ตอนที่ 2 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยยุทธศาสตร์การคิด/ทำแบบกลับทางอย่างรอบด้าน
เพื่อให้บันทึกตอนที่ 2 มีความเชื่อมโยงกับ “บันทึกตอนที่ 1 ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของไทย” (http://www.gotoknow.org/posts/551278) ขอสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาในตอนที่ 1 ไว้ดังนี้...ประเทศไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษา เพราะผลการวัดประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานภายในประเทศและในระดับนานาชาติ มีความสอดคล้องกันว่า คุณภาพในการจัดการศึกษาของไทยโดยรวมอยู่ในขั้นวิกฤต และนับวันแต่จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ กล่าวคือ จากผลการวัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1 - ม.6) ของไทย (O-NET) ในช่วงปี 2550 - 2555 พบว่า นักเรียนทุกช่วงชั้นมีคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศ ในกลุ่มสาระตามหลักสูตร ส่วนใหญ่ไม่ถึง 50 % โดยชั้น ม.6 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคะแนนต่ำที่สุด และ 3 กลุ่มสาระที่มีคะแนนต่ำที่สุดในทุกช่วงชั้น คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปี 2555 นักเรียนชั้น ม.6 มีคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศใน 3 วิชาดังกล่าวเพียง 22.13, 22.73, และ 33.10 คะแนน ตามลำดับ (จากคะแนนเต็ม 100) สำหรับผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของไทยทั้งในกลุ่มประเทศ ASEAN และกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ประเมินจากผลการสอบวัดด้านการอ่าน ทักษะทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (PISA) และประเมินจากปัจจัยนำเข้า (Inputs) และผลกระทบ (Impact) ในการจัดการศึกษา ประเทศไทยก็ถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆ (ดังภาพ)
และผู้เขียนได้กล่าวทิ้งท้ายในบันทึกตอนที่ 1 ไว้ สรุปได้ว่า...ผู้เขียนไม่อยากให้คนไทยใส่ใจกับอันดับที่ถูกจัดโดยบางสำนัก แต่ก็อยากให้ยอมรับว่า ผลการประเมินทั้งภายในประเทศและในระดับนานาชาติ มีความสอดคล้องต้องกันว่า คุณภาพในการจัดการศึกษาของไทยเราในภาพรวมตกต่ำลง ซึ่งก็ไม่อยากให้มีการโยนความผิดไปให้ใคร แต่อยากเห็น "การใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส" โดยการเกิดความรู้สึกร่วมกันของคนไทยทุกหมู่เหล่า ที่จะร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บังเกิดผลในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น
1. ประเด็นที่ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมก่อนเสนอแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ผู้เขียนขอให้กำลังใจคนไทยว่า คุณภาพการศึกษาของไทยเราใช่ว่าจะวิกฤตไปทุกส่วน เวลากล่าวถึงคุณภาพการศึกษาของชาติโดยประเมินจากผลการทดสอบนั้น จะประเมินตามคะแนนเฉลี่ย (Mean) ของนักเรียนทั้งประเทศ โดยนำคะแนนของทุกคนมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนคน เมื่อค่าเฉลี่ยออกมาต่ำ แม้จะแปลความหมายในภาพรวมได้ว่า นักเรียนโดยรวมทั้งประเทศมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า นักเรียนทุกคนจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำตามไปด้วย ดังตารางที่แสดงคะแนน O-NET ของนักเรียนชั้น ม.6 ในปี 2555 ข้างล่าง (จะขอไม่อธิบายค่าสถิติทั้งหมดในตารางให้รุงรัง)
จากค่าสถิติในตาราง จะเห็นว่า มีทั้งส่วนที่น่าหนักใจ คือ ใน 8 วิชา มีผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำสุด 0 ถึงุ 6 วิชา อีก 2 วิชา มีคะแนนต่ำสุด 1.25 และ 4 แต่ก็มีส่วนที่น่าชื่นใจ คือ ใน 8 วิชา ผู้ที่ทำคะแนนสูงสุดได้คะแนนจาก 73.00 - 100.00 โดยในสองวิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดนั้น วิชาคณิตศาสตร์ที่นักเรียนโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 22.73 คะแนน แต่ก็มีผู้ที่ได้คะแนนเต็ม 100 และวิชาภาษาอังกฤษที่นักเรียนโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 22.13 คะแนน แต่ก็มีผู้ที่ได้คะแนถึง 98 คะแนน สำหรับในระดับโรงเรียน ก็มีโรงเรียนจำนวนมากที่มีคะแนน O-NET สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ และมีหลายโรงเรียน ที่จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพทัดเทียมระดับนานาชาติ จะเห็นได้จากการที่นักเรียนในโรงเรียนดังกล่าว ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และได้รับเหรียญรางวัลต่างๆ มาทุกปี (ดังตัวอย่างในภาพล่าง) ซึ่งชี้ว่า ผลสัมฤทธิ์ในการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความแตกต่างระหว่างบุคคลและระหว่างโรงเรียนสูงมาก
มีผู้สงสัยว่า ทำไมนักเรียนที่ได้รับเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ จึงไม่ได้รับเงินอัดฉีดเหมือนนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเกิดจากความยากง่ายในการได้เหรียญ เพราะผู้ที่จะได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ในแต่ละรอบของการแข่งขันไปตามลำดับ จนถึงรอบท้ายๆ และจะมีผู้ได้รับเหรียญแต่ละชนิด ชนิดละ1 คน/1 คู่/ 1 ทีม เท่านั้น ส่วนในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนั้น จะมีโอกาสได้เหรียญง่ายกว่า เพราะ ไม่มีการแข่งขันระหว่างบุคคล นักเรียนที่ได้เหรียญไม่ใช่ผู้ที่เอาชนะคนอื่นได้ หรือมีคะแนนเหนือคนอื่น เพียงแต่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่า คะแนนในช่วงใดจะได้รับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ฯลฯ จึงมีผู้ที่ได้รับเหรียญแต่ละชนิดมากมายตามจำนวนผู้ที่ทำคะแนนได้ในช่วงนั้นๆ ซึ่งก็มีนักเรียนจากหลายประเทศที่ได้รับเหรียญรางวัลต่างๆ เช่นกับประเทศของเรา
2. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ทำไมต้องคิด/ทำแบบกลับทางอย่างรอบด้าน
ที่ผู้เขียนเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย คิด/ทำแบบกลับทาง ก็เพราะเห็นแล้วว่า ความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านมาจนถึงครึ่งทางของทศวรรษที่สองของการปฏิรูปการศึกษา แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นผล (ทศวรรษแรกในการปฏิรูปการศึกษาของไทย อยู่ในช่วงปี 2542-2551 และทศวรรษที่สองอยู่ในช่วงปี 2552-2561) ดังที่ ศาตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวไว้ว่า “ปัญหาคุณภาพการศึกษา กลายเป็นโรคเรื้อรังของประเทศไทย ที่ถึงแม้จะมีความพยายามปฏิรูปมากว่า 10 ปี ตั้งแต่รอบแรกในปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันรอบสองตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาหรือแม้แต่บรรเทาอาการป่วยได้ สาเหตุของปัญหามีมากมายจนมองไม่เห็นหนทางว่า จะรักษากันอย่างไรและจะเริ่มกันที่จุดใด ซ้ำร้าย การแก้ไขปฏิรูปในบางด้าน กลับยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง” (http://blog.eduzones.com/racchachoengsao/88413) ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อวิธีที่เราคิดและทำมานานแล้วใช้ไม่ได้ผล ถ้าเรายังทู่ซี้ทำต่อไป ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างไปจากเดิม คือการไม่สามารถพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวมให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “If you always think what you've always thought, you will always get what you've always got.” ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกฝ่าย หันมาทดลองใช้ “ยุทธศาสตร์การคิด/ทำแบบกลับทางอย่างรอบด้าน” ที่ผู้เขียนคิดขึ้น ดูบ้าง เผื่อจะมีโอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยเรา ให้สูงขึ้นได้
3. ยุทธศาสตร์การคิด/ทำแบบกลับทางอย่างรอบด้าน เป็นอย่างไร
“การคิด/ทำแบบกลับทาง (Reverse)” เป็นเทคนิคหนึ่งของ “การคิดนอกกรอบ หรือนอกกล่อง (Lateral Thinking)” ดังผังมโนทัศน์ (Concept Map) ข้างบน การคิดนอกกรอบ เป็นความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ คือ คิดให้ต่างไปจากความคิดดั้งเดิมในแบบที่เคยคิดกันมาก่อน เพื่อให้บรรลุผลในการแก้ปัญหา เพราะการติดอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมๆ จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และที่ต้องคิด/ทำอย่างรอบด้าน ด้วย ก็เพราะ คุณภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย และแต่ละปัจจัยก็มีผลกระทบถึงกันและกัน จึงจำเป็นต้องจะคิดทำในทุกปัจจัยไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย จึงจะมีพลังขับเคลื่อนมากพอ ที่จะนำไปสู่การบรรลุผลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเป้าหมาย ดังที่ แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ สิบเอ็ด พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดประเด็น การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ ไว้ส่วนหนึ่งว่า “1) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ… โดยกำหนดงาน/โครงการ/กิจกรรมหลัก ที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างชัดเจน รวมทั้งการกำหนดความรับผิดชอบต่อการบรรลุเป้าหมายหลัก 2) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาฯ กับนโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน รวมทั้งแผนพัฒนาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา…”
4. อะไรคือเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัคือแผนฉบับที่สิบเอ็ด (ที่มีกรอบแนวคิดในการจัดทำดังที่แสดงในแผนภาพบนซ้าย) เป็นแผนที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559) โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันในเวทีโลก” และได้กำหนด พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักในส่วนที่เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาไว้ว่า พันธกิจ “1) ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสู่สากล…” วัตถุประสงค์ “1) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพคนไทย ให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาประเทศในอนาคต” เป้าหมายหลัก “1) ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ซึ่งดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง มีว่า “วิสัยทัศน์ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นพลังขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ให้เป็นผู้นำหนึ่งในสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปีการศึกษา 2556 พันธกิจ : พัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาพื้นฐาน ให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีความสามารถตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพระดับสากล เป้าประสงค์ : ผู้เรียนทุกคนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาสู่ความเป็นหนึ่งในสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้… (http://www.obec.go.th/node/93) ก็ไม่ทราบว่า เมื่อดูจากอันดับในปัจจุบัน เป้าประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนมีคุณภาพทางการศึกษา เป็นหนึ่งในสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2556 จะเป็นไปได้หรือไม่ แต่สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติครั้งที่ 62 ที่จัดระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2556 มีนิทรรศการ/กิจกรรมด้านเศรษฐกิจพอเพียง ถึง 2 หัวเรื่อง แสดงให้เห็นว่า การจัดการศึกษาขัันพื้นฐาน มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาคนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาฯ
5. มีใคร/หน่วยงานใดบ้างที่จะต้องคิด/ทำแบบกลับทาง และคิด/ทำกลับทางอย่างไร
มีหลายภาคส่วนที่น่าจะต้องคิด/ทำแบบกลับทาง เพื่อเพิ่มคุณภาพของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมดในบันทึกนี้ จึงขอกล่าวถึงเพียงภาคส่วนแรก ดังนี้ (ภาคส่วนอื่นๆ จะกล่าวถึงในตอนที่ 3 ตอนจบ)
5.1 ข้อเสนอการคิด/ทำแบบกลับทาง ในระดับรัฐบาล
จะขอเริ่มจากระดับรัฐบาล เพราะเป็นโครงสร้างใหญ่ที่ส่งผลกระทบถึงหน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั้งประเทศ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อที่ 3 ว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติที่ได้ผล ต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาฯ กับนโยบายรัฐบาล แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในขณะที่แผนพัฒนาการศึกษาฯ ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕–๒๕๕๙)” ที่ชี้ว่า “…ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ทุกภาคส่วนในสังคมไทยเห็นพ้องร่วมกัน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญานำทาง ในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดภูมิคุ้มกัน และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน”(http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=395) แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับมีนโยบายที่สวนทาง คือ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลับใช้เงินเป็นสิ่งล่อใจให้คนหันมาให้ความสำคัญกับวัตถุ เป็นผลให้หนี้สินในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัว ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพในการเรียนของบุตรหลานด้วย ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลชี้ว่า งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ได้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น ดังที่ประธาน TDRI ได้กล่าวไว้ว่า "ลำพังการเพิ่มทรัพยากร เช่น งบประมาณทางการศึกษา ไม่รับประกันความสำเร็จในการเพิ่มคุณภาพการศึกษา" (ซึ่งจะให้รายละเอียดต่อไป) ผู้เเขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลปรับนโยบาย มาเป็นการพัฒนาศักยภาพคนโดยตรง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับจุดเน้นการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่สิบเอ็ด พ.ศ. 2555-2559
ศ.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า “รัฐบาลมัวแต่แก้ปัญหาทางการเมืองของตัวเอง จึงพยายามสร้างความพอใจให้กับประชาชนโดยใช้เงิน ทั้งที่ตระหนักดีว่า บางโครงการสร้างความเสียหายต่อภาครัฐและขีดความสามารถในการแข่งขัน…ทำให้ศักยภาพการลงทุนของไทยต่ำลง สวนทางกับประเทศคู่แข่ง ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่อันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา" และได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก เพื่อลดภาระการคลัง และเตรียมรับมือจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่ไม่แน่นอน และชี้ว่า "การทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ไม่ทำให้หนี้สินครัวเรือนลดลง ซ้ำยังใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น อันเป็นผลจากค่าครองชีพสูงขึ้น และภาระรายจ่ายฟื้นฟูจากเหตุน้ำท่วม จนถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นภาพชัดว่า รัฐบาลจะเพิ่มรายได้จากแหล่งใด ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น แต่กลับได้ยินแนวคิดการกู้เงินเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อมๆ กับการเดินหน้านโยบายประชานิยม จะนำประเทศไปสู่จุดเสี่ยงไม่ต่างจากกรีซ" (http://www.thaitextile.org/main/content.php?content_id=NEWS120724095637&content_type=news) อนึ่ง "THAIPUBLICA" ชี้ว่า “หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดการบริโภคเอกชน การบริโภคเอกชนที่ชะลอตัวลงมาก มีสาเหตุหลักมาจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายลดลง... โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี 2553 เป็น 80% ในปัจจุบัน กับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำกระทบรายได้ประชาชนในกลุ่มนี้ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ ...สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2554 เป็น 22% ในปี 2555 มาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด 9% รองลงมาคือ สินเชื่อเพื่อการบริโภคอุปโภคหรือสินเชื่อส่วนบุคคล 7% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 6% " (http://thaipublica.org/2013/07/eic-out-look-q3-2013/)
ในบทความเรื่อง “วิกฤตการศึกษาไทย ใช้งบประมาณมากที่สุดแต่ผลสัมฤทธิ์กลับตรงกันข้าม” ของ THAIPUBLICA (http://thaipublica.org/2012/08/critical-study-of-thailand-1/) สรุปได้ว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ยกเว้นปี 2555 ที่ตกมาเป็นอันดับ 2 โดยจัดสรรงบประมาณในวงเงินที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ล่าสุดปีงบประมาณ 2556 ได้รับการจัดสรรเป็นจำนวนเงิน 460,411,648,800 บาท หรือประมาณร้อยละ 19.18 ของงบประมาณรวม 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 4 หมื่นล้านบาท…อีกทั้งสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดิน อยู่ในอัตราที่สูง จากการรวบรวมข้อมูลคุณภาพหรือผลลัพธ์ทางการศึกษาที่สะท้อนออกมา และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ลงทุนด้วยจำนวนเงินในปริมาณใกล้เคียงกับเราอย่างสิงคโปร์ จะพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างไทยกับสิงคโปร์ยังไกลกันอยู่มาก และถ้าดูจากตารางข้างล่างจะเห็นว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่สัมพันธ์กับงบประมาณที่ได้รับ อย่างเช่น ในปี 2551 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 3 แสนล้านบาท ค่าเฉลี่ยคะแนน O-NET ของนักเรียน ม.6 ในวิชาคณิตศาสตร์เท่ากับ 35.97 พอปี 2555 ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท แต่ค่าเฉลี่ยคะแนน O-NET ของนักเรียน ม.6 ในวิชาคณิตศาสตร์ กลับลดลงเป็น 22.73 วิชาภาษาอังกฤษก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน สำหรับการทดสอบนานาชาตินั้น ในปี 2543 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท คะแนน PISA คณิตศาสตร์ของนักเรียน เท่ากับ 432 คะแนน แต่พอปี 2552 ที่กระทรวงฯ ได้รับงบประมาณเพิ่มเป็น 3.5 แสนล้านบาท คะแนนกลับลดลงเป็น 419 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 600)
และในบทความเรื่อง “เจาะลึก! งบกระทรวงศึกษาปี 55 ใช้ทำอะไรบ้าง" (http://education.kapook.com/view52622.html) จะเห็นว่า นอกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้รับงบประมาณในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของตนเองโดยตรงแล้ว หน่วยงานอื่นๆ ยังได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย รวมทั้งงบประมาณจาก สสวท. ที่ทำหน้าที่พัฒนาขีดความสามารถด้านการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ของครูและเยาวชนไทยในทุกระดับการศึกษา และดูแลเรื่องสื่อการสอนและการพัฒนาครู
จากที่กล่าวมา ขอสรุปอีกครั้งว่า "ลำพังการเพิ่มทรัพยากร เช่น งบประมาณทางการศึกษา ไม่อาจรับประกันความสำเร็จในการเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้" ดังอุทาหรณ์จากตัวละครในเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" ที่ออกอากาศอยู่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งจะเห็นว่า แม้จะได้เงินมามากมายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การดำเนินชีวิตแบบประมาท ฟุ้งเฟ้อ เอาแต่แต่งตัว ดื่มเหล้าแถมยังเล่นการพนัน งานการก็ไม่ยอมทำของลำยอง จึงทำให้ชีวิตพบกับหายนะหมดเนื้อหมดตัว ตรงกันข้ามกับลำยง ที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามฐานะ ทำมาหากินเก็บเล็กผสมน้อย ก็ทำให้มีชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพได้ (ละครเรื่องนี้ มีคำพูดที่เป็นข้อคิดดีๆ ในด้านการดำเนินชีวิต และการอบรมเลี้ยงดูบุตร...อดดีใจไม่ได้ที่คู่รักคนใหม่ของพ่อวันเฉลิม มีอาชีพ "เป็นครู" และเป็นครูที่มีจิตเมตตากรุณาต่อวันเฉลิม ไม่ใช่ประเภทแม่เลี้ยงใจร้าย มีความเข้าใจยอมรับในปัญหาของคนที่ตนจะใช้ชีวิตร่วมด้วยและยังรู้จักปรนนิบัติว่าที่พ่อแม่สามี สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีพครู)
ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านมากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่าน และต้องขออภัยที่ลงตอนที่ 2 ห่างจากตอนแรกถึงสองอาทิตย์ เพราะต้องค้นคว้าและวิเคราะห์สังเคราะห์เอกสารค่อนข้างมาก อีกอย่างก็มีประเด็นที่จะต้องกล่าวถึงมากมาย กว่าจะลงตัวว่า ต้องลงเป็น 3 ตอน โดยในตอนที่ 3 จะนำกรณีตัวอย่างจากคุณครู ผู้บริหาร โรงเรียน ครอบครัว หน่วยงานอื่นๆ และชุมชน ที่ร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษา ซึ่งได้สารสนเทศจากบันทึกของกัลยาณมิตร GotoKnow มาประกอบด้วย
โปรดติดตามบันทึกตอนจบ ซึ่งเป็นตอนที่สำคัญที่สุด (ดังชื่อเรื่องในภาพล่าง)...ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ
ขอบคุณค่ะ ได้อ่านทบทวน
และมาสะดุดตรงข้อความนี้นะคะ
"แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ สิบเอ็ด พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดประเด็น การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ ไว้ส่วนหนึ่งว่า “1) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ… โดยกำหนดงาน/โครงการ/กิจกรรมหลัก ที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างชัดเจน รวมทั้งการกำหนดความรับผิดชอบต่อการบรรลุเป้าหมายหลัก 2) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาฯ กับนโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน รวมทั้งแผนพัฒนาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา…”
ไหนๆก็สร้างเครือข่ายแล้วทำไมไม่สร้างเครือข่ายออกมานอกรั้วเสมาบ้าง คนนอกรั้วเสมาเขาก็เคยผ่านรั้วเสมาในฐานนะนักเรียนมาแล้วทั้งนั้น เชื่อว่าทุกหน่วยงานก็อยากร่วมสร้างเครือข่าย กับกระทรวงศึกษา เชื่อว่าคนทำงานต่างมีลูกหลานอยู่ในกระทรวงเขาก็คงต้องการร่วมด้วยช่วยกันแน่ ไม่งั้น กระทรวงมหาดไทยคงไม่จัดทำหลักสูตรป้องกันยาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น และดูเหมือนว่าหลักสูตรของเขาจะทำได้ดีกว่าทั้งสื่อสารสอนและครูจำเป็นที่เป็นตำรวจ ครูหมอ พยาบาลที่ออกมาทำกิจกรรมช่วยกันสอนเด็กวัยรุ่น และอื่นๆ
มองภาพการคิดออกนอกกรอบของกระทรวงศึกษา ก็ยังเห็นว่ากระทรวงศึกษายังมีกรอบแนวคิดเชื่อมโยงทั้งด้านนโยบาย และอื่นๆเพียงในกระทรวงศึกษาเองเท่านั้น ทั้งที่น่าจะสามารถเชื่อมโยงได้กับหน่วยงานนอกกระทรวงศึกษาได้แล้ว เช่นการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต
การท่องเที่ยวที่ควรปรับเรื่องเนื้อหาทักษะทางภาษาเช่นภาษาอังกฤษ ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาคำศัพท์ที่ใช้มากในชีวิตประจำวันเรื่องของการเมือง ยาเสพติด เชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อน และพัฒนาความพร้อมเด็กๆสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้มากขึ้น และช่วยให้การพัมนากาใช้งบประมาณได้อย่างมีคุณภาพ
ภาษาเพื่อการสื่อสารก็ควรได้ปรับใช้ให้ตรงกับนานาประเทศที่นิยมสื่อสาร ยังมีสาระอื่นๆที่ควรได้รับการปรับเพื่อให้การเรียรนรู้นั้นสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ชีวิตชาวอาเชี่ยน
ก็เป็นเพียงความคิดของคนๆหนึ่งที่เคยเป็นคนในกรอบของรัฐได้ออกมาทำงานร่วมกับสังคมจริงๆเท่านั้น ที่มองเห็นว่าหน่วยงานอื่นๆที่ไม่ใช่กระทรวงศึกษาเขาก็มีเจตนารมย์ที่ดีในการสร้างพลเมืองดี มีความเป็นพลโลกที่ดีเช่นกันและเขาทำได้ดีก็น่าจะ...นะ..นะคะ
.....ขอบคุณค่ะ
บางโรงเรียนขาดศักยาภาพไม่สามารถจัดทำโครงการได้ด้วยตนเองก็ลอกๆๆๆโครงการเพื่อนต่างโรงเรียนมาทำก็มันคนละกลุ่มเด็ก คนละพื้นฐานชีวิตและพื้นฐานสังคม ทำไปก็ไม่เห็นผลอะไร นอกจากสรุปส่ง ส่งไปว่าสำเร็จครบทุกประการ แต่ไม่มีการประเมินผลการทำโครงการแบบจริงๆนอกจากกระดาษแผ่นเดียวจับมาเขียนรายงานตามหัวข้อส่งๆแล้วก็ส่ง ส่งไปก็ถือว่าทำครบแล้ว 100%
บางท้องที่ก็มีเพื่อนฝูงต่างจังหวัดเห็นเข้า...เข้าท่าก็ขอยืมไปลอกๆ แค่เปลี่ยนชื่อโรงเรียน จำนวนนักเรียน เปลี่ยนชื่อผู้บริหารลงนาม เท่านั้นเสร็จแล้ว ว่าไปแล้วก็จะไปทำความเสียใจให้กับผู้บริหารดีๆ ที่มีความสามารถจะขุ่นเคืองกันไปเปล่าๆ แต่ก็นะ....มันเป็นจริงที่ได้เห็นได้เจอ โชคร้ายคนเดียวหรือเปล่าไม่รู้ที่เจอคนเดียว
พูดไปก็นะคะ...ก็รอว่าเมื่อไหร่กระทรวงศึกษาจะมีนโยบายจริงใจ พัฒนาคนทำงานได้คุณภาพ
หรือคนควรพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพสมศักดิ์ศรีได้มากน้อยเพียงไร
ว่าไปแล้วก็คิดถึงเพลงข้าราชการนะคะ
ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณกัลยาณมิตรทั้ง 3 ท่านมากนะคะ ที่กรุณามอบดอกไม้กำลังใจ
"ท่านวอญ่า " แบบอย่างของคนทำงานด้วยจิตวิญญาณ ถึงไหนถึงกัน และมนุษยสัมพันธ์มากมี
"คุณบุษยมาศ" บุคลากรที่ทำงานโดยมุ่งประโยชน์ชาติไม่เฉพาะหน่วยงาน และคุณย่าที่สร้าง "ความรู้สึกเห็นคุณค่า (Self Esteem)" ในตนเองให้กับหลาน อันเป็นพื้นฐานที่ดีของการเรียนรู้และพัฒนาการทุกๆ ด้านในอนาคต (ที่จะขอนำไปอ้างอิงในบันทึกตอนที่ 3)
"ท่าน ผอ.ชยันต์ เพชรศรจันทร์" ต้นแบบของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ที่จะขอนำไปอ้างอิงในบันทึกตอนที่ 3)
ขอบคุณอาจารย์แม่
ผมไม่เห็นด้วยกับการประเมินผลที่เหมารวมว่าทั้งประเทศต้องเหมือนกัน
อยากเห็นการประเมินที่พัฒนานักเรียน
นักเรียนมีความสุขที่ได้เรียนรู้
ไม่ใช่แบบ สมศ ที่ประเมินแต่เอกสารครับ
ความจริงก็ยังเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครเปลี่ยนได้...ขอบคุณครับ
"กิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย : แก้ง่วงนอน (http://www.gotoknow.org/posts/552530)"
-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...
-ตามมาอ่านบันทึกของอาจารย์แม่ในยามดึกๆ ของ"วันสุข"ครับ ฮ่า ๆ
-จากข้อมูลที่อาจารย์แม่ได้นำเสนอ“วิกฤตการศึกษาไทย ใช้งบประมาณมากที่สุดแต่ผลสัมฤทธิ์กลับตรงกันข้าม”นั้น พอจะนำเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ใคร ๆ บอกว่า"การศึกษาคือการลงทุน"ได้ไหมครับ??
-หากเปรียบการศึกษาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ งานนี้ คงจะต้องเพิ่มข้อสังเกตตรง"การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลและใช้วิจารณญาณก่อนการลงทุน"จะได้ไหมครับ??
-อาจจะอ้างถึงเรื่อง"การศึกษาคือการลงทุน"แปลก ๆไปสักหน่อย แต่ก็เป็นเพียงมุมมองหนึ่งน่ะครับ..
-อาจารย์แม่ไอดินติดตามเรื่อง"วันเฉลิม"ด้วยเหรอครับ??? ขอบอกว่าผมก็ติดตามเหมือนกันครับ ฮ่า ๆ ผมชอบตรงช่วงท้ายจะมีข้อคิดดี ๆ ฝากได้ให้ได้คิดน่ะครับ....
-ท้ายสุด..สุดท้าย..อาจารย์แม่ไอดินสบายดีนะครับ??
-ขอบคุณครับ...
สวัสดียายไอดินฯ
แอร์การ์ดหมดกะตางค์พึ่งไปเติม แล้วมันก็ใช้ไม่ได้เสียนาน พึ่งเข้าบล๊อกได้วันนี้ก๊ตามมาให้กำลังใจนะคร้าบ..
คุณเพชรฯ บอกว่า "จากข้อมูลที่อาจารย์แม่ได้นำเสนอ 'วิกฤตการศึกษาไทย ใช้งบประมาณมากที่สุดแต่ผลสัมฤทธิ์กลับตรงกันข้าม' นั้น พอจะนำเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ใคร ๆ บอกว่า"การศึกษาคือการลงทุน"ได้ไหมครับ?? หากเปรียบการศึกษาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ งานนี้ คงจะต้องเพิ่มข้อสังเกตตรง "การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลและใช้วิจารณญาณก่อนการลงทุน" จะได้ไหมครับ?? ใช่ค่ะ การศึกษาคือการลงทุนของทั้งบุคคลและของประเทศด้วย ถ้าเป็นระดับประเทศก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่ขาดทุนค่ะ เพราะผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งปัญหาก็อยู่ที่ประสิทธิภาพของการจัดการ จึงต้องไปแก้กันที่ประสิทธิภาพ (อาจารย์แม่จะกล่าวถึงในบันทึกตอนจบที่ตั้งใจไว้ว่า จะลงภายในในวันนี้ค่ะ)