เต๋า เต็ก เก็ง : ปรัชญาของเหล่าจื้อ


 

ปรัชญาชีวิต      

        คนที่ยืนเขย่งเท้าเพื่อที่จะยืนอยู่เหนือคนอื่น  ผู้นั้นย่อมยืนอยู่ไม่ได้นาน  คนที่ก้าวเท้ายาวเกินไปเพื่อจะลำหน้าคนอื่น  ย่อมไปไม่ได้ไกล  คนที่แสดงตนว่าตนเองมีพระเดชพระคุณ  จะกลับเป็นคนถูกเขาเนรคุณ  ไม่มีผู้นับถือ  (ต.ต.ก.บทที่ 3)

 

        คนที่มักโอ้อวดตนเอง  ถ้าระงับเสียได้จะเป็นการดี  เพราะน้ำถ้าเต็มเปี่ยมเกินไปย่อมไหลล้นออกมา  คนที่ชอบแสดงความแหลมคมของตนออกมา ย่อมไม่อาจรักษาตนอยู่ได้นาน  คนที่มั่งคั่งมีทรัพย์สินเต็มบ้านในที่สุดก็ไม่สามารถครอบครองสมบัติเหล่านั้นไว้ได้ตลอดไป  เศรษฐีที่เย่อหยิ่งทรนงชื่อว่าหาโทษใส่ตัวเองเมื่อทำกิจกรรมสำเร็จแล้ว มีชื่อเสียงเกียรติยศปรากฏแล้ว  ควรปลีกตัวออกไปเสียผู้ใดทำได้อย่างนี้ ชื่อว่าทำตามวิถีแห่งเต๋า(ต.ต.ก.บทที่ 9)

 

       คนที่มีความชำนาญในการดำเนินงาน ย่อมไม่ทิ้งร่องรอยของตนไว้ คนที่ชำนาญในการสนทนาย่อมมีวาจาไม่บกพร่องเสียหาย  คนที่ชำนาญในการคำนวน ย่อมไม่ต้องใช้เครื่องช่วยคำนวน  คนที่สามารถในการคุ้มครองรักษาถึงแม้ไม่มีกุญแจใส่ปิดไว้  คนอื่นก็เปิดประตูไม่ออก  คนที่สามารถในการผูกเงื่อน ถึงแม้จะไม่มีเชือกให้ผูกคนอื่นเขาก็แก้ไม่ได้  (ต.ต.ก. บทที่ 28)

 

       ความอ่อนน้อมชนะความกระด้าง  ความอ่อนโยนชนะความเข้มแข็ง (ต.ต.ก. 36)

 

       ผู้รู้จักคนอื่นได้ดี ชื่อว่าผู้ฉลาด ผู้รู้จักตนเองชื่่อว่าเป็นผู้มีปัญญา  ผู้ที่ชนะคนอื่นชื่อว่าเป็นผู้มีกำลัง  ผู้ที่ชนะตนเองได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้มแข็ง  ผู้ที่รู้จักพอ ชื่อว่าเป็นผู้ร่ำรวย (ต.ต.ก. บทที่ 37)

 

        ชื่อเสียงเกียรติยศกับชีวิต สิ่งไหนจะมีค่ากว่ากัน  ชีวิตกับทรัพย์สมบัติสิ่งไหนจะมีค่ากว่ากัน ได้ชื่อเสียงกับลาภยศแต่ต้องสละชีวิตสิ่งไหนจะให้โทษกว่ากัน  ฉะนั้นผู้ที่ใคร่จะได้ของที่ตนรักใคร่หวงแหนไว้  ย่อมต้องลงทุนใช้จ่ายไปมาก  ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ พึงเป็นผู้รู้จักพอ  คนที่รู้จักพอย่อมไม่ต้องเกิดความละอายขายหน้าภายหลัง  ผู้ที่รู้จักหยุดเสียบ้าง ย่อมไม่ต้องตกระกำลำบากภายหลัง  เขาผู้นั้นมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน (ต.ต.ก. บทที่ 44)

 

      ผู้พูดไม่รู้  ผู้รู้ไม่พูด  (ต.ต.ก. บทที่ 56)

 

       โชคร้ายย่อมเป็นที่พักพิงของโชคดี  โชคดีเล่าก็ย่อมเป็นที่หลบมุมของโชคร้าย (ต.ต.ก. บทที่ 56)

 

        พึงตอบแทนความชั่วด้วยความดี  พึงรู้ว่าผู้ที่รับปากง่ายเกินไป มักเป็นคนเชื่อถือวางใจไม่ได้  ส่วนผู้ที่เห็นกิจกรรมเป็นเรื่องง่ายเกินไป  มักเผชิญอุปสรรค (ต.ต.ก. 63)

 

        ผู้มีความรู้ แต่ทำตัวเหมือนว่าไม่รู้จักอะไรเลยเป็นผู้ประเสริฐ  ผู้ไม่มีความรู้แต่ทำตัวว่าเป็นผู้รู้อะไรต่าง ๆ เป็นผู้ไม่ประเสริฐ (ต.ต.ก. บทที่ 71)

 

        คำพูดที่ออกมาจากความจริงใจมักจะไม่ไพเราะ  คำพูดที่ไพเราะมักจะไม่ใช่ความจริงใจ  คนดีย่อมไม่พูดโต้เถียงเพื่อตัวของเขาเอง  คนที่ชอบพูดโต้เถียงเพื่อตัวของเขาเอง  มักไม่ใช่คนดีจริง  ผู้ที่รู้จริงย่อมไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมาก  คนที่รู้อะไรมาก มักจะไม่ใช่คนรู้จริง (ต.ต.ก. บทที่ 81)

 

                                            ปรัชญาการเมือง

 

       จงดูความโสมมของนักการเมือเถิด  ไร่นาสาโทปล่อยให้รกร้าง  ในยุ้งฉางก็ปราศจากข้าวเปลือก  แต่นักปกครองรัฐกลับตกแต่งตนด้วยแพรพรรณอันโอ่อ่า  คาดกระบี่อวดศักดากันฟุ่มเฟือย  มีสมบัติเหลือแหล่  นักปกครองอย่างนี้คงนับว่าเป็นหัวหน้าโจรมากกว่า  (ต.ต.ก. บทที่ 53)

 

       ประชาชนต้องหิวโหยเพราะรัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไป  เป็นมูลเหตุให้เกิดความอดอยากมากขึ้น  ประชาชนที่ปกครองยาก ก็เพราะรัฐบาลมายุ่งเกี่ยวชีวิตเขามากเกินไป เป็นมูลเหตุให้ลำบากแก่การปกครอง  ประชาชนเห็นความตายเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็เพราะนักปกครองมีความเป็นอยู่ฟุ่มเฟือยหรูหราเกินไป เป็นมูลเหตุให้ประชาชนเห็นความตายเป็นเรื่องเล็กน้อย  (ต.ต.ก. บทที่ 74)

 

         ถ้ามีข้อห้ามจุกจิกเกินไป  ประชาชนก็ยิ่งยากจนลง  และถ้าประชนมีอาวุธในครองครองมาก รัฐก็เกิดจลาจล หากประชาชนมีความฉลาดเฉลียวพลิกแพลงต่าง ๆ มาก เรื่องทุจริตก็มีขึ้น กฏหมายยิ่งมีมาก โจรผู้ร้ายก็จะกลับชุกชุม (ต.ต.ก. บทที่ 57)

 

          รัฐบาลถือเอาเต๋าเป็นอุดมคติ  ย่อมไม่ต้องพึ่งกำลังทรัพย์มาเสริมสร้างความเกรียงไกร  เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า หากเราชนะผู้อื่นด้วยกำลัง ย่อมจะต้องถูกผู้อื่นเขาสนองตอบในโอกาสหนึ่ง  ณ ที่ใดมีกองทัพตั้งอยู่ ณ ที่นั้นย่อมจะต้องมีสภาพรกร้างเปลี่ยวเปล่าตามมาภายหลังเมื่อเสร็จสงครามแต่ละครั้ง จะต้องมีปีแห่งวิปโยคตามมา (ต.ต.ก. บทที่ 17)

 

          รัฐบาลที่ปกครองประชาชนโดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าตนถูกปกครอง  เพราะเป็นรัฐบาลที่ดำเนินตามอุดมคติเสรีนิยมกับธรรมชาตนิยมอย่างแท้จริง

          รัฐบาลที่ปกครองประชาชนด้วยวีธีสร้างความดีให้ประชาชนเห็น  ประชาชนก็สดุดีรัฐบาลนั้น  นับว่าดีแต่ไม่ประเสริฐเท่าข้อหนึ่ง

         รัฐบาลที่ใช้อำนาจกดขี่ประชาชน  และเที่ยวยุ่งเกี่ยวบังคับความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จนประชาชนไม่เป็นตัวของตัวเอง แบบนี้เป็นรัฐบาลที่เลวที่สุด (ต.ต.ก. บทที่ 7)

 

        แผ่นฟ้ากับผืนดินที่มันยืนยงอยู่ได้นานก็เพราะมันไม่มีความโลภใคร่จะได้อยู่นาน ๆ ดังนั้นมันกลับยืนยงคงทนกว่าสิ่งอื่น  บัณฑิตพึงทำตนให้เป็นผู้ตามหลังประชาชน  แต่เขากลับจะได้เป็นผู้นำประชาชน  สละความเห็นแก่ตัวเสีย และดังนั้นเขากลับจะมีอะไรเยอะแยะเหลืออยู่  เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตน  เขาจึงสามารถบำเพ็ญประโยชน์ของตนให้สำเร็จบริบูรณ์ได้ (ต.ต.ก. บทที่ 7)

 

       แม่น้ำและทะเลจัดเป็นจอมวารีอันยิ่งใหญ่กว่าลำธารทั้งหมด  ก็เพราะมันอยู่ในสถานที่ต่ำกว่าลำธารน้ำเหล่านั้น  ฉะนั้นผู้ที่ปราถนาจะเป็นจอมคนอยู่เหนือประชาชนพึงบำเพ็ญตนให้ปากกับใจตรงกัน  และตั้งตนอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า  ถ้าปราถนาจะเป็นผู้นำประชาชนก็พึงตามหลังประชาชน  เมื่อทำได้เช่นนี้  ผู้นั้นย่อมมีฐานะเหนือประชาชน ๆ ก็ไม่คิดรังเกียจหรือประทุษร้ายต่อเขา  ประชาชนยินดีสนับสนุนเขาโดยไม่เอื่ยมระอา  อนึ่งเพราะเหตุที่เขาไม่แก่งแย่งผลประโยชน์ของประชาชน ๆ ก็ไม่มีใครไปแก่งแย่งช่วงชิงตำแหน่งของเขา  (ต.ต.ก. บทที่ 66)

 

          ฉันมีแก้วอยู่ 3 ดวง ซึ่งเก็บรักษาทะนุถนอมเอาไว้ 1.คือความเมตตา 2.คือความประหยัด 3.คือทำอะไรอย่าเอาเด่นล้ำหน้าประชาชน  ผู้มีเมตตาย่อมเป็นผู้มีความแกล้วกล้า  ผู้ที่รู้จักประหยัดย่อมเป็นผู้ที่มีโภคทรัพย์สมบูรณ์  ส่วนผู้ที่ทำอะไรไม่เอาเด่นล้ำหน้าประชาชน เขาย่อมได้เป็นผู้นำประชาชนโดยแท้จริง  (ต.ต.ก. บทที่ 67)

 

           เพราะฉะนั้นบัณฑิตผู้จักเป็นนักปกครองพึงทำใจให้โปร่งโล่ง  มีอาหารพอที่จะบรรจุกระเพราะให้เต็ม  แต่มีเจตจำนงเบาบางให้ทวยประชามีเสรี  กายแข็งแรงล่ำสัน  แต่ไม่ขวนขวายสู่รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มีความไม่ทะเยอทะยานเป็นปกติวิสัย  ทำเอาบรรดามนุษย์ประเภทเจ้าความคิดชอบสร้างสถานการณ์ยุ่งเกี่ยวกับประชาชน  หมดหนทางในการดำเนินกิจในชีวิตของเขา  หากจำเป็นต้องมีการยุ่งเกี่ยวอะไรไซร้  ก็จงดำเนินตามอุดมคติที่ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอะไรเลยนั่นแหล่ะ  ตั้งหน้าทำไป  บัณฑิตนักปกครองทำได้เช่นนี้ก็จักไม่มีสิ่งใดที่ปรารถนาจะให้เรียบร้อยไม่สำเร็จ (ต.ต.ก. บทที่ 3)

หมายเลขบันทึก: 553851เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2013 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คัมภีร์เต๋าเต็กเก็งรจนาโดยท่านปรมาจารย์เหล่าจื้อ ท่านรับราชการในราชสำนักจิว ตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่แห่งหอพระสมุดแห่งชาติ ต่อมาได้เห็นความเสื่อมของราชวงศ์จิว จึงลาออกจากราชการ จาริกไปถึงด่าน ๆ หนึ่ง นายด่านได้ขอร้องท่านเหล่าจื้อว่า ไหน ๆ ก็จักหลีกเร้นจากสังคมแล้ว โปรดรจนาคัมภีร์ไว้เป็นอนุสรณ์เพื่ออนุชนบ้าง ท่านเหล่าจื้อจึงได้แต่งคัมภีร์ขึ้นเล่มหนึ่ง ว่าด้วยคุณธรรมประการต่าง ๆ เป็นอักษร ๕,๐๐๐ กว่าตัว และถูกเรียกชื่อภายหลังว่า คัมภีร์ เต๋าเต็กเก็ง เป็นต้นกำเนิดของปรัชญาลัทธิเต๋า

ท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของคัมภีร์ เต๋าเต็กเก็ง ว่า "ถ้าคัมภีร์ภควัทคีตา มีฐานะสำคัญในปรัชญาของศาสนาพราหมณ์อย่างไร คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ก็มีฐานะสำคัญในปรัชญาของศาสนาเต๋าอย่างเดียวกัน พูดได้ว่าอินเดียมีคัมภีร์ภควัทคีตาเป็นเพชรภูมิธรรมแห่งฮินดูฉันใด จีนก็มีคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งเป็นภูมิธรรมแห่งดินแดนมังกร ฉันนั้น"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท