"สถานการณ์สื่อมวลชนในปัจจุบัน" ในมุมมองของคนทำบล๊อก


รถไฟมาถึงอีกรอบแล้ว อย่ารอจนตกรถไฟอีกรอบนะครับ

ในบทความ “กากข่าวจากเครื่องกรอง...” ในกรุงเทพธุรกิจ นิษฐา หรุ่นเกษม เขียนขึ้นต้นเหมือนจะเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน แต่ก็ต้องทิ้งช่วงท้ายเกือบครึ่งบทความและจบแบบกำกวมให้คนพิสูจน์อักษรเข้าใจไปเองว่า “ฉันก็ด่ารัฐบาล (เหมือนกันนะ)” ผมเดาว่าถ้าไม่จบบทความอย่างนั้นบทความก็คงไม่ได้พิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ตั้งตัวเป็นฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลจนทำให้ผมเข้าใจว่าคงต้องมีการขัดผลประโยชน์ส่วนตัวกันระหว่างเจ้าพ่อสื่อมวลชนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ (Media Mogul) กับใครสักคนในรัฐบาลเป็นแน่แท้

สาเหตุที่ผมเชื่ออย่างนั้นเพราะผมมีความเชื่อในความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ (Lemma) อยู่อย่างหนึ่งว่า “ไม่มีใครเลวที่สุดและไม่มีใครดีที่สุด” ดังนั้น ถ้ามีใครบอกว่าใครเลวที่สุดโดยไม่มีข้อดีเลย ผมจะคิดว่าคนบอกมีเรื่องส่วนตัวกับคนคนนั้น และถ้ามีใครบอกว่าใครดีที่สุดไม่มีข้อด่างพร้อยเลย ผมก็ไม่เชื่อเหมือนกัน

ในบทความของ นิษฐา หรุ่นเกษม นั้นกล่าวถึงการประชุมของ “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เรื่อง “สถานการณ์สื่อมวลชนในปัจจุบัน” ได้ข้อสรุปว่า สื่อต้องเผชิญเรื่องอยู่สามประการคือ หนึ่ง การคุกคามสิทธิเสรีภาพ สอง การทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อโดยการกล่าวหาว่าชอบบิดเบือนความจริง สาม การพยายามครอบงำธุรกิจสื่อโดยกลุ่มทุนที่แฝงกับกลุ่มธุรกิจการเมือง

ผมอ่านเสร็จทั้งสามข้อก็ยิ้มแก้มแทบปริแต่น้ำตาซึม เพราะได้ความรู้ว่า “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” คือเครื่องมือของเจ้าพ่อสื่อมวลชนทั้งหลายนั่นเอง ความคาดหวังจะให้เป็นกลไก media watchdog ในประเทศไทยคงไม่ได้ มาถึงปัจจุบันนี้ผมก็ยังไม่เห็น media watchdog ในประเทศไทยเป็นตัวเป็นตนเลย ทำให้ยิ่งเห็นว่าอิทธิพลของเจ้าพ่อสื่อมวลชนของไทยนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ

สำหรับข้อสรุปทั้งสามข้อของ “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” นั้น ผมมีคำตอบให้ท่านครับ ข้อหนึ่ง “การคุกคามสิทธิเสรีภาพ” ผมไม่ทราบว่าท่านถูกคุกคามอยู่หลังประตูโดยใครแค่ไหน แต่ผมในฐานะประชาชน ผมเบื่อที่จะต้องอ่านข่าวที่แฝงความเห็นของคนเขียนข่าวแบบที่ไม่มีสื่อมวลชน (ผู้มีหน้าที่โดยคำนิยามว่าต้อง “รายงาน” ข่าวอย่างเป็นกลาง) ที่ไหนในโลกที่เจริญแล้วเขาทำกัน ใช้คำของ นิษฐา หรุ่นเกษม คือข่าว “มิติเดียว” แถมเป็นมิติของอำนาจคนถือปากกาอย่างหน้ามืดตามัวเสียด้วย

ข้อสอง “การทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อโดยการกล่าวหาว่าชอบบิดเบือนความจริง” ข้อนี้ตอบง่ายครับ ตอบตามภาษาของสื่อมวลชนที่ชอบใช้กันคือ “คนไทยไม่ได้กินหญ้า” เรามีสมองพอรู้ว่าใครพูดความจริงและใครบิดเบือนความจริง แต่ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดก็เพราะความกลัวครับ ประเทศไทยเรายังไม่มีกลไกที่ให้ประชาชนสามารถสู้กับสื่อมวลชนได้อย่างที่ไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง

แต่สื่อมวลชนทั้งหลายอย่าดีใจไปครับ กลไกนั้นกำลังจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ผมกล้าพูดเพราะผมสนใจด้านนี้ เจ้าพ่อสื่อมวลชนทั้งหลายจับตาสิ่งที่เรียกว่า “บล๊อก” ไว้ให้ดีนะครับ มันไม่ใช่สิ่งที่เด็กวัยรุ่นใช้เขียนไดอารีอย่างที่ท่านคิดกัน แต่จะจับตาและระวังอย่างไรท่านก็หนีไม่พ้นหรอกครับ เพราะกระแสปฎิวัติสื่อมวลชนระดับโลกมันแรง สุดท้ายท่านก็ต้องไปนอนกอดเข่าคุยกับเจ้าพ่อค่ายเพลงที่ถูก digital audio technology (mp3) ตีจนหมดยุ้งฉาง

พอพูดถึงการที่ท่านต้องไปจับเข่ากับเจ้าพ่อค่ายเพลงก็ทำให้ถึงข้อสาม “การพยายามครอบงำธุรกิจสื่อโดยกลุ่มทุนที่แฝงกับกลุ่มธุรกิจการเมือง” ข้อนี้ผมอ่านแล้วต้องกลอกตาไปมา ให้ผมเดาก็คงเป็นเรื่อง GMMM พยายามควบรวมกิจการกับ MATI อีกแล้ว เจ้าพ่อสื่อมวลชนคงสั่งมาให้เล่นเรื่องนี้ให้ไม่จบไม่สิ้น ผมเคยวิเคราะห์งบการเงิน MATI ไว้แล้ว ในขณะหุ้น MATI ราคาต่ำกว่ามูลค่าอย่างมากที่ 6-7 บาทมาตลอด ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ซึ่งหลายคนทำงานกับ MATI) นอนช้ำใจ (แบบไม่รู้ตัว) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่กลับยอมซื้อหุ้นต่อที่ 11.20 บาท ถ้าผู้ถือหุ้นรายใหญ่คิดว่าหุ้น MATI มีมูลค่าที่แท้จริงที่ท่านยอมซื้อที่ 11.20 บาท ทำไมท่านในฐานะผู้บริหารปล่อยให้หุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าไปเกือบ 50% ละครับ หรือเจตนากดราคาหุ้นให้ต่ำเพื่อให้กองทุนต่างชาติ “คาย” หุ้นออกมา แต่บังเอิญกองทุนต่างชาติไม่ได้กินแกลบแทนขนมปังเลยดัดหลังด้วยการขายให้ GMMM ที่ให้ราคาดีถึง 11.10 บาทเสียเลย

การกดราคาหุ้นให้ต่ำนี่เข้าข่ายปั่นหุ้นประเภทหนึ่ง เพราะการปั่นหุ้นคือ “การกระทำเพื่อบิดเบือนราคาหุ้น” ไม่ใช่การทำให้ราคาสูงอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันนะครับ แต่สงสัยจริงว่าทำไมไม่มีสื่อมวลชนคนไหน “รายงาน” ในประเด็นนี้เลย

ผมเชื่อว่าถ้าท่านรักที่จะนำธุรกิจของท่านจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่านก็ต้องเล่นตามกติกาตลาดทุนครับ การเล่นนอกกติกาแม้ท่านจะถือปากกาเป็นใหญ่ แต่ภาพพจน์ของท่านก็จะเข้าไปสู่ข้อสองคือ “การบิดเบือนความเป็นจริง” นั่นเอง

ส่วนประชาชนคนไทยทั้งหลายทั้งที่ทำงานให้และไม่ได้ทำงานให้กับท่านเจ้าพ่อสื่อมวลชน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วครับที่ท่านจะปลดแอกตัวเองจากการ “ครอบงำ” ของสื่อมวลชน ผมขอเน้นอีกครั้งว่า “บล๊อก” ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือให้เด็กวัยรุ่นเขียนไดอารี “บล๊อก” คือเครื่องมือของสื่อมวลชนอิสระรายย่อยที่จะสู้กับยักษ์สื่อมวลชน เทคโนโลยีที่จะรองรับนักข่าวอิสระกำลังเริ่มเข้าที่เข้าทางเรื่อยๆ แล้วครับ อีกไม่นาน อีกไม่นานเกินรอท่านนักข่าวทั้งหลายจะไม่ต้องกินน้ำใต้ศอกเจ้าพ่อสื่อมวลชนอีกแล้ว อีกไม่นานเทคโนโลยีจะช่วยให้ท่านจะมี “สำนักข่าว” ของท่านเองโดยไม่ต้องง้อนายทุน (เพียงแต่ท่านต้องทำงานหนักในการเขียนเพื่อให้ “สำนักข่าวเล็กๆ” ของท่านน่าติดตามเท่านั้นเอง)

ตอนนี้ท่านอ่านหนังสือ We The Media ไปเพื่อศึกษาเก็บความรู้ก่อน และเตรียมตัวที่จะเปิดสำนักข่าวของท่านเองครับ อิสรภาพของสื่อมวลชนที่ไม่ถูกครอบงำทั้งด้วยรัฐบาลและด้วยเจ้าพ่อสื่อมวลชนกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว นักข่าวอิสระกำลังจะได้รับอิสรภาพที่แท้จริงอีกไม่นานนี้ครับ

ส่วนคำแนะนำสุดท้ายสำหรับวันนี้ของผมคือ “ใครเปิดก่อน คนนั้นได้ก่อน” เหมือนยุคเว็บก่อนหน้านี้ที่เว็บอย่าง Sanook.com หรือ Pantip.com ที่ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแต่เขา “ทำก่อน” เท่านั้นเอง รถไฟมาถึงอีกรอบแล้ว อย่ารอจนตกรถไฟอีกรอบนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #บล๊อก#สื่อมวลชน
หมายเลขบันทึก: 5454เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2005 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
     ผมคิดเห็นประเด็นสื่อมวลชนในอนาคตกับคนเขียน Blog แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่สาหัสเท่าประเด็น mp3 ครับ ทำไมเหรอ! เพราะยังมีคนที่สนใจ (อย่างกระหาย) เมื่อได้รับรู้เรื่อง Blog (เท่าที่ผมสัมผัสอยู่) แต่การเข้าถึงยากครับ ตามที่ผมเขียนไว้ที่ การเริ่มต้นที่แสนยาก

พอดีผมติดตามเรื่องนี้ตลอดครับ การปฎิวัติสื่อมวลชนในช่วงนี้แม้ในระดับโลกก็ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นครับ แต่ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้วสื่อมวลชนแบบเก่าจะต้องสิ้นสุดไป เทคโนโลยีในปัจจุบันมาในทิศทางที่ทำให้ผู้รับข่าวเดิมกลายเป็นผู้ส่งข่าวด้วย

นอกจากนั้นเทคโนโลยีแบบกระจายการประมวลผล (Peer-to-Peer, P2P) ยังมาในรูปแบบที่ทำให้ผู้กระจายข่าวแบบรวมศูนย์ต้องหายไป

ผมเห็นช่วงปีนี้ 2005 สำหรับ blog เป็นเหมือนช่วง 1994 สำหรับ web และ 1998 สำหรับ mp3 ครับ

ยังมีอะไรอีกมากที่เราจะได้เห็นกันต่อไปครับ

     ผมเห็นสอดคล้องกับที่อาจารย์เห็นและได้ติดตามมาครับ และก็เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ เช่น คนส่งข่าวกรณีตึก worltrade โดนชน คนแรก ๆ ก็คือ ผู้รับข่าวดี ๆ นี่เอง จากนั้น TV ก็ทำหน้าที่กระจายข่าวอย่างที่อาจารย์ว่า ซึ่งลักษณะนี้จะชัดเจนขึ้น ผมว่าปีหน้า (ปี 2006) สำหรับ blog ก็น่าจะระบาดหนัก (ชอบพูดแบบไข้หวัดนกฮา...)

     กลับเข้าสู่ประเด็นที่ผมนำเสนอออกไปนั้น เป็นอย่างนี้ครับ ผมอยากจะบอกว่าบริการอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐมีหน้าต้องจัดให้แก่ประชาชน (เน้นว่าต้องจัด...) และหากประชาชนยังเข้าถึงได้ยากอยู่ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ บริการนั้นยังไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนครับ (อาจารย์จะแย้งผมก็ได้นะครับ) เช่นบริการสาธารณสุข ถ้ายังมีคนไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะกลัวค่าใช้จ่ายไม่พอ (สาเหตุหนึ่งจากอีกหลายสาเหตุ) ก็แสดงว่ายังไม่เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคมครับ รวมถึงการสื่อสาร (เช่น สายโทรศัพท์ หรือระบบอื่นที่แทนสายโทรศัพท์ได้) ทุกวันนี้ผมก็ว่า (เน้นที่ผมว่า...) ยังไม่เป็นธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะในชนบท

     ผมเลยเปิดประเด็นต่อจากอาจารย์ขึ้นด้วยคิดเห็นในประเด็น "ความเป็นธรรม" ครับผม

    

 
     worltrade ข้อแก้เป็น Woldtrade ครับ

ขอบคุณครับ แล้วผมจะเขียนในประเด็น "ความเป็นธรรม" ในมุมมองของผมลงที่นี่ครับ

ผมเองเป็นคนชนบทเต็มตัวเลยครับ (ชุมพร->สงขลา->Baltimore County, MD->สงขลา) ทั้งชีวิตไม่เคยอยู่กรุงเทพฯ เกิน 3 เดือน แต่ไปกรุงเทพฯ เป็นครั้งคราวและไปบ้านอื่นเมืองอื่นอีกหน่อย ผมเลยมีความคิดเห็นในแบบของผมเกี่ยวกับความเป็นธรรมอยู่เยอะเหมือนกัน จริงๆ ก็อยากเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว ไว้มีโอกาสจะรีบเขียนครับ

     อาจารย์ครับ ผมอยากจะอ่านที่อาจารย์เขียนมากเลยครับ ด้วยเหตุผลส่วนตัว (กิเลสก็ว่าได้) คือหาคนพูดด้วยเรื่องนี้ยากครับ เขาชอบว่า... (คิดว่าถึงพิมพ์อาจารย์ก็ไม่โกรธ หรือไม่แน่)

ผมจดไว้ในสมุดบันทึกแล้วครับ มีโอกาสว่างจะเขียนแน่นอน ถ้าคุณชายขอบมีจังหวะเขียนเรื่องนี้ก่อนก็เขียนเลยนะครับ ผมจะติดตามอ่านครับ

เรื่องความเห็นไม่ตรงกันนี่รับประกันว่าผมไม่มีโกรธครับ ที่จริงแล้วความเห็นที่แตกต่างนี่ล่ะเป็นที่มาของการพัฒนาของโลก ถ้าคนเราคิดเหมือนกันหมด โลกก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ที่จริงแล้วผมเรียนจบมาได้เพราะเถียงฝรั่งนี่ล่ะ ยิ่งเถียงฝรั่งยิ่งชอบ (แต่พอกลับมาเมืองไทยเผลอท้วงใครในที่ประชุมหน่อย เจอกันคราวหลังไม่ทักกันเสียแล้ว) ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีความเห็นไม่ตรงกับผมครับ

     เปล่าครับอาจารย์ ผมไม่กลัวการเถียงกัน (ผมเรียก "ถก" แต่เวลาพูดกับชาวบ้านเขาชอบหัวเราะ คำนี้) หรือไม่กลัวใครเรื่องความเห็นต่าง แต่ที่พิมพ์ว่า  เขาชอบว่า... คือ maniac หรือ insanity หรือ crazy หรือ insinity (กรณีนี้ผรั่งเขาใช้คำไหนแน่ครับ) เพราะว่าคุยแล้วเขา "งง" "ไม่เข้าใจ" (เวลาพิมพ์ชอบใช้คำที่มี "ง"ครับ แต่เวลาพูด จะหลีกเลี่ยง อย่ายิ้ม อย่าหัวเราะนะครับ)

ไม่เป็นไรครับ เราคนใต้คุยกันไปก็ทำเหมืองทองแดงกันไปพลาง "ง" ผมก็ไม่ชับ แต่ "ร" ผมฉาดเปรี๊ย ;-)

ถ้าเป็น adjective นี่ insane ฝรั่งว่าค่อนข้างเพี้ยนๆ ดีกรีน้อยกว่า crazy นิดหน่อย ถ้า a maniac (noun) นี่คนบ้า คำนี้ถ้าใช้โดดๆ มีดีกรีแง่ลบมากกว่าบวก ถ้าจะหาคำให้ตรงกับคำว่า "หมกมุ่น" ในภาษาไทยต้อง "obsessed with" เช่น Thawatchai is obsessed with politics although he is not a politician. อย่างนี้เป็นต้นครับ

อืมม... ผมเขียนมาเหมือนอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเลยแฮะ ไปเปิดโรงเรียนกวดวิชาได้นะเนี่ย ;-)

     /ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ให้ความกระจ่าง "แต่หมกมุ่น" ถ้าบ้านเรา (คนใต้ ไม่ทราบที่อื่นด้วยไหม) จะมองไปอีกแบบนะ คือสิ่งที่หมกมุ่นนั่นจะเป็นสิ่งไม่ค่อยดี สังคมให้ค่าเชิงลบ เช่น ...กาม, ...เกมส์, ...การพนัน เป็นอาทิ (เป็นต้นกันเหนื่อยแล้ว ไม่เห็นเป็นผลสักที)

     /ที่เขาว่าคือ "เพี้ยน" นะครับ เช่น "ไปเรียนกลับมาเหมือนกันหมด กี่คน ๆ กลับมาแหลง (พูด) กับเราไม่ค่อยโร่เรื่อง (รู้เรื่อง) สา (สงสัย) เพี้ยวเสียแล้ว" ฮา... (อาจารย์ไม่เคยได้ยินเหรอครับ)

     /ผมเคยอ่านบทความของอาจารย์ เห็นเคยบอกว่า "เป็นอาจารย์ต้อง รับสอนจ้าง ไม่ควร รับจ้างสอน" อะไรทำนองนี่แหละ (จำเรื่องไม่ได้แล้วครับ)

อ่านเป็นภาษาใต้แล้วน่ารักดีคะ :)

จริงๆ แล้ว "being obsessed with something" นี่ก็ความหมายเหมือนกับ "หมกมุ่น" บ้านเราจริงๆ ละครับ ไปในแง่ลบเสีย ประมาณว่าอะไรก็ตามถ้าเราหมกมุ่นมากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น

เรื่อง "เพี้ยน" นี่ผมเจอบ่อยครับ สำหรับคนที่รับฟังและขี้เกียจฟังแล้วจะสรุปว่า "เพี้ยน" แต่สำหรับคนไม่รับฟังจะคิดว่า "หาเรื่อง" เลยได้ความรู้ว่า "เพี้ยน" กับ "หาเรื่อง" แม้ดูเหมือนห่างกันหลายขุมแต่จริงๆ แล้วใกล้กันนิดเดียว ปัจจุบันเลยมีงานอดิเรกเป็นการสะสมศัตรูไป ;-)

บันทึกผมชื่อ "อย่าไปรับจ้างสอนที่ไหน เพราะผิดครู ครูคือผู้ให้" ครับ คลิกไปอ่านได้โดยพลัน

บุคคลสำคัญของประเทศ เช่น ผู้นำรัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน คณะรัฐมนตรี ควรเปิดบล็อกได้แล้วคะ เพื่อ Good Governance ดังที่ Newyorker เขาก็เรียกร้องต่อ Mayor เช่นกันคะ http://www.whatsnextblog.com/archives/2005/06/new_york_city_l.asp

     เห็นด้วยครับ อันนี้ที่ใกล้ ๆ ตัว พยายามรณรงค์ให้มีการทำบันทึกผลการปฏิบัติรายงานรายวันครับ แล้วนำเสนอเป็นรายสัปดาห์ (ก็เลยเขียนสัปดาห์ละวัน เขียนทีเดียว 5 วัน) ผมว่าน่าจะเป็นเป็นให้เอามาบันทึกที่ blog นะครับ แล้วจะประเมินก็มาประเมินกันที่ blog (อันนี้กรณีที่ สนง.online ได้ทุกเครื่อง ทุกโต๊ะอยู่แล้วครับ)
คุณชายขอบ น่าจะให้พนง. ตั้งเป้าหมายไว้ด้วยว่าอาทิตย์นี้จะทำอะไรบ้าง แล้วมา AAR จากบันทึกแต่ละวันที่เขาเขียนว่าบรรลุเป้าหมายได้ประมาณกี่ % เพื่อการปรับปรุงสู่เป้าหมายของสัปดาห์หน้า เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คะ ดีไหมคะ :)

     เรียกว่า ได้นก (มากกว่า) 2 ตัว OK ครับ เป็นอะไรที่สุดยอด ผมไม่ได้นึกไปถึงตรงนั้นเลย ขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่เติมเต็มให้

     แอบมาใช้บ้าน อ.ธวัชชัย ไม่แน่ใจเจ้าของบ้านไปไหน (ฮา...)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท