ชีวิตกับการก่อสร้าง


การก่อสร้างจะต้องทำอย่างละเอียดละออ และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะมีผู้รับเหมา มาเหมางานไปแล้ว เราก็ต้องติดตามตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด

หลังจากอายุหกสิบ ได้เกษียณตัวเองจากการอาชีพบริหารโรงเรียน โดยมอบหมายงานให้ลูกๆทำโรงเรียนไปแล้วทั้งสามคน ชีวิตก็สบายขึ้นมาก ได้มีเวลาทำอะไรที่เคยนึกอยากเล่นอยากทำ ได้หัดวาดรูปสีน้ำ ได้เรียนตีขิม ได้เลี้ยงไก่ไข่ ได้เลี้ยงนกสวยงาม ได้ปลูกผักกินเอง ได้หัดรำไทย ซึ่งงานสุดท้ายนี้ ไม่สามารถทำตามฝันได้ เพราะหัดได้แค่สามชั่วโมงก็ต้องพับความฝันไปโดยปริยาย เพราะเข่าไม่สามารถรองรับการยกการย่ออย่างมีจังหวะของการรำไทยได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมีมาให้ทำโดยตลอด โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือการคุมงานก่อสร้าง สมัยทำโรงเรียน ทุกๆสิ้นเทอม ก็จะมีงานเล็กงานน้อยมาพอให้ได้ฝึกคิดฝึกทำ เพราะโรงเรียนมีเรื่องต้องต่อเติม ซ่อมแซม ไม่เคยหมดสิ้น บางปีก็มาก บางปีก็น้อย จนที่โรงเรียนต้องจ้างสารพัดช่างไว้สองคน และมีงานให้ทำตลอดมาไม่เคยขาด

เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการเตรียมการสร้างโรงเรียนหลังใหม่ ในการนี้ต้องย้ายบ้านสองหลังออกจากพื้นที่หลังโรงเรียนเพื่อเตรียมการสร้างโรงเรียนขนาดสิบห้องเรียน ขึ้นมาเพื่อรองรับนักเรียนชั้นประถม เนื่องจากอาคารเดิมถูกใช้งานมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ในการรื้อบ้านสองหลังไปสร้างในที่แห่งใหม่ ทำอยู่เกือบปี ได้บ้านรูปทรงใกล้เคียงของเดิมในที่แห่งใหม่สองหลัง   เพราะใช้วัสดุจากหลังเดิมเท่าที่ใช้ได้ และเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็น ก็ได้เรือนสุวรรณศร และบ้านใจสว่าง  มาเป็นบ้านของลูกชายคนโตและคนรอง ตามที่ได้เคยเล่ามาบ้างแล้วในบันทึกก่อนๆ

ในปีนี้ การก่อสร้างโรงเรียนหลังใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ลูกสาวที่เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน คงเห็นแม่อยู่ว่างเกินไป จึงยกโปรเจคการสร้างโรงเรียนหลังใหม่มาให้แม่ดูแลทั้งหมด ตั้งแต่การหาคนออกแบบ การทำเรื่องขอนุญาต การหาผู้รับเหมา การจัดการเซ็นต์สัญญาจ้าง และติดตามควบคุมการก่อสร้าง   ดังนั้นต่อจากนี้ไปเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ก็คงได้เขียนเล่าเรื่องการก่อสร้างเป็นระยะๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จ

วันที่ 16 มีนาคม 2557 ถือเป็นวันเริ่มต้นก่อสร้าง เพราะโรงเรียนหยุดเทอมแล้ว จึงต้องรีบทำงานในส่วนที่อาจจะรบกวนกิจกรรมของเด็กๆ  ผู้รับเหมา เริ่มเข้ามาเทสต์ดิน เพื่อดูว่าจะต้องเจาะเสาเข็มทำฐานรากลึกแค่ไหน ได้ตีผัง และกำหนดจุดที่จะเจาะเสาเข็ม เราเลือกเสาเข็มแบบเจาะ แทนแบบตอก แม้จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะไม่อยากให้ส่งเสียงและกระเทือนรบกวนเพื่อนบ้านใกล้เคียง ผลการเทสต์ดินปรากฏว่า เราต้องเจาะลงไปลึกถึง 12 เมตร แทนที่จะเป็น 7-8 เมตร ตามที่ประมาณการไว้แต่แรก

การเตรียมการต่างๆ ทำให้เราต้องเสียต้นไม้ที่รักไปถึงสามต้น เป็นต้นมะม่วงหนึ่งต้นและต้นขนุน สองต้น เพื่อทำเป็นทางให้รถขนปูนเข้าถึงที่ก่อสร้างได้โดยสะดวก ต่อไปอีกไม่นานก็คงถึงต้นมะขามเก่าแก่ สองสามต้น ทีจะต้องถูกตัดเป็นลำดับต่อไป เพราะอยู่ในเขตที่จะสร้างตึกพอดี

เห็นต้นไม้ถูกตัดแล้วก็ใจหาย เพราะอยู่กับเรามาหลายสิบปี แต่ก็ต้องตัดใจ เพราะเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ได้อย่างมันก็ต้องเสียอย่างแบบนี้แหละ

เราเปิดเฟสบุคกลุ่มกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเอาไว้เพื่อเขียนรายงานความคืบหน้าของการก่อสร้างให้กับลูกๆ    เนื่องจากมีลูกหลายคน และขี้เกียจเล่าหลายครั้ง จึงให้เข้ามาอ่านกันเอง   แล้วก็นึกได้ว่าทำไมเราไม่เขียนขั้นตอนต่างๆลงใน G2K ด้วย เพื่อเป็นบันทึกขั้นตอนการก่อสร้างเอาไว้อ่านเอง และให้คนอื่นๆอ่านด้วย  เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นบันทึกต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องราวของการก่อสร้างโรงเรียน ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

 

คำสำคัญ (Tags): #การก่อสร้าง
หมายเลขบันทึก: 564118เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2014 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2014 06:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเล่าเลยครับอาจารย์แม่

อยากเห็นภาพโรงเรียนบ้าง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท