จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประชาชน


หากรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ ไม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยึดถือคำวินิจฉัยเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ให้ความไว้วางใจ และหมดความเชื่อถือในรัฐาธิปัตย์ จนถึงขั้นขัดขืนคำสั่งของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารซึ่งจะก่อให้เกิดความแตกแยกระส่ำระสาย และความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็อาจจะเกิดลุกลามบานปลาย กลายเป็นสภาพการเมืองที่ล้มเหลวได้

ดังเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประชาชาติ สถาบันประมุขของประเทศ รัฐสภา รัฐบาล ศาล และองค์กรอื่นของรัฐทุกองค์กร ล้วนอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สถาบันการเมืองการปกครองทุกสถาบันย่อมมีอำนาจหน้าที่เฉพาะเท่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

บทบาทโดยธรรมชาติของรัฐธรรมนูญคือการสร้างความชอบธรรมและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้กับระบอบการปกครองของประเทศ กล่าวสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ความชอบธรรมและเสถียรภาพทางการเมืองย่อมมาจากการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่แก่ประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม(rule of law) การแยกใช้อำนาจอย่างอิสระ(separation of powers) และการตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริหาร ตลอดจนอำนาจฝ่ายตุลการ (check and balances) โดยต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าทุกสถาบันทุกองค์กรของรัฐนั้นมิใช่เป็นเจ้าของอำนาจการปกครองเสียเอง แต่เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยมติมหาชน

การเมืองการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ พ.ศ. 2550 มิได้มอบอำนาจสูงสุดให้แก่รัฐสภา รัฐบาล หรือศาล แต่อย่างใด หากแบ่งอำนาจหน้าที่ให้ภายใต้กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลดังกล่าวแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน ใช้หลักการความสูงสุดแห่งรัฐธรรมนูญ (supremacy of constitution )

ระบบรัฐสภาของไทยมิได้ใช้หลักการความสูงสุดแห่งรัฐสภา (supremacy of parliament) เหมือนดังที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่เคยบัญญัติไว้ว่า “สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

จริงอยู่ รัฐสภาย่อมประกอบด้วยผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา แต่มิได้หมายความว่ารัฐสภาจะสามารถใช้อำนาจสูงสุดแทนประชาชนได้แต่ฝ่ายเดียว เพราะอำนาจอธิปไตยของประชาชน(sovereignty of people) ได้แบ่งให้แก่ฝ่ายต่างๆ ตามหลักการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้นจึงไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจสูงสุด 

หากกล่าวตามหลักการของจอห์น ล็อค นักปรัชญาประชาธิปไตยชาวอังกฤษ อำนาจของรัฐสภาต้องมีข้อจำกัด 4 ประการ คือ

1. รัฐสภาจะต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเท่านั้น จะใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวตามอำเภอใจไม่ได้

2. รัฐสภาต้องทำหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม
3. รัฐสภาไม่อาจใช้อำนาจยึด “ทรัพย์สิน” ของประชาชนได้โดยพลการ
4. รัฐสภาไม่อาจโอนอำนาจของตนที่ได้รับมาจากประชาชนให้แก่ใครได้

เช่นเดียวกัน มองเตสกิเออ นักปรัชญาประชาธิปไตยชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติว่า "หากถูกควบรวมอยู่ในคนๆ เดียว หรืออยู่ในกลุ่มคนกลุ่มใด เสรีภาพของประชาชนก็มีไม่ได้ เพราะอาจเกิดสภาพของความหวาดกลัว หรือไม่เช่นนั้นผู้ปกครองหรือองค์กรดังกล่าวอาจออกกฎหมายทรราชขี้นมาใช้อย่างกดขี่ ดังนั้นอำนาจตุลาการจึงต้องแยกออกไปอย่างเด็ดขาดจากอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร เพื่อให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครอง"

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางการเมืองในยุคปัจจุบันตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้มอบสิทธิการตีความแห่งรัฐธรรมนูญแก่ศาลรัฐธรรมนูญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ”

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำกล่าวของเอ็ดมันด์ เบอร์ก นักการเมืองและนักปรัชญาเสรีนิยมชาวอังกฤษว่า

“รัฐสภาไม่ใช่เป็นแหล่งประชุมของตัวแทนจากกลุ่มผลประโยชน์คนละขั้วที่ขับเคี่ยวกัน โดยที่ตัวแทนเหล่านั้นจำต้องทำตัวเป็นเอเยนต์ และเป็นผู้สนับสนุนประโยชน์ของกลุ่มตน เพื่อต่อต้านเอเยนต์ และผู้สนับสนุนประโยชน์ของกลุ่มอื่น 

แต่รัฐสภาเป็นสภาแห่งการพิจารณาตัดสินใจของชนชาติหนึ่งที่มีผลประโยชน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือผลประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด อันเป็นความดีส่วนรวมที่เกิดจากเหตุผลร่วมของประชาชนทั้งปวง”

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรอื่นใด จะไม่มีสิทธิ์ตีความแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ตรงกันข้าม การ่วมกันตีความรัฐธรรมนูญ และการร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์คำววินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ เพียงแต่การตีความ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการวินิจฉัยของบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรอื่นใดที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีผลลบล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เว้นเสียแต่ว่าบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรเหล่านั้นได้นำความเห็นแย้ง หรือแตกต่างของตนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ปปช. ในกรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ "ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" โดยอาจสงวนความเห็นต่างของตนไว้เพื่อต่อสู้คดี หรือเพื่อดำเนินการตรวจสอบถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป

หากรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ ไม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยึดถือคำววินิจฉัยเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ให้ความไว้วางใจ และหมดความเชื่อถือในรัฐาธิปัตย์ จนถึงขั้นขัดขืนคำสั่งของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารซึ่งจะก่อให้เกิดความแตกแยกระส่ำระสาย และความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็อาจจะเกิดลุกลามบานปลาย กลายเป็นสภาพการเมืองที่ล้มเหลวได้

ดังนั้น ดิฉันจึงใคร่ขอเรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาล ประธานฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรการเมืองทั้งหลาย ยอมรับและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแสดงความรับผิดชอบตามรูปแบบวิธีในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

1) ประธานและรองประธานรัฐสภา ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

2) หัวหน้าฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี ขอพระราชทานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับคืนมา

3) นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองเหมือนดังอารยประเทศที่ปฏิบัติเป็นปกติ หรือยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวิธีในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่เสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและความสงบสุขของประชาชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา 

รสนา โตสิตระกูล
สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ
24 พฤศจิกายน 2556

หมายเลขบันทึก: 554471เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

“รัฐสภาไม่ใช่เป็นแหล่งประชุมของตัวแทนจากกลุ่มผลประโยชน์คนละขั้วที่ขับเคี่ยวกัน โดยที่ตัวแทนเหล่านั้นจำต้องทำตัวเป็นเอเยนต์ และเป็นผู้สนับสนุนประโยชน์ของกลุ่มตน เพื่อต่อต้านเอเยนต์ และผู้สนับสนุนประโยชน์ของกลุ่มอื่น

แต่รัฐสภาเป็นสภาแห่งการพิจารณา
ตัดสินใจของชนชาติหนึ่งที่มีผลประโยชน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือผลประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด อันเป็นความดีส่วนรวมที่เกิดจากเหตุผลร่วมของประชาชนทั้งปวง”

แต่รัฐปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นใช่ไหมครับ ;(...

สวัสดีครับคุณ Wasawat Deeman

ขอบคุณที่ให้ความสนใจช่วยแสดงความคิดเห็น ผมเห็นด้วยครับ แต่เท่าที่จำความได้ รัฐสภาของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปเป็นสมาชิกในรัฐสภาส่วนมากเป็นแค่เอเยนต์ของนายทุนเพื่อเข้าไปหาผลประโยชน์ของกลุ่มตน ไม่ใช่เข้าไปเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นดังนั้น สมาชิกบางท่านก็เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่มีจำนวนน้อย จึงทำอะไรไม่ได้มากนัก อย่างไรก็ตามก็ขอชื่นชมวุฒิสมาชิกบางท่านที่ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

25 พ.ย.2556

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท