ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงของการให้นักวิจัยได้เขียนข้อเสนอโครงการ เพื่อขอ “ทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2550” กัน <Link> และ <Link>
ดังนั้น หัวข้อที่จะขอพูดคุยด้วยในครั้งนี้ คือ เป้าหมายของการวิจัยในมหาวิทยาลัยโดยอาศัยทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน แถมด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพของข้อเสนอโครงการ ก่อนนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงบประมาณ
ก่อนหน้านี้ ซึ่งที่จริงแล้ว ก่อนหน้าที่จะเขียนข้อเสนอโครงการประจำปีงบประมาณ 2549 ด้วยซ้ำ เราได้อภิปรายกันมาโดยตลอดว่า เงินประมาณ 25 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีนั้น เราจะเอาไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการพัฒนางานวิจัย ในมหาวิทยาลัยได้อย่างไร วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการใช้เงินจำนวนนี้คืออะไร ข้อสรุปจากพวกเราก็มีอยู่ โอกาหน้าจะเขียนเล่าให้ฟัง เรื่องมันค่อนข้างยาว เพราะต้องเอาไปเชื่อมโยงกับเงินรายได้คณะและเงินจากแหล่งทุนภายนอกด้วย เรื่องการขอซื้อครุภัณฑ์การวิจัยก็ต้องเอามาเชื่อมโยงกับระบบทั้งหมดนี้ด้วยเช่นกัน
วันนี้ขอนำเอาข้อคิดเห็นจากท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) ที่เขียนไว้ในหนังสือที่ผมแนะนำไว้เมื่อตอนที่ (1) <Link> มาให้พวกเราได้ศึกษากันดังนี้ (จากกลางหน้า 59 ครับ)
“การวิจัยในมหาวิทยาลัย ควรมีเป้าหมายเพื่อการสร้างความสามารถของนักวิจัยให้เก่งขึ้น สร้างสมผลงานที่มีคุณภาพ ดังนั้นโครงการวิจัยจึงควรเน้นการวิจัยเชิงวิชาการเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อการตีพิมพ์ โดยในขั้นแรกอาจเริ่มที่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการประจำสถาบันเสียก่อน แล้วต่อไปจึงเลื่อนขึ้นไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่ตีพิมพ์ในประเทศไทย และในต่างประเทศตามลำดับ แต่นักวิจัยที่มีความสามารถสูงเยี่ยม และมีผู้สนับสนุนเป็นพิเศษ หากจะสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติระดับคุณภาพสูงมากได้เลย ก็ยิ่งเป็นการดี
การตรวจสอบข้อเสนอโครงการที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเองจึงควรใช้วิธีการของ peer review โดยเตือนผู้ทรงคุณวุฒิว่าต้องการให้เป็น “การตรวจสอบเพื่อส่งเสริม” (supportive review) ให้มากที่สุด”
วิบูลย์ วัฒนาธร