สมดุลแห่งชีวิต


        -         ทำไม...ทำดีมาตั้งนานกลับไม่เคยเห็นผลเลย...กลับมีแต่สิ่งเลวร้ายเข้ามาในชีวิต...?

        -         ทำไม...ทำเลวทั้ง...เห็นมีแต่สิ่งที่ดี ๆ เข้ามาในชีวิตของ... ?

        -         ทำไม...คนดีอย่าง...ถึงได้อายุสั้นนัก... ?

        -         ทำไม...คนเลวอย่าง...ถึงได้อายุยืนนัก...?

        -          ทำไม... ?...?...?  แล้วโลกนี้มันมีความยุติธรรมจริงหรือ ?

 

           เชื่อว่าคำถามเหล่านี้เราเองคงเคยตั้งคำถาม (โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับเรื่องที่เลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต) บางคนมีแต่สิ่งที่เลวร้ายเข้ามาในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงตรงไหน แต่ในขณะที่บางคนกลับมีแต่สิ่งที่ดี ๆ เข้ามาในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่อยากให้มันสิ้นสุดอยากให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แล้วความสมดุลแห่งชีวิตมันคืออะไรและอยู่ที่ไหน ?

 

              หากว่าเราใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางในการวัดค่าสัมพัทธ์ต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต เมื่อมีเหตุการณ์ที่ดี ๆ ที่ไม่คาดฝันผ่านเข้ามาในชีวิต เช่น ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง หรือเป็นผู้โชคดีจากการจับรางวัล เราก็จะมีความคิดในแง่บวกในทำนองที่ว่า มีโชคมีลาภ โลกนี้ช่างมีความยุติธรรมเหลือเกิน หรือลามไปถึงสวรรค์ช่างมีตาเสียนี่กระไร เป็นต้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ไม่คาดฝันผ่านเข้ามาในชีวิต เช่น สูญเสียในสิ่งที่ตนเองรัก หรือแม้กระทั่งเดินตกท่อ เราก็จะมีทัศนะคติในด้านลบในทำนองที่ว่า โชคชะตาไม่เข้าข้าง โลกนี้ช่างไม่มีความยุติธรรมเอาเสียเลย หรือสวรรค์ช่างไม่มีตาเสียนี่กระไร เป็นต้น

 

            การดำเนินชีวิตของคนเราย่อมมีทั้งสิ่งที่ดี ไม่ดี ผ่านเข้ามาเยี่ยมเยือน แน่นอนที่สุดทุกคนปรารถนาที่จะเชื้อเชิญและเต็มใจเปิดประตูต้อนรับแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิตเท่านั้น แต่ทำไมในบางครั้งยิ่งเราต้องการมากเท่าใดกลับกลายเป็นไปผลักใสไล่ส่งสิ่งที่ดี ๆ ออกห่างไปไกลทุกที ในขณะที่สิ่งไม่ดีที่เราพยายามผลักใสไล่ส่งกลับเสนอหน้าเข้ามาจ่อที่ประตูหน้าบ้านอยู่ตลอดเวลา

 

          คำว่า สมดุลแห่งชีวิตในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เจอสิ่งที่ดี ๆ ในชีวิต ๑ วัน แล้วสลับไปเจอสิ่งที่เลวร้ายอีก ๑ วัน หรือ เจอสิ่งที่ดี ๆและสิ่งที่ร้าย ๆสลับไปสลับมาในชีวิตเป็นเวลาที่เท่ากันเสมอ แต่สมดุลแห่งชีวิต คือ การปรับเปลี่ยนดุลยภาพของเวลาจริง (เวลาจิต) เมื่อเทียบสัมพัทธ์กับเวลาสมมติ (เวลานาฬิกา) ผ่านกระบวนการของกรรมที่สั่งสมมา โดยในขณะที่เรากำลังเผชิญกับสิ่งที่ดี ๆหรือสิ่งที่เลวร้ายนั้น ก็เกิดจากการปรับดุลยภาพดังกล่าว ดังนั้นในชีวิตของคนทุกคนที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ นั่นก็คือ สมดุลแห่งชีวิต ซึ่งไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์หรืออภินิหารใด ๆทั้งสิ้น แต่เกิดจากกระบวนการปรับดุลยภาพของกระบวนการสั่งสมของกรรมดังกล่าวซึ่งสะท้อนออกมาที่กระบวนการของการปรับสมดุลแห่งเวลาจิตและเวลานาฬิกา ดังภาพ

  

            กรณีที่ ๑: หากมีกิเลสน้อย จิตก็จะมีความเร็วสูง (จิตมีสมาธิและเป็นระเบียบ) เมื่อจิตมีความเร็วสูง เวลาของจิตก็จะเร็วไปด้วย แต่ กระบวนการดังกล่าวต้องเข้าสู่การปรับดุลยภาพอีกครั้งหนึ่งผ่านกรรมที่สั่งสมมา หากผลรวมของกรรมที่สั่งสมมาทำให้กรรมชั่วลด (กรรมดีเพิ่ม) สะท้อนถึงเวลาจิตโดยรวมเร็วขึ้น ก็จะไปดึงเวลานาฬิกาให้ช้าลง เพื่อชดเชยและรักษาสมดุลซึ่งกันและกันเอาไว้

 

           กรณีที่ ๒: หากมีกิเลสมาก จิตก็จะมีความเร็วน้อยลง (จิตที่มีความสับสนวุ่นวาย กระสับกระส่ายและไม่เป็นระเบียบ) เมื่อจิตมีความเร็วน้อยลงเวลาของจิตก็จะช้าลงไปด้วย แต่ กระบวนการดังกล่าวต้องเข้าสู่การปรับดุลยภาพอีกครั้งหนึ่งผ่านกรรมที่สั่งสมมา หากผลรวมของกรรมที่สั่งสมมาทำให้กรรมชั่วเพิ่ม (กรรมดีลด) สะท้อนถึงเวลาจิตโดยรวมช้าลง ก็จะไปผลักเวลานาฬิกาให้เร็วขึ้น เพื่อชดเชยและรักษาสมดุลซึ่งกันและกันเอาไว้

 

         เช่น สมมติว่านาย ก. ณ ปัจจุบันมีกรรมที่สั่งสมมา (กรรมชั่วมากกว่ากรรมดี) เท่ากับ ๑๐๐ หน่วย (-๑๐๐) ซึ่งหากผลของกรรมที่สั่งสมดังกล่าวจะทำให้นาย ก. ถึงแก่ชีวิตในเดือนมิถุนายนยนปีนี้ (หากไม่ได้ทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่วเพิ่มขึ้นอีกเลย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เนื่องจากมนุษย์มีการกระทำอยู่ตลอดเวลา)

        

              ๑.  สมมติว่าในวันนี้นาย ก. ได้ทำความดี (กิเลสลดลง) อย่างหนึ่ง ซึ่งผลของกรรมดีที่ได้ทำนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับสมดุลแห่งชีวิตผ่านกระบวนการสั่งสมของกรรมที่ผ่านมาแล้วสะท้อนออกมาที่การปรับดุลยภาพแห่งเวลาจิตและเวลานาฬิกา โดยที่หากความดีที่นาย ก. ทำนั้น สมมติว่าสามารถตีค่าออกมาได้เท่ากับ ๕ หน่วย (+๕) เมื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการปรับดุลยภาพดังกล่าวจะได้ว่า กรรมเก่าที่สั่งสมมา (-๑๐๐) บวกกับ กรรมใหม่ที่ทำขึ้น (+๕) เท่ากับ ๙๕ หน่วย (-๑๐๐ + = - ๙๕) ผลรวมของกรรมทั้งหมดที่ผ่านกระบวนการปรับดุลยภาพใหม่แล้วจะติดลบน้อยลง (กรรมชั่วน้อยลงหรือกรรมดีเพิ่มขึ้น) ดังนั้น เวลาของนาย ก. ก็จะถูกปรับดุลยภาพใหม่ โดยที่เวลานาฬิกาจะช้าลงโดยเทียบสัมพัทธ์กับเวลาเวลาจิตที่เร็วขึ้น ในกรณีนี้ นาย ก. สามารถยืดระยะเวลาออกไปได้ จากกรณีที่จะเสียชีวิตภายในปีนี้ก็อาจจะยืดออกไปอีก ๑ เดือน ๑ปี ... ขึ้นอยู่กับขนาดของกรรมดีที่ทำ

 

             ๒. สมมติว่าในวันนี้นาย ก. ได้ทำความชั่ว (กิเลสเพิ่มขึ้น) อย่างหนึ่ง ซึ่งผลของกรรมชั่วที่ได้ทำนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับสมดุลแห่งชีวิตผ่านกระบวนการสั่งสมของกรรมที่ผ่านมาแล้วสะท้อนออกมาที่การปรับดุลยภาพแห่งเวลาจิตและเวลานาฬิกา โดยที่หากความชั่วที่นาย ก. ทำนั้นสมมติว่าสามารถตีค่าออกมาได้เท่ากับ ๕ หน่วย (- ๕) เมื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการปรับดุลยภาพดังกล่าวจะได้ว่า กรรมเก่าที่สั่งสมมา (-๑๐๐) บวกกับ กรรมใหม่ที่ทำขึ้น (- ๕) เท่ากับ ๑๐๕ หน่วย (-๑๐๐ + - ๕ = - ๑๐๕) ผลรวมของกรรมทั้งหมดที่ผ่านกระบวนการปรับดุลยภาพใหม่แล้วจะติดลบเพิ่มขึ้น (กรรมชั่วเพิ่มขึ้นหรือกรรมดีน้อยลง) ดังนั้น เวลาของนาย ก. ก็จะถูกปรับดุลยภาพใหม่ โดยที่เวลานาฬิกาจะเร็วขึ้นโดยเทียบสัมพัทธ์กับเวลาเวลาจิตที่ช้าลง ในกรณีนี้ นาย ก. จะมีเวลาสั้นลง จากกรณีที่จะเสียชีวิตภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ก็อาจจะเสียชีวิตเร็วขึ้น อาจจะเป็นเดือน พฤษภาคม เมษายน ...ของปีนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของกรรมชั่วที่ทำ

 

 

   หากว่าเรามีกิเลสน้อยเท่าใด (กรรมดีมาก) ความเร็วจิตก็จะยิ่งเร็วมากขึ้นเท่านั้น เมื่อความเร็วจิตเพิ่ม (เวลาจิตเร็ว) เพื่อปรับสมดุลให้เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต เวลาจิตที่เร็วก็จะไปดึงเวลานาฬิกาให้ช้าลง (ยืดเวลาออกไปอีกเมื่อเทียบโดยสัมพัทธ์) เพื่อปรับดุลยภาพระหว่างกัน

 

****************************************************************

             ในทางพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีหลักธรรมสำคัญคือ

หลักกรรมเพราะกรรมถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) ดังพุทโธวาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า

-                    สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง

-                    สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม (ที่ตนทำเอง)

-                    สัตว์ทั้งหลายเกิดมาก็เพราะกรรม

-                    สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ (เกี่ยวเนื่องกันเพราะกรรม)

-                    สัตว์ทั้งกลายมีกรรมเป็นที่พึ่ง (ทำดีไว้ก็ได้กรรมดีของตน)

-                    สัตว์ทั้งหลายแตกต่างกันทั้งในทางดีงาม ทรามและประณีตก็เพราะกรรม

         ดังนั้นในการสมมติ ผู้เขียนจึงสมมติว่า หากยังมีการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) อยู่นั้น ก็ย่อมแสดงว่า ยังมีกรรมที่สั่งสมคือ กรรมชั่วมากกว่ากรรมดี และแทนค่าสมมติของกรรมชั่วด้วยเครื่องหมายลบ ยิ่งติดลบมากเท่าใด สะท้อนให้เห็นถึงกรรมชั่ว (กิเลส) มาก ซึ่งกิเลสที่เป็นตัวบั่นทอน และทำให้จิตใจของมนุษย์ตกต่ำลงเรื่อย ๆ คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง นั่นเอง

 

          ในทางพุทธศาสนา (จากเวลามสูตร สีหนาทวรรคที่ ๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกายนวกนิบาต) ได้พูดถึงเรื่องกรรมดี ในทำนองที่ว่า อานิสงของความดีที่เราทำนั้นขึ้นอยู่กับนาบุญที่เราได้ทำด้วย สมมติว่าการทำความดีสามารถวัดค่าออกมาเป็นหน่วยบุญได้ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า 

                                          นาบุญ (ทำบุญ ๑ หน่วยบุญเท่า ๆ กัน)                              ผลบุญที่ได้รับ (ขนาดของหน่วยบุญ)

                                                          ๑. คนทุศีล                                                                                    ๑

                                                          ๒. ปุถุชน                                                                                  ๑๐๐

                                                          ๓. กัลยาณชน (ผู้มีศีล)                                                                  ๑๐,๐๐๐

                                                          ๔. พระโสดาบัน                                                                    ๑,๐๐๐,๐๐๐

                                                          ๕. พระสกิทาคามี                                                               ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐

                                                          ๕. พระอนาคามี                                                             ๑๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐

                                                          ๖. พระอรหันต์                                                          ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐

                    นั่นหมายถึง การทำบุญใน ๑ หน่วย เท่ากัน แต่ ขนาดของบุญที่ได้รับนั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของนาบุญที่เราทำ

 

       สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงตัวอย่างถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลไว้ในจูฬกัมมวิภังคสูตร เกี่ยวเนื่องกับการทำกรรมและผลของกรรม เอาไว้ว่า

               - คนใจร้ายมักฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเป็นคนมีอายุสั้น                          คนมีเมตตาละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเป็นคนมีอายุยืน

              - คนใจร้ายมักทำทารุณสัตว์   จะเป็นคนขี้โรค                            คนมีเมตตาการุณย์ต่อสัตว์       จะเป็นคนมีสุขภาพดี

              - คนมักโกรธเจ้าโทสะ  จะเป็นคนผิวพรรณทราม                        คนใจเย็นไม่เจ้าโทสะ      จะเป็นคนมีรูปลักษณ์น่าดูชม

              - คนใจแคบมักอิจฉาริษยา จะเป็นคนต่ำต้อยด้อยอำนาจ                คนใจกว้างพลอยยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี จะเป็นคนมีอำนาจราชศักดิ์   

        - คนตระหนี่ไม่นิยมให้ทานแบ่งปันใคร จะเป็นคนจนไร้ทรัพย์           คนใจบุญนิยมให้ทานแบ่งปันอยู่เสมอ จะเป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก

             - คนกระด้างถือตัว หยิ่ง ดูถูกคนอื่น จะเป็นคนที่เกิดในตระกูลต่ำ        คนอ่อนน้อมถ่อมตนมีสัมมาคารวะ จะเป็นคนที่เกิดในตระกูลสูงส่ง

             - คนที่ไม่นิยมศึกษาหาความรู้ จะเป็นคนโง่                                 คนที่นิยมศึกษาหาความรู้ จะเป็นคนฉลาด

หมายเลขบันทึก: 548239เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อธิบายได้ระเอียดมาก ดีครับ

ขอบคุณ ที่นำความรู้ดีๆมาแบ่งปันครับ

เวลาบันทึกช่วยใช้อักษรตัวใหญ่หน่อยค่ะครูหยินอ่านไม่ได้ค่ะ

สงสารเถอะ  ครูหยินแก่แล้วแต่อยากอ่าน

ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีดีค่ะ สำหรับตัวเอง ไม่เคยมีคำถามเรื่องของความยุติธรรมอยู่ในความคิดเลยค่ะ เพราะ คิดอยู่เสมอว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มีความยุติธรรมอยู่แล้วในตัวของกรรม(การกระทำ)ของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ ทำดีก็ย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น  เพียงแต่เราไม่ได้มองเฉพาะเพียงภพเดียวนะค่ะ เนื่องจากเราไม่ได้มีความสงสัยในเรื่องของชาติภพ การเวียนว่ายตายเกิดอยู่แล้วดังนั้น ในมุมมองของเรา ถ้าพูดถึงการทำความดีในเชิงของปริมาณ ชาติหนึ่งๆ ที่เรากำเนิดเป็นคน เราทำความดีน้อยกว่าความชั่วเลยล่ะ (ทั้งทางกาย วาจา และใจ) หรือแค่ชาตินี้เราลองมานึกเพียงแค่ 1 วันเรามีจิตกุศลน้อยหรือมากกว่าจิตอกุศล หรือ ถ้าเราจำความได้เราลองมานั่งทบทวนดูว่าระหว่างความดีกับความชั่ว เราทำสิ่งไหนเยอะกว่ากัน สำหรับตัวของเรานะคะ เราตอบได้อย่างตรงๆ เลยว่า ชีวิตของเราทำความชั่วมากกว่าความดีค่ะ  

อย่างในสังคมปัจจุบัน เราเห็นบางคนทำตัวไม่ดี ทำความชั่วต่างๆ ทำไมชีวิตถึงดี อันนี้เราไม่แปลกใจค่ะ เพราะเราต้องแยกการกระทำและผลของการกระทำไว้ 2 อย่าง คือ ทำความดี ผลของความดี และการทำความชั่วและผลของการทำความชั่ว  แต่ว่า การทำความดีก็ตาม การทำความชั่วก็ตาม ผลของมันบางครั้งก็ปรากฏทันทีทันใด บางครั้งก็ไม่ได้ปรากฏในปัจจุบัน ณ ชาติ ซึ่งเราไม่สามารถจะไปคาดการณ์ได้ว่า ผลดี และผลชั่ว นั้นจะส่งผลเมื่อไหร่ (มันเป็นเรื่องอจิณไตย) แต่ พอเห็นกรณีคนที่เขาทำไม่ดี แต่ชีวิตเขาดี  เราก็คิดว่า ที่ชีวิตเขาดี ก็เพราะผลแห่งทานที่เขาเคยทำมาแล้ว (แต่ไม่รู้ว่าชาติไหน) ส่วนการกระทำที่เขาทำไม่ดีนั้น หากผลแห่งกรรมนั้นไม่ได้ส่งผลให้เขาในชาตินี้ เขาก็ต้องรับอยู่ดีไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง 

สำหรับคนที่ทำความดี แต่ชีวิตทำไมถึงยังทุกข์ ยาก ลำบาก เราก็มองว่า ความทุกข์ยากลำบาก ก็เกิดมาจากการที่เขาขาดในเรื่องของการทำทานมาในชาติก่อนๆ(ชาติไหนไม่รู้)  พอมาชาตินี้ผลตรงนี้มาให้ผล ก็เลยทำให้ทุกข์ อดยาก ลำบาก ส่วนการทำความดีของเขานั้น ก็มีผลแน่นอนอยู่แล้ว แต่มันจะให้ผลเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ

ทว่า จริงๆ แล้ว เรื่องของการทำความดี หรือทำอะไรก็ตามในด้านบวก คนเรามักจะมองถึงผลที่ตอบแทนมา เมื่อไม่เข้าใจกฏของกรรม ก็จะทำให้บางคนท้อเลยที่จะทำความดี เช่นว่า ทำดีทำไมไม่ได้ดี เป็นต้น แต่จริงๆ ถ้าเราทำความดีเพื่อการละ ทำด้วยความบริสุทธิ์โดยไม่ได้คิดถึงสิ่งตอบแทน ผลของความดีจะเกิดตรงที่ ความสุขของใจขณะที่ทำความดีๆ นั้นๆ เมื่อเราเห็นคุณค่าของความสุขใจ (ไม่ใช่ความสุขอันที่ได้มาด้วย ลาภสักการะ หรือ ชื่อเสียง) เราจะไม่มีความสงสัยกับการทำความดีของเราเลยว่า ผลมันจะเป็นยังไง เมื่อเห็นความดี เห็นคุณค่าของความดี ขึ้นชื่อว่าความชั่วต่างๆ จิตมันจะคอยปฏิเสธที่จะเข้าไปเกลือกกลั้ว หรือแม้แต่พลั้งเผลอในด้านของจิตที่คิดอกุศล(แต่ไม่ละเมิดทางกาย และวาจา) จิตก็จะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะละมันออกไปค่ะ

เรื่องของการทำความดีนี้ อยู่ที่จิตของแต่ละบุคคลว่าจะรู้คุณค่าของการทำความดีมากน้อยแค่ไหน  ถ้าหากว่า ไม่รู้ถึงคุณค่าของการทำความดี เมื่อทำลงไปแล้ว ไม่เป็นดั่งหวัง ก็เลิกทำ อันนี้ ยังไม่ใช่การเข้าถึงความดีอย่างแท้จริงนะคะ ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองในความรู้สึกและความคิดของเราน่ะค่ะ^^

 

การกระทำ = กรรม และ กระทำสมดุล ของชีวิต และเวลา ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

ทุกอย่างมีเหตุและปัจจัยนะครับ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ

มาอ่าน และขออักษรตัวใหญ่ อ่านง่าย ๆ ค่ะ :-)

ขอบคุณนะคะ กดเร็วไปหน่อย

    ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นดี ๆ จากทุกท่านที่มีมาฝากและเติมเต็มนะครับ...:)

       ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้จากทุก ๆ ท่าน...:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท