จาก Blog สู่ "คู่มือ" ปฏิบัติการงานบริการวิชาการแก่สังคม (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)


การมีความรู้และแอบใช้ความรู้อยู่คนเดียวเงียบๆ โดยไม่ยอมก้าวออกมาสื่อสารกับสังคม –ผมว่าพฤติการณ์เช่นนี้ ไม่เหมาะไม่ควรแน่ เพราะการได้มาซึ่งความรู้ของแต่ละคน ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรจากส่วนต่างๆ เสมอ หาใช่หลับตาเนรมิตขึ้นมาด้วยตนเองเสียทั้งหมด

ก่อนนั้นร่วมสองปี  ผมนำงานเขียนใน Blog ของตนเองไปสู่การเป็นเอกสารการเรียนการสอนในรายวิชา “พัฒนานิสิต”  

               โดยเฉพาะสาระสำคัญที่ว่าด้วยแนวคิดการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรบนฐานคิดของการ “เรียนรู้ร่วมกับชุมชน” หรือ “เรียนรู้คู่บริการ”
         
นอกจากนั้นยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง อาทิ การจัดการความรู้ การถอดบทเรียน การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง
              พร้อมๆ กับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นการบรรยายแบบแห้งๆ หากแต่เน้นการ “เล่าเรื่อง”  สู่กันฟัง  หรือแม้แต่เรียนรู้ผ่าน “สื่อสร้างสรรค์” ต่างๆ ทั้งสื่อที่นิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น และสื่อจากองค์กรภายนอก
              และที่สำคัญอีกประการก็คือ แทนที่จะสอบปลายภาคแบบมีคำถาม คำตอบ หรือคำถามปลายเปิดให้นิสิตได้เขียน หรือบอกเล่ากลับมา 
              ผมกลับเลือกให้นิสิตได้ทำโครงการร่วมกัน  โดยใช้โครงการหรือกิจกรรมนั่นแหละเป็นคะแนนปลายภาค

 

 

             ครับ-ก่อนลงพื้นที่จัดกิจกรรม ผมจะให้แต่ละกลุ่มพัฒนาโจทย์บนฐานคิดอันเป็นความต้องการของชุมชนก่อนเสมอ –ชุมชนที่ว่านี้อาจหมายถึงทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย
            ถัดจากนั้นก็นำมาเสนอ หรือบอกเล่าสู่กันฟังในชั้นเรียน ว่า  “จะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ด้วยกระบวนการ หรือวิธีการใด” ฯลฯ
            ทั้งนี้การบอกเล่าที่ว่านั้น ผมจะเน้นให้นิสิตได้นำเสนอด้วยสื่ออันเป็นแผนผังความคิด
(Mind Map)  เน้นความคิดรวบยอดและการทำงานเป็นทีม โดยแต่ละกลุ่มผมจะเน้นไปที่ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์  สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ  วิธีการ เป้าหมายเชิงพื้นที่ เป้าหมายเชิงกลุ่มคน เป็นหัวใจหลัก
             เมื่อผ่านการแลกเปลี่ยนแล้ว จึงให้นิสิตกลับไปเขียนเป็นโครงการตามรูปแบบที่ได้เรียนมา และนำส่ง  รอจนกว่าจะได้รับการอนุมัติ แล้วค่อยลงพื้นที่จัดกิจกรรม
             ครั้นถึงวันสอบปลายภาค ก็ให้แต่ละกลุ่มนำผลงานมาจัดบอร์ด  นำเสนอความรู้ หรือผลการดำเนินงาน เสริมด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์  เพื่อให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มได้ปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้ง ก่อนแยกย้ายไปสู่การสอบในวิชาอื่นๆ

               ครับ-นั่นคือกระบวนการเรียนการสอนวิชาพัฒนานิสิตในมุมของผม

 

 

 

             ครั้นมาทำงานบริการวิชาการแก่สังคมให้กับมหาวิทยาลัย (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)  ผมก็ไม่ละเลยที่จะนำเอาเนื้อหาใน Blog มาเป็นเอกสารประกอบการขับเคลื่อน  ทั้งในมิติของอาจารย์ และนิสิต
            มิหนำซ้ำยังเชื้อเชิญให้อาจารย์ หรือคณะทำงานได้ช่วยกันเขียนบทความเพื่อเป็นเสมือน “คู่มือ” ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับชุมชน  ซึ่งผลการขับเคลื่อนในหนึ่งรอบปี ก่อเกิดเป็นชุดความรู้หลายเรื่อง  โดยอาจารย์แต่ละท่านได้ช่วยศึกษาค้นคว้า เขียนและเรียบเรียงขึ้นใหม่ในสองสามเรื่อง  เป็นต้นว่า

·การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม PAR (ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา)

·เทคนิคการทำงานกับชุมชนและเครื่องมือในการศึกษาชุมชน (ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล)

·การเขียนรายงานผลโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติมุ่งเป้าหมายเชิงคุณภาพ (อ.กนกกุล มาเวียง)

          และในส่วนที่ผมรับผิดชอบนั้น  ผมหยิบจับเอา Blog ไปปรับแต่งและจัดทำเป็นเรื่องอ่านประกอบ เพื่อบูรณาการสู่การขับเคลื่อนอยู่สามถึงสี่เรื่อง  เป็นต้นว่า แนวคิดการจัดกิจกรรมนิสิตในชุมชน  การเขียนเพื่อการจัดการความรู้  การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง กระบวนการ BAR และ AAR
      ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า หลังกิจกรรมเสร็จสิ้นลง ในบางหลักสูตร หรือในบางโครงการ ถึงขั้นให้นิสิตสะท้อนผลการเรียนรู้ผ่านการเขียนเรื่องเล่าเลยทีเดียว

 

 

 

 

          ครับ-โดยส่วนตัวผมมองว่า  ความรู้ที่เราได้รับมา จะมีค่าอย่างมหาศาลเมื่อนำไปสู่การเผยแพร่หรือแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ  มิใช่เราค้นพบความรู้แล้วเก็บงำไว้กับตัวเอง  
          การมีความรู้และแอบใช้ความรู้อยู่คนเดียวเงียบๆ  โดยไม่ยอมก้าวออกมาสื่อสารกับสังคม –ผมว่าพฤติการณ์เช่นนี้ ไม่เหมาะไม่ควรแน่  เพราะการได้มาซึ่งความรู้ของแต่ละคน ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรจากส่วนต่างๆ เสมอ  หาใช่หลับตาเนรมิตขึ้นมาด้วยตนเองเสียทั้งหมด 
            ดังนั้นความรู้ที่ได้มา จึงย่อมมีสถานะเป็น “สาธารณะ” อยู่ในตัว

          ดังนั้น การได้มาซึ่งความรู้แล้ว  จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเก็บงำไว้คนเดียว  หน้าที่ของการได้มาซึ่งความรู้คือการนำพาความรู้ไปแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับผู้คนเป็นหัวใจหลัก

 

 

 

 

          กรณีดังกล่าวเช่นนี้  ผมจึงไม่รู้สึกเขินอายที่จะนำพาเอาบันทึกใน Blog ของตนเองไปเป็นเอกสาร หรือคู่มือให้อาจารย์และนิสิตได้อ่านเล่นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม

          แน่นอนครับ- การนำไปเผยแพร่เช่นนั้น ผมไม่ได้คาดหวังหรือบังคับเป็นนโยบายว่าทุกๆ หลักสูตรหรือทุกๆ โครงการ ต้องนำเอาความรู้ หรือยึดหลักคิดจากงานเขียนของผมเป็นเครื่องมือหรือหมุดหมายหลักในการขับเคลื่อน  คนแต่ละคน อาจารย์แต่ละท่าน นิสิตแต่ละคน ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์บนบริบทของตนเอง  รวมถึงบนบริบทของ “กิจกรรมและชุมชน” นั้นๆ

         

          ครับ-ค้นพบความรู้  แต่ไม่แบ่งปัน ไม่แลกเปลี่ยน ย่อมไม่ต่างอะไรจากการเก็บซ่อนสมบัติไว้กับตัวเอง (หวงสมบัติ)

          ทุกครั้งที่แบ่งปัน ย่อมหมายถึงการงอกงาม เบ่งบาน เพิ่มจำนวนของทรัพย์สมบัตินั้นๆ ขึ้นเรื่อยๆ

 

          ครับ-มีความรู้ ยิ่งแบ่งปัน ยิ่งแลกเปลี่ยน ยิ่งช่วยให้ความรู้ที่ว่านั้นแหลมคมและทรงพลัง เป็นดอกเป็นผลขึ้นอย่างคณานับ ....

หมายเลขบันทึก: 548712เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2013 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2013 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆ

ถ้าอยากได้คู่มือที่อาจารย์เขียนมาอ่านบ้างผมต้องทำยังบ้างครับ

..... ได้คู่มือในการทำงาน  .... เยี่ยมจริงๆ ค่ะ  ขอบคุณค่ะ

เยี่ยมเลยค่ะอาจารย์

ยอดเยี่ยมมากเลยครับ

ได้หนังสือดีๆออกมาครับ

ชอบแนวคิดในการจัดสอบของอาจารย์จังเลย...แต่ใช้กับเด็กประภมคงลำบาก..

เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์ทีไร ได้แนวคิดดี ๆ ทุกครั้ง ขอบคุณมากมายจ้ะ

-สวัสดีครับบ

-ตามมาให้กำลังใจครับ

-ใช่แล้วครับ "ค้นพบความรู้ แต่ไม่ได้แลกเปลี่ยน หรือแบ่งปัน ก็เปรียบเหมือนคนหวงสมบัติ"

-ขอบคุณครับ

-มี"ลูกนมวัว"มาฝากครับ..

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

ถ้าไม่มีข้อข้องขัด  ราว ๆ ธันวาอาจได้ไปร่วมแลกเปลี่ยน - แบ่งปันสมบัติ  เอ๊ย ! ความรู้ ที่ มมส.  

เวที สกว.นะคะ  อาจจะ  อาจจะ

หวังว่าจะได้พบอาจารย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท