" เพลินพัฒนาให้อะไร " เสียงสะท้อนจากนักเรียนรุ่น ๔


นายนภนต์  จตุรภุชพรพงศ์ (คอฟ)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๑  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


มาฟังเด็กเพลินพัฒนาที่ย้ายไปเรียนที่อื่นกัน...ผมออกไปตอน ชั้น ๙ (ม.๓) ผมย้ายไปเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง เพลินให้ภุมิคุ้มกันเราในการเข้าสังคม  ผมเจอตอน ม. ๔  มีคนให้เราเลือกคบทั้งดีและแย่กว่า  เราดีที่มีภูมิคุ้มกัน ผมชอบเพลินและมาเพลินบ่อยๆ  ชอบครูที่เป็นครูไม่ใช่อาจารย์  ครูคือคนที่ให้ความรู้เรา  เป็นความผูกพันเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง  เด็กเพลินที่ไปเรียนอยู่วัดนายโรงฯ เรียกได้ว่าดังเพราะเรามีความคิดที่แตกต่าง และสามารถนำเสนอออกมาได้


นายศิรัส  จันทร์รุจิพัฒน์ (อ๋อง)  เตรียมศึกษาต่อต่างประเทศ   


ผมเข้ามาที่เพลินตอน ชั้น ๔  - ชั้น ๘  ผมไปเรียนโรงเรียนที่แตกต่างจากเพลิน  ผมไปโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ ที่เป็นสังคมที่มีแต่ลูกคนรวยไปเรียนซึ่งตอนแรกผมก็ปรับตัวไม่เข้า  ที่เพลินให้ภูมิคุ้มกันเหมือนที่เพื่อนบอก ที่ฮาร์โรว์ เด็กเขาคิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ ตอนกลางคืนก็ไปผับ กินเหล้า เป็นเรื่องปกติ  แต่ที่เพลินไม่มี แต่เราก็สามารถหาเพื่อนในแบบที่เข้ากับเราได้ซึ่งมีน้อยมาก การเรียนที่เพลินสอนให้เราคิด ซึ่งต่างจากโรงเรียนอินเตอร์ที่สอนให้เราสอบผ่าน สอบได้เกรดสูงอย่างเดียว อย่างเรียนฟิสิกส์ผมไม่รู้ว่าเขาเรียนไปทำไม คือผมอ่านแต่ข้อสอบและท่องอย่างเดียวแต่ของเพลินสอนให้เห็นภาพและนำไปใช้จริงได้  มีการออกภาคสนามที่ช่วยให้เราฝึกคิด


นายรพี  พิมพ์ทอง (จูเนียร์)   นักศึกษาชั้นปีที่ ๑  คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล


ผมเข้ามาตอน ชั้น ๓  -  ชั้น ๙  แล้วไปอยู่ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนที่เขาเข้มข้นเรื่องวิชาการ ด้านวิทย์ - คณิต  ที่โน่นเขาจะเรียนกันค่อนข้างเข้มข้นมากแล้วก็พยายามให้ทำความเข้าใจและท่องจำเยอะมากด้วย ก็ได้นำวิธีการเรียนรู้ที่เพลิน ค้นข้อมูลและหาข้อมูลเพื่อหาความรู้มาเป็นของตัวเองให้ได้โดยไม่ต้องจำมากเกินไป ทำให้เรียนรู้ได้มากขึ้น  สิ่งที่ผมได้จากเพลินถึงความรู้จะได้ไม่มาก แต่วิธีการเรียนรู้ที่ได้ไปทำให้ผมเรียนรู้ที่โน่นได้มาก


นายเสาเอก  ขันติกิตติกุล  (ปั้น)   นักศึกษาชั้นปีที่ ๑  คณะวิทยาศาสตร์  สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย  มหาวิทยาลัยมหิดล


ผมเข้ามาตอนชั้น ๕  -  ชั้น ๙  แล้วไปเข้าที่มหิดลวิทยานุสรณ์เหมือนจูเนียร์  สิ่งที่ได้จากเพลินคือการสอนเรื่องกระบวนการคิด ซึ่งมีประโยชน์สามารถใช้ได้ในอนาคตอย่างมาก ก็คือตอนที่ผมเรียนอยู่ที่มหิดลวิทยานุสรณ์ ข้อสอบไม่มีตัวเลือก  แต่จะเป็นเติมคำ คิดวิเคราะห์  ซึ่งตรงนี้เราได้ฝึกมาแล้วตอนอยู่ที่เพลินทำให้เราทำข้อสอบได้ง่ายขึ้นสภาพแวดล้อมและสังคมที่เพลินจะดีมากไม่ว่าจะเป็นทั้งเพื่อน คุณครู  อยู่แล้วเรารู้สึกอบอุ่น  สภาพสังคมที่เพลินทำให้เราปรับตัวกับสังคมแบบอื่นได้  อย่างที่มหิดลวิทยานุสรณ์ต้องอยู่หออยู่กับเพื่อน ผมก็สามารถปรับตัวได้



นางสาวฐิติรัตน์  สิริภัทรวณิช (ฟ้า)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๑  คณะศิลปกรรมศาสตร์  สาขาวิชาการออกแบบศิลปะเครื่องประดับ  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร


ครูที่เพลินพัฒนากับครูที่โรงเรียนอื่นจะแตกต่างกัน ครูที่เพลินจะใส่ใจเด็กเยอะเป็นพิเศษ จะคอยอยู่เมื่อเด็กมีปัญหาสามารถเข้าไปหาได้เสมอ ตลอดเวลา ตรงนี้คิดว่าครูคงเหนื่อยและเหนื่อยกว่าครูที่อื่นหลายเท่า อยากให้กำลังใจครูว่าหนูชอบแนวทางที่นี่และอยากให้ครูสู้ต่อไป มีประโยชน์กับตัวเด็กมากเลยนะคะที่ครูอยู่รอเด็กและพร้อมเสมอเวลาเด็กมีปัญหาครูสู้ๆ นะคะ


นายศรณสิญจ์  จุฬาลักษณานุกูล (โอ๊ต)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๑   วิทยาลัยนานาชาติ  สาขาวิชาการตลาด  มหาวิทยาลัยมหิดล


ผมอยากขอเสริมเรื่องภาคสนามที่ค่อนข้างลุย สอนให้เราอยู่รอดโดยไม่ต้องใช้ชีวิตหรูหรา ตรงนี้ผมว่ามาถูกทางแล้วครับ รุ่นผมที่ อึด ถึก ทนได้ขนาดนี้เพราะผ่านการภาคสนามมานับครั้งไม่ถ้วน อย่างเช่นการไปธรรมยาตรา การไปที่วัด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ติดหรูใช้ชีวิตเรียบง่ายสบายๆ  เด็กบางคนอาจจะมาจากครอบครัวรวย พ่อแม่มีเงินเยอะ ไม่จำเป็นต้องไปแบบนั้นก็ได้ แต่อยากจะบอกว่าภาคสนามดีจริงๆ  ตรงฝึกให้รู้จักความยากลำบาก


นายภคพล  ตั้งนันทชัย (ปราณ)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๑  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ  สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม (หลักสูตรนานาชาติ)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


อยากเสริมที่โอ๊ตพูดที่พ่อแม่บางคนบอกว่าที่บ้านสะดวกสบายอยู่แล้วจะไปลำบากทำไม อนาคตเราไม่รู้ว่าจะเจออะไร วันหนึ่งเด็กก็ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ถ้าเขาได้เรียนรู้การออกไปใช้ชีวิตภายนอกมันก็จะเป็นประโยชนืต่อตัวเขาอย่างมากเพราะอนาคตเป็นของเขาเอง ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเขาไปตลอดได้หรอกครับ


นางสาวภคมน วนพูนสุข (แนท)  นักศึกษาชั้นปีที่ ๑  วิทยาลัยนานาชาติ  สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล


หนูเข้ามาเพลินตอนชั้น ๕ ภาควิริยะ แล้วออกไปตอนชั้น ๘  ไปเรียนโรงเรียนแบบปกติในเมือง  แต่สุดท้ายก็รักเพลินเพราะชินกับเพลินที่สอนให้คิดเองทำเอง  แต่ที่ๆไปเรียนเขาสอนให้เรียนจากตำรา ขึ้นกระดานให้เด็กอ่านตาม อยู่ห้องหนึ่งมี ๕๐ คน  อย่างที่เพลินห้องหนึ่งมี ๑๘ คน  รักกันมากอยู่กันเป็นครอบครัวสุดท้ายก็มาจบที่เพลินอยู่ดี  ชอบความเป็นครอบครัวเพลินพัฒนาชอบที่ทุกคนรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทุกอย่าง ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนช่วยเหลือตลอดเวลา ครูน่ารักมากช่วยทุกอย่างเหมือนเป็นพ่อแม่ของเรา มีอะไรติดขัดเพื่อนก็จะช่วยเหลือกันอย่างดี  อยากฝากน้องๆ ว่าเก็บประสบการณ์ในเพลินให้ได้มากที่สุด


ขอเสริมของเพื่อนว่า ที่ศิษย์รุ่นที่ ๑ -๔ ที่ออกมาได้ประสิทธิภาพเพราะเราผ่านการขัดเกลามาจากคุณครูมาก  คุณครูต้องเหนื่อยกับเรามากกว่าจะมาได้ขนาดนี้  ต้องผ่านการขัดเกลา เขี่ยวเข็ญ เราเอาไปใช้ได้อย่างดี เพราะคุณครูจริงๆ พวกเราทั้ง ๔ รุ่นถึงได้เป็นแบบนี้





หมายเลขบันทึก: 538197เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอปรบมือแสดงความยินดีกับลูกศิษย์ รร.เพลินพัฒนา ขอบคุณมากครับผม

ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเป็นกำลังใจค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท