แรงดึง & แรงผลัก...ในความปรกติ


       แรงดึงให้เข้าสู่ความปรกติ (ผิดศีลน้อย) คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ  และ วิมังสา  เรียกว่า อิทธิบาท ๔

      แรงผลักให้ออกจากความปรกติ (ผิดศีลมาก) คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เรียกว่า อุปาทาน ๔

 

                 ในประเด็นดังกล่าวผู้เขียนขออุปมาอุปมัยในการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง...โดย

                  "อิทธิบาท ๔"  เปรียบเสมือนตัวยา

                  "อุปาทาน ๔"   เปรียบเสมือนเชื้อโรคที่คอยจ้องทำลายและรบกวนเป็นอุปสรรคต่อการประพฤติปฏิบัติ ปรกติ (ศีล) ให้ถูกต้องในสภาวะ (ธรรม) ตามจริง

 

             ตัวยาอิทธิบาท ๔

             ตัวยา อิทธิบาท ๔นี้ ถือได้ว่าเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาอาการเบื้องต้นของความปรกติ อุปมาอุปมัยเปรียบเสมือน เป็นแอลกอฮอร์ ที่คอยเช็ดล้างเชื้อโรค (อุปาทาน ๔) ที่คอยจ้องจะเข้ามากัดกินบาดแผลทำให้แผลพุพอง เป็นหนอง และเน่าเปื่อย ซึ่งหากว่าเราไม่มีแอลกอฮอร์ไว้คอยเช็ดล้างทำความสะอาดบาดแผลในเบื้องแรกก่อนแล้ว เชื้อโรค (อุปาทาน ๔) ก็จะเข้ามาทำลายบาดแผลให้สาหัสได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

    ส่วนประกอบที่สำคัญของตัวยาอิทธิบาท ๔

             “อิทธิบาท ๔หมายถึง คุณเครื่องที่ทำให้ถึงซึ่งความสำเร็จ ๔ ประการ ประกอบด้วย

                  ฉันทะ คือ จะต้องมีความพอใจและเข้าใจลึกซึ้งถึงเรื่องนั้น ๆ เป็นเรื่องแรก

          วิริยะ คือ มีความพยายามทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลุล่วง

          จิตตะ คือ มีความเอาใจฝักใฝ่และตามติดในสิ่งนั้น

          วิมังสา คือ การพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุและผลในสิ่งนั้น

 

หรือมีหลักจำโดยให้เข้าใจง่าย คือ  มีใจรัก พากเพียรทำ นำเอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญามาไตร่ตรอง

 

        คำเตือน...

             จากการที่ผู้เขียนเปรียบเทียบหากว่าเราเกิดเป็นแผล ตัวยาอิทธิบาท ๔ เปรียบเสมือนแอลกอฮอร์ที่คอยเช็ดล้างทำความสะอาดบาดแผล ไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลได้เพื่อที่จะไม่ให้แผลพุพอง เป็นหนอง ดังนั้น เราต้องหมั่นนำเอาส่วนประกอบ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา มาเข้าสู่กระบวนการการผลิตโดยการ ตั้งมั่นและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในการรักษาศีลและมีคุณธรรม เพื่อให้ได้ผลผลิตคือ ตัวยาอิทธิบาท ๔ เพื่อนำไปใช้เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนของการดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้เป็นปรกติตามจริง เมื่อเกิดมีเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคและปัญหาใด ๆ เข้ามาจนเกิดอาการท้อ แต่เราก็ต้องบริโภคและยึดมั่นตัวยาอิทธิบาท ๔ เป็นแก่นแท้ เพื่อฝ่าฟันเชื้อโรคเหล่านั้นไปให้ได้ และที่สำคัญในการที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น เราต้องทำความรู้จักกับมันให้ดีเสียก่อน อุปมาอุปมัย เหมือนกับการออกรบทำสงครามเราจะต้องรู้จักศัตรูให้ดีเสียก่อนเพื่อที่จะสามารถวางแผนการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังสุภาษิตที่ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

         เชื้อโรคหรืออุปสรรคปัญหาที่สำคัญในที่นี้คือ อุปาทาน ๔ หรือ กิเลสที่เป็นอำนาจของความยึดติด โดยจำแนกได้เป็น ๔ ประเภท คือ

          ประการที่ ๑ กามุปาทาน คือ การยึดถือในของรักของใคร่ทั่วไป

          ประการที่ ๒ ทิฏฐุปาทาน คือ การยึดถือทิฏฐิ ความคิดเห็นตามที่ตนมีอยู่

          ประการที่ ๓ สีลัพพตุปาทาน คือ การยึดถือในการประพฤติและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่ตนเคยปฏิบัติ กระทำโดยงมงายแต่เดิมอย่างไร้ตรรกะที่ถูกต้องในสภวะ (ธรรม) ตามจริง

          ประการที่ ๔ อัตตวาทุปาทาน คือ การยึดถือด้วยการกล่าวว่าเป็นตัวเป็นตน

 

              ๑.กามุปาทาน คือ การยึดถือในของรักของใคร่ทั่วไป ซึ่งจะเห็นหรือสะท้อนได้จากการที่คนเราตามธรรมดาทั่ว ๆ ไป จะมีความยึดติดในสิ่งที่เป็นของรักที่พอใจและถูกครอบงำไม่ว่าจะเป็นทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นวัตถุที่ตั้งของกามารมณ์ ๕ อย่าง ที่ทุกคนรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีโดยทั่วไป แต่ตามหลักธรรมในพุทธศาสนานั้น ท่านได้ขยายออกไปเป็น ๖ คือมี ธรรมารมณ์”  เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึกในใจ เป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคตก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้ เป็นของจริงหรือคิดฝันก็ได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเอร็ดอร่อยทางจิตในขณะที่รู้สึก ซึ่งในปัจจุบันที่เราเห็นและเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ตามข่าวสารทั้งในทีวี และตามหน้าหนังสื่อพิมพ์ ก็คือ ความหึงหวงจนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายหนักสุดจนถึงขั้นสุดท้ายนำไปสู่การทำลายชีวิต ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มเด็กและเยาวชน วัยรุ่น วัยเรียน ซึ่งบทสรุปท้ายที่สุดของวาทะกรรมในกรณีดังกล่าวก็คือ เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ชั่ววูบ โดยแท้ที่จริงแล้วคนเราทุกคนกลัวการถูกลงโทษซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำความผิดกันทั้งนั้น แต่เมื่อถูกครอบงำด้วย กามุปาทาน คือ เข้าไปยึดติดในเรื่องดังกล่าวจนก้าวข้ามพ้นผ่านมิติของความคิดสำนึกผิด ชอบ หรือ ชั่ว ดี ก็จะนำไปสู่เหตุการณ์เศร้าสลดทางสังคมเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากว่าเรารู้จักการควบคุมและยับยั้งทางอารมณ์ ซึ่งต้องอาศัยตัวยาอิทธิบาท ๔ คอยเกื้อหนุนและส่งเสริมในการรักษาศีล (ปรกติ) เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติกาย และวาจา ให้ถูกต้อง

 

               ๒.ทิฏฐุปาทาน การยึดถือทิฏฐิคือความคิดเห็นที่ตนมีอยู่ ความคิดเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐิคือ ความคิดเห็นชนิดที่มีไว้สำหรับถือรั้น ยึดติดถือมั่น และไม่ยอมใครง่าย ๆ นั้น ส่วนใหญ่ทุกคนมีความยึดติดถือมั่นความคิดเห็นของตนเองเป็นปฐมฐานด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นไปตามธรรมดา แต่ถ้าหากการยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิความคิดเห็นเดิม ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยดื้อรั้น จนนำไปสู่การติดกับดักของ มิจฉาทิฏฐินับได้ว่าเป็นอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากามุปาทาน เช่น บางคนทำดีมาตั้งนานไม่เห็นได้รับผลดีกลับมาแต่ในขณะที่เห็นคนรอบข้างบางคนที่ทำชั่วกลับไม่เห็นได้รับผลชั่ว...เลยพาลคิดไปว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป...เป็นต้น

                  ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น จากวาทะกรรม "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ได้กลายพันธุ์เปลี่ยนเป็นทัศนะคติใหม่ในทางสังคมที่เราคงเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ คือ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ซึ่งบริบทที่เปลี่ยนไปดังกล่าวนี้เป็นลักษณะออกแนวประชดประชันสังคม ทั้ง ๆ ที่บางครั้งคนที่ทำดีแต่อานิสงค์ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปในทางที่ดี แต่ คนที่ทำชั่ว (ไม่ดี) กลับได้รับผลกลับมาในทิศทางตรงกันข้าม หรือว่านี่คือบททดสอบสำหรับคนที่ทำดี แต่บางครั้งบางเวลา ระยะเวลาที่ทดสอบก็ทอดยาวจนเกินไป หากไม่มีจิตใจที่มุ่งมั่นและเข้มแข็งแล้ว ก็ยากที่จะก้าวข้ามพ้นผ่านไปได้

               หลาย ๆ เหตุการณ์ในหลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นได้ว่า คนชั่วยังคงลอยนวลกฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดและทำอะไรได้ แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจและตั้งมั่นในศีลธรรมและคุณธรรมแล้ว ขอให้เชื่อเถอะว่า แม้กฎหมายจะยังคงไม่สามารถเอาผิดและทำอะไรกับพวกคนชั่ว (ไม่ดี) ได้ แต่กฎแห่งกรรม นั้นมีจริง ถึงแม้ว่าพวกคนชั่วเหล่านั้นจะหลบพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมาย (ที่สร้างขึ้นจากมนุษย์) ได้ แต่จะไม่สามารถที่จะหลีกพ้นจากกฎแห่งกรรม (กฎธรรมชาติ) ไปได้

            

                                

              ๓.สีลัพพตุปาทาน คือ การยึดติดในการประพฤติปฏิบัติและวัตรต่าง ๆ ที่ตนเคยปฏิบัติ กระทำโดยงมงายแต่เดิมอย่างไร้เหตุผล ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การถือเคล็ด เครื่องรางของขลัง เชื่อและงมงายในเรื่องศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผีพนันในเรื่องหวย จะเสาะหาทั้งคน ต้นไม้ และสิ่งของต่าง ๆ เพื่อขอหวย ที่ไหนล่ำลือว่าให้หวยแม่น จะไกลหรือแม้แต่กระทั่งต้องลงทุนเท่าใดก็ไม่หวั่นขอให้ได้เลขเด็ดมาก็เพียงพอ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ผีพนันเข้าสิงเช่น เชื่อว่ามีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์สามารถขูดเห็นตัวเลขได้ พอช่วงใกล้วันหวยออกก็จะเห็นบรรดาผีพนันเหล่านี้ไป นั่งเฝ้า นอนเฝ้า ขูด ๆ ถู ๆ ต้นไม้หาเลขเด็ด ทำต่อ ๆ กันไปและขยายเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งใจความและสาระสำคัญของ สีลัพพตุปาทาน นี้ อยู่ตรงที่ว่า เป็นการประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการ ทำไปของการไร้เหตุผล โดยวิธีการไร้เหตุผล และเพื่อการไร้ซึ่งเหตุผล มีแต่ความยึดมั่นถือมั่นจนเลยกรอบของตรรกะทางเหตุและผล ก้าวข้ามพ้นผ่านไปสู่ความเชื่องมงาย ซึ่งเราต้องอาศัยตัวยาอิทธิบาท ๔ เพื่อนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของศีล (ปรกติ) คอยฆ่าเชื้อสีสัพพตุปาทานนี้ไม่ให้มาเกาะกุมและครอบงำจิตใจเรา

 

             ๔.อัตตวาทุปาทาน คือ การยึดถือด้วยการกล่าวว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นลักษณะของความรู้สึกที่มีฝังแน่นและประจำติดตรึงอยู่ในจิตใจ อาจกล่าวได้ว่า เป็นสัญชาตญาณขั้นมูลฐานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ทั้งการหาอาหาร การต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากศัตรู การสืบพันธุ์เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติและมีติดตัวมาช้านาน  สัญชาตญาณเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดโดยไม่ต้องสอน ซึ่งอัตตวาทุปาทานนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างลึกซึ่ง สัมผัสได้ยากกว่า อุปาทานทั้ง ๓ ที่กล่าวมาแล้ว อัตตวาทุปาทานนี้ กินลึกลงไปถึงสัญชาตญาณและความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุและผล คือ ไม่ต้องอาศัยเหตุผลมาคอยกำกับ อาศัยแต่ความรู้สึกที่ตอบสนองทางจิตใจเท่านั้น เช่น คนที่เคยมีลูกเล็ก ๆ ส่วนใหญ่อาจจะเคยทำหรืออาจจะเคยเห็นคนอื่นทำบ่อย ๆ  ก็คือ เมื่อลูกเราเดินไปชนประตูหรือสิ่งของแล้วร้องไห้ เราก็จะตีประตูและสิ่งของนั้นเพื่อเป็นการลงโทษที่ทำให้ลูกของเราเจ็บ ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับตัวของเขาเองอีก เขาก็จะจำจากสิ่งที่เราเคยทำให้เห็น ลูกของเราก็จะตีประตูหรือสิ่งของนั้น ๆ ที่ทำให้เขาเจ็บทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นอัตตวาทุปาทานที่ถูกปลูกฝังเป็นสัญชาตญาณให้กับเด็กโดยที่เราไม่ทันได้นึก เมื่อเด็กโตขึ้นหากมีสิ่งใดทำให้โกรธไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ก็จะต้องทำร้าย ทำลายสิ่งนั้นเพื่อให้ตัวเองหายโกรธ จนยึดติดและถูกครอบงำโดยอุปาทานนี้จนยากเยียวยา เราต้องอาศัยตัวยาอิทธิบาท ๔ หมั่นปฏิบัติและตั้งมั่นในศีล (ปรกติ) เพื่อต่อยอดไปขั้นสมาธิและปัญญาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้อัตตวาทุปาทานเข้ามาเกาะกุมและครอบงำจิตใจเราได้

 

          สรรพคุณของตัวยาอิทธิบาท ๔

               ตัวยาอิทธิบาท ๔ ถือว่าเป็นคุณเครื่องศูนย์กลางของการขับเคลื่อนให้ถึงซึ่ง ความสำเร็จ ในทุก ๆ ด้าน โดยที่มีส่วนประกอบของตัวยาที่สำคัญคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ดังที่กล่าวมาแล้วคอยทำงานเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ให้สามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต โดยที่มีกระบวนการของ เวลา ที่กินลึกลงไปถึงความสม่ำเสมอและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นปรกติ เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการการผลิต อย่าลืม พกตัวยาอิทธิบาท ๔ ที่ผลิตได้ด้วยตัวของเราเองไว้บริโภคเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้บรรลุถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน

 

              แรงดึงที่สำคัญในเบื้องแรกที่ทำให้เราเข้าสู่ความปรกติสัมพัทธ์ ซึ่งก็คือ ประพฤติปฏิบัติผิดศีลน้อยลง คือ อิทธิบาท ๔ และหากเรามีอิทธิบาท ๔ ติดตัวอยู่เป็นวัตร ก็จะทำให้เราเข้าสู่ความปรกติ (ศีล) ตามจริงได้รวดเร็ว...แต่ว่าในกระบวนการดังกล่าวจะมีอุปสรรคที่คอยขัดขวางเรียกได้ว่าเป็นแรงผลักให้เราออกจากความปรกติหรือทำผิดศีลมากยิ่งขึ้นซึ่งก็คือ อุปาทาน ๔ ที่มีเจือปนอยู่ในสังคมปัจจุบันทั่วไป ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติ (แท้จริงเป็นสิ่งผิดปรกติ) ในสังคม ยิ่งถ้าหากว่าเรายอมให้อุปาทาน ๔ ครอบงำและปนเปื้อนมากยิ่งขึ้นเท่าใด ก็จะผลักเราให้ออกห่างจากความปรกติตามจริง (ศีล) มากเท่านั้น...

 

เครดิตภาพ : http://www.dhammada.net/2013/01/22/19589/

หมายเลขบันทึก: 547223เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2013 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยค่ะ เนื้อหามีคุณค่าดีนะค่ะ

ครูหยินเอไปสอนเด็ก ๆ

ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

 

      แรงดึง....ให้ เข้าสู่ ความปรกติ (ผิดศีลน้อย) คือเรียกว่า อิทธิบาท ๔

          - ฉันทะ

         - วิริยะ

         - จิตตะ  

         - วิมังสา  

      แรงผลัก....ให้ออกจาก ความปรกติ (ผิดศีลมาก) คือเรียกว่า อุปาทาน ๔

          - กามุปาทาน

         - ทิฏฐุปาทาน

         - สีลัพพตุปาทาน

        - อัตตวาทุปาทาน 

ละเอียดมากๆ

ขอบคุณสำหรับธรรมมะดีๆครับ

ขอบคุณ : คุณครูหยิน Dr.Ple คุณประธาน และอาจารย์ขจิต มากครับ สำหรับการมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ...:)

ขอบคุณมากครับ : สำหรับกำลังใจจากทุกท่านที่มอบผ่านดอกไม้...:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท