เพลินกับเรื่องเล่าของคุณครูช่วงชั้นที่ ๒ : "ความพยายาม"


 

ภาคเรียนนี้ คุณครูปุ๊ก - จินตนา  กฤตยากรนุพงศ์  และ คุณครูเจน –ญานิสา คำแสน  มีโจทย์เรื่องของการเขียนความเรียง ๑ ย่อหน้า ในหัวห้อ “ความพยายามของฉัน” มาให้นักเรียน ชั้น ๕ ได้เรียนรู้  ซึ่งหัวข้อความเรียงนี้ก็มีที่มาจากชื่อภาคเรียนนั่นเอง

 

ก่อนหน้านี้พวกเขามีทักษะในการเขียนความเรียง และรู้จักฉันทลักษณ์กาพย์ฉบัง ๑๖ มาแล้ว และเคยมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมเกี่ยวเรื่องพระคุณของแม่มาก่อน

 

คุณครูจึงเริ่มสร้างแรงบันดาลใจด้วยการให้นักเรียนชมคลิปเรื่องแม่กบขุดทางน้ำเพื่อช่วยให้ลูกได้ย้ายจากบึงแห้งๆ ไปยังบึงใหญ่ที่มีน้ำเต็มอุดมสมบูรณ์

 

ครูตั้งคำถามว่า นักเรียนได้เรียนรู้อะไรจากการดูคลิปเรื่องนี้บ้าง

คำตอบของนักเรียน  คือ       

  • แม้แต่แม่ของกบก็ยังมีความรักต่อลูกมากเหมือนมนุษย์
  • การแก้ปัญหาจากความแห้งแล้ง
  • ความห่วงใยของแม่กบ
  • ความรักของแม่กบที่มีต่อลูกกบ ทำให้ลูกเติบโตต่อไป
  • แม่ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อลูก
  • ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
  • ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือเป็นคนแม่ก็รักลูก  เพราะพอแม่กบเห็นน้ำแห้งลงเรื่อยๆ ก็พยายามขุดดินให้เป็นทางน้ำเพื่อให้ลูกอ๊อดรอด คือการเสียสละของแม่เพื่อให้ลูกอ๊อดมีชีวิตรอ
  • การที่สัตว์มีน้ำใจช่วยเหลือกันเมื่อลำบาก
  • แม่กบพยายามสู้เพื่อลูก ช่วยผู้ที่เดือดร้อน
  • แม่กบรักลูกกบ เพราะผมได้เห็นแม่กบพยายามถีบดินเป็นทางเพื่อให้ลูกกบลงสู่แม่น้ำ
  • เห็นความเสียสละของแม่ที่จะช่วยเหลือลูก  ซึ่งแม่อดทนและพยายามดันดินให้เชื่อมกับแหล่งน้ำลูกอ๊อดก็จะรอ
  • แม่พยายามทำให้ลูกได้รอดตาย เพราะลูกอยู่ในที่ ที่ไม่มีน้ำ แม่ก็เลยขุดเพื่อให้ลูกมีน้ำและให้ลูกออกมาอยู่ในที่ ที่มีน้ำมากกว่าจะได้ไม่ตาย  ถ้าเราพยายามทำสิ่งไหนอย่างเต็มที่เราก็จะทำสำเร็จ

 

 

ระดมคลังคำที่ได้จากเรื่อง “แม่กบ”

 

พากเพียร     มุ่งมั่น   ฮึดสู้    จริงจัง    กล้าหาญ    ฝันใฝ    แข่งขัน   ฟันฝ่า   เข้มแข็ง    อดทน   บากบั่น     จดจ่อ   แข็งขัน    เด็ดเดี่ยว   แกร่งกล้า   ฝึกฝน   หนักแน่น   แน่วแน่   อดกลั้น   ตั้งใจ   เหน็ดเหนื่อย   สงบ    พยายาม    ความสำเร็จ

 

 

ต่อด้วยเรื่องเล่า “ความพยายามของครูปุ๊กในวัยเด็ก”

 

เมื่อตอนที่ครูปุ๊กเรียนอยู่ชั้น ป.๑ ครูให้วาดรูปลายไทยไปส่งคนละ ๑ ภาพ  โดยให้ไปหาดูจากตัวอย่างอะไรก็ได้ที่คิดว่าเป็นลายไทยซึ่งเป็นการบ้านที่ยาก เนื่องจากว่าตนเองไม่ค่อยมีพรสวรรค์ทางด้านนี้เพราะว่าวาดรูปไม่เก่งเลย  เมื่อกลับถึงบ้านก็เริ่มหาตัวอย่างที่เป็นลายไทย   และหาอยู่นานมาก เพราะไม่เข้าใจว่าลายไทยคืออะไรเลย  พอดีหันไปเห็นเหล็กดัดหน้าต่างมีลักษณะเป็นรูปคล้ายดอกบัวก็เดาว่าน่าจะเป็นลายไทยได้จึงลงมือวาด  พยายามวาดตามอยู่นานแต่ก็วาดไม่ได้และไม่เหมือนตัวอย่างสักที  ทำให้เปลี่ยนกระดาษไปหลายแผ่น  ร้องไห้ไปหลายรอบ และหยุดวาดไป 

 

แต่อีกไม่นานก็กลับมาเริ่มต้นวาดใหม่อีกครั้งเพราะถ้าไม่วาดภาพจะไม่มีงานส่งครูแน่นอน  จึงลองดูใหม่เริ่มต้นโดยนำกระดาษไปวางทาบที่เหล็กดัดและร่างตามไปก่อน  แล้วค่อยนำมาวาดต่อ  แต่ภาพในกระดาษก็ดูเบี้ยวมากดูแล้วใช้ไม่ได้อยู่ดี  จึงพยายามวาดอีกเป็นครั้งสุดท้าย  ลบอยู่หลายรอบ  แต่ก็พยายามวาดจนเสร็จ  ทำให้มีชิ้นงานที่ได้ตั้งใจทำอย่างดีที่สุดไปส่งครู ซึ่งพอครูเห็นรูปที่วาดก็ถามว่าดูลายไทยมาจากไหนสวยงามดีแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากที่ครูกล่าวชื่นชมผลงานที่ได้มาจากความพยายามของเรา

 

ผลที่เกิดขึ้น

 

นักเรียนสามารถเขียนความเรียงของตนได้อย่างลื่นไหล  นักเรียนส่วนหนึ่งสามารถนำความจากความเรียงแต่งเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖

เมื่อถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนทุกคนมีความกระตือรือร้นสนใจที่จะฟังเรื่องความพยายามของเพื่อนและสามารถสรุปความคิดร่วมกันได้

นักเรียนมีความเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างเห็นได้ชัด

 

 

ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน

 

๑. โจทย์ ความพยายาม เป็นเรื่องใกล้ตัว

๒. แรงบันดาลใจ เรื่องแม่กบช่วยลูกกบ มีความเข้มข้น เข้าถึงใจและเป็นตัวส่งเข้าโจทย์ได้ดี

๓. เนื้อหาของเแรงบันดาลใจเป็นตัวอธิบายนิยามของคำว่า ความพยายาม ได้ชัดเจน

๔. ได้สะสมคลังคำเกี่ยวกับ ความพยายาม ก่อนเขียนความเรียงและแต่งกาพย์ฉบัง ๑๖

๕. โจทย์ไปกระตุ้นสิ่งที่เด็กเป็น คือ เด็กในวัยชั้น ๕ เป็นช่วงของการสร้างตัวตน โจทย์ที่ให้เขียนถึงความเป็นตัวเองได้เข้าไปตอบสนองความต้องการนั้นพอดี

๖. มีเงื่อนไขของโจทย์ที่ตอบสนองศักยภาพของเด็กทุกระดับความสามารถ

๗. ลำดับของโจทย์หรือการให้งานเป็นลำดับจากง่ายไปหายาก คือ คิดคลังคำ เขียนความเรียง แต่งกาพย์ฉบัง ๑๖

๘. ครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องความพยายามของครู เป็นตัวอย่างก่อนให้นักเรียนเริ่มเขียนความเรียงของตนเองทำให้นักเรียนเห็นภาพการเล่าเรื่องได้ชัดเจนขึ้น

 

 

ครูอ้อ –วนิดา  สายทองอินทร์  บันทึก

 

 

หมายเลขบันทึก: 548718เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2013 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2013 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท