beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวนาแถวบึงฉวาก


ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรม กินอยู่ใช้สอยตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

    ผมมีโอกาสได้ไปบึงฉวาก เมื่อเสาร์ที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา จะยังไม่เล่าเรื่องบึงฉวากโดยตรง แต่จะเล่าเรื่องรอบ ๆ บึงฉวากก่อน ในเรื่อง Infra-structure ถนนหนทางรอบบึงดีมาก แต่ทางเข้าหมู่บ้านรอบ ๆ บึง อยู่ในความดูแลของอบต. (ยังแย่เมื่อเทียบกับรอบ ๆ บึง) เราข้ามตรงนี้ไปก่อน

    พอดีได้คุยกับชาวนาครอบครัวหนึ่ง เริ่มต้นจากสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง เริ่มเช่านาเขาทำ 1-3 ไร่ กับหนี้สินประมาณ 1 หมื่นบาทเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ค่อย ๆ สร้างตัวขึ้นมา อย่างยากลำบาก จนเดี๋ยวนี้มีที่ของตัวเอง 10 ไร่ และเช่าเขาทำ 35 ไร่ รวมเป็น 45 ไร่ ก่อนน้ำมันแพงได้ข้าวครั้งละ 30 เกวียน ขายได้ครั้งละประมาณ 180,000 บาท ทำปีละ 3 ครั้ง ได้ประมาณ 540,000 บาท หักทุกอย่างแล้ว เหลือปีละ 160,000 บาท ถ้าคิดเป็นเงินเดือนของคน 2 คน ก็ตกเดือนละประมาณ 7,000 บาท เท่ากับข้าราชการที่เริ่มต้นทำงาน แต่เขาก็เหลือเก็บได้เกือบทั้งหมด และเอาไว้ลงทุนปีต่อไปวนเวียน เช่นนี้ ผมลองเทียบดูกับคนอื่น ๆ ที่เช่านาเขาแล้วยังเป็นหนี้ เพราะความไม่ละเอียดของการทำงานและมีคุณสมบัติส่วนตัวที่เป็นหนี้

   ลองดูความประพฤติของครอบครัว 2 สามีภรรยานี้นะครับ (มีลูก 2 คน ชายและหญิง แต่งงานไปแล้วคนหนึ่งและกำลังจะแต่งงานอีกคนหนึ่ง ลูก ๆ ได้ดีไปตามอัตภาพ) เป็นแบบอย่างความสำเร็จของชาวนาไทย ซึ่งเช่านาเขาทำส่วนหนึ่งแล้วไม่มีหนี้ (ในปัจจุบัน)

  1. ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมและไม่ตกอยู่ในอบายมุข (ไม่ดื่มเหล้า,ไม่สูบบุหรี่,ไม่เที่ยวกลางคืน,ไม่เล่นการพนัน,ไม่คบคนชั่ว)
  2. ประหยัดมัธยัสถ์ รู้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ ก่อนหน้านี้อยู่บ้านกระต๊อบ เดี๋ยวนี้อยุ่บ้าน 2 ชั้น ราคา 4-5 แสนบาท
  3. กินอยู่ใช้สอยตามอัตภาพ ไม่ฟุ่มเฟือย
  4. เก็บหอมรอมริบ ทำจากเล็กไปใหญ่ คือ แต่ก่อนทำนาแค่ 3 ไร่ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อเกิดความชำนาญจนถึงทำนา 45 ไร่ในปัจจุบัน
  5. อยู่ในสถานที่อันควร คือ ที่นี่ทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง แม้จะมีพวกเพลี้ยระบาดบ้าง มีภัยต่าง ๆ บ้าง บางปีขาดทุนบ้าง แต่ก็ต่อสู้ไม่ท้อถอย
  6. มีการปรึกษาผู้รู้อยู่ตลอด จึงทำให้การทำงานมีความผิดพลาดน้อย

    สรุปว่า สามีภรรยาคู่นี้ ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรม กินอยู่ใช้สอยตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ครับ

หมายเลขบันทึก: 5448เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2005 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ค่ะ,

จ.สุพรรณบุรี มีกลุ่มที่ทำนาแบบปลอดสาร ทำปุ๋ยใช้เอง คัดพันธุ์ข้าวเอง ไม่ทราบว่าชาวนาทั้ง 2 คนนี้ทำนาปลอดสารหรือไม่ หากเขาสนใจ และอาจารย์มีที่อยู่ของเขา ก็น่าจะเชื่อมโยงกับ "โรงเรียนชาวนา" ของมูลนิธิข้าวขวัญ  035 597193   เขาจะลดต้นทุนได้มากขึ้นไปอีก

   ขอบคุณครับที่ให้ข้อมูล เป็นความหวังลึก ๆ ของผมอยู่แล้ว ที่อยากไปจัดตั้งกลุ่มทำข้าวปลอดสารพิษ (ยังทำไม่ได้ขณะนี้เพราะว่าผมยังไม่มีเวลาเข้าไปจัดการ แต่หากว่าประสานงานกับมูลนิธิขวัญข้าว ก็น่าจะดี) ได้ทราบว่าทางอบต.แถวบึงฉวากกำลังจะสร้างโรงสีข้าวชุมชนแต่ยังหาสถานที่ไม่ได้ (คงไม่ได้ทำข้าวปลอดสาร และผลสุดท้ายอาจเป็นโรงสีร้างแบบ 40 กว่าแห่งในจังหวัดพิจิตร)

  แถวบึงฉวากทำนาฉีดสารเคมีทั้งนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ต้องมีมูลนิธิที่เข้มแข็งอย่าง มูลนิธิร่วมพัฒนาจังหวัดพิจิตรที่มีหมอสุรเดช เป็นเลขา และมีผู้นำเข้มแข็งเช่นคุณบำรุง บ้านหนองอ้ายตู้ครับ

  ถ้าผมทำกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งฯ สำเร็จแล้ว เรื่องต่อไปคือเรื่องของชาวนาแถวบึงฉวากครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท