสอบให้ได้ 8 วิชา จึงจะจบประโยคที่ 2 คือ  วิชาคัดลายมือ  วิชาเขียนตามคำบอก  วิชาทานหนังสือ  วิชาแต่งจดหมาย  วิชาแต่งกระทู้ความ  วิชาย่อความ  วิชาเลข  และวิชาการบัญชี
      ใครที่จบประโยคที่ 2 ถ้าประสงค์จะรับราชการก็จะได้เป็นข้าราชการทันที
       สำหรับการเรียนต่อในประโยคที่ 3 ไม่ค่อยมีใครสนใจเรียน เพราะเป็นวิชาชีพเฉพาะ  และภาษาต่างประเทศ  ประกอบกับครูผู้สอนก็หายากมาก  โรงเรียนชั้นประโยคที่ 3 ตามหัวเมืองจึงไม่มีเลย...
      ฟังท่านอาจารย์ประจวบเล่า  ทำให้ผมนึกถึงพ่อผมสมัยนั้นท่านเรียนจบแค่ประโยคที่ 1 แต่ทำไมท่านจึงสามารถอ่านและเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว  เขียนหนังสือตัวสวยมาก  ท่านอ่านหนังสือวรรณคดีไทยไม่รู้กี่เล่ม  ตอนเย็นท่านก็จะมาเล่าเรื่องในวรรณคดีให้ผมและน้องๆฟัง  เราก็จะบีบนวดให้ท่านเป็นการตอบแทน  จนผมสามารถจดจำเรื่องรามเกียรติ์  พระอภัยมณี  ลักษณวงศ์  ขุนช้างขุนแผน และอีกหลายๆเรื่องจากพ่อได้จนถึงทุกวันนี้  และพอผมได้เข้าเรียนหนังสือก็หาหนังสือพวกนี้มาอ่านต่อจนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง  และรักการอ่านมาจนถึงทุกวันนี้
      ผมแปลกใจจริงๆว่าปัจจุบันครูบาอาจารย์เราต่างร่ำเรียนมากันสูงๆ มีนักการศึกษาจบจากเมืองนอกกันมากมาย ทำไมยังมีเด็กจบชั้น ป.6 อีกเป็นจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออก คิดเลขไม่เป็น  ในระดับมัธยมศึกษาก็ยังมี  เป็นเพราะระบบการศึกษาหรือว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่...เราลองหันกลับไปดูระบบการศึกษาสมัยโบราณกันบ้างจะดีไหม?
หมายเลขบันทึก: 56441เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท