ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ดร.อัมเบดการ์ (Dr.B.R. Ambedkar) ผู้ปลดแอกคนอินเดียออกจากระบบวรรณะ


ดร.อัมเบดการ์ (Dr.B.R. Ambedkar)

ผู้ปลดแอกคนอินเดียออกจากระบบวรรณะ

วีรบุรุษชาวอินเดียร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง  ซึ่งมีสติปัญญาสุขุมลุ่มลึก  เป็นนักปราชญ์อัจฉริยะ ผู้มีวิญญาณแห่งการปฏิวัติผลักดันให้ต่อสู้เพื่อคนยากจนเข็ญใจไร้ศักดิ์ศรี และถูกเหยียบย่ำอย่างหนักหน่วง  ท่านเป็นทั้งการศาสนา  นักการเมืองและนักปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สถานะที่สูงส่งดีงาม ท่านที่ว่านี้จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้   นอกจาก ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ (Dr.B.R. Ambedkar) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีแรงงานของรัฐบาลอินเดีย  ในสมัยรัฐบาลชุดแรกของนายกรัฐมนตรียวาหรลาล  เนห์รู  แต่เพราะระบบการเมืองและสังคมนิยมอินเดียได้เล่นตลกเบียดเบียนเอาเกือบปางตาย  ท่านเลยจำใจต้องหันหน้ากลับมาต่อสู้อย่างหัวชนฝา ด้วยวิถีทางแห่งพระพุทธเจ้า ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ รัฐบุรษอัจฉริยะแห่งยุคปัจจุบัน ผู้หมุนกงล้อแห่งพระธรรมให้กลับคืนสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำชาวอินเดียจำนวนหลายแสนคนเข้าสู่พิธีสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา กระทั่งตัวเองต้องกลายเป็นผู้นำชาวพุทธจำนวนหลายสิบล้านคนในอินเดียปัจจุบัน

ว่ากันตามจริงแล้ว ในด้านความรู้ความสามารถและอุปการคุณที่ดร.อัมเบดการ์มีต่อสังคมประเทศอินเดียนั้น  มิได้เป็นสองรองใครเลยแม้กระทั่งมหาตมะ คานธี แต่ที่ท่านคานธีได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติอินเดีย  ก็คงเป็นเพราะท่านโดดเด่นในด้านการใช้วิธีอหิงสาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ  ส่วนดร.อัมเบดการ์นี้ เป็นดั่งวิศวกรหรือสถาปนิกที่รับช่วงมาออกแบบสร้างชาติอินเดียทันทีที่อังกฤษยอมปล่อยให้อินเดียเป็นเอกราช  โดยดร.อัมเบดการ์  ได้รับการยอมรับให้เป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญปกครองอินเดียฉบับแรก  ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของอินเดียที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของดร.อัมเบดการ์ในท่ายืนมือขวาถือหนังสือ(รัฐธรรมนูญ) ปรากฏเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าโลกสภา (รัฐสภา) ของอินเดียปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้  และนับแต่ได้เอกราชมา อินเดียไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเลย  แม้กระทั่งการเลือกตั้ง ก็ไม่ปรากฏว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันรุนแรงเหมือนกับประเทศไทยของเรา

ถึงกระนั้น ในภาพรวม ก็ดูเหมือนคนไทยส่วนมากจะรู้จักแต่มหาตมะ คานธี ไม่ค่อยรู้จัก ดร.อัมเบดการ์กันเท่าไหร่นัก  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมหาตมะ คานธี เป็นคนวรรณะสูงกว่า  คือวรรณะแพศย์ตามระบบชนชั้นของฮินดูและเป็นคนของพรรคคองเกรส  ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลปกครองอินเดียมาในยุคแรกๆ ก็ได้  จึงได้รับการส่งเสริมกันมากกว่า  แต่ดร.อัมเบดการ์มีพื้นฐานมาจากคนชั้นต่ำสุด คือวรรณะจัณฑาล ที่หันมาสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา คัดค้านระบบวรรณะของฮินดู  ซ้ำยังมิใช่คนของพรรคแกนนำรัฐบาล  คือพรรคคองเกรสถึงจะเก่งจะดีแค่ไหน แต่เมื่อเป็นคนละพวกกัน จะยกย่องก็คงไม่เต็มปาก มันกระดากลิ้นอะไรทำนองนั้น

บทบาทและหน้าที่ของ ดร.อัมเบดการ์ โดยย่อ

พ.ศ. ๒๔๔๙ แต่งงานกับรามา ไบ

พ.ศ. ๒๔๕๐  จบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษา  จากโรงเรียน เอลฟิสโตน  (Elphistone)  เมืองบอมเบย์หรือมุมไบ  ในการจัดงานแสดงความยินดีที่สำเร็จการศึกษา  ท่านกฤษณชิ อรชุน เกลุสการ์ ได้มอบหนังสือ เรื่อง "พุทธจริต"  เป็นเหตุให้ท่านได้รู้จักประวัติของพระพุทธเจ้าและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

พ.ศ. ๒๕๕๖ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี  สาขาภาษาเปอร์เซียและอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์

พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับทุนการศึกษาของมหาราชาไคกวาร์ แห่งเมืองบาโรด้า  เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท  คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา  จบการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๕๘

พ.ศ. ๒๔๕๙ เรียนปริญญาเอก โดยเขียนวิทยานิพนธ์ชื่อ "The National Divident of India - A Historical and Analytical Study"  สำเร็จการศึกษาเมื่อ  พ.ศ.๒๔๖๐

พ.ศ. ๒๔๖๐ ดำรงตำแหน่งปลัดฝ่ายความมั่นคง แห่งเมืองบาโรด้า

พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นศาสตราจารย์ทางเศรษกิจการเมือง ที่วิทยาลัยการค้าและเศรษฐศาสตร์ ไซเดนฮัม (Sydenham College) เมืองบอมเบย์

พ.ศ.๒๔๖๓ กลับไปศึกษาต่อ ณ London School of Economics  and Political Science จบปริญญาเอก โดยเขียนวิทยานิพนธ์ชื่อ "The Problem of Rupee-its Origin and its Solution"  และสำเร็จการศึกษาด้านกฏหมายเป็นเนติบัณฑิต

พ.ศ. ๒๔๖๗  เป็นผู้พิพากษาสูง ของเมือง บอมเบย์

พ.ศ. ๒๔๗๐ เริ่มพิธีสัตยาเคราะห์(ประท้วงอย่างสันติ)  ณ บ้านมหัท จังหวัดโกลาบะ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มคนจัณฑาลเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะโชว์ดาร์

พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นศาสตราจารย์ ของมหาวิทยาลัยกฏหมายแห่งรัฐ เมืองบอมเบย์  และได้เลื่อนเป็นอธิการบดีในปีนี้เอง

พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นตัวแทนของกลุ่มคนจัณฑาล เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นกรรมการร่วมของรัฐสภาเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอินเดีย

พ.ศ.๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกฏหมายแห่งรัฐ เมืองบอมเบย์ ครั้งที่ ๒ และเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและกฏหมาย

พ.ศ.๒๔๘๙ เปิดสิทธารถวิทยาลัยเพื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์  เมืองบอมเบย์

พ.ศ.๒๔๘๙ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย

พ.ศ.๒๔๙๐ อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ  ดร.อัมเบดการ์ได้รับเลือกจากพรรคคองเกรส เข้าสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดแรกของอินเดีย  ซึ่งมี พณฯ ยวาหลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรี  ดร.อัมเบดการ์ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม  และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย

พ.ศ. ๒๔๙๔ ก่อตั้งองค์กร "ภารติยพุทธชนสังฆะ" หรือ สมาคมชาวพุทธอินเดีย

พ.ศ.๒๔๙๕ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา  มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ท่าน ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปี ของมหาวิทยาลัย

พ.ศ.๒๔๙๗ เข้าร่วมประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ล.ส.) ครั้งที่ ๓ ณ นครย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า

พ.ศ.๒๔๙๘ ก่อตั้ง "ภารติยพุทธมหาสภา" หรือ พุทธสมาคมแห่งอินเดีย

พ.ศ. ๒๔๙๙ เขียนหนังสือเรื่อง  "The Buddha and His Dhamma" และ "Revolution and Encounter-revolution in Ancient India"

พ.ศ.๒๔๙๙  จัดพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ ณ เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฎร์  พร้อมกับบริวารประมาณ 500,000 คน  โดยมีพระมหาเถระจันทรมณี จากมหาวิหาร กุสินารา เป็นประธานสงฆ์ประกอบพิธี

๖ ธันวาคม ๒๔๙๙ ได้ถึงแก่อนิจจกรรมที่บ้านพัก กรุงนิวเดลี และได้มีรัฐพิธ๊เผาศพ ที่เมืองบอมเบย์หรือมุมไบ

การนำบทเรียนมาแก้ไขวิกฤตของประเทศไทย

จากประวัติการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนวรรณะต่ำของ ดร.อัมเบดการ์ จะเห็นว่าเมื่อ ท่านสำเร็จการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อินเดีย ท่านยังคงต้องเผชิญกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางวรรณะสูงมาก ยังถูกรังเกียจและกีดกันเพราะว่าเป็นวรรณะจัณฑาล ดร.อัมเบ็ดก้าร์จึงยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางวรรณะ เพื่อให้คนที่เกิดมาในวรรณะจัณฑาลได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพชีวิตของตน เมื่ออินเดียได้รับเอกราช ดร.อัมเบ็ดก้าร์ได้ตั้งพรรค Republican Party of India ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยของรัฐบาลเนรูห์ นอกจากนี้ ท่านยังได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาอินเดียให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย โดยท่านได้ยึดถือความยุติธรรมระหว่างคนต่างวรรณะเป็นหลักการสำคัญในการทำงาน

 การต่อสู้เรื่องวรรณะในอินเดียเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นการต่อสู้กับความเชื่อที่เป็นรากฐานของสังคมฮินดู ที่สืบเนื่องกันมาหลายพันปี แต่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์กล้าที่จะต่อสู้ในสิ่งที่ท่านเชื่อว่าถูกต้อง แม้ว่าในช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ท่านมีโอกาสที่จะผลักดันให้เกิดการแบ่งแยกประเทศสำหรับคนจัณฑาลที่ปฏิเสธศาสนาฮินดู คล้ายกับกรณีที่ชาวมุสลิมแยกออกไปตั้งเป็นประเทศปากีสถาน และบังกลาเทศ แต่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ไม่ทำ เพราะ ท่านไม่ต้องการสร้างความแตกแยกให้ประเทศอินเดีย เป้าหมายหลักของท่าน คือ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอินเดีย โดยไม่สร้างความแตกแยก

 การต่อสู้ของดร.อัมเบ็ดก้าร์นั้นเป็นการต่อสู้แบบปฏิเสธอาวุธและความรุนแรง แต่ใช้ปัญญาและหลักศาสนาเป็นกลไกหลัก เมื่อ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ตระหนักว่าศาสนาฮินดูได้สร้างให้เกิดระบบวรรณะที่นำไปสู่ความไม่ยุติธรรมในสังคม ดร.อัมเบ็ดก้าร์ได้ใช้เวลาหลายปีศึกษาหลักศาสนาต่างๆ ก่อนที่จะเลือกศาสนาพุทธเป็นศาสนาใหม่ของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้นำชาวจัณฑาลกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เป็นการปลดแอกชาวจัณฑาลออกจากสังคมวรรณะแบบฮินดู และส่งเสริมให้คนอินเดียหันกลับมาสนใจพุทธศาสนา หลังจากที่พุทธศาสนาในอินเดียถูกทอดทิ้งมาหลายร้อยปี 

ตามหลักธรรมของพุทธศาสนาไว้น่าสนใจมาก ดร.อัมเบ็ดก้าร์เชื่อในเรื่องของกรรมว่าคนเราจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำไม่ได้ขึ้นอยู่กับวรรณะ หรือตระกูลที่เกิดขึ้นมา คนทุกคนมีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกันนอกจากนี้ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ส่งเสริมให้คนต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และภราดรภาพ ส่งเสริมให้คนปฏิบัติตามศีล ตามมรรค ปฏิบัติภาวนาเพื่อพัฒนาจิตใจ และมีเมตตาต่อคนอื่นๆ ตามหลักของพุทธศาสนา ด้วยการยึดหลักเหล่านี้ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ ได้สร้างโอกาสการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนจัณฑาลจำนวนมากที่เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา จนในวันนี้ มีชาวพุทธกว่าสิบล้านคนที่มีรากมาจากวรรณะจัณฑาล ได้อาศัยประตูที่ ดร.อัมเบ็ดก้าร์เปิดให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในรัฐบาล เป็นข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้นำสังคม

 เมื่อหันกลับมามองความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยวันนี้แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยมีระบบวรรณะหลายมาตรฐานอยู่โดยพฤตินัย ระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้เอื้อให้คนรวยมีโอกาสที่จะรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และคนด้อยโอกาสในสังคมถูกทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการยุติธรรมและบริการสาธารณะของรัฐขาดความเท่าเทียมกัน นักการเมืองไทยในระบบการเมืองแบบทุนนิยมผนวกกับพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง และความอ่อนแอลงเรื่อยๆ ของระบบราชการ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมรุนแรงขึ้น

และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติที่ต้องบันทึกไว้ว่า วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง เพียงเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันได้ลุกลามจนทำเมืองไทยเกิดสงครามกลางเมือง เผาทำลาสถานที่หลายแห่งจนพังวินาศสันตะโรไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายยอมรับตรงกันว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายทั้งมวลของสังคมไทย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างโดยมีรากเหง้ามาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ถึงวันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำเรื่องยากที่สุด เพื่อสร้างความเป็นธรรม แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรจึงสามารถปลดล็อก และขจัดความไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมทางสังคมให้ลดน้อยลงได้  ถ้าจะพูดถึงการแก้ไขความไม่เป็นธรรม ต้องให้เห็นก่อนว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยมีอยู่ ๓ ส่วน

๑.ความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ คือ ปัญหาความยากจน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ต่างกันถึง ๑๓-๑๔ เท่า หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ดิน ชาวนาบอกว่าต่อไปจะไม่มีชาวนาปลูกข้าวให้กินอีกแล้ว โดยพบว่าเกษตรกรประมาณ ๑.๕ ล้านครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง

๒.ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเมือง สิทธิทางการเมือง ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาพื้นที่ เช่น กรณีมาบตาพุด  ๒๐ ปีของการมีนิคมอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การพัฒนาที่ไม่สมดุล ทำให้การท่องเที่ยวที่ระยอง ที่มาบตาพุด ถูกทำลาย  การเกษตรก็ล่มสลาย ทั้ง สวนทุเรียน มังคุด ลางสาด  เหลือแต่นิคมอุตสาหกรรมปัญหาไม่ได้เป็นเรื่องของไพร่ อำมาตย์ แต่เป็นปัญหาเรื่องของทุนที่เข้ามาครอบงำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะทุนอำนาจใหญ่ๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรี โครงสร้างอำนาจทางการเมืองกลายเป็นเรื่องของการผูกขาดอำนาจกับผลประโยชน์โดย ทุนกับนักการเมือง ที่เราเรียกว่า "กลุ่มอำนาจธุรกิจการเมือง"  ซึ่งไม่ใช่แค่ส่วนกลาง แต่ได้ลงไปถึงระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นเรื่องของธุรกิจการเมืองไปแล้ว

๓. ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนที่ด้อยโอกาส เช่น คนพื้นเมือง ชาวชนเขาต่างๆ มอร์แกน ชาวเล ชาวแม่อาย ชาวมอญ คนอพยพจากประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งมีมาแล้วเป็นร้อยๆ ปี แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานภาพ  หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องคนจนในเมือง สลัม ปัญหาเด็กด้อยโอกาสที่ถูกระบบทุนอุตสาหกรรมเข้าไปละเมิด เป็นต้น

หากเข้าใจความเหลื่อมล้ำใน ๓ ส่วนนี้ รัฐบาลต้องดูว่า ความเหลื่อมล้ำทั้ง ๓ ส่วนนี้เกิดจากอะไร และเคยได้รับการแก้ไขอย่างไรมาแล้วบ้าง

 นอกจากนี้ ได้เกิดวรรณะนักการเมืองขึ้นในสังคมไทยในบางจังหวัดเฉพาะคนที่เกิดมาในครอบครัวนักการเมืองหรือแต่งงานเข้ามาในครอบครัวนักการเมืองเท่านั้นที่มีโอกาสจะถูกเลือกตั้งมาสืบทอดวรรณะนักการเมืองในจังหวัดของตนยากที่นักการเมืองหน้าใหม่ หรือนักการเมืองนามสกุลอื่นจะเข้ามาแข่งขันได้

ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีนักการเมืองไทยส่วนหนึ่งออกมาต่อสู้โดยอ้างความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ได้อาศัยการต่อสู้ที่ใช้อาวุธจนเกิดความรุนแรง ความสูญเสีย และความแตกแยกขึ้น ทำให้เกิดความกังขาได้ว่าเป็นการต่อสู้ที่มีเจตนาที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือมีเจตนาแสวงหาอำนาจ และผลประโยชน์อื่นแอบแฝงอยู่

 ทำอย่างไรที่จะหานักการเมืองไทย ที่มีอุดมการณ์และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อปฏิวัติระบบสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยสันติวิธีอย่าง ดร.อัมเบ็ดก้าร์ และช่วยกันหาทางกีดกันนักการเมืองที่ขาดอุดมการณ์ และมีพฤติกรรมสนับสนุนพวกพ้อง หาผลประโยชน์แบบวรรณะนิยมออกไปอาจจะเริ่มจากเลือกเฉพาะนักการเมืองที่ศรัทธา และสนับสนุนการใช้หลักปฏิบัติตามศีล ตามมรรค มีเมตตา และเน้นการพัฒนาคุณภาพของจิตตามแนวทางของพุทธศาสนา มาเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมเรา เพราะความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความแตกต่างที่มากเกินระหว่างคนจนกับคนรวยสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมทั้งปวง  ญี่ปุ่นกับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ความเหลื่อมล้ำน้อย ปัญหาสังคมน้อย สหรัฐอเมริกากับอังกฤษความเหลื่อมล้ำมาก ปัญหาสังคมมาก  พฤติกรรมของคนอเมริกันเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่น เมื่อประสบหายนภัยแสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ภายหลังพายุไซโคลนแคทรีนาถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ เกิดจลาจลปล้นสดมภ์กันจนต้องใช้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้ามาปราบ แต่ที่ญี่ปุ่นเมื่อโดนสึนามิถล่นจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด คนญี่ปุ่นเผชิญหายนภัยด้วยความสงบ ไม่มีจี้ปล้น ไม่มีแก่งแย่ง มีแต่น้ำใจ อดทน เสียสละ เป็นที่สรรเสริญของคนทั้งโลก คนอเมริกันมีฐานะแตกต่างกันสุดๆ แต่คนญี่ปุ่นฐานะใกล้เคียงกันสุด อยู่ปลายสุดของกราฟที่แสดงข้างบนคนละด้าน

ควรสังเกตว่าอังกฤษและอเมริกาเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ทั้งสองประเทศอยู่ทางปลายสุดของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากและปัญหาสังคมมาก แสดงให้เห็นว่าลำพังสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและประชาธิปไตยยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสังคมศีลธรรม แต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นเองส่งเสริมให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสวงหาเข้าตนโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนี้ในสมัยต้นๆ ที่ประชากรยังน้อย และทรัพยากรธรรมชาติมีมาก อาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเท่าไร แต่ในสมัยปัจจุบันที่ประชากรมาก และทรัพยากรน้อย การคำนึงถึงแต่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของส่วนรวม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและวิกฤตการณ์ทางสังคมได้ ดังที่เกิดกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย

ข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับความเสื่อมเสียทางจิตใจและสังคมอย่างชัดเจนถึงเพียงนี้ น่าจะนำไปสู่จิตสำนึกใหม่และวิถีคิดใหม่ ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนก็ดี ธรรมะแบบปัจเจกบุคคลก็ดี สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลก็ดี ประชาธิปไตยตามรูปแบบก็ดี ไม่เพียงพอที่จะอธิบายวิกฤตการณ์ทางศีลธรรมที่ระบาดทั่วโลก

วิกฤตการณ์ทางศีลธรรมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน อันนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมคือศีลธรรม[1] การที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องการจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดจากวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม ได้พูดถึงจิตสำนึกใหม่อยู่เนืองๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ จิตเล็กคือจิตที่เห็นแคบๆ คิดแคบๆ เห็นแต่เรื่องของตัวเอง คิดแต่เรื่องของตัวเอง จิตใหญ่คือจิตที่เห็นทั้งหมด คิดถึงทั้งหมด ดังที่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนทั้งหมด ต้องคิดถึงเสรีภาพของทั้งหมด (wholistic freedom) คือเมื่อมีความถูกต้องเป็นธรรมของทั้งหมด ทั้งหมดก็เป็นไปอย่างราบรื่น คล่องตัวไม่ติดขัด โครงสร้างต่างๆ เช่น โครงสร้างอำนาจรัฐ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการศึกษา โครงสร้างทางความยุติธรรม และคำสอนทางศาสนา ควรจะมุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ มิฉะนั้นโครงสร้างต่างๆ จะส่งเสริมความเหลื่อมล้ำอันนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรม

ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ควรจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลใหม่และสังคมไทยร่วมกันขับเคลื่อน องค์กรที่สนับสนุนการวิจัยและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ควรจะวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ แล้วนำความรู้ที่ได้มาสู่การรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง ความเข้าใจและความมุ่งมั่นร่วมกันจะทำให้การแก้ไขโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้ด้วยสันติวิธี การยึดมั่นกับความเชื่อและการปฏิบัติผิดๆ ทางพระเรียกว่า สีลัพพตปรามาส อันจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางสังคมและความรุนแรง เพื่อลบล้างความเชื่อและการปฏิบัติที่ผิดๆ ถ้าจะพ้นจากวิกฤตการณ์ทางศีลธรรม สังคมไทยต้องทบทวนความยึดมั่นในความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่ได้ผล ถ้าเห็นตรงกันว่าการลดความเหลื่อมล้ำคือศีลธรรม ก็สามารถหลอมรวมพลังของคนไทยไปสู่จุดลงตัวใหม่เพื่อสร้างสังคมศานติสุขได้  จิตไม่ได้ลอยตัวแยกเป็นเอกเทศจากสังคมและสิ่งแวดล้อม จิตและสังคมเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามหลักอิทัปปัจจยตา จิตสำนึกใหม่กับสังคมที่มีความเสมอภาคเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จิตสำนึกใหม่ไม่ใช่เพื่อปัจเจกเท่านั้น นั่นยังไม่ใช่จิตใหญ่จริง จิตสำนึกใหม่ที่เป็นจิตใหญ่ต้องเป็นไปเพื่อทั้งหมด โดยเห็นว่าทั้งหมดคือเรา เราคือทั้งหมด ด้วยจิตสำนึกใหม่และโครงสร้างต่างๆ ในสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น ศีลธรรมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขจึงจะเป็นไปได้

อ้างอิง

วิรัช   ถิรพันธุ์เมธี (๒๕๓๓) ดร. เอ็มเบ็ดการ์ : รัฐบุรุษจากสลัม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สุชาติ    หงษา. (๒๕๕๐) .ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม.

อานนท์    อาภาภิรม.(๒๕๒๘). รัฐศาสตร์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

Gustave Le Bon , Les Civilisation de I’ Inde  (๑๙๖๑) (Urdu Translation by Syid Ali Bilgrami),p.๒๑๑ อ้างใน  Syed Abul Hasan Ali Nadwi , Islam and The World, Academy of Islamic Research and Publications.

Syed Abul Hasan Ali Nadwi  (๑๙๖๑) Islam and The World, Academy of Islamic Research and Publications.

Jane Hutching (๒๐๐๔) India  window of the world.

Paul Theroux , By rail across the Indian subcontinent, National Geographic, (June ๑๙๘๔) ,vol. ๑๖๕, no๖,p.๗๐๔

Vishnoo Bhagwan (๑๙๙๙๗ Indian political thinker, atma ram and son.

ศ.นพ.ประเวศ วะสี หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ จากhttp://jitwiwat.blogspot.com/๒๐๑๑/๐๘/blog-post_๒๗.html

http://wn.com/arun_gandhi_on_the_caste_system_in_india,_jawaharlal_nehru_and_indira_gandhi

http://vckthiruvallur.blogspot.com/2011_01_01_archive.html

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/virathai/20110112/371329/news.html



[1]ศ.นพ.ประเวศ วะสีหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔  http://jitwiwat.blogspot.com/๒๐๑๑/๐๘/blog-post_๒๗.html

หมายเลขบันทึก: 538194เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

An inspiring example.

Sadly, caste has been around in India for many tousand years and still not showing signs of change. The Buddha laid down the equality tenet among Sangha but even Thai people are still hanging in the ideas of upstairs-downstairs.

Thai = free but not equal?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท