สืบเนื่องจากตอนที่ (1) ครับ <Link>
ก่อนออกเดินทางไปทำการประเมิน ผมมีความเข้าใจเป็นอย่างนี้ครับ (ปัจจุบันก็ยังเข้าใจว่าเป็นเช่นนี้) คือเข้าใจว่า ประเทศไทยเรามีปัญหาที่ต้องช่วยกันพยายามแก้ไข คือ
(1) การขาดแคลนแพทย์ ซึ่งมองได้ทั้งในแง่จำนวนแพทย์ต่อประชากร และในแง่ของการกระจายแพทย์ออกไปในชนบท
(2) การขาดแคลนสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มาตรฐานขนาดที่สามารถใช้เป็นที่ทำการเรียนการสอนให้กับนิสิตแพทย์ได้ โรงเรียนแพทย์ของเราส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ เมื่อมีการขยายการผลิตแพทย์ทีไร ก็มักจะใช้ฐานการผลิตเดิม ๆ ที่มีอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ทำให้สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานไม่กระจายออกไปตามต่างจังหวัดเท่าที่ควร ซึ่งก็ทำให้มีผลไปเสริมปัญหาในข้อที่ (1) ด้วย (ในเรื่องของการกระจายแพทย์)
แนวความคิดของการผลิตแพทย์แนวใหม่ที่ มน. ผมเข้าใจว่าต้องการที่จะแก้ปัญหาทั้งสองนี้ไปพร้อมๆ กัน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นพิเศษในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินโครงการ แถมเป็นโครงการที่ไม่ค่อยจะเหมือนชาวบ้านเขาอีกต่างหาก แต่ผมเชื่อว่าเป็นการหนักและเหนื่อยที่คุ้มค่ามาก
ภาระหนักก็คงตกอยู่ที่ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มน. คนใหม่ ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย และทีมบริหารของท่าน ซึ่งในการประเมินครั้งนี้ ตัวท่านคณบดีเอง และรองคณบดีหลายท่าน ก็ได้ร่วมเดินทางไปตรวจเยี่ยมด้วยกันกับทีมผู้ประเมิน
โดยส่วนตัว ผมมั่นใจค่อนข้างมาก ว่าการประเมินครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อผลิตแพทย์แนวใหม่ของ มน. อย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา 2 ข้อที่ผมกล่าวข้างต้น และขอเป็นกำลังใจกับทีมผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มน.ด้วยครับ
วิบูลย์
วัฒนาธร
ไม่มีความเห็น