สอนภาษาอังกฤษเด็กไทยทำไมต้อง "พลิก"


สอนภาษาอังกฤษเด็กไทยทำไมต้อง "พลิก"

            กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English”  “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ  หมายความว่าประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น  ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกกว้างของภูมิภาคอาเซียน โลกแห่งมิตรไมตรีที่ขยายกว้างไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม   ทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งสิ้น  ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี  ตลอดจนถึงเกษตรกรชาวไร่ชาวนา  ชาวบ้านทั่วไป  นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน ฯลฯ  (สมเกียรติ อ่อนวิมล,2554)

            แต่จากสถิติข้อมูลไทโพสท์ (วิโรจน์  สารรัตนะ,2555)  แสดงให้เห็นว่า  ความสามารถของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำ  โดยรายงานความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (EF: English  Proficiency  Index)  ปี 2011  ของสถาบันสอนภาษา  Education  First  (EF) สถาบันสอนภาษาชั้นนำของโลก  ปรากฏว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของไทยอยู่ในอันดับที่  42  จาก  44  ประเทศ  โดยจัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านภาษาอังกฤษต่ำมาก ( very  low Proficiency )

      ผลสำรวจล่าสุดจากเว็บไซต์หางานชื่อดัง “จ๊อบสตรีท” ชี้ ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในระดับ “ต่ำเตี้ยติดดิน” ที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน (ผู้จัดการออนไลน์ ,2556) 

     คุณยงยุทธ แฉล้มวงศ์(ออนไลน์,2556) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลวิจัยโครงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนว่า ผลการศึกษาในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าศักยภาพและความพร้อมของไทยอยู่ในระดับ “กลาง ๆ” เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และเป็นรองแม้กระทั่งอินโดนีเซียและห่างไกลมากกับมาเลเซียที่มีศักยภาพเป็นอันดับสอง   ส่วนสิงคโปร์นั้นมีศักยภาพสูงสุดหากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ขีดความสามารถด้านการศึกษาของไทยอยู่อันดับ 6 รองจากสิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน, อินโดฯ, เวียดนาม และถ้าเปรียบเทียบในทวีปเอเชียในภาพรวมแล้ว ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 43 เป็นรองสิงคโปร์อันดับที่ 6 

ฟิลิบปินส์อันดับที่ 16 มาเลเซียอันดับที่ 23 และอินโดฯที่ 42

ผลวิเคราะห์จาก สทศ. ยืนยันชัดเจนว่าคะแนนโอเน็ตเด็กไทย(ปี2555)ยังต่ำกว่าเกณฑ์ อย่างในระดับ ป.6 ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 36.99 สูงสุด 100.00 ต่ำสุด 0.00   เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดพบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่ง  นักเรียนจำนวนมากได้ศูนย์คะแนน (มติชนออนไลน์ ,2556)

           การจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)  ซึ่งโดยหลักสูตรแล้วมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่สำคัญ  4  ทักษะ คือ  ทักษะการฟัง  ทักษะการพูด  ทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้  เมื่อสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนโดยทั่วไปก็พบว่า   ผู้เรียนไม่สามารถอ่านเอกสาร  ข้อมูล  หรือคำศัพท์ง่ายๆที่เป็นภาษาอังกฤษใกล้ตัว  หรือข้อมูลที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ได้   ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทักษะการอ่านมีความสำคัญไม่น้อยกว่าทักษะอื่นๆกล่าวคือ

           ทักษะการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้เรียน ทั้งนี้เพราะโอกาสในการใช้ทักษะการฟัง พูด และเขียนภาษาอังกฤษมีน้อยกว่าการอ่าน และการอ่านยังเป็นทักษะที่คงอยู่กับผู้เรียนนานที่สุด ผู้เรียนใช้มากที่สุด (ขจรชัย พิมพ์สิงห์, 2552)    

           การอ่านออกเสียงเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนมีการพัฒนาทักษะการเรียนด้านอื่น ๆ ตามมา เพราะการอ่านที่ถูกต้องจะทำให้นักเรียนเขียนตัวสะกดได้ถูกต้อง  นอกจากนี้การอ่านออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจนจะทำให้นักเรียนเกิดความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษของตนเอง ทำให้สามารถพัฒนาไปสู่ทักษะการอ่านขั้นสูงต่อไป เช่น การอ่านเพื่อจับใจความ การอ่านเพื่อความเข้าใจเป็นต้น  (นางนภาพร  วงศ์พุทธาม,2556)

          นอกจากนี้ บทความ “สอนภาษาอังกฤษอย่างไร ขนาดเด็กมหาวิทยาลัยยังพูดไม่ได้” เว็บ sahavicha.com  ตั้งข้อสังเกต ถึงปัญหาเกี่ยวกับครูไทย ที่ส่งผลต่อการพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทย ไว้ว่า  เริ่มจากการที่ เรายังขาดแคลนครูที่จะมาสอนเด็ก อัตราส่วนของครูที่มีต่อเด็ก ส่วนมากจะอยู่ที่ 30 กว่าคนต่อห้อง ทำให้การฝึกพูดไม่ค่อยได้ผล พอกลุ่มนี้กำลังฝึก กลุ่มอื่นก็คุย บางโรงเรียนมีครูสอนภาษาอังกฤษคนเดียว สอนตั้งแต่ ม.1-ม.6  ปัญหาขาดครูเอกภาษาอังกฤษ ทำให้บางโรงเรียนต้องใช้ครูที่ไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษมาสอน โดยมากมักจะเป็นโรงเรียนต่างจังหวัด ที่เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่จะเจอปัญหาแบบนี้   จากบทความยังระบุว่า เป็นเพราะครูไทยมีงานอื่นๆที่ไม่ใช่งานสอน ต้องทำ ทั้งงานวิชาการ งานวัดผล งานธุรการ งานฝ่ายปกครอง ทำให้อาจจะไม่มีเวลาใส่ใจ เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษให้เด็กเท่าที่ควร   ปัญหาสำคัญมาก คือ เราไม่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน  แค่ชั่วโมงเรียนมีแค่อาทิตย์ละ 4 – 5 ชั่วโมง เท่านั้นเอง แต่จะว่าไป ที่พูดมาเรื่องระบบบ้าง เรื่องครูบ้าง ไม่ใช่ว่าเด็กจะไม่มีปัญหาเลย เพราะจากการสำรวจพบว่า  50 % ของการประสบความสำเร็จของการเรียนภาษา  มาจากตัวของผู้เรียนเองเป็นสำคัญ  เพราะถึงจะได้ครูดี โรงเรียนมีความพร้อม แต่ถ้าเด็กๆ ไม่พยายามฝึกฝน ก็ทำให้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เหมือนกัน

        จากข้อมูลดังกล่าวจึงพอสรุปสาเหตุของปัญหาการอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกและการเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ผลว่า  เกิดได้จากหลายสาเหตุ  เช่น  ครูผู้สอนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียนหรือขาดความชำนาญเพราะไม่ได้จบสาขาภาษาอังกฤษโดยตรง  หรือภาระงานของครูที่มีมากจนทำให้การสร้างสรรค์สื่อของครูมีน้อย   สิ่งแวดล้อมในการเรียนเช่น  จำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนที่มีมากจนครูดูแลไม่ทั่วถึง  หรือห้องเรียนที่ขาดเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย   ตัวเด็กเองที่ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้หรือค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือบทเรียน    ผู้เรียนไม่กล้าอ่าน   เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการอ่านออกเสียง  อ่านผิด   อ่านติดต่อกันหลายคำไม่ได้เนื่องจากเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้นการเรียนรู้  ต้องการการฝึกฝนบ่อยๆ แต่การจัดการเรียนการสอนปัจจุบันมีหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้  เวลาในการเรียนรู้ในห้องเรียนจึงมีน้อย  เมื่อให้การบ้านไปทบทวนที่บ้านก็ขาดผู้ชี้แนะเนื่องจากผู้ปกครองขาดความเชี่ยวชาญ  หรือไม่มีเวลาในการชี้แนะเนื่องจากต้องทำงานและการแนะนำช่วยเหลือก็ไม่เต็มที่

      บงกช สิงหกุล ( 2556 )  กล่าวว่า   การปลูกฝังเด็กให้รักการอ่านนั้น   ไม่มีกิจกรรมใดในการเตรียมเด็กให้ประสบความสำเร็จในฐานะนักอ่านคนหนึ่งสำคัญไปกว่า “ การออกเสียงร่วมกัน”   เด็กๆ เรียนรู้ที่จะรักสำเนียงของภาษาก่อนที่พวกเขาจะสังเกตถ้อยคำที่เขียนตามหน้ากระดาษ การอ่านหนังสือดังๆ กับเด็กจะช่วยปลุกเร้าจินตนาการและขยายความเข้าใจที่มีต่อโลกของพวกเขามันช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาภาษาและทักษะการฟังและเตรียมพร้อมพวกเขาในการเข้าใจถ้อยคำที่เขียน   เมื่อจังหวะและท่วงทำนองของภาษากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเด็กๆ การเรียนรู้ที่จะอ่านก็จะเป็นธรรมชาติดุจดังการเรียนรู้ที่จะเดินและพูด

  ตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้พบว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีและเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีความสนใจในในสิ่งที่กำลังจะเรียน ดังนั้นถ้าต้องการให้ผู้เรียนสนใจและตั้งใจเรียนตลอดช่วงเวลาเรียนโดยไม่เบื่อหรือง่วงนอนกลางคัน

(พิมพ์ใจ เจริญศรี, 2544)

          Prensky  (2001)   กล่าวถึงนักเรียนปัจจุบันว่า  มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมาก  ไม่เฉพาะเสื้อผ้า  สิ่งประดับตกแต่ง  หรือสไตล์การแสดงออก   นักเรียนในยุคปัจจุบันตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ กับสภาพแวดล้อมที่เป็นคอมพิวเตอร์    วีดีโอเกมส์  เครื่องเล่นเพลงดิจิตอล  กล้องถ่ายภาพโทรทัศน์  โทรศัพท์มือถือ  อินเทอเน็ตรวมทั้งตุ๊กตาและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  ในยุคดิจิตอล(วิโรจน์  สารรัตนะ,2556)   ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้คนที่เป็นครูจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจเป็นพื้นฐาน   เป็นข้อมูลในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ 

        รูปแบการจัดการเรียนการสอนแบบกลับทาง(Flipped  classroom)  เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนแบบใหม่โดย Jonathan และ Aaron ครูวิชาเคมีของโรงเรียน Woodland Park High School  สหรัฐอเมริกา  ที่ต้องการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาตามชั้นเรียนไม่ทันเพราะต้องขาดเรียนหรือเรียนเรียนไม่เก่งเรียนรู้ช้า  โดยนำวีดีโอไปแขวนไว้บนอินเทอร์เน็ต  ให้ศิษย์ที่ขาดเรียนเข้าไปเรียนได้  ทบทวนได้ซ้ำๆ  ไม่ต้องพึ่งพาการจดผิดๆถูกๆตกๆหล่นๆอีกต่อไป  ครูก็สบายไม่ต้องสอนซ้ำแก่เด็กที่ขาดเรียนไปทำกิจกรรม  จนค้นพบวิธีการเรียนรู้แบบกลับทาง  คือ  เรียนวิชาที่บ้าน  ทำการบ้านที่โรงเรียน  หรือรับถ่ายทอดความรู้ที่บ้าน  แล้วมาสร้างความรู้ต่อยอดจากวิชาที่รับถ่ายทอดมาให้เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง  เกิดทักษะที่เรียกว่า  ทักษะแห่งศตวรรษที่21 (วิจารณ์  พานิช,2556)

       จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น  ผุู้เขียนมองว่าภาพรวมหลักการของห้องเรียนกลับทาง(Flipped Classroom)  คือ  เน้นเรื่องใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา บวกกับการจัดกิจกรรมในห้องเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน  เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนปัจจุบันจำกัดเรื่องเวลา  ผู้เรียนแทบไม่มีเวลาแม้แต่จะคิดตามครู   ขาดที่ปรึกษาเมื่อกลับบ้าน  ทำการบ้านไม่ได้   ผู้เรียนเบื่อการเรียนรู้  ดังนั้นการเรียนรู้จากสื่อต่างๆ  นอกเหนือเวลาเรียน  เช่น  การอ่านหนังสือเพิ่มเติม  ปรึกษาเพื่อนหรือครูออนไลน์   ดูซีดีสารคดี  สามารถทำได้ล่วงหน้านอกห้องเรียน  แล้วตั้งคำถาม  หรือเก็บข้อสงสัยไว้เพื่อมาถามครูเพิ่มเติมที่โรงเรียน    ส่วนเวลาในห้องเรียน ครูก็สร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะกับการจัดกิจกรรมที่ออกแบบไว้ เพื่อให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ   ครูก็เดินสำรวจไปรอบๆ ห้อง คอยให้คำแนะนำหลักการที่เข้าใจยาก หรือปัญหาที่เด็กพบ วิธีนี้จะทำให้เด็กเข้าใจความรู้ คลายข้อสงสัยลงได้

           และเมื่อพิจารณาสภาพการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ผู้เรียนสนใจในเทคโนโลยีการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1 รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใช้คอมพิวเตอร์พกพา (Tablet)เป็นสื่อการเรียนรู้  ผู้เรียนสามารถนำกลับบ้านได้และใช้งานได้เองตลอดเวลา   เรียนรู้โต้ตอบจากบทเรียนได้ด้วยตนเอง  มีภาพและเสียงประกอบบทเรียน  มีการวัดประเมินผลการเรียนรู้ครบขั้นตอน  ผู้เรียนฝึกซ้ำๆ  ได้มากเท่าที่ต้องการ ผู้เขียนจึงมีแนวคิดว่า  การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับด้านมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจเพราะในเมื่อนักเรียนทุกคนจะมีเครื่อง Tablet  เป็นของตนเอง  ครูมีการออกแบบวางแผนและนำเสนอเนื้อหาบทเรียน  ผู้เรียนใช้Tablet  เป็นตัวช่วยในการเรียนรู้   สามารถเลือกเวลาเข้าฝึกผ่านบทเรียนได้ตามต้องการ  โดยไม่ต้องมีข้องจำกัดของเวลา  ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องชี้แนะเพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้ผ่านบทเรียนได้  ซึ่งเป็นการประหยัดเวลา  ลดภาระของครูและผู้ปกครอง นอกจานี้การได้ใช้ภาษาบ่อยๆ ทั้งที่บ้านและโรงเรียนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้จริงในชีวิตประจำวันจนเกิดเป็นความเคยชิน  กล้าพูดและสามารถใช้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาในชีวิตจริง

          ข้อจำกัดของกระบวนการสอนแบบพลิกคือการเข้าถึงสื่อหรือวีดีโอที่ครูออกแบบ    ซึ่งบางโรงเรียนยังประสบปัญหาการขาดแคลนด้านคอมพิวเตอร์  เครื่องเล่นซีดี  และสื่อที่เป็นเทคโนโลยีใหม่อันจะเป็นตัวกลางในการเข้าถึงสื่อที่ครูออกแบบ ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมของครูควรมีการศึกษาข้อมูลผู้เรียนและสภาพแวดล้อมเพื่อการออกแบบกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม  

 

 

 

ภาพจาก https://www.google.co.th/search?tbm=isch&source=univ&sa=X&ei=QOKIUo-TCMrarAflzoGwBQ&ved=0CDsQsAQ&biw=1280&bih=655&q=%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%20flipped%20classroom

 

หมายเลขบันทึก: 553857เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมพบว่าครูที่สอนมีความสำคัญมากเลยครับ

ครูต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน

กระทรวงต้องหาครูภาษาอังกฤษให้ประถมฯหรือการศึกษาขั้นพื้นฐานครบชั้น

ขนาดครูยังไม่กล้าพูด นักเรียนจะพูดได้ไหมเนี่ย

เป็นกำลังใจนะคะ...ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นลำดับขั้นตอนการฝึกทักษะภาษาอังกฤษที่ถูกต้องแล้ว...เพียงแต่ต้องใช้สื่อที่ชัดเจน และถูกต้อง...

ขอบคุณสำหรับของฝากและกำลังใจค่ะ กำลังจะใช้กิจกรรมการเรียนการสอนนี้กับเด็กๆในปีการศึกษา57ค่ะ ( ถ้าแทปเล็ตมาภาคเรียนที่1)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท