สุข ๘ จาก ๘ ผลงานของ ๘ กัลยาณมิตร (ตอนอวสาน)


การอ่านในชุมชน GotoKnow ของเราในระยะหลังๆ ดูจะออกไปทาง รีบอ่าน รีบให้ดอกไม้ รีบให้ความเห็น แล้วก็รีบไปอ่านเรื่องอื่นๆ ต่อ ทำให้ผู้เขียนเกรงว่า การอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพวกเรา จะทำให้แต่ละท่านได้รับ “ประโยชน์สุข” น้อยกว่าที่น่าจะได้รับ

ก่อนที่จะ “ถอดบทเรียนการจัดการความสุข” จากบันทึกของกัลยาณมิตรอีก ๔ ท่านต่อจาก บันทึกของกัลยาณมิตร ๔ ท่านที่ได้ถอดบทเรียนฯ ไปแล้ว (ในบันทึกตอนที่ ๑ http://www.gotoknow.org/posts/540899) ผู้เขียนขออนุญาตตั้งข้อสังเกตด้วยความเคารพ ว่า  การอ่านในชุมชน GotoKnow ของเราในระยะหลังๆ ดูจะออกไปทาง รีบอ่าน รีบให้ดอกไม้ รีบให้ความเห็น แล้วก็รีบไปอ่านเรื่องอื่นๆ ต่อ ทำให้ผู้เขียนเกรงว่า การอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพวกเรา จะทำให้แต่ละท่านได้รับ “ประโยชน์สุข” น้อยกว่าที่น่าจะได้รับ

๕) Theme “Happy Heart : สุขใจ” เลือกบันทึกของ “คุณอักขณิช” ที่ลงประมาณ ๒ ปีที่แล้ว เรื่อง “ที่รัก.....อย่าร้องไห้” (http://www.gotoknow.org/posts/450664)

ภาพของ "สุขใจ : Happy Heart" นั้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ในเรื่องเล่าของคุณอักขณิช เรื่อง “ที่รัก…อย่าร้องไห้” ที่อ่านแล้วประเทืองอารมณ์ราวกับได้ดูละครแนวดรามาตอน “คุณชายรณพีร์”...เป็นเรื่องเล่าที่มีทั้งบทพูดของตัวละครหลักในเรื่อง คือ “คุณอักขณิช” และ “คุณพิกุล” ผู้เป็นภรรยา มีการบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด บรรยายถึงการแสดงออกของคุณอักขณิชต่อศรีภริยา และให้แนวคิดการอยู่ร่วมกันในครอบครัว จึงเป็นบันทึกที่ยาวมาก ...ผู้เขียนได้พยายามสรุปส่วนของการบรรยายให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนบทพูดและการแสดงแนวคิด นั้น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ จึงได้ยกมาให้เห็นเป็นส่วนใหญ่

คุณอักขณิชได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับภรรยา สรุปความได้ว่า คุณพิกุลได้ขายผลิตภัณฑ์เคลือบเงารถยนต์ ให้กับลูกค้าในหมู่บ้าน พอลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป พบว่ามีคราบเล็กๆ สีขาวเกาะอยู่ที่รถเต็มไปหมด ลูกค้าเชื่อว่า คราบดังกล่าวน่าจะเกิดจากน้ำยาเคลือบรถ จึงแจ้งให้คุณพิกุลทราบและเร่งรัดให้เธอรีบไปจัดการแก้ปัญหาให้ ก่อนที่สามีของเธอจะทราบเรื่อง ทำให้คุณพิกุลเครียดมาก จากคำแนะนำของคุณอักขณิช เธอจึงได้บอกกับลูกค้าว่า ขอเวลาปรึกษาและสอบถามวิธีแก้ปัญหาจากหลายๆ คนก่อน ในช่วงเวลาดังกล่าว คุณอักขณิชได้หาทางลดความเครียดของภรรยา ทั้งด้วยวาจาและการแสดงออกผ่านภาษากาย ดังบทสนทนาต่อไปนี้ (...ขณะที่อ่าน ท่านอาจเคลิ้มไปว่า คุณชายรณพีร์ กำลังปลอบประโลม "เพียงขวัญ")

"มานี่ซิ! จะกอดให้หายเหน็บหนาว” ผมกล่าวขึ้น เมื่อเธอเดินมาถึง ผมก็รีบโอบกอดเธอไว้ ส่วนเธอก็เอาใบหน้าซบที่ไหล่ซ้ายของผม ประดุจดั่งเด็กน้อยคนหนึ่งที่กำลังขวัญเสีย และต้องการการปลอบโยนจากบิดาของเธอ ผมเอามือขวา (...แสดงว่า ถนัดขวาเนาะ) ลูบที่ศีรษะของเธอไปมาเบาๆ พร้อมกับพูดกับเธอว่า “ที่รัก.....อย่างร้องไห้นะเข้มแข็งและอดทนเอาไว้ ผมจะอยู่เคียงข้างคุณตลอดเวลา เรายังมีกันและกันนะ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเราจะต้องฟันฝ่าปัญหาไปด้วยกันให้ได้”

คุณอักขณิชเล่าว่า ผมกับภรรยาแต่งงานกันมาแล้ว ๑๐ ปี ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขและเต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น ตามวิถีทางที่เราทั้งสองคนได้เลือกที่จะเดินไปด้วยกันตลอดชั่วชีวิต ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ต่อกัน...ผมใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาในหลายๆ มุมมองหรือหลายฐานะด้วยกัน นอกจากเธอจะมีฐานะเป็นภรรยาที่แสนดีและน่ารักของผมแล้ว บางครั้งเธอก็มีฐานะเป็นเพื่อนหรือ กัลยาณมิตร ที่มีความเข้าใจและห่วงใยผมอยู่ตลอดเวลา ...แต่ในขณะนี้ผมกลับมองเห็นเธอเป็นเพียงลูกสาวคนสุดท้องของผม ซึ่งผมจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ปลอบโยน ให้กำลังใจและยืนอยู่เคียงข้าง เพื่อช่วยประคองให้เธอมีความเข้มแข็ง ไม่หกล้ม และมีกำลังใจในการที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเชื่อมั่น”

และแล้วในที่สุด เรื่องก็จบลงแบบ "Happy Ending" เหมือนกับ "ละครชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพ" ทุกตอน กล่าวคือ ในวันหนึ่งคุณพิกุลได้โทรฯ บอกคุณอักขณิชว่า คราบที่เกิดขึ้นกับรถนั้น เกิดจากสามีของลูกค้านำสีสเปรย์ไปพ่นตะแกรงเหล็กใกล้ๆ รถยนต์คันนั้น แล้วละอองสีก็ปลิวไปติดที่รถยนต์แต่เขายังไม่ได้เอาไปแก้ไข คุณอักขณิชเล่าว่า "ค่ำวันนั้น เมื่อภรรยาของผมกลับมาถึงบ้าน เธอก็รีบโผเข้ามากอดผมเอาไว้แน่นอย่างมีความสุขและสบายใจที่สุด...ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ที่คอยให้กำลังใจ เอาใจช่วยและอยู่เคียงข้างเสมอมา...เธอบอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ...ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ เราทั้งสองคือคนๆ เดียวกันนะ มีปัญหาอะไรก็ต้องช่วยกันแก้ไข หากเรามีกันและกันอยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถที่จะก้าวผ่านอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้เสมอ...ผมบอกกับเธอ พร้อมทั้งเอามือขวา (ยืนยันว่า ถนัดขวาแน่นอน) ลูบไปที่ศีรษะของเธออย่างทะนุถนอม...อืม! มีสามีที่อายุมากกว่า (๖ ปี) ก็ดีอย่างนี้เองเนาะ คิคิคิ...เธอพูดพร้อมกับหัวเราะออกมาอย่างมีความสุข ในขณะที่ผมเองก็พลอยยิ้มและหัวเราะไปด้วยอย่างสุขใจ

คุณอักขณิช ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ในยามที่เราเหนื่อยล้า อ่อนแอ หรือมีความทุกข์ สถานที่แห่งแรกที่เราคิดถึงและอยากจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นให้มากและนานที่สุด ก็คือ บ้านหรือครอบครัวของเราเอง บ้านหรือครอบครัวจะมีความสุขและอบอุ่นหรือไม่นั้น ก็ย่อมขึ้นอยู่ที่ตัวของผู้ที่อยู่อาศัยเอง ว่า ต้องการจะให้เป็นไปอย่างไร หากเราทำตนให้เป็นเทพบุตรหรือเทพธิดาอยู่ตลอดเวลา บ้านหรือครอบครัวของเราก็จะกลายเป็นวิมานและ โลกที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คือสรวงสวรรค์"

ข้อคิดที่คุณอักขณิชทิ้งท้ายไว้นี่แหละนะคะ คือ ประโยชน์ที่ผู้เขียนจะได้รับ ถ้าได้มีนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตครอบครัวที่ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ซึ่งถ้าหากสองตายายจะเปลี่ยนบทบาทจาก "เทพอสูรและนางยักษ์" ไปเป็น "เทพบุตรและเทพธิดา" ฟาร์มไอดินฯ ก็จะกลายเป็นเทพวิมานขึ้นมาในทันที ส่วนความสุขที่ได้รับ ก็คือ ความสุขจากการอ่าน ซึ่งผู้เขียนอ่านเรื่องเล่าของคุณอักขณิชเรื่องนี้ ด้วยความเพลิดเพลินราวกับได้อ่านนิยายรักผลงานของนักเขียนปลายปากกาอาบน้ำผึ้ง และความสุขจากมุทิตาจิตที่พลอยยินดีในความรักความอบอุ่นของครอบครัว ที่มีหนุ่มจากดินแดนที่ราบสูงเป็นผู้เล่าเรื่อง

(ขอกระเซ้าคุณอักขณิชในฐานะของคนคุ้นเคยเหมือนญาติด้วยนะคะ ว่า บวชเรียนมาถึง ๑๘ ปี แล้วคุณอักขณิชเอาเวลาช่วงไหนไปสร้างสมบ่มเพาะ ความโรแมนติค และอบอุ่นอ่อนโยน เช่นนี้คะ)

) Theme “Happy Soul : สุขจิตวิญญาณ” เลือกบันทึกของ “คุณตันติราพันธ์” ที่ลงประมาณ ๒ เดือนที่แล้ว เรื่อง “เปลี่ยนโลก” (http://www.gotoknow.org/posts/534014)

จากข้อความในประวัติของ “คุณตันติราพันธ์” ที่ระบุว่า ท่าน “สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ปฏิบัติธรรมทุกวัน และส่งความปรารถนาดีไปทั่วอนันตจักรวาล อยากให้โลกเกิดสันติสุขมากๆ” ผู้เขียนจึงพิจารณาเห็นว่า มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ที่จะนำบันทึกของ “คุณตันติราพันธ์” ไปถอดบทเรียนใน Theme “Happy Soul : สุขจิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นความสุขจากความศรัทธาในศาสนาและหลักศีลธรรม

ผู้เขียนยอมรับว่า ตนเองไม่เคยอ่านงานเขียนของ “คุณตันติราพันธ์” มาก่อน ทั้งที่ท่านเป็นสมาชิก GotoKnow มาถึง 6 ปี และเขียนบันทึกมากว่า ๘๐๐ เรื่อง (แต่ผู้เขียนเป็นสมาชิกแค่สองปีสามเดือน) เรื่องแรกที่ได้เข้าไปอ่านก็คือ เรื่อง "เปลี่ยนโลก" นี่แหละค่ะ ที่คลิกเข้าไปอ่านด้วยความสงสัยว่า "คุณตันติราพันธ์" จะเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างไร และก็ได้คำตอบ ดังนี้ค่ะ (ยกเนื้อหาในบันทึกมาทั้งหมด เพราะมีความยาวตรงกันข้ามกับบันทึกของคุณอักขณิช แต่ขออนุญาต “คุณตันติราพันธ์” ในการนำบทกวีแต่ละวรรค ไปพิมพ์โดยแบ่งเป็น ๓ วรรคย่อย เพื่อให้ความสะดวกกับท่านผู้อ่าน ที่จะได้ไม่ต้องแบ่งวรรคตอนเองขณะอ่าน เพราะอาจสะดุดทำให้ความไพเราะของบทกวีเสียไป)

                                            เป็นโลกที่ มีแต่ สุขสมหวัง        ไม่ต้องนั่ง อธิษฐาน ประการไหน

                                         เพียงจรด จิตมั่น พลันสมใจ         เป็นโลกใหม่ ก้าวหน้า กว่าที่เป็น

                                            ให้กาลนั้น มาถึงซึ่ง สมหมาย    ทุกดวงใจ ผุดผ่อง ดั่งมองเห็น

                                        แยกดีชั่ว ตัวหลง ตรงประเด็น        เลิกก่อเวร ต่อกัน พลันสิ้นไป

                                             ให้สำนึก ถึงแต่ แผ่ความดี         จนโลกนี้ สีชมพู ดูสดใส

                                          รวมพลัง กลั่นสุข ทุกดวงใจ          โอบโลกา เอาไว้ ให้เนิ่นนาน

                                             มาเริ่มต้น ขวนขวาย ในวันนี้      จุดหมายมี เบื้องหน้า ผู้กล้าหาญ

                                          อย่าให้ความ อึดอัด มาทัดทาน     เปลี่ยนโลกเมื่อ วันวาน กันเสียที

ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบอ่านบทร้อยกรอง จึงมีความสุขมากขณะอ่านบทกวีที่ไพเราะของ “คุณตันติราพันธ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพบว่า บทกวีนี้ช่างตรงกับความปรารถนาของตนเองเสียนี่กระไร และด้วยความรู้สึกประทับใจ จึงได้แสดงความเห็นไว้ในบันทึกว่า เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่มากนะคะ อยากจะเห็นโลกดังที่คุณตันติราพันธ์ประพันธ์ไว้จริงๆ ค่ะ และเป็นบทกวีที่ ทั้งแนวคิด ภาษาที่ใช้ และลำดับการนำเสนอยอดเยี่ยม อ่านแล้วจับใจจริงๆ ค่ะ” อ่านบันทึกเรื่องนี้ นอกจากผู้เขียนจะได้รับความสุขใจจากสุนทรีรสและอรรถรสของบทกวีแล้ว ผู้เขียนยังได้รับประโยชน์ จากการได้รู้จักกัลยาณมิตร GotoKnow ที่มีความปรารถนาตรงกับตนเอง ต่างกันตรงที่ ท่านสามารถใช้บทกวีในการกระตุ้นจิตสำนึก ให้ผู้อ่านอยากร่วมตั้งความปรารถนา เปลี่ยนโลกในปัจจุบันที่เต็มไปความยุ่งแหยิง สร้างโลกใหม่ที่สันติสุขและสวยงาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเองตามแนวทางที่ “คุณตันติราพันธ์” ได้วางเอาไว้

ภาพประกอบเรื่อง ภาพขวาสุดได้จากบันทึกของ "คุณอักขณิช" ที่ "คุณตันติราพันธ์" ได้นำของฝากไปมอบให้ ในโอกาสที่คุณอักขณิชเดินทางไปทัศนศึกษา ผ่านจังหวัดชลบุรี "ดร.โอ๋-อโณ " ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร ที่เขียนบันทึกแนะนำแหล่งเรียนรู้ดีๆ ให้กับชุมชน GotoKnow เสมอๆ และได้ให้ความช่วยเหลือผู้เขียนในการจัดการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาผ่าน GotoKnow มาหลายครั้ง ได้กล่าวในบันทึกของคุณอักขณิชว่า “พี่รุ่ง (คุณตันติราพันธ์) น่ารักค่ะ ขอยืนยัน พบกันครั้งเดียว แต่ยังจำความรู้สึกอบอุ่นที่เธอเผื่อแผ่มาถึงเราได้เป็นอย่างดี รู้สึกว่าเธอมีรังสีแห่งความเมตตาที่เรารู้สึกได้เลย เรียกว่าเป็นผู้อิ่มบุญตัวจริงเลยค่ะ ดีใจแทนน้องเพลินด้วยที่ได้พบพี่รุ่งตัวเป็นๆ ขอบคุณ GotoKnow ที่สร้างครอบครัวเครือญาติอันแสนอบอุ่นให้เรานะคะ”

สำหรับ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ของผู้เขียนนั้น ได้มีส่วนจรรโลงศาสนา ดังที่ได้อธิบายไว้ในภาพล่าง

 

ผู้เขียนยอมรับว่า ตนเองได้ปฏิบัติธรรมที่เป็นพิธีกรรมน้อยมาก (ต่างจากลูกสาวของผู้เขียนที่ปฏิบัติธรรมทุกวัน) ...สิ่งที่ผู้เขียนทำเป็นปกติ ก็คือ การนำหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตเสมอมา

๗) Theme “Happy Brain : สุขปัญญา” เลือกบันทึกของ “คุณลูกหมูเต้นระบำ” ที่ลงประมาณ ๒ เดือนที่แล้ว  เรื่อง “HAI ดอก SHA (ให้ดอกชา) บาน” (http://www.gotoknow.org/posts/534939)

“สุขปัญญา : Happy Brain” คือ ความสุขของผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity) ซึ่งกระหายใคร่เรียนรู้ และมีความสุขจากการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลต่างๆ เพื่อการต่อยอดทางปัญญา ผู้เขียนเลือก “คุณลูกหมูฯ” เป็นตัวอย่างของผู้ที่มี “สุขปัญญา” โดยดูจากประวัติของท่านที่ได้เขียนวาทะของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” (วาทะที่ ๒) ซึ่งแปลได้ว่า “การศึกษาไม่ใช่การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ข้อเท็จจริง แต่เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด” (ส่วนวาทะที่ ๑ ที่ไอน์สไตน์ กล่าวว่า ตนเองไม่ใช่ผู้ที่มีความสามารถพิเศษแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ที่มีความกระหายใคร่เรียนรู้อย่างแรงกล้าเท่านั้น เป็นวาทะที่ผู้เขียนเคยนำไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ได้กำหนดให้ "ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน" เป็นอัตลักษณ์สำคัญของนักศึกษา 

และวาทะของท่าน “ดาไล ลามะ” ความว่า "การเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ หรือ ชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น สามารถเกิดได้ทุกที่ เพราะว่าโลกแห่งการเรียนรู้ไม่เคยที่จะปิดสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษา เมื่อทุกคนเตรียมพร้อมจงออกเดินทางและตามหา ถึงแม้จะก้าวย่างหรือยากเพียงไร เหนืออื่นใด พลังความรู้ที่แท้จริงนั้นมาจากการลงมือทำ......"

"คุณลูกหมูฯ" ใช่จะเพียงเขียนไว้ให้ตนเองดูดีในสายตาของผู้อ่าน แต่ท่านได้แสดงออกถึงความเป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียนจริงๆ ในสิ่งที่ท่านแสดงออกเวลาเข้าร่วมประชุมสัมมนา ต่างจากลูกศิษย์ของผู้เขียน  ที่เเมื่อให้เขียน “คติ” ที่ตนเองยึดถือปฏิบัติจริงๆ ในการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่ก็จะระบุว่ายึดคติ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แต่แล้วก็ไม่ได้แสดงออกถึงความพยายามให้อาจารย์เห็น รองลงมาบอกว่าตนยึดคติ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” แต่กลับไม่ส่งงานตามที่ได้รับมอบหมาย หรือไม่ก็ขาดเรียนบ่อย

บันทึกของ "คุณลูกหมูฯ" ที่ผู้เขียนนำมาถอดบทเรียนมีชื่อว่า “HAI ดอก SHA (ให้ดอกชา) บาน” ซึ่งเลือกมาด้วยความสงสัยใคร่รู้ ว่า ชื่อดังกล่าวหมายถึงอะไร เพราะตนเองก็เป็นคนที่ช่างสงสัยและกระหายใคร่เรียนรู้มากเช่นกัน เวลาเห็นอะไรที่ไม่รู้ จะพยายามหาคำตอบจนได้ อย่างเช่น เมื่อไปงานเลี้ยงแล้วสังเกตเห็นตัวอักษร “VOP” และ “VSOP” ที่ข้างขวดเหล้าซึ่งวางบนโต๊ะในงานเลี้ยง ก็ได้กลับไปถามเพื่อนสนิทที่จบปริญญาเอกด้านการอ่านภาษาอังกฤษ จากอเมริกา และดื่มเหล้าพวกนั้นด้วย แต่เขาบอกว่าไม่เคยสังเกตเห็น และไม่ทราบว่าย่อมาจากคำว่าอะไร ...ตอนหลัง ผู้เขียนได้ตามหาเองจนได้คำตอบแล้ว

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อความในบันทึกของ "คุณลูกหมูฯ" โดยตัดตอนมาเฉพาะที่ตนเองเห็นว่าสำคัญ ดังนี้ นะคะ " ๒-๔ พค. ๕๖ พวกเราได้เข้าร่วมประชุมและร่วมในการแบ่งปัน ภายใต้การทำงาน สรพ (HAI) ... ช่วงนี้ ผมขอเล่าเรื่องราวที่บอกว่าการเรียนรู้ในกิจกรรมที่แสนเพลิน...บางครั้งมานั่งคิดแบบโดเรม่อนเจ้าปัญหา ถ้าไม่มาเราคงไม่รู้เลยว่ามีที่สวยๆ แบบนี้ด้วย...ยิ่งอ่านประวัติแต่ละที่ที่เขาบรรยายแล้ว ยิ่งทำให้ผมตั้งคำถามใหม่ "คิดได้ไง"...ที่แรก พิพิธภัณฑ์ภาพสามมิติ พัทยา ที่นี่เวลาเข้าไปต้องบอกว่าเราหลุดเข้าไปในอีก ๑ ดินแดน คือดินแดนภาพสามมิติ ทุกอย่างล้วนถ่ายภาพออกมาราวกับว่ามันมีชีวิต ภาพศิลปะแต่ละอย่างช่างเป็นการเอาศิลปะมาเป็นสินค้าขายได้ ขายอย่างไรครับ คือการที่เราสามารถถ่ายรูปกับมันได้อย่างมีความสุขครับ ผมลองมาอ่านประวัติผมทึ่งครับ แนวคิดของที่นี่เป็นของคนเกาหลี ที่พยายามเสนอสิ่งแปลกใหม่ออกมา เอาผับหรือบาร์ที่เป็นเจ้าของเดิมมาปรับเป็นที่ภาพวาด ๓ มิติพร้อมทั้งสร้างรายได้มหาศาลเชียวครับ...นี่คือสินค้าของ Art in Paradise ครับ"

และ "คุณลูกหมูฯ" ได้กล่าวถึงหัวเรื่องการประชุมว่า "...หัวข้อนี้คือ กระบวนการที่เราเรียกว่า ผู้ก่อตั้ง สรพ. (สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล องค์การมหาชน) ได้มาเล่าเรื่องราวที่ก่อตั้งล้มลุกคลุกคลานแสนยากลำบากมาขนาดไหน ...คนที่ดำเนินกระบวนการที่ทำเอาผมตะลึงในความสามารถ และการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อการแลกเปลี่ยนตลอดเวลาทั้งวัน และเอาเรื่องต่างๆ มาเล่าให้เราฟังคือ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะกรรมการ สรพ. ...อาจารย์ได้อธิบายให้เราฟังถึงความสำคัญค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรมีความสำคัญอย่างไร จากการอธิบายดังกล่าวผมนิ่งและคิดตามเยอะมาก เพราะหลายอย่างผมคิดว่ามีความสำคัญเอามากๆ ผมรีบหยิบมือถือมาเขียนบันทึกและแชร์ผ่าน facebook ทันที เนื่องมาจากความรู้ความดีความงามนั่นเหมาะแก่การเผยแพร่..." (คำ/ข้อความสีน้ำเงินที่พิมพ์ตัวเอนทั้งหมด แสดงถึงความเป็นคนตื่นตัว กระหายใคร่เรียนรู้ และมีความสุขจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อต่อยอดทางปัญญา ของคุณลูกหมูฯ)

ประโยชน์ที่ผู้เขียนได้รับจากการอ่านบันทึกของ "คุณลูกหมูฯ" คือ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "สรพ." การสร้างค่านิยมองค์กร และได้คำตอบเพื่อตอบข้อสงสัยว่า ชื่อเรื่อง “HAI ดอก SHA (ให้ดอกชา) บาน” หมายถึงอะไร ซึ่งกว่าจะได้คำตอบก็ต้องต่อจิ๊กซอหลังจากตามไปอ่านบันทึกอีกหลายเรื่องของ "คุณลูกหมูฯ"  (ช่างมีเทคนิคกระตุ้นการมีส่วนร่วมเหลือเกินนะคะ คุณลูกหมูฯ )  เช่น บันทึกเรื่อง "วันแรก...ของการปลูกต้น SHA" ได้คำตอบว่า "SHA" มาจากคำว่า "Spiritual in Health Care & Appreciate" หมายถึง "การให้บริการที่มีระบบงานที่เอื้อเฟื้อและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" และจากบันทึกนี้ ทำให้ได้รู้ว่า "HAI" หมายถึง "สรพ. " แต่ไม่มีบันทึกไหนให้คำตอบว่า "HAI" ย่อมาจากอะไร ผู้เขียนต้องไปสืบค้นจาก  "Google" ถึงได้คำตอบว่า "HAI" เป็นอักษรย่อของคำเต็มว่า "Healthcare Accrediation Institute" แปลว่า "สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล" และความสุขที่ได้รับก็คือ "สุขปัญญา" ที่ผู้เขียนได้รับจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในบันทึกของ "คุณลูกหมูฯ" และการถูกกระตุ้นให้เข้าไปสืบค้นเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "Art in Paradise" ที่พัทยา 

๘)  Theme “Happy Relax : สุขผ่อนคลาย” เลือกบันทึกของ “คุณหนูรี” ที่ลงประมาณ ๖ เดือนที่แล้ว     เรื่อง “พื้นที่ความสุขของแม่ : ตอน.ผักที่แม่ปลูก” (http://www.gotoknow.org/posts/506226 )

กัลยาณมิตรอาจจะแปลกใจว่า ทำไมผู้เขียนจึงเลือกกิจกรรม "การปลูกผัก" เข้าใน Theme “Happy Relax : สุขผ่อนคลาย” เพราะการปลูกผักน่าจะเป็นการทำงาน และบางท่านอาจจะมองว่าเป็นงานหนักด้วยซ้ำไป แล้วจะผ่อนคลายได้อย่างไร ผู้เขียนขอชี้แจงว่า กิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายของคนทั่วไป อาจจะเป็นการพักผ่อนในสิ่งแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์  แต่ "การปลูกผัก การจัดสวน และการปลูกต้นไม้ เป็นกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายของผู้เขียน เมื่อเกิดภาวะความเครียดทางกาย จิตใจและสมอง จากการนั่งนานๆ หลายชั่วโมงเพื่อเตรียมการสอน ผลิตสื่อ และตรวจงาน ฯลฯ ที่บ้านทุกวันแบบไม่มีวันหยุด" อนึ่ง กิจกรรมในสวนผักของ "คุณแม่ของคุณหนูรี" ก็ดูจะเป็นการผ่อนคลายทั้งทางกายและทางใจของท่านเช่นกัน ลองพิจารณาจากเรื่องเล่าของคุณหนูรี ที่ตัดตอนมาข้างล่าง นะคะ

ทุกๆ วัน : ตอนเช้าหลังจากที่แม่หุงข้าวตักบาตรเสร็จ ก็จะรับประทานอาหารเช้า จากนั้นแม่จะเปลี่ยนเสื้อผ้า (ชุดทำงานยูนิฟอร์ม อิอิ) แม่จะไปที่แปลงผักหลังบ้านบ้างหน้าบ้านบ้าง... แม่จะทำสวนผักของแม่ตั้งแต่เช้าจนสายแดดออกแม่ก็จะกลับเข้าบ้าน แล้วเย็นๆ แดดร่มลมตกก็ออกไปอีกครั้ง หากวันไหนฝนตกหนัก ออกไปที่แปลงผักไม่ได้ แม่มักจะบ่นเล็กๆ บอก ... "หม้ายไหรทำ ฝนตกทั้งวัน ขุดดิน ถากหญ้าก็ไม่ได้หมันติดจอบ นอนแลทรอทัดนาน มันก็เมื่อย "

แม่จะหยุดทำสวนในวันพระ ทุกวันพระแม่จะต้องจัดสำรับกับข้าวไปวัดเป็นประจำ นอกจากสำรับกับข้าวแล้ว ในตะกร้าของแม่ยังมีพืชผักนานาชนิด ผักเหล่านี้นั้นเหลือกินก็นำไปขายในราคาไม่แพง ห้าบาทสิบบาท ...หากวันไหนวันพระแม่จะเอาไปขายที่วัด วันอื่นๆ ก็จะฝากขายที่ "ร้านค้าของชุมชน" ในหมู่บ้านของเรานั่นเอง ซึ่งผักอย่างถั่วฝักยาว ถั่วพู แตงกวาจะต้องเก็บทุกวัน ...กับความสุขของแม่ฉัน ในตำแหน่งชาวสวน...เพื่อสุขภาพคนปลูกค่ะ ให้ได้ออกกำลังกายบ้าง มีเหงื่อบ้าง ได้สุขภาพแล้วจะได้อารมณ์ดี แถมมีอาหารดีได้กินอีกด้วย... แม่นั้นไม่ค่อยชอบกินผัก แต่พักหลังมานี้ แม่กินผักได้มากขึ้นกว่าเดิม ต้องผัดหรือปรุงแบบนิ่มๆให้เคี้ยวง่ายๆ สุกพอดี สุขพอเพียง สุขพอดี อยู่ที่หัวใจ สุขพอเพียง จากรอบตัวเราเอง สุข ข.ไข่ ก็คล้ายกันกับ สุก ก.ไก่ หากปรุงให้สุกพอดี ก็จะอร่อยกลมกล่อม ทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัส ดั่งความสุขที่ปรุงได้จากมือเราเอง...

ความสุขที่ผู้เขียนได้รับ จากการอ่านบันทึกนี้ ก็คือ "สุขผ่อนคลาย" เพราะเป็นเรื่องเบาๆ อ่านสบายๆ อ่านแล้วมีความสุขที่ได้เห็นภาพอันงดงามของวิถีชีวิตแบบพอเพียง ที่อยู่อย่างสงบสุข และพลอยสุขใจไปกับคุณหนูรีด้วยที่มีคุณแม่น่ารักๆ ให้ได้เขียนถึง ส่วนประโยชน์ที่ได้รับ ก็คือ ได้เรียนรู้ภาษาถิ่นใต้ "หม้ายไหรทำ (ไม่มีอะไรทำ)...นอนแลทรอทัด (นอนดูโทรทัศน์)" นอกจากนั้น บันทึกนี้ยังสะกิดเตือนให้ผู้เขียน ไปเที่ยวตลาดนัดในเย็นวันจันทร์ที่ ๑ กรกฎาคม ทำให้ได้ไปเจอผักที่น้องดาอยากทราบว่า แต่ละท้องถิ่นเรียกว่า อะไร "ที่อุบลฯ เรียกว่าผักหนาม นะคะ น้องดา" (ผักที่มียอดอวบยาว กลางถาดในภาพล่างซ้าย)

หมายเลขบันทึก: 541362เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2013 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (43)


สวัสดีค่ะพี่ผศ.วิไล ...มาอ่านสุข ๘ จาก ๘ ผลงานของ ๘ กัลยาณมิตร ต่อค่ะ..มีความสุขนะคะ...ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วมีความสุขค่ะ อาจารย์แม่ ขอนำอริยบทของคนอารมณ์ดี รักครอบครัวมาให้ชมค่ะ


ผู้เขียนขออนุญาตตั้งข้อสังเกตด้วยความเคารพ ว่า  พฤติกรรมการอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน GotoKnow ของเรา ในระยะหลังๆ นี้ ดูจะออกจะไปทางรีบร้อนกันไปหน่อยหรือเปล่าคะ คือ รีบอ่าน รีบให้ดอกไม้ รีบให้ความเห็น แล้วก็รีบไปอ่านบันทึกเรื่องอื่นๆ ต่อ ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนเกรงว่า การอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพวกเรา จะไม่นำไปสู่ การได้รับ“ประโยชน์สุข” เท่าที่ควรจะเป็น"

เห๊นด้วยส่วนหนึ่งกับคุณพี่ไอดิน กลิ่นไม้ ในประเด็นนี้ครับ  ก็บันทึกใหม่มากันเยอะมาก บางบันทึกมี link โยงออกให้ตามไปอ่านอีก  หรืออีกส่วนหนึ่งเพราะเป็นบันทึกที่ตนเคยอ่านและให้ตวามเห็นไปแล้ว ไม่อยากฉายซ้ำ  และสุดท้ายอาจเป็นเพราะคุณพี่ถอดบทเรียนได้ครบตรงกับที่ตนนึกคิดอยู่แล้วจึงไม่มีความเห็นเพิ่มเติมน่ะครับ


สวัสดีครับท่านอาจารย์ รูปแบบการอ่าน การตอบบันทึกในโกทูโนดูท่า จะเปลี่ยนไปดั่งอาจารย์ตั้งข้อสังเกต ซึ่งผมว่าส่วนหนึ่งคงขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการอ่าน ซึ่งมีทั้งแวะมาสำรวจ แวะมาทักทาย หรือมาอ่านเพื่อใด้ความรู้ ประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือเพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนการแสดงความเห็น คนเขียนเก่าๆ ที่รู้จักก็ทักทายกันไป ส่วนผู้เขียนหน้าใหม่ก็อาจขอแค่สังเกตการณ์ไปก่อน ยังไงเสียการได้เข้ามาอ่าน เพียงแค่ผ่านตา ก็แสดงว่าบันทึกนั้นน่าสนใจครับ


สวัสดีครับ  ป้าวิ


ยอมรับว่าผมก็เป็นหนึ่งในผู้อ่านที่มีพฤติกรรมแบบนั้นนะครับ สาเหตุมาจาก "เวลา" ส่วนหนึ่ง(เพราะว่าผมไม่ได้มีเวลานั่งอยู่กับคอมฯ ทั้งวัน) อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากรูปแบบใหม่ของ G2K เองด้วย ที่หน้าแรกมีเรื่องราวแสดงหลากหลายเรื่องมาก แถมยังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วอีกต่างหาก เลยทำให้ผมต้องรีบอ่านตามไปด้วย    555


บันทึกชุดที่ 2 นี้  สีสันสวยงามมากๆ เลยนะครับ   ข้อความละเอียดขึ้นกว่าเดิม  อ่านแล้วลอยได้เลยนะครับ  555

ขอบคุณป้าวิมากๆ เลยครับผม

คุณมะเดื่อเองก็ต้องยอมรับว่า " อ่านไม่ทั่วถึง " เช่นกัน เพราะเวลาที่จะอยู่หน้าคอม ฯ น้อยนิด โดยเฉพาะ

วันทำงาน  ส่วนใหญ่ก็จะอ่าน และเขียนบันทึกช่วงค่ำ  แต่ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพมาแทรกซ้อน ทำให้ระยะ

หลัง ๆ นี้มีพฤติกรรมเป็นดังที่กล่าวเช่นเดียวกันจ้ะ

สวัสดีค่ะคุณไอดิน-กลิ่นไม้

 ขอขอบพระคุณค่ะที่กรุณานำบันทึก "เปลี่ยนโลก" มาถอดทั้งความสุข และประโยชน์อย่างมากมาย

ซึ่งดิฉันเองได้เขียนบทกวีนี้จากความปรารถนาจะให้เกิดโลกใหม่นี้จริงๆ

เหมือนโลกจินตนาการ ที่อาศัยความเบาสบาย แผ่แต่สิ่งดีๆออกไปรอบๆตัวก็คงช่วยให้บรรยากาศดีงามตามไปด้วย

แต่กระแสโลกก็แรงเสมอทำให้กระแสเหล่านี้บางครั้งก็ขาดช่วงไป

จึงต้องช่วยกันแผ่ ช่วยกันต่อนะคะ

  ดิฉันเองก็ได้มารู้จักกัลยาณมิตรในHappy Ba อย่างลึกซึ้งในคราวที่ได้ถอดบทเรียนค่ะ

จากที่เคยเลือกอ่าน อ่านผ่านๆ จับใจความไม่ละเอียด

แต่ในครั้งนี้ ขอบอกว่าอ่านหลายรอบมาก จึงทำให้ได้ข้อคิดเช่นเดียวกับที่คุณไอดิน-กลิ่นไม้ตั้งข้อสังเกต

ว่าเราจะรีบกันไปถึงไหน แต่ละบันทึกเขาเขียนด้วยใจ ดังนั้นบันทึกนั้นสื่อสารจากใจของทุกคน

ดิฉันจึงได้บอกไว้ว่า ตั้งใจอ่านบันทึกของท่านด้วยความเคารพค่ะ

   Happy Ba นะคะ


ขอบคุณ "กัลยาณมิตร GotoKnow" ทุกท่านมากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่าน "บันทึกถอดบทเรียนการจัดการความสุข" ของไอดินฯ และขออภัยที่ท่านอาจรำคาญใจในการเข้ามาอ่าน เพราะพบว่า ครั้งหลังหน้าตาของบันทึกแตกต่างจากที่เห็นในครั้งก่อน 

ตอนแรกไอดินฯ เขียนถอดบทเรียนบันทึกของทั้ง 8 ท่านและนำลงในบันทึกเดียว พอลงเสร็จที่บ้านในเมืองเวลาประมาณ 18.00 น. ก็ออกไปซื้อสะเบียงและเข้าฟาร์มถึงฟาร์ม 21.30 น. และไม่ได้เข้ามาดูบันทึกที่ลงไว้ อีก พอวันรุ่งขึ้นเข้ามาดู ตกใจมากที่เห็นเนื้อหาในบันทึกจากตอนท้ายของเรื่องที่ 6 จนถึงเรื่องที่ 8 หายไป เลยต้องปรับใหม่แยกลงเป็น 2 บันทึกอย่างที่เห็นค่ะ แต่เนื่องจากทั้งหมดทำที่ฟาร์มซึ่งไม่ค่อยมีคลื่น (ปกติเวลาจะลงบันทึกจะเข้าไปลงที่บ้านในเมืองค่ะ) ทำไปๆ ใกล้จะเสร็จ 'net ก็หลุดนับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะเสร็จได้อย่างที่ท่านเห็นก็ใช้เวลาตั้งแต่สายๆ ของวันที่ 1 จนถึงวันที่ 4 ค่ะ

ไอดินฯ จะทะยอยตอบความเห็นของแต่ละท่านนะคะ ตอนนี้ขอตอบความเห็นของกัลยาณมิตรท่านแรกก่อน แล้วขอย้อนกลับไปแก้ไขตอนที่ 1 ที่พบว่ายังมีที่ผิด และตอบความเห็นในบันทึกนั้นที่ยังไม่ได้ตอบท่านใดเลยค่ะ

ขอบคุณ "น้อง ดร.พจนา แย้มนัยนา " มากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่านและให้กำลังใจในบันทึกถอดบทเรียนการจัดการความสุข ของพี่ ทั้ง 2 ตอน ดีใจค่ะที่น้องบอกว่า "มีความสุข" ก็ต้องขอขอบคุณกัลยาณมิตรทั้ง 8 ท่านนะคะ ที่ได้มอบความสุขให้กับชุมชน GotoKnow ผ่านบันทึกใน Theme "Happy Ba"

สองวันก่อน พี่ได้เข้าไปอ่านบันทึกเกี่ยวกับ "ฺBaby Ducks" ของน้องพจนา แต่แสดงความเห็นแล้ว 'net หลุด เลยพักไปทำอย่างอื่น กลับมารอบหลัง เรื่องนี้หายไปแล้ว กลับเข้าไปรอบนี้เลยต้องไปตามหาที่สมุดของน้องโดยตรง พบว่า โอ้โห! เขียนเพิ่มมาอีก 3 เรื่อง พี่เลยอ่านและแสดงความเห็นเรื่องลูกเป็ดก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ จะตามไปอ่านทีหลังนะคะ


ป๊าด !!!!  อาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้  ขา  ละอียดละออ  ช่างสังเกตมือขวาของคุณอักขณิชจริง ๆ  

งานคุณลูกหมูน่าตื่นเ้ต้น  ตื่นตัวจริง ๆ ค่ะ  รวมทั้ง Comment ต่าง ๆ  ช่างสังเกต  และสมองคงคิดไวมาก   เพราะพิมพ์ได้ต่อเนื่อง  คงจะรวดเร็วมาก ๆ ด้วยนะคะ

ความสุขของคุณตันติราพันธ์ลุ่มลึก  ลึกซึ้งมากค่ะ

เห็นด้วยมาก ๆ ค่ะ  งานเชียนพี่หนูรี  ผ่อนคลาย  สุขทวีทุกครั้งที่อ่านจบ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่เน้นย้ำ  และส่องแสงสะท้อนบางมุมที่ไม่ได้มองมาก่อน

ตามมาอ่านต่ออย่างมีความสุขผูกใจกัลยาณมิตรด้วยบทเรียนดีๆที่สะท้อนอยู่ในบันทึกนี้ค่ะ...ไม่จำเป็นต้องขยายความอีกแล้วสำหรับทุกบันทึกคุณภาพเช่นนี้ค่ะ


กว่าที่จะถอดบทเรียนของสมาชิกแต่ละคนได้

ต้องใช้เวลาในการอ่าน คิด เขียน ถ่ายทอด

ชื่นชมอาจารย์ค่ะ ที่ถอดบทเรียนออกมาได้อย่างละเอียด

แม่จะหยุดทำสวนในวันพระ

เป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่หยุดกิจกรรมทุกวันพระเพื่อให้คนเข้าวัด ทำบุญ ทำจิตใจให้สะอาด

เมื่อก่อนที่บ้านของกระติก...ทุกวันพระ ชาวบ้านจะหยุดทำไร่ ทำนา สีข้าว ฯลฯ นอกจากเข้าวัดแล้ว ยังเป็นการออกมาจับจ่ายใช้สอย ตลาดคึกคัก ร้านค้าจะเตรียมของต่างๆ ไว้ขาย

เดี๋ยวนี้...คงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้แล้ว

กาลเวลาเปลี่ยน....กิจกรรมเปลี่ยน

ขอบคุณน้อง "krotoom" มากนะคะ สำหรับกำลังใจและภาพที่นำมาฝาก เป็นภาพแอบถ่าย ที่ดูทุกๆ คนจะมีความสุขกันนะคะ อีก 2 ภาพที่พี่ชอบ คือภาพ "สุภาพบุรุษเฉลิมสุข" กับภาพหัวสมุด "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ของน้องตูมค่ะ เพราะได้เห็นหน้ากัลยาณมิตร GotoKnow หลายท่านท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น โดยมีนาข้าวและภูเขาเป็น ฺฺฺBackground

ก่อนนี้พี่ได้เข้าไปอ่านบันทึกของน้องตูม 2-3 เรื่อง สำหรับเรื่องล่าสุด "ยำมาม่า@เด็กวัยเรียน" ได้แสดงความเห็นไว้ 2-3 ประเด็น ในประเด็นที่ 3 ที่พี่ทราบว่า จะมีการนำบันทึกตามคำสำคัญ "อาหารวัยเรียนสู่อาเซียน" ไปทำเป็น e-book
แต่ยังมีผู้ที่ไม่ชัดเจนในคำว่า "วัยเรียน" พอดีตำราวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" ที่พี่เรียบเรียงขึ้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยต่างๆ พื่จึงได้ให้ข้อมูลไว้ เผื่อน้องจะนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง แต่ดูเหมือนจะยังไม่สมบูรณ์ พี่ขอเพิ่มเติมไว้ที่นี่ ดังนี้นะคะ

คำว่า "วัยเรียน (School Age)" นั้น ในทาง "จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology)" ให้นิยามว่า หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 6-12 ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้น ป.1-ป.6 หรือ หมายถึง "นักเรียนระดับประถมศึกษานั่นเอง" ค่ะ ส่วน "นักเีรียนระดับมัธยมศึกษา" จะอยู่ในช่วงวัยรุ่น โดยนักเรียน ม.ต้น (ม.1-3) ซึ่งมีอายุประมาณ 13-15 ปี จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น (Early Adolescence) และนักเรียน ม.ปลาย (ม.4-6) ซึ่งมีอายุประมาณ 1ุ6-18 ปี จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนกลาง (Middle Adolescence) ค่ะ

ช่วงนี้สงสัยว่าน้องตูมจะยุ่ง เพราะเห็นลงบันทึกครบสัปดาห์แล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้เข้าไปตอบความเห็นของกัลยาณมิตรเลยนะคะ

ขอบคุณ "น้อง Yanyong-P" (เมื่อไหร่หนอจะเห็นภาพประจำตัว) มากนะคะ ที่กรุณามอบดอกไม้ให้กับบันทึกทั้ง 2 ตอนของพี่ และให้ความเห็นในข้อสังเกตของพี่ไอดินฯ เกี่ยวกับพฤติกรรมรีบอ่าน รีบให้ดอกไม้ รีบให้ความเห็น แล้วก็รีบไปอ่านเรื่องอื่นๆ ต่อ ของกัลยาณมิตร ความว่า...

"เห็นด้วยส่วนหนึ่งกับคุณพี่ไอดิน กลิ่นไม้ ในประเด็นนี้ครับ ก็บันทึกใหม่มากันเยอะมาก บางบันทึกมี link โยงออกให้ตามไปอ่านอีก หรืออีกส่วนหนึ่งเพราะเป็นบันทึกที่ตนเคยอ่านและให้ความเห็นไปแล้ว ไม่อยากฉายซ้ำ และสุดท้ายอาจเป็นเพราะคุณพี่ถอดบทเรียนได้ครบตรงกับที่ตนนึกคิดอยู่แล้ว จึงไม่มีความเห็นเพิ่มเติมน่ะครับ"

ที่ให้ความเห็นอย่างนี้ ก็แสดงว่า ไม่ได้รีบร้อนแล้วล่ะค่ะ เพราะถ้ารีบร้อนคงเขียนยาวเช่นนี้ไม่ได้

ทุกท่านก็เห็นเหมือนกันแหละนะคะ ว่า มีบันทึกใหม่ออกมาเยอะมาก และบันทึกที่ปรากฏในหน้าแรกก็เลื่อนไหลผ่านไปเร็วมาก แต่ก็ใช่ว่าเราจะอ่านทุกเรื่อง พี่เองจะเลือกอ่านตามความสนใจ โดยทุกครั้งจะอ่านอย่างละเอียดทุกตัวอักษร และอ่านแบบวิเคราะห์ตามนิสัย ถ้าเรื่องใดสนใจแต่ตามไม่ทัน ก็ตามไปอ่านภายหลังโดยคลิก "มีต่อ" หาไม่เจอจริงๆ ถ้าเป็นคนที่เราติดตามก็ไปตามหาที่บันทึกของท่านนั้นๆ โดยตรงค่ะ เลยทำให้ได้ประโยชน์จากการอ่านในทุกๆ เรื่อง

รออยู่นะคะว่า วันไหนนะจะได้อ่านเรื่องของน้องยรรยง

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจและปิยวาจา "สุดยอดค่ะอาจารย์" จาก "kunrapee" นะคะ

อย่างนี้ "ยอดเยี่ยม" กว่าอีกนะคะ เพราะ "เป็นผลจากการพัฒาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และความวิริยะอุตสาหะของทีมงานโรงพยาบาลสูงเนิน ที่มี kunrapee เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ"

ขอบคุณกำลังใจจาก "คุณ tuknarak" นะคะ

ขอบคุณ "คุณชำนาญ" มากนะคะ ที่ให้ความเห็นจากที่ไอดินฯ ตั้งข้อสังเกตกึ่งคำถามว่า พฤติกรรมการอ่านใน GotoKnow พักหลังดูจะออกมาทางรีบร้อนกันไปไหม โดยคุณชำนาญบอกว่า "รูปแบบการอ่าน การตอบบันทึกในโกทูโน ดูท่าจะเปลี่ยนไปดั่งอาจารย์ตั้งข้อสังเกต ซึ่งผมว่าส่วนหนึ่งคงขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการอ่าน ซึ่งมีทั้งแวะมาสำรวจ แวะมาทักทาย หรือมาอ่านเพื่อใด้ความรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆ หรือเพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนการแสดงความเห็น คนเขียนเก่าๆ ที่รู้จักก็ทักทายกันไป ส่วนผู้เขียนหน้าใหม่ก็อาจขอแค่สังเกตการณ์ไปก่อน ยังไงเสียการได้เข้ามาอ่านเพียงแค่ผ่านตา ก็แสดงว่าบันทึกนั้นน่าสนใจครับ"

ก็คงจะเป็นอย่างที่คุณชำนาญให้ความเห็นนะคะ ว่า "พฤติกรรมการอ่าน ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ในการอ่าน" ...ไอดินสังเกตว่า ผู้อ่านที่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าไปทักทายให้กำลังใจกัน ดูจะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่สนใจอ่านเพื่อหาความรู้ แล้วแสดงความเห็นต่อยอดจากเรื่องที่ได้อ่าน นะคะ

ก่อนเข้ามาตอบความเห็นของคุณชำนาญ ไอดินฯ ได้เข้าไปตามอ่านบันทึกหลายเรื่องของคุณชำนาญ เลยทำให้ได้รับรู้ว่า นอกจากคุณชำนาญจะชอบปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นนักเล่าเรื่องตลกขำขันที่เล่าได้อย่างออกรส และยังเป็นพ่อครัวที่แนะนำวิธีปรุงอาหารได้อย่างชวนนำไปทำตาม ไอดินฯ เองยังจะไปทำเมนูผัด "ผักหม (ขม)" สำหรับผู้สูงวัยที่ฟาร์ม ตามคำแนะนำของคุณชำนาญ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้แค่นำไปนึ่งและใส่ต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สวัสดียายไอดิน...ป๋าเดอ่านแบบรวดเร็วขออนุญาต Save ไว้อ่านทีหลัง...รู้สึกว่าแอร์การฺ์ดจะหมดแล้ว..วันนี้จะไปเติมเงินแล้วจะกลับมาอ่านใหม่...ขออนุญาตถามว่าวัดป่าบ้านฝางคงไม่เกี่ยวข้องเป็นสาขาของหลวงปู่เณรคำนะท่าน......ป๋าเดดู TV วันก่อนเขาเสนอข่าวว่าที่อุบลฯมีสาขาชื่อวัดบ้านฝางครับผม.....

ป้าวิดีใจนะคะที่ "คุณอักขณิช " ชอบ Version นี้มากกว่า Version เดิม ทั้งเนื้อหาและภาพ (ปรับใหม่เป็นส่วนใหญ่เลยแหละค่ะ)...ที่เขียนไปก็เขียนตามความรู้สึกขณะอ่านนะคะ ไม่ได้ยกยอปอปั้นอะไร ถ้าคุณอักขณิชลอยได้ ป้าวิจะชวนไปออกงานวัดนะคะ

ขอบคุณนะคะ ที่ยอมรับว่าตนเองก็อยู่ในประเภทอ่านเร็ว ให้ดอกไม้และแสดงความเห็นเร็ว พร้อมบอกสาเหตุว่าเกิดจากเวลาจำกัด และมีเรื่องเลื่อนไหลมาให้อ่านเร็วมากก็เลยต้องรีบตาม

ป้าวิไปอ่านบันทึกคุณอักขณิช เรื่อง "ทำการบ้าน" (http://www.gotoknow.org/posts/541809) และ "แกงส้มปลากด" (http://www.gotoknow.org/posts/541830) เรื่องแรกบอกว่าจะให้รางวัลนางฟ้าทั้งสอง ส่วนเรื่องหลังมีคำถามๆ ไว้ ช่วยตอบด้วยนะคะ เพราะเย็นนี้ว่าจะไปตลาดนัด ซื้อปลาไปทำต้มปลาใส่ยอดส้มป่อยที่มีอยู่ที่ฟาร์มแต่ยังไม่เคยใช้ประโยชน์เลย ได้แต่ตัดทิ้งหลายรอบแล้ว เพราะต้นสูงและแตกกิ่งเกะกะต้นอื่นค่ะ (จะทำไปจังหันเช้าพรุ่งนี้ค่ะ)

อ้อ! ป้าวิว่า โต๊ะนั่งทำงานของหลานแพรวพราว เตี้ยไปนะคะ เห็นไหมคะว่า หลานต้องก้มลงไปมากเวลาเขียน ถ้าใช้ไปนานๆ จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ป้าวิแนะนำให้หาโต๊ะที่สูงขึ้น ให้สามารถนั่งหลังตรงได้เวลาทำงาน และอยู่ในระดับพอดีไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป หลานจะได้ไม่ปวดหลัง ปวดคอ ค่ะ

ขอบคุณ “น้องมะเดื่อ" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ และความเห็น คุณมะเดื่อเองก็ต้องยอมรับว่าอ่านไม่ทั่วถึง เช่นกัน เพราะเวลาที่จะอยู่หน้าคอม ฯ น้อยนิด โดยเฉพาะ วันทำงาน ส่วนใหญ่ก็จะอ่านและเขียนบันทึกช่วงค่ำ แต่ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพมาแทรกซ้อน ทำให้ระยะ หลัง ๆ นี้มีพฤติกรรมเป็นดังที่กล่าวเช่นเดียวกันจ้ะ

ยังไงก็ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ เห็นขยันเขียนจัง เฉลี่ยแล้ววันละเรื่อง พี่ต้องย้อนไปอ่าน โอ้โห! ยังไม่ได้อ่านถึง 13 เรื่องเลยหรือนี่ ยิ่งใช้ ‘net ที่ฟาร์ม ปัญหาสุดๆ อย่าง เรื่อง “ขอแสดงความยินดีกับครูอิงจันทร์ : รางวัลสุดคะนึง” (http://www.gotoknow.org/posts/540900) ที่เขียนมาแล้ว13 วัน พี่ต้องอ่านข้ามวัน 4 รอบถึงได้ภาพมา
และพอนำภาพมาแต่ง ต้อง Upload ภาพถึง 5 ครั้งถึงสำเร็จ (ปรับขนาดลงเรื่อยๆ) น้องมะเดื่อไม่ได้บอกในบันทึกว่าเป็นรางวัลสุดคะนึงประจำเดือนไหน พี่เข้าใจว่าเดือนเมษายน คงไม่ผิดนะคะ

ก่อนนี้เคยแต่ได้ยินเสียงจ๊ะจ๋า เจื้อยแจ้ว ของน้องมะเดื่อ ตอนนี้ดีใจมากที่ได้เห็นหน้าเห็นตากันชัดเจน แม้ไม่ได้เห็นตัวเป็นๆ แต่ก็สุดปลื้ม คนเขียนบันทึกด้วยสำนวนภาษาที่สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย สดชื่นรื่นรมย์ ที่แท้ก็หน้าตาน่ารักสดชื่นแจ่มใสเช่นนี้นี่เอง แถมยังมีหวานใจรูปหล่อมาให้ดูอีกต่างหาก เลยขออนุญาตแซวหน่อย (แต่รูปหมู่ทำไมไปแอบอยู่ข้างหลังล่ะคะ…น้องมะเดื่อเลยไม่ยอมยิ้มสวยให้ดูอีก)

คิดว่า ไม่นานเกินรอ คงได้เห็นภาพน้องมะเดื่อเป็นผู้รับช่อดอกไม้รางวัลสุดคะนึง นะคะ

ก่อนตอบความเห็น "คุณตันติราพันธ์" ไอดินฯ รู้สึกผิดมากเลยค่ะ ที่คุณตันติราพันธ์เข้ามาแสดงความเห็นไว้ 10 วันแล้ว ไอดินฯ เพิ่งจะมีโอกาสตอบ แต่พอเข้าไปดูที่ไอดินฯ มอบดอกไม้และแสดงความเห็นไว้ที่บันทึกของคุณตันติราพันธ์ครบเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบ...ไอดินสบายใจขึ้นเยอะเลยค่ะ

ชื่นชมความวิริยะอุตสาหะของคุณตันติราพันธ์ค่ะ ที่ได้ถอดบทเรียนการจัดการความสุขของกัลยาณมิตรครบทั้ง 30 ท่าน ลงใน 8 บันทึก ดังที่ได้บอกไว้ในบันทึกแรกซึ่งบันทึกของไอดินฯ ได้ถูกนำไปถอดบทเรียนด้วย (Happy Ba....ถอดบันทึก 4 บล็อกเกอร์ (1) http://www.gotoknow.org/posts/539240 ความว่า "ตัดสินใจว่าจะเลือกบันทึกของท่านละหนึ่ง มาถอดบทเรียน เลือกจากชื่อบันทึกที่โดนใจ มิเช่นนั้น จะทำให้ตัดสินใจไม่ได้"

ขอบคุณนะคะ ที่ตามเข้ามาดูไอดินฯ ถอดบทเรียนงานของคุณตันติราพันธ์ และสนับสนุนการอ่านบันทึกของกัลยาณมิตรด้วยความใส่ใจ สมกับความตั้งใจที่ผู้เขียนแต่ละท่าน ได้กรั่นกรองความคิดและเรียบเรียงเป็นภาษาสื่อสารก่อนที่จะเป็นบันทึกให้เราได้อ่าน

ไอดินฯ ได้เข้าไปมอบดอกไม้ให้กับบันทึกถอดบทเรียนความสุขทั้ง 8 เรื่องของคุณตันติราพันธ์ และขอฝากภาพนกน้อยฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ เป็นการขอบคุณบันทึกเรื่อง "ขอบใจนะ นักดนตรีแห่งรัตติกาล" (htp://www.gotoknow.org/posts/541835) ที่มีความตอนหนึ่งว่า "...ปีนี้ผู้เขียนปรับปรุงการนอนเปิดรับอากาศในคืนที่ไม่ร้อนจัด ทำให้ได้สัมผัสธรรมชาติที่ห่างหาย เช่นยามเช้าจะมีเสียงนกมาเกาะบนกิ่งไม้ข้างหน้าต่าง
แล้วก็ส่งเสียงทักทายกันคล้ายทำนองเพลงด้วยเสียงสูงๆต่ำๆ ทำให้การตื่นขึ้นของเราดูสดชื่นมีความหวังไปด้วย"...(ไม่มีภาพนกในบันทึก)

-สวัสดียายไอดิน.......แม้แต่นกมันก็มีคู่ 555

สวัสดีค่ะ มาแล้วขอกราบงามๆที่ตรงหน้าอาจารย์แม่ ช่วงนี้งานเข้าต้องเขียนโครงการเยอะแยะสนองตามนโยบายอ่านที่อาจารย์ได้บอกกล่าวไว้แล้วค่ะจึงขอเป็นคำว่าอาหารวัยเรียนวัยรุ่นสู่อาเซียนนะคะ และปลื้มมากๆที่เรียกครอบครัวสุภาพบุรุษให้เกียรติมากมาย ขอบพระคุณมากค่ะ

สลับคำจาก "อาหารวัยเรียนวัยรุ่นสู่อาเซียน" เป็น "อาหารวัยรุ่นวัยเรียนสู่อาเซียน" ก็จะได้ "เสียงสัมผัส" นะคะ "น้องครูตูม"

ขอบคุณ"ทพญ ธิรัมภา" มากนะคะ ที่ตามมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ "ไอดินฯ" ต่อในบันทึกนี้ และยังแสดงถึงการอ่านด้วยความตั้งใจไม่รีบด่วน จากร่องรอยการแสดงความเห็นที่ว่า "ป๊าด !!!!อาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้ขาละอียดละออช่างสังเกตมือขวาของคุณอักขณิชจริงๆ (อิอิ...ก็พี่แกบรรยายละเอียดลออถึงขนาดบอกว่าใช้มือไหน ถึงสองครั้งสองคราปฏิบัติต่อภรรยา ก็เลยอดแซวไม่ได้ค่ะ...ลออไม่มี ะ นะคะ ถ้ามีจะแปลว่างามค่ะ) งานคุณลูกหมูน่าตื่นเ้ต้นตื่นตัวจริง ๆ ค่ะรวมทั้ง Comment ต่าง ๆช่างสังเกตและสมองคงคิดไวมากเพราะพิมพ์ได้ต่อเนื่องคงจะรวดเร็วมาก ๆ ด้วยนะคะ ความสุขของคุณตันติราพันธ์ลุ่มลึกลึกซึ้งมากค่ะ เห็นด้วยมาก ๆ ค่ะงานเชียนพี่หนูรีผ่อนคลายสุขทวีทุกครั้งที่อ่านจบ" แถมด้วยคำขอบคุณ ที่บ่งชี้ว่า บันทึกนี้พอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง..."ขอบพระคุณอาจารย์ที่เน้นย้ำและส่องแสงสะท้อนบางมุมที่ไม่ได้มองมาก่อน"

ไอดินฯ ได้เข้าไปอ่านบันทึก เรื่อง "หยุดพักก่อน" (http://www.gotoknow.org/posts/542370) และ เรื่อง "พรหมลิขิตจาก Gotoknow" http://www.gotoknow.org/posts/542130 ของคุณหมอ ซึ่งต้องขอขอบคุณจริงๆค่ะ ที่คุณหมอได้แบ่งปันเรื่องราวและภาพ การทำหน้าที่ต้อนรับกัลยาณมิตร GotoKnow และผู้ติดตามอย่างดีเยี่ยม ให้พวกเราที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมรับรู้ด้วยความอบอุ่นใจในสายสัมพันธ์ของชาว GotoKnow (นำปลาช่อนเผาอุบลฯ ไปร่วมแจมด้วยค่ะ"

ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและความอบอุ่นใจแก่น้อง ทั้งสองบันทึก

น้องได้ตามไปอ่านบันทึกล่าสุดของพี่ใหญ่ คือ 1) เรื่อง "ร่วมส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในชุมชนคลองเตย(http://www.gotoknow.org/posts/542455) 2) เรื่อง "รวมใจไทยให้โลหิตในกิจกรรมวันผู้บริจาคโลหิตโลก (http://www.gotoknow.org/posts/541894)" และ 3) เรื่อง "ร่วมมอบความรักให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเด็ก (http://www.gotoknow.org/posts/541323)" พร้อมทั้งมอบดอกไม้และแสดงความเห็นค่ะ

น้องรู้สึกชื่นชมในกิจกรรมดีๆ ที่ SCB และองค์กรต่างๆ ได้มอบให้กับเด็กๆ และคนไทย และขอบพระคุณพี่ใหญ่มากนะคะ ที่สื่อสารเรื่องดีๆ ให้ได้รับทราบ

สำหรับบันทึกเรื่องที่ 2 นั้น นอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวันบริจาคโลหิตโลกแล้ว ยังได้เรียนรู้ด้านภาษาไปด้วย เช่น ... "วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)"..."กำแพงแห่งมนุษยธรรม (Wall of Humanity)" (อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ) ...และ สโลแกนของวันบริจาคโลหิตโลกปี 2013 “Every blood donation is a gift of life” มอบโลหิตเป็นของขวัญ ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์

ขออภัยค่ะพี่ใหญ่ ภาพจากบันทึก 3 เรื่องฯ หมายเลข 1 และ 3 สลับกันค่ะ

ขอบคุณ "คุณกระติก" มากนะคะ ที่เข้ามาเยี่ยมพร้อมปิยวาจา "ชื่นชมอาจารย์ค่ะ ที่ถอดบทเรียนออกมาได้อย่างละเอียด" และแสดงความเห็นต่อยอด "...เป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน ที่หยุดกิจกรรมทุกวันพระเพื่อให้คนเข้าวัด ทำบุญ ทำจิตใจให้สะอาดเมื่อก่อนที่บ้านของกระติก...ทุกวันพระ ชาวบ้านจะหยุดทำไร่ ทำนา สีข้าว ฯลฯ นอกจากเข้าวัดแล้ว ยังเป็นการออกมาจับจ่ายใช้สอย ตลาดคึกคัก ร้านค้าจะเตรียมของต่างๆ ไว้ขายเดี๋ยวนี้...คงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้แล้ว"

ไอดินฯ ชอบภาพหัวสมุดของคุณกระติกจังค่ะ ภาพทุ่งนา สวนยาง ภูเขา และเมฆฝน และชอบกิจกรรมแก้เบื่อของคุณกระติกด้วยนะคะ

ช่วย อ.ออด

สภาพปัญหาการเตรียมทีมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันวู้ดบอลกีฬาแห่งชาติ ภาค 5 ประจำปี 2556

คำสำคัญ : ..................................................

Keywords : ...............................................

ตามมาอ่าน

ละเอียดเช่นเคยครับอาจารย์แม่

ชอบทีมเชียงใหม่

ชอบการทำงานของพี่บุญรุ่ง

ขอให้อาจารย์แม่มีความสุขกับการทำงานครับ

นี่เป็นการต่อ 'net รอบที่ 3 นะคะ

เรื่องวัดตอบหลายครั้งแล้ว ทั้งในบันทึกตอนที่ 1 และทางโทรศัพท์ เลยจะเลิกตอบคำถามอีกนะคะ "ป๋าเด

" จะคุยด้วยเฉพาะกรณีป๋าเดจะร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างศาลาการเปรียญเท่านั้นค่ะ

สำหรับที่ให้ช่วยแปลเป็น E "States and Problems of Preparing Teams for Wood Ball Competition in the National Games, Region 5, Year 2013"

Keywords : Status and Problems, Preparing Teams, Wood Ball Competition, The National Games

คำสำคัญภาษาไทย : ก็ดูตามคำ E เทียบกับคำในชื่อเรื่อง นะคะ

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-มารับสุข 8 จาก 8 ผลงานของมิตรรัก G2K ครับ..

-แต่ละท่านมีผลงานเกี่ยวกับการเขียนในรูปแบบที่น่าสนใจและได้ประโยชน์ที่หลากหลายครับ..

-อาจารย์แม่เคยกิน"ต๋ำบะเม่า"หรือเปล่าครับ??

-ขอบคุณยายไอดินมากครับที่ช่วยแปลภาษาอังกฤษให้อาจารย์ออด.....ขอโทษที่ถามเรื่องวัดจะไม่ถามอีกแล้ว........... จะชวนพรรคพวกร่วมทำบุญให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้...รวบรวมได้เมื่อไหร่ (จะให้เร็วที่สุด..แต่ถ้าช้าน่าจะได้มาก) จะส่งไปให้นะครับ...........

ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจอาจารย์แม่ื เราไม่ได้คุยกันนานแล้วนะคะ บางครั้งอาจารย์แม่ แวะไปแสดงความเห็นในบันทึกลูกขจิต แต่ไปช้าหน่อยลูกขจิตเลยไม่ได้ย้อนกลับไปดูค่ะ

ลูกขจิตบอกว่า "ขอให้อาจารย์แม่มีความสุขกับการทำงานครับ" คงหมายถึงงานบ้านและงานสวนใช่ไหมคะ เพราะอาจารย์แม่เกษียณแล้วตั้งแต่ 30 ก.ย. 55

อาจารย์แม่ย้อนไปดูบันทึกของลูกขจิต ตอนไปเป็นวิทยากรที่เชียงใหม่ เพราะอยากได้ภาพลูกขจิตกับกัลยาณมิตร GotoKnow ที่นั่นค่ะ เรื่อง "ค่ายภาษาอังกฤษโรงเรียนวัดล้านตองและโรงเรียนบ้านแม่โป่ง (1)" เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว (http://www.gotoknow.org/posts/537221) และได้ลงภาพบันทึกสองเรื่องสุดท้าย (อาจารย์แม่อยูที่ฟาร์มไม่ค่อยมีคลื่น 'net หลุดบ่อยมาก และเวลาอ่านบันทึกก็จะเห็นภาพประกอบแค่ 1-2 ภาพ หรือไม่เห็นเลยค่ะ) คือเรื่อง "อบรมแบบเรียนรู้ ครูภาษาอังกฤษมัธยมศึกษา ครูนครปฐมเขต 2 (2)" ที่ลงเมื่อ 3-4 วันที่แล้ว (http://www.gotoknow.org/posts/542452) และ เรื่อง "สอนภาษาอังกฤษอย่างไรให้สนุก (1)" ที่ลงล่าสุด (http://www.gotoknow.org/posts/542571) ซึ่งดูเหมือนในความเห็นอาจารย์แม่จะเขียนคำว่า "English" โดยไม่ได้ใส่ตัว "h" นะคะ

ไม่นานมานี้ อาจารย์แม่เห็นลูกขจิตและพี่ใหญ่เขียนตอบโต้กัน...ลูกขจิต "พี่ใหญ่ครับ มาขอบคุณ ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมากกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครับ" ...พี่ใหญ่ "รอรับข่าวดีครั้งใหญ่ในชีวิต...ขออวยพรล่วงหน้า..ก้าวหน้าในการงานและความสุขในครอบครัวนะคะ"

หวังว่า มีอะไรดีๆ จะให้อาจารย์แม่ได้ร่วมยินดีบ้างนะคะ

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้วิธีการอ่านจับใจความสำคัญ ท่านเขียนได้สนุกนะคะ ครูดาหลาต้องรีบๆอ่าน ใช้เวลาอยู่กับคอมนานไม่ได้ มีผลต่อสุขภาพค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจอาจารย์แม่ไอดินฯ พร้อมมีคำถาม "อาจารย์แม่เคยกิน"ต๋ำบะเม่า"หรือเปล่าครับ??"

อาจารย์แม่ไม่เคยกินหรอกค่ะ ตำหมากเม่า ปลูกไว้ที่ขอบสระ 2 ต้น ต้นที่เห็นในภาพซื้อไปปลูกค่ะ แต่ตอนนี้ไม่เห็นออกดอก ส่วนภาพหมากเม่านั้น เป็นหมากเม่าจากต้นถัดไปซึ่งไม่ได้ซื้อแต่ขุดจากที่เกิดเองไปปลูก เป็นคนละพันธุ์กันค่ะ

น้ำเต้าต้นที่ฟาร์มก็ปลูกแต่ตายไปแล้วค่ะ อาจารย์แม่ไอดินฯ ไปได้เมนูอาหารพื้นบ้านหลายอย่างจากบันทึกของคุณเพชรฯ ล่าสุดก็ส้ามะกอก จะไปลองทำดูค่ะ เพราะที่ฟาร์มมีมะกอกต้นใหญ่อยู่ 2 ต้น

อาจารย์แม่ลงภาพว่านตูบหมูบให้ดูในบันทึกตอนที่ 1 คงเห็นแล้วนะคะ

ทั้งหนูมดตะนอยฯ และคุณเพชรยิ้มสดชื่นคงจะมีความสุขกันทุกๆ วันนะคะ มีข่าวดีพิเศษเมื่อไหร่บอกอาจารย์แม่ไอดินด้วยนะคะ  

 

ขอบคุณ "KRUDALA" มากนะคะ ที่แวะมาให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้" 

"ไอดินฯ" ดีใจมากค่ะ ที่คุณครูดาหลาบอกว่า "ท่านเขียนได้สนุกนะคะ" แสดงว่าคุณครูคงจะมีความสุขจากการอ่านใช่ไหมคะ

ยินดีต้อนรับรุ่นน้องนะคะ (จากบันทึกของคุณครูที่บอกว่าเข้ารับการอบรมเตรียมเกษียณอายุราชการแล้ว)  

 

ยายไอดินฯ ขออนุโมทนาสาธุ ในกุศลเจตนาของ "ป๋าเด " ด้วยนะคะ ที่ท่านบอกว่า "จะชวนพรรคพวกร่วมทำบุญให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้...รวบรวมได้เมื่อไหร่ (จะให้เร็วที่สุด..แต่ถ้าช้าน่าจะได้มาก) จะส่งไปให้นะครับ" และที่ได้คุยกันทางโทรศัพท์ ว่า ตกลงจะเป็นการร่วมทำบุญผ้าป่าเมื่อมีงานบุญนั้นเกิดขึ้น 

ยายไอดินฯ ก็ขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า ตนเองเป็นคนขี้เกรงใจ และในเรื่องของการทำบุญนั้น ในส่วนของตนเองจะเต็มใจร่วมทำบุญทุกครั้งที่ได้รับการบอกบุญ ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคลในหรือนอกที่ทำงาน แต่เวลาตนเองเป็นเจ้าภาพ จากการสังเกตเห็นว่าหลายๆ ท่านทำบุญกับเจ้าภาพต่างๆ แบบเกรงใจ ทำตามมารยาททางสังคม ก็รู้สึกไม่สบายใจถ้าจะมีใครทำบุญร่วมด้วยในลักษณะเช่นนั้น เพราะจะทำให้ไม่ได้ความสุขอย่างแท้จริงทั้งคนที่ร่วมทำบุญ และตนเองที่เป็นเจ้าภาพ จึงไม่เคยบอกบุญใครในที่ทำงาน จะบอกเฉพาะพี่ๆ น้องๆ ที่ร่วมสายโลหิตเท่านั้น นอกนั้นก็จะมี 2-3 ท่านที่ทราบเองและขอร่วมทำบุญ สำหรับกุศลเจตนาของป๋าเด ยายไอดินฯ ขออนุโมทนาสาธุ ค่ะ ตอนนี้ฝากภาพมาให้ดูก่อนค่ะ

 

 อ้อ! ยายไอดินฯ เพิ่งพบข้อผิดพลาดที่บอกคำสำัคัญไป คำว่า สภาพ หรือ สภาวะ ใช้คำภาษาอังกฤษว่า States หรือ Status ก็ได้ แต่ยายไอดินฯ เลือกใช้คำว่า States ในชื่อเรื่องวิจัย "States and Problems of Preparing Teams for Wood Ball Competition in the National Games, Region 5, Year 2013" เพราะฉะนั้น Kewords คำแรกต้องเป็น States and Problems ค่ะ ไม่ใช่ Status and Problems...ขออภัยในข้อผิดพลาดด้วยนะคะ 

ขอบคุณ กัลยาณมิตรทั้ง 6 ท่านมากนะคะ ที่กรุณามอบดอกไม้ให้กำลังใจ ไอดิน-กลิ่นไม้

เพิ่งมีโอกาสอ่านบันทึกที่ดลุกเคล้ารสชาติของความดีงามและกลิ่นหอมระเหยจากความรักความผูกพันในบ้านหลังนี้ ขอบคุณมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท