‘โพธิวิชชาลัย’ บทสัมภาษณ์ - รศ.อำนาจ เย็นสบาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ



‘โพธิวิชชาลัย’
บทสัมภาษณ์ - รศ.อำนาจ เย็นสบาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ได้มีโอกาสต้อนรับคณะของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งขึ้นมาเยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งขณะนั้นดำเนินการโดยสถาบันปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ หนึ่งในคณะของมศว.คือ รศ.อำนาจ เย็นสบาย ผู้คลุกคลีและปลุกปั้นวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยมาแต่ต้น รากแก้วมีโอกาสัมภาษณ์อาจารย์ในคราวนั้น และยังไม่ได้นำบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่ เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่องานปัจจุบันจึงขอถอดบทสัมภาษณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.)ไว้ ณ ที่นี้ด้วย แม้ข้อมูลบางอย่างอาจจะเก่าไปบ้างแต่ความคิดเห็นและข้อมูลของอาจารย์ยังมีประโยชน์เสมอ


รากแก้ว : อาจารย์เป็นคนเริ่มต้นคิดโพธิวิชชาลัยใช่ไหมครับ?

อ.อำนาจ เย็นสบาย : หลายๆส่วนมาบรรจบกันโดยส่วนตัว โดยปัจเจก เราก็ปรารถนา อยากจะเห็นการจัดการศึกษาตามที่เราปรารถนา ซึ่งเป็นความรู้สึกของปัจเจกทั่วไปก็อยากจะเห็นตรงนี้ แต่ว่าความเป็นปัจเจก มันก็ไม่มีพลังที่จะทำให้เกิดได้ มันก็พอดีประสานกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย แนวนโยบายของผู้บริหารประสานกันทั้งหมดเลย ทำให้เรามีโอกาสที่จะทำสิ่งที่ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกับสิ่งที่ตัวเองต้องการประสานกับตรงนี้ เราจึงมีโอกาสได้ทำ

รากแก้ว : อาจารย์กรุณาอธิบายหลักการแนวความคิดของโพธิวิชชาลัยให้เราฟังสักหน่อยครับ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : เราเกิดจากการวิเคราะห์ว่าที่ผ่านมาการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี ๔๐ ไม่ว่าย้อนหลังไปก็คือ ความขัดแย้งในสังคมไทย ไล่มาจนถึงวิกฤติเรื่องของปัญหาความยากจนความขัดแย้งวิกฤติธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งวิกฤติโลกด้วยที่เรามองดูว่าการพัฒนา ที่เป็นอยู่ขณะนี้มันไม่ได้นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ก็คือสงครามก็เกิดขึ้นการแย่งชิงทรัพยากรปัญหาทั้งหลาย มันทำให้เราสรุปโดยย่อว่าไม่น่าจะเป็นทิศทางในการพัฒนาทั้งโลก ทั้งสังคม ทั้งชุมชนไปสู่โลกที่สันติและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เราจึงค้นหาปรัชญา แนวคิด หรือคอนเซ็ปต์อะไรมาลองรับในแนวนี้ คิดในการพัฒนาทางการศึกษาเพราะเราถือว่าการศึกษาก็ล้มเหลวเพราะส่วนหนึ่งผลิตคนไปซ้ำเติมสังคมตรงนี้ เรามองเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีคนมีการศึกษาสูงสุดมีการลงทุนมากที่สุด เป็นคนที่มีความรู้สูงสุดแต่ผลิตคนออกไปแล้ว ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สามารถที่แถมก็ยังซ้ำเติมจนกระทั่งเราเกิดการตั้งคำถามว่า เรียนเศรษฐศาสตร์มาแล้วมันกู้ประเทศไม่ได้เลย ความรู้ที่ได้มาจากคณะเศรษฐศาสตร์มันน่าจะยุบทุกคณะหรือไม่ หรือคณะศึกษาศาสตร์ผลิตคนไปแล้วไปสร้างเด็กเยาวชนยังไงจึงเกิดปัญหาของเด็กเยาวชนอย่างนี้ หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเกษตรถ้าพูดตรงๆ ทำยังไงยิ่งผลิตคนออกมา สิ่งแวดล้อมป่าโดนทำลายหมดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นภาพรวมทั้งหมดคือเรามองดูว่าเป็นความล้มเหลวระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นการแสวงหาทฤษฏีใหม่ก็คือการได้ศึกษาแนวคิดของ พระเจ้าอยู่หัว เมื่อศึกษาแล้วเราได้ข้อสรุปในขั้นต้นแม้ว่าจะไม่ได้โดยทั้งหมด เราก็มองเห็นว่าแนวคิดของพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวคิดที่สามารถพัฒนาคน สามารถพัฒนาชุมชนหรือการพัฒนาไปข้างหน้าของทุกส่วนในสังคมไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ 
โดยสรุปก็คือแนวคิดของพระเจ้าอยู่หัวมุ่งสู่สันติภาพ การอยู่ร่วมกันแต่แนวคิดที่เป็นอยู่ในขณะนี้ในโลกกระแสหลักมันนำไปสู่ความขัดแย้ง สงคราม และการแย่งชิง

รากแก้ว : แล้วรูปแบบการจัดการศึกษาของโพธิวิชชาลัยเป็นยังไงครับ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : การจัดการศึกษาของโพธิวิชชาลัย เราต้องบอกว่าเป็นการจัดการศึกษาทางเลือกในระบบราชการ ไม่ได้เป็นไปตามระบบราชการหรือเป็นขนบนิยมของระบบราชการที่เป็นอยู่ขณะนี้ การเริ่มต้นของโพธิวิชชาลัยด้วยแนวความคิด ๔ เรื่องที่เราพูดถึงก็คือ 
(๑) การเคารพเรื่องของธรรมชาติ 
(๒) เรื่องของจริยธรรม 
(๓) เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ
(๔) เรื่องของชุมชน 
๔ เรื่องใหญ่ๆที่เราผูกกันขึ้นมาจะต้องเชื่อมโยง เราไม่มีทางก้าวไปสู่ตามระบบราชการหรือให้ข้างบนสั่งลงมาได้ เพราะสิ่งเรานี้มันไม่ได้ปรากฏขึ้นในแผนการจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งไม่มีแม้ว่ามีเจตนาที่ดีแต่ว่าในทางปฏิบัติมันไม่มีรูปธรรมเกิดขึ้น เราจึงต้องทำโดยการเริ่มจากคนกลุ่มน้อยในมหาวิทยาลัย เริ่มจากยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้นการทำตรงนี้เริ่มต้นมันก็ผิดกฎหมาย พูดให้ถึงที่สุดก็คือ เริ่มต้นจากไม่เอาระบบราชการแต่เรายังอยู่ในระบบราชการ เราไม่สามารถที่จะเอาความคิดนี้ไปขายให้สำนักงบประมาณได้ เอาความคิดที่พวกเราคิดไปให้กระทรวงศึกษาหรือรัฐบาลได้ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นเราต้องหาเครือข่ายเริ่มต้นจากข้างล่างขึ้นมาก่อนขึ้นเกิดขบวนการภาคีเครือข่ายขึ้น หมายความว่าเราแสวงหาความร่วมมือจากพื้นที่ จากผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคราชการ จากทหารกลุ่มความมั่นคง จากภาคธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาในพื้นที่ จาก NGOและก็สนธิกำลังกันจากข้างล่างขึ้นมาเราจะทำสิ่งที่ดีๆตรงนี้ทั้งที่เริ่มต้นไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล เมื่อมีเงินมาเริ่มต้นจากเงินบริจาคที่ดินบริจาคจากหลายสิ่งหลายอย่างบริจาค เราก็ทำโดยที่ไม่มีการรับรองจากระบบด้วยเหตุที่ว่าแม้แต่บ้านก็ไม่มีสถาปนิก อาคารสร้างก็ไม่มีวิศวกรมาจากฐานของชาวบ้านแท้ๆที่เขาร่วมแรงร่วมใจกันทำตรงนี้ เพราะฉะนั้นกระบวนการเกิดของโพธิวิชชาลัยเป็นกระบวนการเกิดที่ไม่เป็นตามขนบของ ขบวนการศึกษาที่เป็นอยู่แต่ทำไมเราจึงเชื่อมั่นอย่างนั้น เราเชื่อว่าโลกหรือสังคมในที่สุดในด้านการศึกษามันจะต้องไปในทิศทางดี เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วผมเชื่ออย่างนั้น ผมวิเคราะห์ระบบโลกมันไปไม่รอดแน่ๆ

รากแก้ว : คนกลุ่มน้อยที่ให้กำเนิดสถาบันโพธิวิชชาลัย นอกจากอาจารย์แล้วมีใครที่อาจารย์อยากจะเอ่ยชื่อบ้างไหมครับ เพื่อให้การเคารพ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : ถ้าให้ความเคารพก็ต้องบอกว่าความคิดของเราไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ความคิดของเราเกิดจากการที่เราสะสมมาจากหลายแหล่ง หลายคน หลายสิ่งนับตั้งแต่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นผู้ที่ให้ความคิดที่จะทำให้การศึกษาจุติใหม่ไปจากภพเก่าไปสู่ภพใหม่ ถ้าในทางศาสนาผมก็ยอมรับว่าพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านพุทธทาสเป็นส่วนหนึ่งทางจริยธรรมที่ท่านพูดถึงการศึกษาที่เชื่อมโยงแบบบูรณาการ ถ้าพูดทางภาษาพระก็คือพูดถึงปฏิจจสมุปบาทพูดถึงให้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาก็จะเป็นอย่างนี้ถ้าพูดถึงบุคคลอื่นก็คือ ผมมีโอกาสเป็นประธานจัด ๔๘ ปาฐกถา ๔๘ ภูมิปัญญานักคิดไทยตรงนี้ผมได้ฟังผู้รู้ ๔๘ คนก่อนที่จะเป็นหนังสือ ๔ เล่มที่เราเชิญมา ตั้งแต่บุคคลสำคัญระดับพรีเมียมมาบรรยายมาปาฐกถา ในช่วงที่เราเปลี่ยนผ่าน บุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ามันไม่สามารถไปได้ในระบบเดิมตรงนี้ เพราะฉะนั้นทั้งพระ ทั้งบุคคล ทั้งนักคิดเหล่านี้ถือว่าเป็นคุณูปการที่มีต่อเราต่อมหาวิทยาลัยและที่สำคัญคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านทรงอักษรทางบัณฑิตพัฒนศึกษาศาสตร์สิ่งที่ท่านเมตตาก็คือ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือท่านมาปาฐกถาให้ มาบรรยายให้ในวาระสำคัญเช่นวัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สิ่งที่ท่านได้บรรยายให้อาจารย์ทั้งหลายฟังในฐานะที่กลับมาในวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หลายครั้งท่านได้ให้ความคิดในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส การจัดการศึกษาเพื่อให้โอกาสกับคนด้อยโอกาสคนยากคนจน ตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่นำความบันดาลใจ ผู้บริหารหลายคนก็รับทราบในสิ่งเหล่านี้แต่เราก็รู้สึกว่าวิธีที่จะตอบสนองสิ่งที่ท่านมาปาฐกถาก็ดี มาทรงบรรยายก็ดีหรือแนวคิดพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ไม่มีไรดีกว่าคือการปฏิบัติวิธีที่จะตอบแทนคุณแผ่นดินหรือวิธีที่จะตอบแทนสิ่งที่เราเชื่อไม่ใช่การพูดการบรรยาย การวิจัยอย่างเดียวมันมากแล้วแต่ให้เขาทำต่อไป แต่สิ่งที่ขาดก็คือการปฏิบัติเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นเรื่องของแนวคิดเพื่อชุมชน เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องวิกฤตธรรมชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่มีอะไรดีกว่าคือทำให้เห็นจริงผมก็พูดดีได้ใครก็พูดสิ่งดีได้ แต่มันไม่สำคัญเท่ากับการปฏิบัติตามสิ่งที่เราคิดเราพูดให้มันเกิดขึ้นจริง นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องลงพื้นที่ในสิ่งที่สบายก็ไม่ได้ต้องเลือกที่ลำบาก ที่เป็นปัญหาถ้าเลือกที่ลำบากที่มีปัญหามันจะพิสูจน์ได้ว่า เราไม่ได้เริ่มจากที่สบาย ที่สบายๆมหาวิทยาลัยไปเยอะที่ไหนมีเศรษฐานะดี เศรษฐกิจดีมหาวิทยาลัยลงไปเยอะหาดใหญ่ลงกันเต็มเลย เพราะฉะนั้นการที่เราเลือกที่สระแก้วเป็นพื้นที่ติดเขมรติดกัมพูชา มีปัญหาสารพัด ในตะเข็บชายแดนเราเลือกจังหวัดตากก็มีปัญหาหลายเรื่องเลือกที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือจะมาจังหวัดน่าน ก็เพราะว่าเราต้องการให้เป็นจุดที่จะบอกว่าเราไม่ได้จัดการศึกษาเพื่อพาณิช แต่เป็นการจัดการศึกษาเพื่อที่เดินตามมาพูดง่ายๆคือ พระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ การออกไปต่างจังหวัดออกไปยังคนขาดโอกาสจริงๆเป็นการบอกทางอ้อมทุกส่วนของสังคมไทยว่า นี่ควรจะทำอย่างนี้เพราะความมั่นคงของประเทศจริงๆก็คือต้องมาจากฐานของคนกลุ่มใหญ่ถ้าไม่พ้นจากการยากจนหรือขาดโอกาสแล้วยังไงมันก็ไปไม่รอดประเทศนี้

รากแก้ว : ผู้บริหารส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความสำคัญโพธิวิชชาลัยแค่ไหน

อ.อำนาจ เย็นสบาย : ต้องยอมรับว่าการเกิดโพธิวิชชาลัยเกิดขึ้นจากส่วนเล็กๆ มีความขัดแย้งแม้แต่ในขณะทีมงานผู้บริหารก็สู้กัน มันเป็นการต่อสู้กันภายในของคณะผู้บริหารในทางความคิด เพราะผู้บริหารจำนวนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าส่วนใหญ่เป็นกระแสต่อต้านเอาเป็นว่าส่วนที่ต่อต้านเป็นส่วนรอง ส่วนที่วางเฉยไม่คัดค้านไม่ว่ากล่าวก็ถือว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนมันถึงมาได้ สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือ ในสถาบันการศึกษาส่วนที่คัดค้านเขาเกรงว่าการสร้างโพธิวิชชาลัย จะเป็นการนำทรัพยากรของมหาวิทยาลัยจากในเมือง ออกไปเกื้อหนุนออกไปทำให้มหาวิทยาลัยส่วนกลางเอาทรัพยากรเอาเงินไปลงทุนในพื้นที่ที่เขาต้องขาดโอกาสแย่งงบประมาณ เกรงว่าจะถูกจัดสรรงบประมาณตรงนี้เอาไปที่อื่นทำให้เขาต้องอ่อนแอลง ประการที่หนึ่ง มันดูแล้วมันไม่มีจุดคุ้มกำไรที่ไหนเลยเพราะเขาพูดตามระบบการจัดการศึกษาประเภทนี้ คำถามว่าจุดค้มหรือกำไรอยู่ตรงไหน ใช้เวลากี่ปี เป็นคำถามที่โพธิไม่สามารถตอบได้เพราะกำไรของ ‘โพธิ’ มันคือ ‘คน’ มันคือการสร้างความมั่นคงซึ่งไม่มีตัวเลขออกมาตรงนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นกำไร กำไรของเราคือทำให้ชุมชนเข้มแข็งก็คือคนอื่นเข้มแข็งไม่ใช่มหาวิทยาลัยเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นนี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง ที่เราได้รับกระแสและพบว่าการไม่เห็นด้วยเพราะเกรง อันที่สอง เกรงว่าตัวเองได้รับเคราะห์กรรมอาจจะต้องออกไปสอนในต่างจังหวัดด้วย เพราะว่าการที่เขาอยู่ในกรุงเทพเดินทางไปแค่นครนายกเขาก็ร้องกันอยู่แล้ว แล้วนี่ไปสระแก้ว ไปตาก ไปสามจังหวัดภาคใต้ สงสัยว่าเขาจะต้องลำบากกันหนักคือจะต้องออกไปทำหน้าที่สอนอยู่ต่างจังหวัดตรงนี้ด้วย นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งของความหวั่นวิตกว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกทำให้ต้องไปทำหน้าที่ไปอยู่ต่างจังหวัดอันนี้ไม่แปลก แม้แต่โพธิวิชชาลัยจะรับอาจารย์ขึ้นมาขณะนี้ก็ยาก เพราะเราจะมีตำแหน่งประกาศสองครั้งสามครั้ง ก็ไม่ได้คนมาง่ายๆแต่ว่ามันก็มีแนวโน้มที่ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆก็คือมีคนที่มีอุดมการณ์หลั่งไหลเข้ามาช้าๆ คือเราไม่ได้เริ่มจากเงินไปที่โน้นแล้วคุณจะได้เงินเพิ่มถึงสองหมื่นสามหมื่นเป็นค่าเบี้ยกันดารไม่มีเลย มันจึงทำให้เราได้คนมาจากคนที่มีใจอยากจะไปช่วยเหลือ การที่จนก็ดีเหมือนกันไม่มีงบประมาณเป็นพันล้านไปลงที่สระแก้วหรือที่อื่น มันเป็นตัวสกรีนอย่างหนึ่งว่าไปแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไรที่มันจะได้จากโพธิวิชชาลัย มันก็เลยเป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งคนที่จะเข้ามาเบื้องต้นเป็นคนที่ต้องคิดว่ามีจิตอาสาจึงมาตรงนี้ เพราะไปแล้วลำบากจะไปหวังอะไรในพื้นที่ ผมว่านี่เป็นภูมิคุ้มกันในมุมกลับ

รากแก้ว : มีนักศึกษาปัจจุบันสักเท่าไหร่ครับ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : นักศึกษาปัจจุบันคือ รุ่น ๑ มี ๔๖ คน รุ่นที่ ๒ มี ๒๖ คน รุ่นที่ ๓ ประกาศรับประมาณ ๕๐ คน รวมแล้วทั้งสามรุ่นประมาณร้อยกว่าคน

รากแก้ว : ที่ ๓ จังหวัดภาคใต้จังหวัดไหนครับ
อ.อำนาจ เย็นสบาย : จังหวัดสตูล เราลงสตูลเพราะเราวิเคราะห์ว่า เราจะใช้สตูลที่มีความสงบเป็นฐานแล้วจึงจะใช้สตูลเป็นฐานที่จะดึงเยาวชนจาก 3 จังหวัดภาคใต้มาสตูล แล้วจึงย้อนกลับไปที่เดิม คือต้องลงที่สร้างความชุ่มชื้นปลูกป่าขยายพื้นที่ต้นไม้ เริ่มจากมีริมห้วยก่อนที่จะให้มีการกักเก็บน้ำเพื่อที่ให้น้ำมันแผ่ สร้างความมั่นคงจุดที่เรามั่นคงก่อนและจึงค่อยๆขยายผล เช่นเดียวกันเราต้องเริ่มจากจุดที่เป็นจุดแข็งของการเริ่มต้นและก็มีคนที่จะร่วมมือกับเราเข้าใจเราได้คุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะฉะนั้นในการที่เราวางจุดไว้ที่สตูลนั้นก็เพื่อที่จะเอานี่เป็นฐานก็ค่อยขยายผลออกไป 

รากแก้ว : ที่จังหวัดตากอยู่อำเภออะไรครับ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : อยู่อำเภอแม่สอดใกล้ๆชายแดน ไปอยู่ที่ค่อนข้างมีปัญหาแต่เราเชื่อว่าในอนาคตของพม่าจะมีความขัดแย้งยิ่งกว่ากำพูชา ยิ่งถ้ากระแสของพม่าไปสู่กระแสของประชาธิปไตยหลังจากที่ถูกปลดถูกบีบมานาน เรื่องสิทธิมนุษยชนเรื่องการเรียกร้องความเป็นอิสระของชนเผ่าของคนหลายกลุ่มในประเทศที่ของเขา การเรียกร้องเอกราชการที่จะแยกตัวออกมาเป็นประเทศใหม่ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นความขัดแย้งภายในของเขาที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศของเรา ในขณะเดียวกันเรามองเห็นว่าพม่าเป็นแหล่งของปัญหาหลายปัญหาเรากับเขา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานเถื่อน ยาเสพติด การค้าของเถื่อน เพราะฉะนั้นถ้าหากเราไปทำโพธิวิชชาลัยแล้วสร้างความพร้อมของเยาวชนในริมตะเข็บตรงนี้มีฐานข้อมูลจากการค้นคว้าวิจัยให้โพธิวิชชาลัยเป็นศูนย์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ สามารถที่จะเอาข้อมูลไปสู่การกำหนดจุดยุทธศาสตร์ของจังหวัดได้ในการกำหนดทิศทาง เราเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสร้างคนด้วย การศึกษาก็เป็นประโยชน์ในเรื่องของความมั่นคงชายแดน

รากแก้ว : สมมติว่าวันนี้ผมมีงบประมาณให้อาจารย์งบประมาณอาจจะมาจากองค์กรเอกชนหรือองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ให้อาจารย์ไปเปิดเป็นคณะในหนึ่งจุด จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ครับ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : ถ้าให้เลือกสถานที่สมมติว่าถามผมหลังจากที่สัมผัสทั้งหมดแล้ว ผมเลือกพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้เอาเรื่องพื้นที่ก่อน ผมเห็นสิ่งที่เป็นเรื่องของความมั่นคงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราอยากจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าพี่น้องอิสลาม พี่น้องมุสลิมได้ประโยชน์จากการศึกษาจากรัฐไทย ถ้าให้เลือกอยากจะทำ ๓ จังหวัดภาคใต้ติดชายแดนตรงนี้และถ้าเป็นเรื่องของการใช้งบ งบมันมาที่หลังทั้งนั้นไม่ว่าจะไปทำที่ไหนถ้าคนไม่เข้าใจแล้วเอาเงินลงไปไม่เหมาะ

รากแก้ว : สมมุติว่ามีคนเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้อยากจะสนับสนุนให้เปิดขึ้นมาอีก ๒๐ จุดเรามีความพร้อมซักกี่จุดที่จะเปิดในปีหน้า ไม่ติดเรื่องเงิน
อ.อำนาจ เย็นสบาย : ถ้าจะเลือกผมจะเลือกในความหมายว่าทำแล้วสามารถที่จะสะท้อนลักษณะกลุ่มของพื้นที่ได้ อย่างเช่น ถ้าทำที่สระแก้วก็หวังว่าอีสานตอนล่างและเชื่อมโยงบนชาติพันธ์ุ ภาษา วัฒนธรรมมันจะเป็นแบบที่กระทบต่อเชิงภูมิภาคได้ หรือถ้าทำที่น่านก็หวังว่าเป็นแบบของภาคเหนืออย่างนี้เป็นต้น หวังว่าไปถอดบทเรียนแรกเปลี่ยนกันได้ เพราะฉะนั้นถ้าทำขยายผมว่าต้องหาข้อมูลมากกว่าที่ผมพูดคนเดียวพูดในเชิงยุทธศาสตร์

รากแก้ว : อย่างที่สระแก้วใช้ไปประมาณเท่าไหร่
อ.อำนาจ เย็นสบาย : ประมาณ ๑๕๐ ล้าน

รากแก้ว : ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนใช่ไหมครับ

อ.อำนาจ เย็นสบาย : ๑๕๐ ล้านเป็นเรื่องของการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น ห้องเรียน คือเราไม่ได้เน้นเรื่องสร้างอะไรใหญ่โตและสิ่งที่กำลังจะสร้างมาที่เกิดขึ้นตามมาประมาณ ๑๕๐ ล้านต่อจุด ที่สระแก้วเริ่มจากไม่มีอะไรแต่ถ้ารวมจะไปครบอีก ๒ ปีข้างหน้า รวมแล้วประมาณ ๑๕๐ ล้าน

รากแก้ว : กว่าจะถึง ๔ ปี ประมาณ ๖๐๐ ล้าน
อ.อำนาจ เย็นสบาย : ไม่ครับ ทั้งหมด ๑๕๐ ล้าน สร้างได้

รากแก้ว : ๑๕๐ ล้านนี่ ผลิตบัณฑิตได้ ๕๐ คนปีแรก

อ.อำนาจ เย็นสบาย : บัณฑิตนี่เราไม่เน้นในเรื่องของการไปเอาเงินจากรัฐบาล เราอยากเห็นการผลิตบัณฑิตเพราะขณะนี้ที่ตากก็ใช้วิธีระดมทุน จากคนที่เสียสละให้ทุนการศึกษาเพื่อการให้เด็กที่เรียนตรงนี้ได้เรียนทุนฟรีโดยไม่มีข้อผูกพัน ว่าเขาจะต้องชดใช้

รากแก้ว : ค่าอาหารของนักเรียนล่ะครับ
อ.อำนาจ เย็นสบาย : วันพรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปจังหวัดตากเพื่อไปคุยกับผู้ว่า เพราะผู้ว่ากำลังขอนัดพบคุยว่าจะของบประมาณจากอบต.แต่ละอบต.ให้กับผู้ได้รับทุน ทุนที่จะได้จากอบต.เป็นทุนประมาณ หกหมื่นห้าต่อคนต่อไป โดยเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าหน่วยกิต ค่าอาหาร เรื่องการจัดการศึกษา ค่าหอพัก รวมอยู่ในนี้ทั้งหมดค่าใช้จ่ายส่วนตัวแบบไม่ฟุ้งเฟ้อจำนวนหนึ่งอยู่ในประมาณหกหมื่นห้า ซึ่งตรงนี้ก็คือเรามาจากส่วนหนึ่งจากอบต. แล้วแต่ว่าเขาจะมีงบสนับสนุนยังไงส่วนหนึ่งก็คือเราจะขอธุรกิจภาคเอกชนที่จะเข้ามาขณะอยู่ในช่วงการประสานงานในพื้นที่

รากแก้ว : ชื่อโพธิวิชชาลัยเป็นชื่อพระราชทานใช่ไหมครับ
อ.อำนาจ เย็นสบาย : ไม่ได้เป็นชื่อพระราชทานแต่ถามว่าแนวคิด โพธิวิชชาลัยอันที่จริงก็มาจากพระมหาชนกพอเราพูดถึงตั้งแต่คนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า จนกระทั่งถึงเสนาบดีสุดท้ายก็คือตัดต้นมะม่วงก็เห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าและก็หายนะกันไป เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันที่สมควรแล้วมันก็ควรจะมีสถาบันการศึกษาในนั้นเขาเรียกมหาวิชชาลัยปูทะเลหรือมหาวิชชาลัยโพธิวิชชาลัยอยู่ในนั้น เราก็ถอดความมาเป็นโพธิวิชชาลัย โดยจริงๆก็คือวิชาเป็นทั้งความรู้และเป็นทั้งคุณธรรมจึงใช้ ช.ช้างสองตัว ถ้าเป็นวิชาตัวเดียวก็หมายถึงความรู้ที่มีไว้สำหรับประกอบอาชีพธรรมดา เพราะงั้นเราบอกว่าวิชารัฐศาสตร์ วิชาการเกษตร วิชาอื่นๆนั่นเป็นวิชาไว้ทำอาชีพ ถ้าช.ช้างสองตัวมันก็จะหมายถึงจริยธรรม คุณธรรมไม่เกี่ยวกับศาสนาไหนเอามาใช้ได้ทั้งนั้น ก็คือความรู้กับเรื่องคุณธรรมก็มาเกี่ยวข้องกัน โดยรากศัพท์

หมายเลขบันทึก: 542507เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2013 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นบทความที่มีคุณค่ามาก

ผมพบอาจารย์อำนาจสมัยเรียน มศว ประสานมิตร

ความรู้คู่คุณธรรมนะคะ...ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์ค่ะ

ความดี ความถูกต้อง มีค่าต่อสังคมมาก แต่หลายคนกลับไปมอง "ความชั่วร้า่ย ความไม่ถูกต้อง เป็นความชอบธรรมในสังคม"

สวัสดีค่ะอาจารย์

คุณยายขอมาศึกษาหาความรู้ด้วยคนนะคะ

อยากอ่านเรื่องที่พี่เขียนอีกครับ

ชอบใจๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท