ขุมทรัพย์หน้างาน เรื่องเล่าจากใจ คนรัก Palliative care ศรีนครินทร์ ศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์


เมื่อกล่าวถึงงานการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหลายคนมองว่าเป็นงานที่อยู่กับความทุกข์ ความเศร้า ความสลด หดหู่  “จะดีหรือมาทำงานนี้     ทำได้อย่างไร ไม่เอาหรอก กลัวร้องไห้ตามคนไข้”  “ใครที่ทำได้ต้องยอมรับ ขอชื่นชม” หรือบุคลากรทางการแพทย์หลายท่านบอกว่า อยากทำแต่ไม่รู้จะควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ไม่ให้หวั่นไหวไปกับผู้ป่วยและครอบครัวได้หรือไม่  ไม่มีองค์ความรู้ ไม่รู้จะทำอะไรบ้างเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ป่วยระยะท้าย   การสื่อสารกับคนที่มี เวลาเหลืออยู่บนโลกใบนี้เพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน จะพูดกับเขาอย่างไร   เริ่มต้นตรงไหน หลายเหตุผลที่เป็นเสมือนกำแพงขวางกั้นให้คนที่อยากมาทำงานด้าน  Palliative care ต้องหยุดคิดและสะดุดลง    ความรู้สึกกลัว   กลัวความเศร้า กลัวต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานหรือการตายของผู้ป่วยที่กำลังจะมาถึง แล้วไม่สามารถรับได้ ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ กลัวจะต้องหวั่นไหวไปกับความทุกข์นั้นและส่งผลให้ตัวเองเกิดความหดหู่   พระไพศาล วิสาโล ท่านเคย สอนไว้ว่า  “ความตายไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์  ทัศนคติ ท่าทีของเราต่อความตายต่างหากที่เป็นตัวการสำคัญ  ตายไม่น่ากลัวเท่าการกลัวตาย   ตายไม่สร้างทุกข์  ตายไม่ใช่วิกฤติแต่เป็นโอกาสด้านจิตใจ นำพาผู้คนสู่ความสุขสงบโดยการยกระดับทางจิตใจ จิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นเราต้องทำเสมือนว่า  ให้ระลึกถึงความตายเป็นเรื่องปกติ ดังคำพระพุทธเจ้าสอน”  อย่างไรก็ตามก็ยังมีแพทย์ พยาบาล  บุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งให้ความสนใจกับ งานด้านการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะใกล้ตาย

หน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศรีเวียง  ไพโรจน์กุล  ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารทุกฝ่ายในคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และงบประมาณการก่อตั้งส่วนหนึ่งจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  เราเริ่มต้นนับหนึ่งจากแพทย์ประจำหน่วย 1  คนและพยาบาล  2 คน จากเล็กๆ ค่อยๆเติบโต ภารกิจต่างๆในการปฏิบัติการให้การดูแล  เยียวยาผู้ป่วยระยะท้าย  ให้มีโอกาสได้ตายดี โดยให้ช่วยเหลือจัดการอาการไม่สุขสบายด้านร่างกาย บรรเทาความปวดและอาการอื่นๆ  สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัว ให้ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนดูแลในระยะท้าย  ประสานเครือข่ายดูแลต่อเนื่องใกล้บ้านเมื่อผู้ป่วยต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน  สิ่งเหล่านี้  เปรียบเหมือนต้นไม้ที่แตก กิ่งก้านสาขาและค่อยๆเติบโตและแข็งแรง และการที่ต้นไม้จะเติบโตแข็งแรงได้สิ่งสำคัญคือต้นไม้ต้นนั้นจะต้องฝังรากลงลึก  ดูแลตัวของมันเองได้ด้วย  เพราะมิเช่นนั้นต้นไม้อาจล้มลงได้ หากเปรียบหน่วยการุณรักษ์ก็คงเปรียบเสมือนต้นไม้ต้นหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายเมล็ดพันธุ์ไม้ คนทำงานในหน่วยการุณรักษ์ก็คงเปรียบเหมือนกิ่งก้านสาขา  กิ่งก้านจะงดงามเขียวชอุ่มก็อยู่ที่การดูแลใส่ปุ๋ย รดน้ำพรวนดิน แต่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่เรามีเมล็ดพันธุ์ที่ดีและสมบูรณ์ก่อน   

  ทุกชีวิตที่ผ่านเข้ามาให้ทีมได้ดูแลคือบทเรียนรู้ที่มีคุณค่า   สิ่งสำคัญคือเราได้เรียนรู้ความเป็นตัวเรา  มองเห็นสมรรถนะของตัวเราคนหน้างาน ความเป็นตัวตนของคน Palliative care ถ้าเปรียบก็คือเมล็ดพันธุ์     Palliative careที่ดีนั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร    

  1. ความมั่นคง หนักแน่น(Sustaining one self) ถ้าเปรียบส่วนของต้นไม้สมรรถนะนี้คือส่วนของราก รากที่ทำให้ต้นไม้มั่นคงจะต้องเป็นรากที่แข็งแรงด้วย ซึ่งหมายถึงรากฝอยที่ดีนั่นเองมารวมกัน นั่นหมายถึงผู้ ที่ทำงานด้าน  Palliative care  จะต้องมีตัวตนที่แข็งแรงมั่นคง และยั่งยืนกับสิ่งที่เป็นดังนี้

1.1      เป็นผู้ให้และผู้รับ

1.2      จริงใจ

1.3      เสียใจเป็น

1.4      รู้จักผ่อนคลาย

1.5      เติมเต็ม เติมพลังให้พร้อมอยู่เสมอ

 

“การเป็นคนทำงาน Palliative care เราต้องทำด้วยความเต็มใจ สมัครใจ และเป็นงานที่เราอยากทำ ให้คิดว่าเราสวยจากภายใน  เป็นคนที่สวยทั้งภายนอกและภายใน งานทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้สร้างบุญสร้างกุศล”  สำคัญเพราะผู้ป่วยระยะท้ายผู้ป่วยจะอ่อนไหวต่อปฏิกิริยาของเรา รับรู้ได้ว่าเราจริงใจกับเขาหรือไม่ เต็มใจที่จะช่วยเขาหรือไม่  ที่สำคัญอีกอย่างคนทำงานด้าน Palliative care ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้มีโอกาสได้ระบายความรู้สึกถ้าหากรู้สึกเศร้าไปตามผู้ป่วยกลับไปถึงที่ทำงานแล้วอยากร้องไห้ ก็ร้องได้ จะต้องมีแหล่งสนับสนุนที่ดี เหมือนมีเสบียงสะสม    หรือบางคนไม่อยากร้องไห้แต่มีวิธีการะบายออกในรูปแบบอื่นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลเพราะทุกคนต่างมีเป้าหมายและความคิด การวางแผนชีวิตที่แตกต่าง

  1. พร้อมที่จะเผชิญต่อความกลัว คนทำงานด้าน Palliative care ต้องเผชิญหน้าต่อความกลัวตายของผู้ป่วย ของญาติ และเมื่อหันกลับมามองดูตัวเอง ทำให้เกิดกลัวความทุกข์ทรมาน มองเห็นความทุกข์ ความกลัว ของตัวเอง  ถามตัวเองว่า  ถ้าเป็นเรา เราจะเป็นอย่างไร   ในขณะที่ช่วยผู้ป่วยที่มีความกลัวให้หายจากความกลัว ตัวเองก็ยิ่งจะกลัว เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความกลัว
  2. ความสามารถในการสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยและครอบครัว พัฒนาความไว้วางใจให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่น ให้เวลาและเป็นผู้ฟังที่ดี อยู่ตรงนั้นเป็นเพื่อน
  3. ดูแลจัดการความไม่สุขสบายทางด้านร่างกายจิตใจและจิตวิญญาณ
  4. เป็นผู้ให้การสนับสนุน เราจะต้องเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยเขาเลือกที่จะตายตามที่ต้องการ ทีมมีบทบาทเป็นผู้ให้การสนับสนุน เช่นเมื่อดูแล้วว่าการรักษาไม่เป็นผล เราต้องคุยกับผู้ป่วยและครอบครัวตามความเป็นจริง คุยถึงทางเลือก
  5. พูดความจริงคนส่วนใหญ่อยากรู้ความจริงว่าตัวเองอยู่ในระยะสุดท้ายคนทำงาน Palliative care ควรจะพูดความจริงเกี่ยวกับระยะสุดท้ายของผู้ป่วย
  6.  สามารถให้การช่วยเหลือดูแลครอบครัว  ประเมินความสามารถ พัฒนาศักยภาพของผู้ดูแล สนับสนุนให้เกิดการเสริมพลังความสามารถ  เปิดโอกาสให้ครอบครัวผู้ดูแลได้พักผ่อนหรือมองหาแหล่งช่วยเหลือถ้าครอบครัวมีภาระที่ยากลำบาก
  7.   สามารถให้การดูแลในมิติจิตวิญญาณ คุณค่าความหมายชีวิต ความเชื่อ มองหา  unresolved   issue   ผู้ป่วยอยากบอกอะไร อยากสั่งเสียอะไรเราสามารถช่วยเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้
  8.  เป็นผู้ที่มีจิตใจหนักแน่นยอมรับคำติเตียน คำชื่นชม เพราะงาน Palliative care ในประเทศไทยยังเป็นที่รู้จักน้อย บางครั้งการเข้าหาผู้ป่วยอาจจะถูกมองว่า มาทำอะไร ฉันยังไม่ตาย ฉันยังไม่พร้อมที่จะให้ทีมนี้เข้ามาดูแล บางครั้งเราถูกปฏิเสธ เห็นทีมนี้มาแล้วไม่ค่อยสบายใจ  ทีมนี้เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ไม่ต้องการให้ทีมนี้เข้ามาดูแล
  9. เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพ

-          Emotional Stability : เป็นความสามารถของบุคคลในการรองรับแรงกดดัน ควบคุมอารมณ์ บุคลิกที่สำคัญ คือ สุขุม สงบ เพราะผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัวมักจะมีปฏิกิริยา ต่อการสูญเสียที่รุนแรง ในบางครั้ง มีความต้องการการประคับประคอง ต้องการการได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว บางครั้งแสดงอารมณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น โกรธ พูดจาไม่สุภาพ  ไม่ยอมรับฟังในสิ่งที่เราให้คำแนะนำ  

-           Agreeableness :   มีความผ่อนปรนกับผู้อื่น มีความสามารถในการประสานงานที่ดี เชื่อใจได้มีความยืดหยุ่นสูง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

-          Empathy : มีความเห็นอกเห็นใจเข้าถึงจิตใจผู้ป่วยและครอบครัว  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 555613เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีน้องกุ้งนาง .....ฝนตกมั้ยครับ

ชอบใจโดนใจประโยคนี้ "Empathy : มีความเห็นอกเห็นใจเข้าถึงจิตใจผู้ป่วยและครอบครัว"

Empathy "เพราะคนไม่ใช่เครื่องจักจึงต้องการความรักและเข้าใจ"

ชื่นชม น้องกุ้ง มากมายค่ะ

มาชื่นชม

ครบประเด็นมากๆๆ

1.1 เป็นผู้ให้และผู้รับ

1.2 จริงใจ

1.3 เสียใจเป็น

1.4 รู้จักผ่อนคลาย

1.5 เติมเต็ม เติมพลังให้พร้อมอยู่เสมอ

อ่านรายละเอียดแล้วคิดว่าการฝึกฝนและประสบการณ์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนกันน่าจะสำคัญมากๆเลยนะคะ น่าศรัทธาผู้ที่ทำงานนี้ได้มากเลยค่ะ

เอาไปรวมไว้ ที่นี่ แล้วนะครับ

การเรียนรู้งานที่จะต้องเจอในเหตุการณ์เฉพาะหน้าจำเป็นอย่างมาก สำหรับการพัฒนาตัวเองครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท