ผมเอาเรื่องนี้มาสารภาพ เพื่อจะบอกว่าคนที่จะปรึกษาผมเชิงทฤษฎีแบบนี้ ผมไม่รู้มากพอที่จะตอบได้หรอกครับ แต่ถ้าเป็นประเด็นเชิงปฏิบัติ ผมน่าจะมีประสบการณ์ (ของคนแก่) มาแลกเปลี่ยนได้บ้าง
เรื่อง Learning Organization
ผมได้รับ อี-เมล์ จากคุณ "punyawi santiworaphong" [email protected] มีข้อความดังต่อไปนี้
สวัสดีครับ อ.วิจารณ์ที่เคารพและนับถืออย่างสูง
เนื่องจากว่าผมได้ศึกษาแนวคิด
และได้ทำการสรุปแต่ละแนวคิดของนักวิชาการแต่ละท่านแต่ไม่แน่ใจว่าตัวผมเองนั้นเข้าใจถูกต้องหรือไม่
จึงอยากจะขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากอาจารย์ด้วยครับ
1.แนวคิดวินัย 5 ประการ (The Fifth Discipline) ของ Peter M. Senge
แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เน้นหนักไปที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
แต่ว่าให้ความสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่มีผลกับกระทบต่อองค์การน้อยเกินไป
เช่น บรรยากาศองค์การ หรือวัฒนธรรมองค์การ
2.แนวคิดฺBuilding the learning organization ของMichael J. Marquardt
แนวคิดในความเห็นของผมคิดว่าที่มีความครอบคลุม
เนื่องจากเป็นแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งตัวบุคคล และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
ที่มีผลกับกระทบต่อองค์การ
อาจจะมีเพียงเรื่องของงบประมาณที่ไม่ได้เน้นหนักในแนวความคิดนี้
(ซึ่งโดยส่วนตัวของผมนั้นคิดว่าการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเน้นในส่วนของงบประมาณ
อาจจะมีก็แค่เพียงระบบการให้รางวัลสำหรับการใฝ่เรียนรู้หรือการแชร์ความรู้
เนื่องจากว่าเราสามารถที่จะแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานได้ครับ)
3.แนวคิดบริษัทแห่งการเรียนรู้ (The Learning Company) ของ Pedler, Burgoyne และBoydell
แนวคิดนี้มีความใกล้เคียงกับของ Marquardt
แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานขององค์การ
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ที่น้อยเกินไป
เนื่องจากเน้นเพียงเรื่องการแสวงหาความรู้ จัดเก็บความรู้ การถ่ายโอนความรู้
แต่ไม่เน้นในเรื่องของการสร้างความรู้ แต่มีการเพิ่มเติมจากของ Marquardt
ในเรื่องของการวางแผนทางด้านบัญชี และงบประมาณขององค์การ
4. แนวคิด 10 steps to The Learning Organization ของ Peter Kline และ Bernard Sanders
แนวคิดนี้มีความใกล้เคียงกับของ Marquardt
แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานขององค์การ
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ที่น้อยเกินไป
เนื่องจากเน้นเพียงเรื่องการแสวงหาความรู้ จัดเก็บความรู้ การถ่ายโอนความรู้
แต่ไม่เน้นในเรื่องของการสร้างความรู้
ขอความกรุณาจากอาจารย์ด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
ใครพอจะตอบได้ กรุณาตอบด้วยครับ ผมตอบไม่ได้ เพราะผมไม่เคยอ่านหนังสือเล่มที่ ๒ – ๔ เลย และเล่มที่ ๑ ก็อ่านไม่ละเอียด ผมไม่ได้อ่านหนังสือเอารายละเอียดมานานแล้ว อ่านเอาไอเดียมากกว่า ผมมองว่า The Fifth Discipline เอาใจใส่องค์กรนะครับ ผมมองว่าเขามององค์กรกับพนักงานเป็นหนึ่งเดียว ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่
ผมเอาเรื่องนี้มาสารภาพ เพื่อจะบอกว่าคนที่จะปรึกษาผมเชิงทฤษฎีแบบนี้ ผมไม่รู้มากพอที่จะตอบได้หรอกครับ แต่ถ้าเป็นประเด็นเชิงปฏิบัติ ผมน่าจะมีประสบการณ์ (ของคนแก่) มาแลกเปลี่ยนได้บ้าง
วิจารณ์ พานิช
๒๘ มิ.ย. ๔๘