งานวิจัยและอาจารย์วิจารณ์ กับการเรียนรู้ต่อยอดของโรงเรียนเพลินพัฒนา (๒)


ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ของเด็ก อยู่ในสัมผัสระหว่างครูกับเด็ก ต้องสัมผัสเอง ต้องเรียนร่วมกับเพื่อน และรู้วิธีเรียนร่วมกับเพื่อน


วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูคณิตศาสตร์


ครูโน้ต – สุมนา แทนบุญช่วย   หัวหน้าส่วนพัฒนาหน่วยวิชาคณิตศาสตร์  เล่าถึงวิวัฒนาการของหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนเพลินพัฒนาว่าแบ่งเป็น ๒ ยุค  ยุคที่ ๑ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ  Active Leaning  เน้นการเรียนแบบสนุกสนาน แปลงนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ให้เด็กหา Concept ในแต่ละเรื่องเอง เด็กสนุกในการเรียนรู้มาก บรรยากาศในห้องเรียนจะตื่นตัว เพราะเด็กมีความสุขในการเรียนรู้  


ในยุคที่ ๒ เป็นการพัฒนาครูควบคู่ไปกับการพัฒนาแผน (Lesson Study) และพัฒนาชั้นเรียนไปอีกขั้น โดยใช้กระบวนกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Open Approach ที่เน้นให้เด็กแก้โจทย์สถานการณ์ปัญหา และได้แสดงวิธีคิดที่แตกต่างของแต่ละคนออกมา โดยครูจะมีคู่เรียนรู้ (buddy) ที่สอนอยู่ในระดับชั้นเดียวกันมาช่วยกันคิดช่วยกันทำตั้งแต่ขั้นวางแผน ขั้นสอน และขั้นสะท้อนผล


นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Open Class) ที่มีขึ้นเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของกลุ่มครูขึ้นไปอีกขั้น ห้องที่เปิดชั้นเรียนจะมีกลุ่มครูที่สอนอยู่ในหน่วยวิชาเดียวกันเข้ามาช่วยกันคิดแผนการเรียนรู้  สังเกตการสอน  และสะท้อนผลร่วมกัน


ครูเล็ก – ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์  หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒ ที่เข้าร่วมวงเรียนรู้กับกลุ่มครูคณิตศาสตร์ช่วงชั้นที่ ๒  ตั้งข้อสังเกตว่าวงครูคณิตศาสตร์เป็นกลุ่มที่มีพลังในการเรียนรู้ร่วมกันสูง  ดังนั้นจึงเกิดความคิดว่าหากนำครูกลุ่มนี้มาถอดบทเรียนร่วมกัน  น่าจะช่วยให้มองเห็นปัจจัยความสำเร็จบางประการได้ชัดเจนขึ้น


พลังในการเรียนรู้ร่วมกันของทีมครูคณิตศาสตร์ช่วงชั้นที่ ๒ มาจากไหน

ครูม่อน – สาวิณี  ตัวเองเป็นคนที่ต้องใช้แรงจูงใจอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะทำอะไร 

  • การได้ไปอบรมกับ อ.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ที่ขอนแก่นเมื่อตอนปิดเทอมรู้สึกว่าตัวเองมีพลังขึ้น  
  • การได้เข้าไปอยู่ในห้องที่มีการเปิดชั้นเรียน  ทำให้มองเห็นจุดที่ทำสำเร็จ  และจุดที่ต้องเพิ่มเติม ที่กลายเป็นแรงผลักอยู่ตลอด  
  • ทุกคนในทีมคณิต มีความตั้งใจ กระตือรือร้น ทุกคนช่วยกันคิดและพยายามช่วยกันหาทางออก กระตุ้นความคิดของกันและกันอยู่เรื่อยๆ  เมื่อมีปัญหาเราชอบคิดหาทางออก พอมาอยู่ในวงนี้ก็ได้กระตุ้นความคิดต่อไปเรื่อยๆ
  • หนังสือญี่ปุ่น  การคิดแผนการสอน ก็ทำให้เราชอบคิด แม้ว่าก่อนนี้จะไม่ได้ชอบนักก็ตาม


ครูกิ๊บ – พุทธามาศ  ชีวิตความเป็นครูของตัวเองเริ่มจากศูนย์  แต่ที่สอนได้เพราะรักวิชาคณิตศาสตร์ 

  • Lesson Studyทำให้ได้ฝึกสังเกตเด็ก ปรับปรุงตัวเอง บางช่วงมีทั้งท้อและเหนื่อย แต่พอได้อ่านการสะท้อนของเด็กก็เป็นแรงกระตุ้นและมีแรงบันดาลใจในการทำงานต่อ
  • ตอนที่เปิดชั้นเรียน (Open Class)ได้เห็นตัวเองมากขึ้น เหมือนเป็นกระจกสะท้อนตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เวลาเพื่อนร่วมทีมคณิตศาสตร์สะท้อนจะมองว่าเขาอยากแนะนำให้เราได้ทำสิ่งดีๆ และร่วมแก้ปัญหาให้กับเรา สะท้อนกัน โดยไม่มีใครรู้สึกเสียหน้า แต่รู้สึกว่ามีคนอยากแนะนำ ทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้
  • การเห็นเด็กสนุก และให้ความสนใจ ทำให้ต้องสังเกตเด็กว่าเด็กแต่ละคนมีกระบวนการเรียนรู้แบบไหน เอามาคุยกับบัดดี้ ถ้าเรารู้วิธีการแก้ ก็จะเกิดวิธีเรียนรู้ ได้พัฒนาตัวเองการมีเด็กสะท้อนว่าเขาเริ่มสนุกกับการเรียนรู้แล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ชอบเลย ทำให้เกิดกำลังใจมาก
  • ทุกคนในทีมรู้สึกท้าทายเมื่อเจอโจทย์ใหม่ๆ สนุกกับการเรียนรู้
  • ชอบที่ได้เปิดชั้นเรียน ได้ดูห้องเรียนของเพื่อน มีทีม มีทุกคนช่วยกันแก้ไข


ครูอีฟ – มณฑิรา อยากทำอย่างครูม่อนบ้าง ครูม่อนเป็นคนคิด ครูอีฟเป็นคนทำ หลังจากกลับจากขอนแก่นรู้สึกว่าตัวเองมีแรงบันดาลใจอยากทำให้เด็กๆ สนุก การสะท้อนของเพื่อนร่วมทีมมองว่าเป็นแรงปรารถนา และนำไปพัฒนาตนเอง ทุกคนในทีมทำงานด้วยใจ

  • แรงบันดาลใจเกิดจากพี่ม่อน พี่ม่อนเป็นคนที่มีไฟ เป็นคนที่ทำเยอะ การได้เห็นพี่ม่อนคิดๆๆเราก็เกิดอยากทำๆ อันไหนที่ไม่สำเร็จก็พักไว้ก่อน อยู่ในแรงกดดันว่าจะทำได้ไหม แต่ก็สนุกที่จะทำ
  • ถ้าทำไม่สำเร็จก็ร่วมกันคิดใหม่ทำใหม่ ครูม่อนก็เชื่อใจเรา และเราก็วางใจพี่เขา รู้สึกว่าเวลาอยู่กับพี่เขาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเรา เกิดการวางใจเกิดขึ้น
  • อยู่กันสองสามทุ่ม ทุกคนเปิดใจ ไว้วางใจ ไม่โทษกัน ไม่มีใครรู้สึกว่าฉันต้องมาอยู่ดึกเพราะเธอ อยากจะทำอะไรบอกมาเลย ฉันจะไปต่อ
  • อยากสอนให้เด็กมีความสุข ให้เขาได้รู้สึกว่าวิชานี้เป็นวิชาของเขา ห้องเรียนนี้เป็นห้องของเขา


ครูวิ – วิสาขา 

·  การทำ Open Class สิ่งที่ได้กลับมาคุ้มกับเวลาที่เสียไป มากกว่าเด็กได้ครูก็ได้เหมือนกัน


อาจารย์วิจารณ์  ถ้าการเปิด Open Class ใช้เวลาเยอะแต่ได้ผลต่อชั้นเรียนน้อย ก็ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป การลงทุนกับผลที่ได้รับเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเหนื่อยแล้วเกิดผลต่อชั้นเรียนมีมาก ชั้นเรียนไหลลื่น เด็กสนุก ครูก็สนุก ก็คุ้ม


ครูวิ – วิสาขา  สอนมาหลายปี พบว่าการสอนด้วยวิธีนี้ทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้น

  • เด็กได้คอนเซ็ปต์ที่แม่นยำมากขึ้น  
  • เป็นสิ่งดีที่เราได้มารวมกัน การที่มีคนมาช่วยมองหลายๆ คน ดีกว่าที่เราได้มองคนเดียว ถ้าได้ใช้วิธีการ LS แต่แรก เด็กน่าจะได้อะไรที่ดีมากกว่านี้


ครูปาด – ศีลวัต 

  • ตอนที่เราไปทำ แล้วห้องไม่ไหลลื่น ทั้งๆ ที่เราเข้าไปช่วยกันเต็มที่
  • เราพบความผิดที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราทำผิดมานาน เราเลยประเมินเด็กผิด
  • โจทย์คือการเผชิญกับความไม่รู้  
  • ส่งผลให้การวัดผลก็เปลี่ยนไป  เดิมเคยวัดแต่ Achievement


อาจารย์วิจารณ์  เป็นการทำให้เราได้ “รู้ว่าเราไม่รู้”  การทำ Lesson Study พิสูจน์ว่าที่ทำต่อๆ กันมาหลายเรื่องมันไม่ใช่  ดีครับ...ประสบการณ์นี้ดีมาก ควรทำประสบการณ์นี้ให้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยทำเป็นสถิติไว้


ครูนุ่น – พรพิมล  

  • การทำ LS ทำให้ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ได้รู้ว่าตัวเองขาดอะไรไป เรายังทำอะไรไม่ได้
  • เมื่อเราจะให้เด็กทำเราต้องทำได้ก่อน
  • ก่อนหน้านี้เคยพยายามพัฒนาวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กที่สุดแต่พอทำแล้วก็ตัน แต่พอได้ทำ Lesson study ก็ได้เห็นทางมากขึ้น เพราะมีคนช่วยกันคิด
  • กระบวนการนี้เราทำคนเดียวไม่ได้จริงๆ ทำให้ต้องฝึกทำงานกับคนอื่น
  • เวลาเห็นครูคนอื่นพัฒนาตัวเองรู้สึกสุดยอดจริงๆ ก่อนนี้เวลาน้องอยากพัฒนาตัวเอง แล้วเราก็ช่วยน้องได้ไม่ทั้งหมด แต่พอมีกระบวนการนี้ทุกคนได้พัฒนาเมื่อเห็นครูที่มีการพัฒนาตนเองก็ได้รู้สึกดีไปกับเข้าด้วย


อาจารย์วิจารณ์   ฟังแล้วได้ positive relationship แน่  ก่อนหน้านี้คนที่เป็นครู “ต้องรู้  ไม่รู้ก็ต้องปิดไว้” ทำให้ครูโดดเดี่ยว แต่พอเปลี่ยน culture ก็ได้ผลอย่างที่เห็น


ครูเล็ก – ณัฐทิพย์  ครูกลุ่มนี้มีแรงผลักจากภายในตัวเอง และมีทีมที่คอยช่วยเหลือกันโดยมีเด็กนักเรียนเป็นตัวตั้ง ครูมีพัฒนาจิตใจด้านในมาก  ครูกลุ่มอื่นมี know how มี how to แล้ว แต่ ทีมคณิตเป็นทีมที่มีพัฒนาการมากที่สุด


อาจารย์วิจารณ์   มีไหม จุดก้าวข้ามที่หลุดผลัวะไปเลย


ครูโน้ต – สุมนา 

  • ครูคืนการเรียนรู้ให้เด็กได้เป็นเจ้าของ
  • มีความสุขเมื่อได้เห็นเด็กแก้ปัญหา ได้แลกเปลี่ยนและรับฟังกัน ทำให้ครูข้ามผ่านสิ่งเดิมๆ ได้


ครูวิ – วิสาขา  

  • ตอนแรกที่ไม่รู้จักกับ Lesson Study จะรู้สึกเฉยๆ แต่พอได้ลงมือทำแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ดีก็เห็นคุณค่า
  • ตอนได้ไปดูที่ขอนแก่นทำให้เกิดแรงบันดาลใจ การได้ลงมือทำ ทำให้ก้าวข้าม พอเริ่มเข้าใจ ทำแล้วก็สนุก เพราะมีคนมาช่วยคิด
  • พอกลับมาจากขอนแก่นแล้วได้เปิดชั้นเรียน เห็นผลที่เกิดขึ้นกับเด็กก็รู้สึกดี และเกิดความสุข
  • ส่วนใหญ่ทีมนี้โสด มีเวลาให้กับงานอย่างเต็มที่


อาจารย์วิจารณ์   มีสมาธิอยู่กับงานได้มาก... ใหม่ๆ ก็เดินดีกว่าขี่จักรยาน เพราะขี่จักรยานทีไรเจ็บตัวทุกที  การขี่จักรยานต้องตั้งใจ และใช้สมาธิมาก แต่ต่อมาก็จะสบายขึ้น

ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ของเด็ก  อยู่ในสัมผัสระหว่างครูกับเด็ก ต้องสัมผัสเอง ต้องเรียนร่วมกับเพื่อน และรู้วิธีเรียนร่วมกับเพื่อน


ครูสุ-สุภาพร 

  • จุดก้าวข้ามคือการลดทิฏฐิ ความกดดัน ความมุ่งมั่น ตัวเองเมื่อได้ฟังจะไม่เชื่อ จะเชื่อต่อเมื่อได้ลงมือทำ
  • การเปิด Open class ทำให้ได้เปลี่ยนตัวเอง ได้เรียนรู้ว่าความตั้งใจของเรามีผลกระทบกับคนอื่น  ม่อนให้โอกาส รอ และ พร้อมที่จะอยู่กับเรา เขารอเราได้ พร้อมวางใจ และเชื่อใจ ถอดตัวเอง แขวน และวาง
  • เมื่ออยู่ในก้องเรียน เอาเด็กเป็นตัวตั้งเรียนรู้ไปด้วยกันกับเขา เรียนรู้ในสิ่งที่เด็กคิด ห้องเรียนกลายเป็นของเด็กจากแต่เดิมที่ห้องเรียนเป็นของครู และเรื่องการถ่ายทอดความรู้
  • ลดตัวเอง เปลี่ยนใจของเราเอง และยอมรับในสิ่งที่ทุกคนเป็น ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะเปลี่ยนหรือเปล่า
  • สุขอบคุณที่นี่... ที่นี่ช่วยทำให้เราตัวเล็กลง แต่ใจใหญ่ขึ้น


ครูปาด - ศีลวัต 

  • ทีมคณิตศาสตร์ หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนแล้วผลิบานทุกคน  เป็นวงที่มีการเอาพลังของคนหนึ่งไปต่อกับอีกคน  
  • ปัจจัยที่สำคัญน่าจะมาจากสมมติฐานของคณิตศาสตร์ถ้าผิดก็คือหลุดไปเลย มีการให้รางวัลแบบดำขาว เมื่อทำถูกทางจะได้รางวัลความปิติ ครูวิชาอื่นไม่ได้รับการลงโทษเมื่อทำผิดทันที หรือได้รางวัลเมื่อทำถูกทันที



อาจารย์วิจารณ์

ครูกลุ่มนี้มีทักษะการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้น ครูเกิด Learning Skill ที่แท้จริงเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู เกิดเป็น learning community  ที่ต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ฟังกัน

ตัวเล็กลง ใจใหญ่ขึ้น และไว้วางใจ นี่เป็นปรากฏการณ์ของ learning community  มี Open Class เป็นกลไกในการ facilitate ทำให้มีการ synergy ที่เกิดenergy  ซึ่งมากไปกว่าการจัดช่วงเวลาให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน


ช่วงสุดท้ายของวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มครูคณิตศาสตร์ เป็นการสะท้อนความรู้สึกจากการที่ได้เรียนรู้จากนิทรรศการ KM “ก้าวพอดี  ๑๐ ปี  เพลินพัฒนา”


ครูวิ – วิสาขา  เห็นสิ่งที่โรงเรียนทำมา เห็นว่าโรงเรียนคิดต่างจากโรงเรียนอื่นๆ  ได้แรงบันดาลใจ  วิศรัทธาพี่ปาดมาก การได้อยู่ในที่ๆ ดี  มีคนตั้งใจ ทำให้เราอยากจะทำทุกอย่างให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้เห็นพัฒนาการของโรงเรียน


ครูจุ๋มศรัญญา ได้เรียนรู้ทุกอย่างจากโรงเรียนนี้ การมีเพื่อนร่วมงานและทีมแบบนี้น่าจะหาได้ยาก ตอนแรกท้อ ครูสุตัวเล็กลง เราตัวโตขึ้น เพราะได้พัฒนาตัวเองให้มีความชำนาญขึ้น เราอยู่ที่นี่เราประทับใจ  จริงๆ ที่บ้านอยากให้กลับบ้านแล้ว แต่เรายังอยากอยู่ และเรียนรู้ต่อไป


ครูน้ำหวาน – ศิรินันท์  เห็นความตั้งใจของครูรุ่นเก่าๆ ชื่นชมที่เขาตั้งใจ เราเป็นคนที่ต้องสืบทอด ต้องทำต่อไป มีคำถามว่าตัวเองมีความเหมาะสมรึเปล่า มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปมาก อยากพัฒนาตัวเองให้เหมือนต้นแบบที่ดีที่เขาให้เรามา


ครูกิ๊บ – พุทธมาศ เห็นพัฒนาการของโรงเรียน  ศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองทำ และเชื่อในสิ่งที่ทำ ได้รู้ว่าการเรียนด้วยภาพทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ทำให้เกิดคำถามที่เราจะเอาไปต่อยอด


ครูอีฟ – มณฑิรา Best Practice กับสิ่งดีที่รุ่นพี่ทำไว้ถ่ายทอดมาถึงจริงหรือ เราได้แบบอย่างที่ดีจากรุ่นพี่ เราคือคนที่มาใช้ต่อ แม้ว่าจะไม่มาก ดีกว่ารุ่นเขาที่ต้องลองผิดลองถูก


นุ่น - พรพิมล  ที่นี่ให้เราเป็นตัวเรา และเป็นประโยชน์กับคนอื่น ได้เต็มที่กับความฝันของเรา



หมายเลขบันทึก: 540299เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2013 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2013 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท