วิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต (2)
การสอนวิชา วิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ครั้งที่ 2 ตรงกับวันพุธที่ 15 มิ.ย.48 ครับ ผมได้เชื่อมโยงเนื้อหาต่อเนื่องจากครั้งแรกโดยเน้นหนักการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่อาชีพ “ผู้ประกอบการ” และได้ย้ำวัตถุประสงค์หลักของหลักสูตรนี้ เขียนเป็นตัวย่อว่า “CAP” C : Cognition = การเตรียมความพร้อมทางด้านความรู้, A : Attitude = ทัศนคติ และ P : Practices = การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง
ขอเล่าถึงเบื้องหลังในขั้นตอนของการเตรียมการสอน ผมพยายามนำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ในวงการ KM นิยมนำมาใช้กัน คือ Story-Telling มาประยุกต์ใช้ ปัญหาก็คือ กลุ่มนศ.มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจน้อยมาก เรียกว่า Tacit หรือความรู้ฝังลึกในตัวคนมีน้อยจะทำอย่างไรดี ? โชคดีที่ขณะทำการค้นคว้าเพื่อเตรียมการสอนจากอินเตอร์เน็ท ผมได้พบเรื่องสั้นที่สะท้อนหลักคิดเกี่ยวกับการ “รู้เก็บ-รู้ใช้” และก็เป็นที่มาของการเข้าไปติดตามดูเว็บไซท์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อศึกษาโครงการประกวดเรื่องสั้น "รู้เก็บ รู้ใช้" รวมทั้งเดินเข้าร้านหนังสือ แล้วก็ได้หนังสือรวมเรื่องสั้นจากการประกวดที่รวบรวมผลงานจัดพิมพ์โดย ตลท.
หนังสือเล่มนี้ราคาย่อมเยาเพียง 100 บาท อ่านดูข้างในพบว่ามีหลายเรื่องที่เขียนได้ดีและน่าสนใจมาก ได้การละครับ ผมจึงนำเนื้อหาของเรื่องสั้นมาสร้างเป็นสื่อ PowerPoint วิเคราะห์เป็นตัวอย่างให้ นศ.ได้เรียนรู้ โดยผ่าน Model รับ-จ่าย/สินทรัพย์-หนี้สิน ที่เคยพูดถึงเมื่อคราวที่แล้ว Workshop ครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นมาโดยแบ่ง นศ.ออกเป็น 5 กลุ่ม ให้เลือกเรื่องสั้นที่ถูกใจไป 1 เรื่อง นำเข้าสู่ขั้นตอน Story-Telling แล้วให้ช่วยกันวิเคราะห์บันทึกลงใน 4 ช่องของ Model รับ-จ่าย/สินทรัพย์-หนี้สิน
นศ. 1 คนตั้งใจอ่าน และเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็ตั้งใจฟัง, คิดตาม, หยุดทบทวน และสรุปเป็น Knowledge Assets เพื่อเตรียมการนำเสนอ ผมสังเกตพบว่า นศ.ชอบมากครับ ได้เรียนรู้จากเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ได้ช่วยกันสกัดความรู้ออกมา โดยผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผมมีภาพบรรยากาศมาฝากด้วยครับ ตอนแรกผมประมาณเอาว่า กิจกรรมนี้ไม่น่าจะเกิน 1 ชั่วโมง ก็คงจะนำเสนอกันได้ ที่ไหนได้ นศ. ขอนำกลับไปช่วยกันทำต่อและขอนำเสนอในครั้งหน้า O.K. ครับ ผมภูมิใจอยู่ลึก ๆ ที่ได้ค้นพบอีก 1 เทคนิค
ช่วงท้าย ๆ ผมจึงขอเวลา นศ. ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของการสร้างธุรกิจของดาราสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีกระบวนการ ทำแผนธุรกิจ (Business Plan) โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจด้วย SWOT-Analysis ได้ดีทีเดียว