พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๓


พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก *

ตอน ๓

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระบุคลิกลักษณะที่พึงเห็นได้ดังนี้

[อ่าน พระบุคลิกภาพ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๒]

๖. พระจริยวัตรอันประกอบด้วยพรหมวิหารสี่

                  ในเชิงการวิเคราะห์แบบแผนพฤติกรรมของบุคคล เราอาจกล่าวได้ว่าพระบุคลิกลักษณะ ๔ ประการแรกของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก  คือคตินิยมประชาธิปไตย คตินิยมประโยชน์และสิทธิมนุษยชน ค่านิยมยึดถือหลักการและค่านิยมขะมักเชม้นเคร่งครัดงาน เหล่านี้ น่าจะมีผลสืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ได้ทรงไปศึกษาและประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ๒ ปีครึ่ง เยอรมนี ๗ ปี และในสหรัฐอเมริกา ๖ ปี รวมเป็นเวลา ๑๕ ปีครึ่ง ที่ได้ทรงศึกษาอยู่ในประเทศตะวันตก      แต่ก็น่าคิดว่า เพราะเหตุใดค่านิยมอย่างอื่นๆ ของวัฒนธรรมตะวันตก จึงไม่ปรากฏอยู่ในพระจริยวัตรของพระองค์เล่า       นอกจากนั้น สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ก็ยังคงทรงมีคตินิยมและค่านิยมของสังคมไทยอยู่ ซึ่งในบางส่วนจะได้นำมากล่าวต่อไป ข้อนี้คงจะอธิบายได้ว่า ค่านิยมเล็งผลปฏิบัติ (pragmatism) ของสังคมไทยนั้น ทำให้คนไทยรับคตินิยมหรือค่านิยมนอกระบบได้ แต่เป็นในลักษณะที่เลือกรับเฉพาะบางสิ่งบางอย่าง ด้วยความสำนึกในคุณค่า มิใช่การรับอย่างเลียนแบบโดยปราศจากความสำนึก เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาอบรมตามโบราณขัตติยราชประเพณี และทรงผนวชเป็นสามเณร พระองค์เสด็จไปต่างประเทศ เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๑๕ พรรษา      บุคคลที่ได้เติบโตจนถึงวัยนี้แล้ว แบบแผนวัฒนธรรมของสังคมที่ได้เริ่มก่อรูปมาแต่เมื่อเพิ่งเริ่มเรียนรู้ ย่อมคงสภาพอยู่ต่อไป สันนิษฐานได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงตระหนักพระราชหฤทัยดีในข้อนี้ จึงได้ทรงถือปฏิบัติเช่นนี้กับพระราชโอรสทุกพระองค์ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ
                      สมเด็จฯ พระบรมราชชนกจึงทรงเลือกรับคตินิยมและค่านิยมของอารยธรรมตะวันตกเฉพาะอย่างด้วยพระทัยสำนึกในคุณค่า คตินิยมและค่านิยมที่ทรงเลือกรับน่าจะมีส่วนสัมพันธ์อยู่กับการศึกษาที่แฮร์โร่ว์และที่โรงเรียนเตรียมนายร้อย ที่เมืองปอตสตัม ซึ่งสอนวิชาด้านศิลปศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งคงจะสืบเนื่องมาจากพระองค์เองที่ทรงขวนขวาย ทรงพระอักษรทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เยี่ยงวิสัยของปัญญาขน
                 คุณธรรมอนัตตา ซึ่งเป็นพระบุคลิกลักษณะที่ ๕ มิใช่ของวัฒนธรรมใดๆ โดยเฉพาะแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคลในสังคมใด วัฒนธรรมใด หรืออารยธรรมใดก็ได้ ผู้ซึ่งได้รับยกย่องในศาสนาคริสต์ให้เป็น saints และบุคคลเช่นมหาตมะคานธี ต่างก็มีคุณธรรมนี้
                   ลักษณะประการที่ ๖ ของพระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก คือ พระจริยวัตรอันประกอบด้วยพรหมวิหารสี่ ซึ่งน่าจะสืบเนื่องมาจาก ที่ทรงได้รับการศึกษาอบรมตามขัตติยราชประเพณีเมื่อทรงพระเยาว์ รวมทั้งการผนวชเป็นสามเณรในปี ๒๔๔๗ อยู่ ๔ เดือน ก่อนเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่อังกฤษใน พ.ศ. ๒๔๔๘
                 ในเรื่องกิจการงาน พระองค์ทรงเคร่งครัดเข้มงวดกวดขันและเร่งรัดให้ผู้คนทำงาน ซึ่งเป็นที่เกรงกลัวของคนในข้อนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็รู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยความรักเอ็นดู และความปรารถนาดีต่อทุกคน พระองค์ทรงเห็นใจและทรงช่วยเหลือเมื่อผู้อื่นมีทุกข์ ทรงมีพระทัยปิติยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข และทรงมีพระทัยที่ปราศจากอคติต่อผู้อื่น โดยที่ทรงมีคุณธรรมอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สมเด็จฯ พระบรมราชชนก จึงทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงที่ทรงมีพระจริยวัตรอันงามเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่รู้เห็น โดยเฉพาะแก่ผู้ที่ใกล้ชิดหรือรู้จักพระองค์ดี
                พระราชกรณียกิจทั้งหลายทั้งปวง ที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกได้ทรงประกอบเพื่อการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขนั้น ในด้านหนึ่ง เป็นเรื่องเพื่อแผ่นดิน เพื่อชาติและประชาชนของพระองค์ แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นห้วงลึกของพระมโนธรรมซึ่งผูกพันอยู่กับพรหมวิหารสี่ ในระดับที่ลดหลั่นลงมาในเรื่องที่ทรงประกอบอุปการคุณเป็นรายบุคคล ซึ่งรวมตลอดถึงแต่ละคนที่ทรงอุปกระให้ศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และการที่ทรงพระกรุณาเสด็จไปเยี่ยมเยียนตามโอกาที่ทรงมี รวมทั้งขณะเมื่อทรงศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ดใน ๒ ปี สุดท้าย ระหว่างปี ๒๔๖๙ - ๒๔๗๐ ที่ทรงพระเมตตายังความอบอุ่นแก่บรรดานักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาในการเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักที่ประทับได้เป็นนิจศีลโดยถ้วนทั่วหน้ากัน บ่งชี้ชัดถึงพระคุณธรรมในข้อนี้ของพระองค์

๗. ความรักประเทศชาติและประชาชน

 

++++โปรดติดตามต่อค่ะ++++

* 100 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก โดยศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ (บทความพิเศษ สารศิริราช ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2535)
หมายเลขบันทึก: 55527เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท